เปิดนิทรรศการ People, Money, Ghosts (Move as Metaphor): ศิลปะร่วมสมัยในพื้นที่ห่างไกลความคุ้นชิน

หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน ร่วมกับกลุ่มศิลปินร่วมสมัยและภัณฑารักษ์ เปิดนิทรรศการ People, Money, Ghosts (Move as Metaphor) ตั้งประเด็นเชื่อมโยงการไร้ถิ่นฐานของผู้คน ความพลิกผันเปลี่ยนแปลงและผลกระทบสืบเนื่องในฐานะร่องรอยทางประวัติศาสตร์ในพื้นที่ร่วมสมัย พร้อมเปิดตัววารสารใหม่ Southeast of Now: Directions in Contemporary and Modern Art in Asia หวังเปิดพื้นที่วิจารณ์ศิลปะร่วมสมัยในไทย

8 มี.ค. 2560 เมื่อวันที่ 7 มี.ค. หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน ร่วมกับกลุ่มศิลปินร่วมสมัยและภัณฑารักษ์ จัดงานเสวนาเปิดนิทรรศการ People, Money, Ghosts (Move as Metaphor) โดยมีงานแสดงตั้งแต่ 7 มี.ค. ถึง 18 มิ.ย. 2560 เปิดให้เข้าชมทุกวัน เวลา 9.00 – 20.00 น

งานเสวนาชวนพูดคุยถึงแนวคิดทฤษฎีกับความเชื่อทางจิตวิญญาณ สุนทรียะกับวิทยาการและประสบการณ์การเดินทางของศิลปินแต่ละคนในพื้นที่ที่ตนไม่คุ้นชิน ผ่านการเคลื่อนไหวของประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงเรื่องราวทั้งภายในและภายนอกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าหากัน ศิลปินได้ทำงานโดยใช้สื่อที่หลากหลาย เช่น ภาพถ่าย วิดีโอ ประติมากรรม โดยมีศิลปินผู้เข้าร่วมงานเสวนา คือ เอมี เลียน, เอ็นโซ คามาโช, เหงียน ธี ธันห์ ไม, ไขวสัมนาง ร่วมด้วย โรเจอร์ เนลสัน ภัณฑารักษ์ผู้คัดสรรผลงาน

กระสือและการรื้อสร้าง ความไม่แน่นอนในยุคสมัยใหม่


ประติมากรรมหัวกระสือ (ด้านบนของภาพ) โปรเจกเตอร์ฉายวิดีโอ (ด้านล่าง)
 

เอมี เลียน และ เอ็นโซ คามาโช (Amy Lien & Enzo Camacho) ทำงานร่วมกันตั้งแต่ปี 2552 โดยผลงานชุดใหม่นี้พวกเขาเรียกว่า “ประติมากรรมวิดีโอ” (video sculpture) สำรวจรูปลักษณ์และตัวตนของสิ่งคล้ายผีที่มีผู้พบเจอตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยใช้รูปสัญลักษณ์เป็นบทกวีที่สะท้อนสัมผัสของตัวตนที่ผันแปรไม่หยุดนิ่ง เป็นสัมผัสของตัวตนที่ไร้ศูนย์กลางตายตัว ตัวตนที่เคลื่อนย้ายอพยพมากกว่าสงบนิ่งที่ ‘บ้าน’ หรือสถานที่จำเพาะ และแข็งขืนต่อการจำแนกประเภทด้วยตรรกะและเหตุผล

เอมี กล่าวว่า ผลงานของเธอและเอ็นโซ นำเสนอ โดยใช้ความเชื่อของท้องถิ่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เรื่องผีกระสือ หรือที่ชาวกัมพูชาเรียกว่าเอิบ (arb) เธอทำงานเกี่ยวข้องกับพื้นที่ท้องถิ่น และได้มีโอกาสเดินทางไปหลายที่ทั้งในกัมพูชาและพื้นที่อื่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ งานศิลปะของเธอและเอ็นโซเป็นวิดีโอประติมากรรมของผีกระสือที่มีแต่หัว และส่วนด้านล่างฉายโปรเจกเตอร์เป็นวิดีโอสั้นที่ถ่ายในกรุงพนมเปญ โดยเธอต้องการพูดถึงความกลัวและความไม่แน่นอน การที่ผีกระสือไปอยู่ในพนมเปญซึ่งเป็นพื้นที่กำลังพัฒนา มีการไหลเข้ามาของเงินทุน มีการก่อสร้างผุดขึ้นมากมาย การเก็งกำไรทางอสังหาริมทรัพย์ เป็นเหมือนความไม่แน่นอนในพื้นที่ท้องถิ่นดั้งเดิมที่กำลังแปรเปลี่ยนไป คล้ายเป็นการก่อสร้างและรื้อสร้างอยู่ตลอดเวลา โดยในส่วนของวิดีโอนั้นเป็นสุนทรียะของการรื้อสร้างที่มีอิทธิพลมาจากแฟชั่นและหนังทดลอง

เอ็นโซพูดถึงส่วนของวิดีโอ เขากล่าวว่า ผีกระสือสื่อถึงภาวะการแตกแยกระหว่างหัวกับตัว เป็นเหมือนสิ่งที่เคลื่อนไหวได้โดยไม่ยึดติดกับที่ใดที่หนึ่ง  ประติมากรรมผีกระสือแทนที่ส่วนล่างจะเป็นไส้ก็ถูกแทนที่ด้วยโปรเจกเตอร์ที่ฉายภาพลงบนพื้น เป็นภาพแทนของร่างกายผีกระสือ โดยมีวิดีโอทั้งหมด 3 ตอน ตอนแรกเป็นเรื่องเล่าของการได้พบกันของชายสองคนและความรักของพวกเขา โดยมีสถานที่ถ่ายทำเป็นสิ่งก่อสร้างที่กำลังถูกพัฒนา ตอนที่สองเป็นการจีบกันของชายสองคน โดยมีสถานที่ถ่ายทำในบาร์เกย์ และตอนที่สามเป็นการออกเดทกันของทั้งคู่ โดยมีตอนจบที่ค่อนข้างคลุมเครือ แสดงถึงความรัก การเป็นเจ้าของ ความเครียด ความกังวล ภาวะภายในเมื่อตกหลุมรัก สถานที่ถ่ายทำคือห้างสรรพสินค้า วิดีโอเหล่านี้ได้มีการคัดเลือกนักแสดงจากเหล่านักเต้นในพนมเปญ

ทั้งนี้ในวิดีโอมีทั้งฉากที่ถ่ายทำในพนมเปญตัดต่อสลับกับฟุตเทจจากเมืองจีน ซึ่งเป็นเมืองใหม่ที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วทางเศรษฐกิจเช่นกัน มีการเคลื่อนไหวของสินค้าและเงินทุนเช่นเดียวกับพนมเปญ โดยต้องการแสดงให้เห็นถึงพื้นที่ท้องถิ่นในแต่ละจุดว่ามีการเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกในพื้นที่อื่นๆ อย่างไรบ้าง จึงนำบริบทของเมืองจีนเข้ามามาเชื่อมด้วย

 

ตัวตนของคนไร้สัญชาติ

ชื่อชุดผลงานว่า “Day by Day” ของ เหงียน ธี ธันห์ ไม (Nguyen Thithanh Mai) สำรวจประสบการณ์ผู้อพยพของชุมชนชาวเวียดนามไร้รัฐที่ใช้ชีวิตในหมู่บ้านลอยน้ำในประเทศกัมพูชาและเวียดนาม ชุมชนดังกล่าวต้องประสบความยากแค้นนานหลายทศวรรษ ทั้งถูกกวาดล้างระหว่างช่วงสงครามอเมริกันในเวียดนามและภายใต้การปกครองของเขมรแดงในกัมพูชา และเข้าไม่ถึงสิทธิทั้งการศึกษาและสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน อันเป็นผลสืบเนื่องจากการไม่มีเอกสารยืนยันตัวตนทางกฎหมาย
 

เหงียน ธี ธันห์ ไมกล่าวว่า เริ่มต้นทำโปรเจกต์เกี่ยวกับผู้อพยพในปี 2557 ที่พนมเปญ กัมพูชา เจอคนไร้สัญชาติ อยู๋ในหมู่บ้านลอยน้ำ เด็กไม่สามารถไปโรงเรียน คนอื่นไปทำงานโรงงานไม่ได้ เนื่องจากไม่มีบัตรประชาชน จากเรื่องเล่าของพวกเขาทำให้เธอเดินทางท่องไปหลายที่ในกัมพูชาและเวียดนาม เข้าไปอาศัยอยู่กับชุมชนที่อยู่บนเรือลอยน้ำตามตะเข็บชายแดนนานตั้งแต่ 2-6 สัปดาห์ และเรียนรู้ชีวิตของพวกเขา คนเหล่านี้ไม่เข้าใจว่าเหตุใดอยู่กัมพูชามาหลายชั่วอายุคน แต่ไม่สามารถเป็นคนกัมพูชาได้ ในขณะเดียวกันถึงแม้จะยังรักษาวัฒนธรรมเวียดนามอยู่แต่ก็เป็นคนเวียดนามไม่ได้เช่นกัน
งานที่จัดแสดงของเธอประกอบด้วยสามส่วนหลักๆ ส่วนแรกคือการจัดแสดงบัตรประชาชนกว่า 240 ใบของคนเหล่านี้ โดยที่ในบัตรไม่มีการระบุสัญชาติเลย ส่วนที่สองเป็นรูปถ่ายกิจวัตรประจำวันต่างๆ ของคนเหล่านี้ เช่น การไปร้านทำผม การทำงาน การละเล่นของเด็ก แล้วใช้ปากกาดำระบายตัวบุคคลให้เป็นเหมือนเงา เปรียบเทียบกับการไร้สัญชาติ ที่ทำให้พวกเขาไร้ตัวตน ส่วนที่สามเป็นการจำลองบ้านของคนเหล่านี้ซึ่งสร้างขึ้นจากวัสดุธรรมชาติ รื้อถอนได้ง่าย ต้นทุนต่ำ เผื่อกรณีย้ายกะทันหัน เนื่องจากพวกเขาไม่สามารถซื้อที่ดินได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย สิ่งที่สะดุดตาในบ้านคือภาพถ่ายที่ติดบนฝาผนัง ซึ่งเป็นภาพคนไร้สัญชาติเหล่านี้ยืนอยู่ในสถานที่สำคัญต่างๆ ด้วยใบหน้ามีความสุข โดยที่ความจริงเป็นภาพตัดต่อที่เอาใบหน้าของดาราหรือคนมีชื่อเสียงที่อยู่ในภาพจริงออกแล้วใส่ใบหน้าของพวกเขาเข้าไปแทน
 


งานชิ้นที่สอง


งานชิ้นที่สาม

โปรเจกต์นี้เธอทำร่วมกับช่างภาพท้องถิ่นและครอบครัวคนไร้สัญชาติ  บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสถานที่ที่พวกเขาถูกตัดต่อเข้าไปคือที่ไหน พวกเขาต่างบอกความฝันของตัวเองให้เธอฟัง บางคนอยากไปชายหาด บางคนอยากไปสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในเวียดนาม หรืออย่างเด็กชายคนหนึ่งอยากได้มอเตอร์ไซค์ ภาพเหล่านี้จึงเป็นเหมือนภาพถ่ายบันทึกความฝันและความปรารถนาของแต่ละคนโดยผ่านกระบวนการโฟโต้ชอป

เมื่อถามว่าเธอคิดว่าสิ่งที่ทำนี้จะเป็นการช่วยคนไร้สัญชาติเหล่านี้ได้ไหม เหงียน ธี ธันห์ ไมตอบว่า สื่อมวลชนหรือคนที่ให้ความช่วยเหลือมักเข้าไปชั่วคราวแล้วจากไป แต่เธอเข้าไปอยู่กับพวกเขานานเป็นเดือน โดยใช้ระยะเวลาสามปี ผลงานที่จัดแสดงของเธอจึงเป็นเหมือนการนำเรื่องเล่าของคนไร้สัญชาติเหล่านี้เผยแพร่สู่คนภายนอก อีกทั้งยังมีสารคดีความยาวประมาณหนึ่งชั่วโมงซึ่งเป็นการบันทึกคำพูดของคนเหล่านี้โดยตรง

 

วิดีโอและศิลปะจัดวาง การเชื่อมโยงท้องถิ่นด้วยพื้นที่และประวัติศาสตร์


Rubber Man

ไขวสัมนาง (Khvay Samnang) มีผลงานคือ “Rubber Man” งานชิ้นนี้สำรวจผลกระทบทั้งทางสิ่งแวดล้อม สังคม และจิตวิญญาณ ของการเพาะปลูกยางพาราในตอนเหนือของกัมพูชาและ “Yantra Man” เป็นการสำรวจประวัติศาสตร์ที่ถูกหลงลืมในวงกว้างเกี่ยวกับทหารกัมพูชาผู้ถูกส่งไปร่วมรบให้กองทัพฝรั่งเศสในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง

ไขวสัมนางกล่าวว่า ผลงานของเขาแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนที่หนึ่ง คือ วิดีโอและศิลปะจัดวาง “Rubber Man” ซึ่งพูดถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน ปัญหาที่รัฐบาลกัมพูชาเอาพื้นที่ของคนท้องถิ่นในเมืองรัตนคีรีทางตอนเหนือของประเทศกัมพูชา  ไปใช้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ชุมชนต่างๆ ถูกยึดพื้นที่ และประชาชนเดินทางเข้ามาประท้วงที่พนมเปญ โดยเขาเริ่มศึกษาเกี่ยวกับประเด็นนี้ตั้งแต่ปี 2555 เขาพบว่าสภาพแวดล้อมธรรมชาติเปลี่ยนไปและคนท้องถิ่นก็มีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป

แรงบันดาลใจที่ทำให้เขาเริ่มต้นทำงานชิ้นนี้คือ เมื่อตอนที่เขาอยู่ที่พนมเปญ เขาฝันถึงชายผิวขาวที่นำพาเขาไปสู่ป่าไม้ เขาสงสัยว่าชายคนนี้คือใคร ป่าไม้นั้นคือที่ไหน และทำให้เขาอยากไปเมืองรัตนคีรีที่กำลังเกิดปัญหา เมื่อไปถึงเขาตกใจว่านี่เป็นป่าในความฝันของเขา และความจริงนี่ไม่ใช่ป่าธรรมดา แต่เป็นป่ายางพารา เพราะคนที่นี่ดำรงชีวิตด้วยการปลูกยางพารา เขาจึงคิดว่าชายผิวขาวคนนี้คงเป็นจิตวิญญาณจากป่าที่เข้ามาประท้วงและอยากสื่อให้เขาได้รับรู้

นอกจากนี้ยางพาราในภาษาสเปนยังแปลว่า “crying tree” หรือต้นไม้ร้องไห้ ซึ่งเขาพบตอนทำงานวิจัยเกี่ยวกับต้นยาง รวมทั้งก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง สวนยางที่ใหญ่สุดในโลกก็อยู่ที่กัมพูชา


Yantra Man

จากคำถามเรื่องวิญญาณของชายผิวขายคนนั้นคือใคร นำไปสู่ผลงานชิ้นที่สอง “Yantra Man” ซึ่งเป็นการผสมระหว่างเกราะอัศวินและผ้ายันต์ โดยผลงานชิ้นนี้ทำขึ้นเมื่อเขาได้มีโอกาสไปอาศัยในเยอรมนีในฐานะศิลปิน ก่อนไปครอบครัวของเขาได้ซื้อผ้าใบสีขาวและใช้เท้าของแต่ละคนละเลงสีลงบนผืนผ้า จากนั้นจึงให้พระที่วัดทำเป็นผ้ายันต์

ในตอนที่เขาอยู่ที่เยอรมนีนั้น เขารู้สึกว่าเข้ากับวัฒนธรรมและภูมิอากาศของที่นั่นค่อนข้างลำบาก และยากที่จะอธิบายถึงปัญหาในกัมพูชาให้กับคนเยอรมันเข้าใจ เขาจึงเริ่มศึกษาประวัติศาสตร์ในพิพิธภัณฑ์ในเบอร์ลิน และประทับใจกับผลงานที่เป็นเกราะของอัศวิน จึงได้เชื่อมโยงมันเข้ากับผ้ายันต์ป้องกันตัวของนักรบกัมพูชา นอกจากนี้เขายังได้ศึกษาประวัติศาสตร์ของคนกัมพูชาในสมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ซึ่งครั้งนั้นกัมพูชาตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส คนกัมพูชากว่า 3,500 คนเข้าร่วมสงครามกับฝรั่งเศสในการสู้รบกับเยอรมนี และตายในสงครามทั้งจากการสู้รบ ขาดอาหาร เรือล่ม และหนาวตาย เป็นการสะท้อนไปมาระหว่างประสบการณ์ในประวัติศาสตร์ของเหล่าทหาร และประสบการณ์ร่วมสมัยของคนที่ต้องทำงานไกลบ้าน


ปก Southeast of Now: Directions in Contemporary and Modern Art in Asia

หลังจบการเสวนาได้มีการเปิดตัววารสารใหม่ Southeast of Now: Directions in Contemporary and Modern Art in Asia วารสารวิชาการว่าด้วยเรื่องศิลปะสมัยใหม่ร่วมสมัยของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยกลุ่มภัณฑารักษ์และศิลปิน มีวัตถุประสงค์เพื่ออภิปรายศิลปะร่วมสมัยเหล่านี้ในรูปแบบงานเขียนเชิงวิชาการและการเปิดพื้นที่ให้แก่การวิพากษ์วิจารณ์ซึ่งยังเป็นสิ่งที่ขาดแคลนในประเทศไทย เผยแพร่ทั้งในแบบรูปเล่มและออนไลน์ เปิดให้ดาวน์โหลดฟรีที่นี่
 

เกี่ยวกับศิลปินและภัณฑารักษ์

ไขว สัมนาง (เกิดปี 2525, พำนักในพนมเปญ) คือหนึ่งในศิลปินสาขาทัศนศิลป์ที่มีชื่อเสียงที่สุดของประเทศกัมพูชา เขาทำงานทั้งด้านเพอร์ฟอร์มานซ์, ภาพถ่าย, วิดีโอ, ศิลปะจัดวาง และยังสนอกสนใจสำรวจประเด็นชวนถกเถียงทั้งด้านการเมือง สังคม กับความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม และเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ในกัมพูชากับที่อื่นๆ “ถ้าพูดถึงไม่ได้ แล้วเราจะแสดงให้เห็นได้อย่างไร?”

เอมี เลียน (เกิดปี 2530, พำนักในมะนิลาและนิวยอร์ก) และ เอ็นโซ คามาโช (เกิดปี 2528, พำนักในมะนิลาและเบอร์ลิน) คือคู่ศิลปินที่ทำงานร่วมกันเป็นการเฉพาะตั้งแต่ปี 2552 – ผลงานศิลปะที่พวกเขาให้คำอธิบายด้วยน้ำเสียงจิกกัดว่า “ไม่ใคร่เจาะจงสื่อที่ใช้” มักใช้วิดีโอกับการจัดวางที่เลียนแบบสุนทรียะออนไลน์และสภาพแวดล้อมยามวิกาล ด้วยความสนใจของพวกเขาคือสภาวะกึ่งกลาง (liminal circumstance) เช่น ตัวตนที่ยึดโยงลักษณะระหว่างเพศ กิจกรรมที่คาบเกี่ยวระหว่างสันทนาการกับการใช้แรงงาน หรือผลงานที่อยู่ระหว่างความจริงจังกับความเสียดเย้ย

เหงียน ธี ธันห์ ไม (เกิดปี 2526, พำนักในเว้) อธิบายไว้ว่า “แนวความคิดเกี่ยวกับการต่อสู้ดิ้นรน กับความสนใจต่อความรู้สึกที่แสดงออกได้ยากและถูกกดทับไว้ คือแกนกลางในการสร้างงานศิลปะของฉัน” เธอทำงานโดยใช้สื่อหลากหลาย สำรวจอุปสรรคที่ปัจเจกบุคคลหรือชุมชนต้องเผชิญ ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมและลงพื้นที่วิจัยระยะยาว ในระยะแรกเริ่มเธอได้รับความสนใจจากผลงานที่เกี่ยวพันกับร่างกายของผู้หญิงและประสบการณ์ที่มีเรื่องเพศเป็นพื้นฐาน แต่ผลงานต่อเนื่องที่กำลังทำอยู่อันว่าด้วยชุมชนชาวประมงไร้รัฐในเวียดนามและกัมพูชา นำเสนอประเด็นซ้อนทับระหว่างเรื่องสิทธิความเป็นพลเมืองและประวัติศาสตร์ของสงครามอเมริกันในคาบสมุทรอินโดจีน

โรเจอร์ เนลสัน (Roger Nelson) ทำงานในฐานะนักประวัติศาสตร์ศิลป์และภัณฑารักษ์อิสระผู้พำนักในกรุงพนมเปญ สำเร็จการศึกษาปริญญาเอกที่ University of Melbourne ปี 2560ผลงานวิจัยของเขาศึกษาคำถามที่มีต่อความเป็นสมัยใหม่และสภาวะร่วมสมัยในงานศิลปะ โดยใช้ประเทศกัมพูชาและภูมิภาคโดยรอบเป็นกรณีศึกษา โรเจอร์เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและบรรณาธิการร่วมของวารสารวิชาการเล่มใหม่ Southeast of Now: Directions in Contemporary and Modern Art in Asia ซึ่งตีพิมพ์โดย NUS Press ของ National University of Singapore เขาเขียนบทความวิชาการให้วารสารหลายเล่ม เช่น Stedelijk Studies นิตยสารศิลปะเนื้อหาเข้มข้น เช่น Art Asia Pacific รวมถึงหนังสือและสูจิบัตินิทรรศการศิลปะจำนวนมาก โรเจอร์ทำหน้าที่ภัณฑารักษ์นิทรรศการและโปรเจกต์อื่นๆ ทั้งในออสเตรเลีย กัมพูชา สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท