กะเทาะเปลือก ‘หนังนิรโทษฯจำเลยคดี 6 ตุลา ’

มรดกภาพยนตร์ของชาติ ‘ นิรโทษฯคดี 6 ตุลา ’ เผยอีกมุม การสร้างความปรองดองหลังเหตุการณ์นองเลือด 2 ปี จากซีดีที่ระลึกงานศพ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ สุธรรม-สุรชาติแกนนำนศ.6ตุลา ร่วมถก กะเทาะความจริง

เมื่อวันที่ 25 ก.พ. ที่ผ่านมา เวลา 14.00 น. หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ได้จัดกิจกรรม ภาพยนตร์สนทนา โดยได้นำ ภาพยนตร์ ‘นิรโทษกรรม จำเลยคดี 6 ตุลา’ มาฉายพร้อมทั้งภายหลังจากชมภาพยนตร์ยังได้มีการอภิปรายสนทนากับ สุธรรม แสงประทุม และ ศ.ดร. สุรชาติ บำรุงสุข แกนนำนักศึกษาเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และเปิดโอกาสให้ผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมได้ซักถามของสงสัย ซึ่งภาพยนตร์ดังกล่าวนี้เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ได้รับเลือกให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภาพยนตร์ของชาติ ประจำปี 2559 เมื่อวันที่ 4 ต.ค.2560

พุทธพงศ์ เจียมรัตตัญญู นักวิชาการภาพยนตร์หนึ่งในทีมผู้จัดงานได้อธิบายถึงที่มาที่ไปในการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ว่า ทางหอภาพยนตร์ได้มีการคัดเลือกภาพยนตร์ที่มีความสำคัญ ปีละจำนวน 25 เรื่อง เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภาพยนตร์แห่งชาติเป็นประจำทุกปีตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งภาพยนตร์บันทึกเหตุการณ์ นิรโทษกรรม จำเลยคดี 6 ตุลา นี้เป็นหนึ่งใน 25 เรื่องที่ได้รับการขึ้นทะเบียนประจำปี 2559 และได้มีกำหนดการจัดกิจกรรมตั้งแต่ช่วงเดือน พ.ย. 2559 แล้ว แต่เนื่องจากเหตุการณ์เสร็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงต้องเลื่อนการจัดกิจกรรมมาเป็นช่วงนี้แทนและถือโอกาสเชิญชวนผู้ที่สนใจทั่วไปสามารถเสนอภาพยนตร์ที่มีความสำคัญเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นมรดกของภาพยนตร์ของชาติครั้ง 7 ประจำปี 2560 โดยหมดเขตภายในวันที่ 18 เม.ย. 2560 สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์หอภาพยนตร์ ส่วนเหตุผลที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการคัดเลือกให้ขึ้นทะเบียนเนื่องจากเป็นภาพเหตุการณ์สำคัญ ซึ่งเน้นไปที่เหตุการณ์หลังจาก 6 ตุลา ในมุมมองที่หลายคนอาจจะไม่เคยเห็นมาก่อน  

สำหรับ ภาพยนตร์ ‘ นิรโทษกรรม จำเลยคดี 6 ตุลา ’ นี้ถูกพบเป็นเป็นแผ่นซีดี 1 ในจำนวน 6 แผ่นทำขึ้นเพื่อเป็นของที่ระลึกจากงานพิธีพระราชทานเพลิงศพ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ อดีตนายกรัฐมนตรี โดยเนื้อหาเป็นการนำเสนอภาพบันทึกเหตุการณ์ ภารกิจ ในกรณีการเสนอพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม จำเลยคดี 6 ตุลา มีการเกริ่นถึงที่มาที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่ 4 - 6 ต.ค. 2519  ซึ่งนำไปสู่การรัฐประหาร ทำให้นักศึกษา และประชาชนถูกจับดำเนินคดี หลังจากคดีผ่านไปสองปี พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ จึงได้เสนอพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ ขึ้นจนได้นำร่างขึ้นทูลเกล้าถวาย เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศพระราชกิจจานุเบกษา ในวันที่ 16 ก.ย. 2521 หลังจากนั้นเป็นภาพของจำเลย 19 คนที่ได้รับอิสระ ซึ่งพากันไปเยี่ยมขอบคุณ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ซึ่งนำโดย สุธรรม แสงประทุม ที่บ้านพักนายกรัฐมนตรีในเขตบางเขต มีการพูดคุยทำความรู้จักระหว่างผู้ได้รับอิสรภาพทั้ง 19 คน กับนายกรัฐมนตรี และได้มีการเลี้ยงอาหารเช้าให้กับทั้ง 19 คน ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงมือทำอาหารด้วยตนเอง หลังจากรับประทานอาหารเสร็จจึงได้มีการแถลงข่าว และให้โอวาทแก่ผู้ได้รับอิสรภาพต่อหน้าสื่อมวลชน โดยเน้นย้ำว่า สิ่งที่ตนทำไปนั้น ไม่ได้ทำเพื่อหาเสียงใดๆ เพียงแต่ทำตามพระราชปรารภเท่านั้น

หลังจากฉายภาพยนตร์ดังกล่าวจบจึงได้มีการสนทนากับ สุธรรม แสงประทุม และ ศ.ดร. สุรชาติ บำรุงสุข ผู้อยู่ร่วมในเหตุการณ์ และ รัศมี เผ่าเหลืองทอง หนึ่งในคณะกรรมการขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ ประจำปี 2559 โดยมี ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ เป็นผู้ดำเนินรายการ

สุธรรม แสงประทุม ได้เล่าว่าจริงๆ แล้วตนเคยเห็นภาพบันทึกเหตุการณ์ที่ฉายในงานดังกล่าว แต่น่าจะเป็นเวอร์ชั่นที่สั้นกว่า มีลักษณะคล้ายๆกัน แต่ไม่เหมือนกัน สำหรับสิ่งที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์ และในความเป็นจริงที่เกิดขึ้นนั้น มีข้อแตกต่างกันอยู่หลายประการเช่น ในความเป็นจริงมีการสนทนากับ พลเอกเกรียงศักดิ์ รวมถึงสิ่งเกิดขึ้นมากกว่านั้น  สิ่งที่ปรากฏในภาพยนตร์เป็นบรรยากาศที่ผู้นำต้องการที่จะสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งการนิรโทษกรรม 6 ตุลานี้ ได้นำสู่คำสั่งที่ 66/23 ในเวลาต่อมา เพราะว่าการนิรโทษกรรมในครั้งนั้นนอกจากจะนิรโทษฯตนและพวกทั้ง 19 คนแล้วยังเป็นการ     นิรโทษให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ตลอดจนผู้ที่หนีไปเข้าป่าด้วย โดยมีการนิรโทษกรรมไว้เป็นต้นทาง และคำสั่ง 66/23 เป็นปลายทาง นอกจากนี้เนื้อหาภาพยนตร์ยังมีท่อนหนึ่งที่ พลเอกเกียงศักดิ์ ได้กล่าว และแสดงให้ว่าการที่ตนได้เสนอพ.ร.บ.นิรโทษกรรมนั้น เป็นไปด้วยความเสี่ยงและความกดดันที่จะไม่พอใจจากหลายๆ ด้าน

รัศมี เผ่าทองเหลือง ได้อธิบายว่าเกี่ยวกับความเสี่ยง และความกดดันดังกล่าวว่า หลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลา การแบ่งขั้วทางการเมืองนั้นแบ่งเป็นหลายฝ่าย กระแสของความกลัวว่าเมืองไทยจะเป็นคอมมิวนิสต์ไม่ใช่ประชาชน แต่เป็นคนที่ผู้ปกครอง  ดังนั้นหนังหรือภาพยนตร์เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงสังคมไทยได้จนถึงวันนี้ว่า สื่อการประชาสัมพันธ์  การทำสงครามจิตวิทยามวลชน ถึงแม้ว่าผู้ที่มีข้อมูล มีเหตุผลจะรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องโกหกอย่างน่าขัน แต่ก็จะมีผู้ที่รับรู้ซึมซับข้อมูลเหล่านี้ไปโดยไม่รู้ตัว ซึ่งเป็นฐานการทำให้เกิดการลุกฮือและเหตุการณ์ 6 ตุลาขึ้น ขณะที่พวกเรา หรือประชาชนในตอนนั้น ไม่ได้รู้สึกกลัวขนาดนั้น

ศ.ดร. สุรชาติ บำรุงสุข ได้อธิบายว่า ส่วนหนึ่งของภาพยนตร์เรื่องนี้สะท้อนการวิเคราะห์การเมืองของฝ่ายทหารสายปฏิรูปหลัง 6 ตุลา ในความจริงแล้ว นอกจากผู้ที่ปรากฏในภาพบันทึกเหตุการณ์ที่ได้ชมไปแล้ว ยังมี พลตรีจำลอง ศรีเมือง อยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วย ซึ่ง พลตรีจำลอง เข้ามามีบทบาทโดยตรง ตั้งแต่หลัง 14 ตุลา

สุธรรม แสงประทุม เสริมว่าในขณะนั้นมีการแบ่งขั้วอำนาจทางการเมืองหลายฝ่าย มีความซับซ้อนจนมั่วไปหมด โดมิโนนั้นเป็นทฤษฎีไม่ได้เป็นความเชื่อลอยๆ ทุกสิ่งทุกอย่างที่ขนาบเข้ามา ก็ทำให้มีความเป็นไปได้ทั้งนี้ยังได้ชี้แจงว่า จากเหตุกาณ์ที่เกิดขึ้นมีทั้งผู้ที่เป็นตัวละครหลัก และตัวละครแฝง มีการผลักดันอยู่ภายใน ไม่ได้ออกนอกหน้า

ศ.ดร. สุรชาติ บำรุงสุข เสริมว่าสิ่งที่ผลักดันให้เกิด พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และการปรองดองที่เกิดขึ้น เงื่อนไขสำคัญก็คือสงคราม เนื่องจากการนิรโทษกรรมในครั้งนั้นทั้งทางปักกิ่ง และวอชิงตันไม่คัดค้าน รวมทั้งหลายฝ่ายในไทยก็พบว่าถ้าไม่เดินหน้าสู่การปรองดองสงครามจะต้องขยายตัวแน่ๆ ทั้งนี้ ยังมีความกดดันจากทางสถานทูตของหลายๆประเทศ เป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ผลักดันให้เกิดการนิรโทษนี้ขึ้น

นอกจากความคิดเห็น และข้อเท็จจริงจากการสนทนาทั้งจากภาพยนตร์ และการพูดคุยกับผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์แล้ว ยังมีการแลกเลี่ยนมุมมองในแง่ของภาพยนตร์จากผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรม นักอนุรักษ์ และนักวิชาการด้านภาพยนตร์อีกหลายท่าน ทั้งในเรื่องของภาพ มุมภาพ การตัดต่อ รวมถึงความเป็นมาของต้นฉบับว่าคาดว่าเป็นฟิล์ม ในความเป็นจริงแล้วไม่ได้มีแค่ภาพยนตร์เรื่องนี้เรื่องเดียว แต่ยังมีอีกหลายๆ  เวอร์ชั่นสำหรับเรื่องนี้มีการนำฟุตเทจของหัวหนึ่งมาตัดต่อกับต้นฉบับอีกหัวหนึ่งแต่คนพากย์เป็นคนเดียวกัน มีกระบวนการคัดเลือกภาพ มีการพูดซ้ำในประเด็นเดิม หรืออาจจะเป็นการฉายซ้ำในจุดที่ต้องการเน้นย้ำ ก่อนที่จะแปลงเป็นไฟล์ และออกมาอยู่ในรูปแบบของซีดีที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงศพของพลเองเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ในที่สุด

ชลิดา เอื้อบำรุงจิต รองผู้อำนวยการหอภาพยนตร์ กล่าวในฐานะนักอนุรักษ์ภาพยนตร์ว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นความบังเอิญที่ อาจารย์ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา ได้พบและนำมาให้ โดยสำหรับเรื่องนี้มีเนื้อหาที่น่าสนใจ ทำให้ได้เห็นในมิติเหล่านี้ของประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้พูดถึง จริงๆ แล้วทางหอภาพยนตร์นั้นก็ได้มีความพยายามในการติดตาม ภาพยนตร์ ภาพบันทึกเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับ 6 ตุลาอยู่ รวมถึงภาพเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับสังคมไทยมากขึ้น ตามคำขวัญของหอภาพยนตร์ที่ว่า “ภาพยนตร์ยังทำให้เกิดปัญญา” แม้ว่าทุกอย่างมีอเจนด้า คือไม่ได้มีความจริงร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ทำให้สังคมได้เรียนรู้ ได้เข้าใจมากขึ้นในหลายๆ ด้าน

สอดคล้องกับ ศาสวัต บุญศรี อาจารย์สอนด้านภาพยนตร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากรกล่าวว่า ภาพยนตร์ดังกล่าวเป็นลักษณะภาพข่าวโดยอาจจะนำฟุตเทจมาเรียงต่อกัน มีสิ่งที่ให้วิเคราะห์เยอะ เหมือนการดูละคร ที่ทุกคนมีบทบาทที่แตกต่างกัน มีความน่าสนใจที่เลือกมาให้ผู้ชมเห็น ภาพยนตร์นั้นไม่ใช่ความจริงแท้ มันมีอุดมการณ์บางอย่างมารองรับเสมอ สิ่งทำให้อยากรู้ก็คือสิ่งที่เกิดนี้ทำให้ใครดู หรือมีฟังก์ชั่นของการเอาไปใช้ จุดประสงค์ของคนที่ทำที่นำไปใช้ ทำเพื่ออะไรมากกว่า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท