เคท ครั้งพิบูลย์: TU101 เพศสภาพ เพศวิถีในสังคมไทย อาเซียน และโลก

เคท ครั้งพิบูลย์ บรรยายในชั้นเรียน TU101 เรื่องเพศวิถีในสังคมไทยเปรียบเทียบกับต่างประเทศ ชี้เป็นเรื่องน่าเสียดายหากสังคมไทยยังไม่สามารถสอนหรือพูดเรื่องเพศในที่สาธารณะ หรือยังมองเรื่องเพศเป็นเรื่องสกปรก และยิ่งรัฐมองว่าเป็นเรื่องทำลายศีลธรรม-จริยธรรม เยาวชนยิ่งถูกจำกัดในการพูดเรื่องดังกล่าว และจะไม่สามารถเปิดพื้นที่พูดคุยสำหรับทุกเพศได้อย่างแท้จริง

เคท ครั้งพิบูลย์ (แฟ้มภาพ)

เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2560 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ในการบรรยายวิชา TU101 โลก อาเซียน และไทย เคท ครั้งพิบูลย์ ผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทยเพื่อสิทธิมนุษยชน (TGA) ได้รับเชิญให้บรรยายหัวข้อ"เพศสภาพ เพศวิถีในสังคมไทย อาเซียน และโลก"

ก่อนเริ่มบรรยาย เคทกล่าวถึงกิจกรรมเดินเพื่อความเท่าเทียมเนื่องในวันสตรีสากล จัดที่สวนลุมพินีในเวลา 16.00 น. ในวันที่ 8 มีนาคม และกล่าวด้วยว่าเป็นส่วนหนึ่งเกี่ยวกับประเด็นเรื่องเพศที่จะสอนในวันนี้

เมื่อเริ่มบรรยาย เคทกล่าวถึงประเด็นหลักๆ เรื่องเพศสภาพและเพศวิถีของสังคมไทยว่า เรื่องเพศในสังคมไทยตั้งแต่ในอดีตคนชั้นสูงจะถูกควบคุมในเรื่องเพศมากกว่าชาวบ้าน เพราะเป็นกลุ่มคนที่ใกล้ศูนย์กลางของอำนาจในการปกครองประเทศและจะถูกกำหนดให้คนมีอัตลักษณ์ที่จะแสดงออกหรือการนำเสนอร่างกายให้เป็นไปตามเพศสภาพที่ตนเองเป็นรวมไปถึงการประพฤติปฏิบัติในทางเพศด้วย

โดย คนใดเป็นผู้ชายก็จะถูกวางกรอบไว้ว่า จะต้องผมสั้น ใส่กางเกง เข้มแข็ง เป็นช้างเท้าหน้าให้กับครอบครัว เป็นต้น ส่วนใครเป็นผู้หญิงก็จะต้องผมยาว ใส่กระโปรง อ่อนโยน เป็นแม่ศรีเรือนดูแลลูก ซึ่งสิ่งเหล่านี้หากใครทำนอกกรอบก็จะถูกมองว่าแปลก

รวมถึงเรื่องของเพศสัมพันธ์ จะมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรพูดกันในที่สาธารณะ ควรถามหรือพูดในพื้นที่ส่วนตัว เพราะจะทำให้คนพูดถูกมองว่าเป็นคนไม่ดีและเรื่องเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องสกปรก แล้วมีการนำเรื่องเพศไปผูกโยงในเรื่องของศีลธรรมและจริยธรรม เพราะรัฐมักมองว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องที่ทำลายศีลธรรมและจริยธรรม โดยเฉพาะเยาวชนจะถูกจำกัดในการพูดเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างมาก จึงทำให้ยังไม่สามารถเปิดพื้นที่ให้กับเรื่องเพศทั้งเรื่องเพศกระแสหลักและเพศทางเลือก

เมื่อเปรียบเทียบกับบริบทต่างประเทศ เคทยกตัวอย่างสังคมตะวันตก ที่หลายครอบครัวให้ลูกมีอิสระในการใช้ชีวิตตอนเด็ก จะเป็นเพศอะไรก็ได้ ตอนโตจึงจะค่อยเลือกเพศว่าจะเป็นเพศอะไร จะเห็นได้ว่าบางคนเลือกแปลงเพศเมื่ออายุเกือบ 40 ปีแล้ว ไม่เหมือนในฝั่งเอเชียที่มีบุคคลข้ามเพศผ่าตัดแปลงเพศกันตั้งแต่อายุ 20 ปี

ส่วนในประเด็นเรื่องการกีดกันทางเพศ ที่มองเห็นได้ชัดกรณีของชาติตะวันออกที่ชอบเอากรอบความเป็นเพศชายและหญิงมาใส่ โดยเฉพาะเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฮ่องกง และสิงคโปร์ที่ใช้มาตรการในการตรวจเข้มบุคคลข้ามเพศในการเข้าประเทศของตนซึ่งตัวเขาเจอมากับตัวเอง

แม้กระทั่งประเทศไทยเองที่บอกว่าเปิดกว้างในการยอมรับความหลากหลายทางเพศก็ยังมีการปลูกฝังเรื่องการแบ่งเพศชายหญิงในสถานศึกษาโดยเฉพาะในโรงเรียนสหศึกษา จะเห็นได้จากการแบ่งแถวชายหญิงก่อนเคารพธงชาติ เป็นต้น หรืออิทธิพลทางเพศที่นิยมเพศชาย เมื่อมีบุคคลข้ามเพศที่แปลงเพศจากเพศหญิงมาเป็นเพศชายก็จะถูกยอมรับมากกว่าบุคคลที่แปลงเพศจากเพศชายไปเป็นเพศหญิง

นอกจากนี้ในสังคมยังคงมีการตีตราว่าอาชีพขายบริการของเพศหญิงเป็นอาชีพที่ไม่ดี ซึ่งผู้บรรยายไม่เห็นด้วยกับความคิดดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อมวลชนที่เขียนข่าวในทางลบเกี่ยวกับอาชีพขายบริการ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท