Skip to main content
sharethis
 
กสร.เร่งช่วยเหลือ 107 ลูกจ้างบริษัทเย็บผ้าย่านอ้อมน้อยหลังถูกเลิกจ้าง
 
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เร่งช่วยเหลือลูกจ้างบริษัท บริติช-ไทยชินเทติคเท็กส์ไทล์ จำกัด อ้อมน้อย สมุทรสาคร หลังมีข้อมูลถูกเลิกจ้าง จำนวน 107 คน พร้อมชี้แจงกฎหมายแรงงาน เผยนัดนายจ้างเจรจา 6 มีนาคมนี้
 
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีที่ลูกจ้างบริษัท บริติช-ไทยชินเทติคเท็กส์ไทล์ จำกัด ต.อ้อมน้อย จ.สมุทรสาคร ซึ่งประกอบกิจการตัดเย็บเสื้อผ้า จำนวน 107 คน สัญชาติไทย 85 คน เมียนมา 22 คน มาร้องทุกข์ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 60 ที่ผ่านมาว่า บริษัทฯ ได้ประกาศปิดกิจการและเลิกจ้างลูกจ้างตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.60 - พ.ค.61 และจะจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย โดยแบ่งจ่าย 8 งวด เริ่มจ่าย 1 ต.ค.60 เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้ชี้แจงข้อกฎหมายและแนะนำให้ลูกจ้างยื่นคำร้อง คร.7 เพื่อเรียกร้องค่าชดเชย และค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และได้ประสานจัดหางานจังหวัดและประกันสังคมจังหวัดมาร่วมชี้แจงสิทธิประโยชน์และขั้นตอนการเรียกร้องสิทธิ์ ซึ่งลูกจ้างยังไม่ได้ยื่นคำร้อง แต่ขอให้พนักงานตรวจแรงงานติดตามนายจ้างมาเพื่อเจรจาหาข้อยุติร่วมกันก่อน ทั้งนี้ ในวันดังกล่าวไม่สามารถติดต่อนายจ้างได้ จึงได้ออกหนังสือให้นายจ้างมาพบในวันจันทร์ที่ 6 มี.ค.60 และจากการประสานกับผู้แทนนายจ้างแจ้งว่าจะมาพบพนักงานตรวจแรงงาน ในวันดังกล่าวตามนัดหมาย ซึ่ง กสร.จะเร่งดำเนินการติดตามเรียกร้องสิทธิตามกฎหมายให้กับลูกจ้างทุกคน
 
อธิบดีกสร. กล่าวต่อไปว่า บริษัท บริติช-ไทยชินเทติคเท็กส์ไทล์ จำกัด ได้เลิกจ้างลูกจ้างมาแล้ว 2 ครั้ง จำนวน 300 คน โดยได้จ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้กับลูกจ้างทั้งหมดแล้ว โดยแบ่งจ่ายเป็นงวดเช่นกัน ทั้งนี้ ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดกับบริษัทฯ ตั้งแต่ 19 ต.ค. 2559 และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 24 ม.ค.60
 
ที่มา: กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, 5/3/2560
 
มีผลแล้ว! พ.ร.ฎ.ยกเว้นภาษีนิติบุคคล จ้างผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปเข้าทำงาน
 
ราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 2 มี.ค.2560 เผยแพร่ พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 639)พ.ศ. 2560 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (วันที่ 3 มี.ค.2560) สาระสำคัญคือ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งรับผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปเข้าทำงาน เพื่อส่งเสริมให้มีการจ้าง แรงงานผู้สูงอายุดังกล่าวเข้าทำงาน มีจำนวน 5 มาตรา มาตรา 3 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากรให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งรับผู้สูงอายุที่มีอายุหกสิบปีขึ้นไปเข้าทำงานสำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละหนึ่งร้อยของรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างผู้สูงอายุ เฉพาะรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างผู้สูงอายุในส่วนที่ไม่เกินร้อยละสิบของจำนวนลูกจ้างในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
 
ในกรณีที่ผู้สูงอายุทำงานในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหลายแห่งในเวลาเดียวกัน ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่รับผู้สูงอายุเข้าทำงานก่อนได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามวรรคหนึ่งการจ้างผู้สูงอายุตามวรรคหนึ่งไม่รวมถึงกรณีการจ้างผู้สูงอายุที่มีรายจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจ้างในแต่ละเดือนเกินกว่าหนึ่งหมื่นห้าพันบาท
มาตรา 4 ผู้สูงอายุตามมาตรา 3 ต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
(1) เป็นผู้มีสัญชาติไทย
(2) เป็นลูกจ้างของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จ้างอยู่ก่อนแล้ว หรือเป็นผู้สูงอายุที่ได้ขึ้นทะเบียนหางานไว้กับกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน
(3) ไม่เป็นและไม่เคยเป็นกรรมการหรือผู้ถือหุ้นของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จ้างผู้สูงอายุดังกล่าวหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเครือเดียวกัน
มาตรา 5 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้
ผู้รับสนองพระราชโองการพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
 
 
โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ยันไม่มีนโยบายปลดพนักงาน ยังคงเปิดให้บริการตามปกติไปจนถึง 30 มิ.ย.2561
 
โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ได้ชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แบบผสม (มิกซ์ยูส) มูลค่าโครงการกว่า 3.6 หมื่นล้านบาท ร่วมกับบมจ.เซ็นทรัลพัฒนา โดยสรุปใจความสำคัญได้ว่า สืบเนื่องจากข่าวการลงทุนโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แบบผสม ที่มีการส่งต่อข้อมูลกันอย่างแพร่กลาย โดยมีข้อความคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ขอชี้แจงข้อมูลที่ถูกต้องว่า โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ยังคงเปิดให้บริการตามปกติไปจนถึง 30 มิ.ย.2561 (กลางปีหน้า) และได้แจ้งกับพนักงานของโรงแรม ให้ทราบเกี่ยวกับการเรื่องการลงทุนยกระดับโรงแรมแล้ว โดยได้ยืนยันอย่างชัดเจนว่า ทางบริษัทฯ ไม่มีนโยบาย "ปลดพนักงานออกแม้แต่คนเดียว" โดยได้เตรียมแผนโครงการต่างๆ สำหรับเป็นทางเลือกให้ในการทำงานแก่พนักงานระหว่งการก่อสร้างโครงการใหม่ โดยบริษัทจะร่วมกับ บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา ซึ่งเป็นพันธมิตรร่วมเพียงรายเดียว จะเริ่มดำเนินการพัฒนาโครงการในเดือน ก.ค.2561 เพื่อยกระดับโรงแรมแห่งนี้ ซึ่งเป็นโรงแรมหลักของกลุ่มดุสิตธานี โดยวางแผนที่จะสร้างโรงแรมดุสิตธานีแห่งใหม่ที่ทันสมัุยได้มาตรฐานสากล และยังคงรักษาอัตลักษณ์ความเป็นไทยที่เป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ดุสิตธานี
 
 
สมาคมประมงเตรียมร้องนายกฯ แรงงานขาด 7 หมื่นคน คาดอีก 6 เดือนอาหารทะเลพุ่งเกือบ 100%
 
นายศราวุธ โถวสกุล รองประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในเดือน มี.ค. นี้ ทางสมาคมฯ จะทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอเข้าพบสะท้อนปัญหาขาดแคลนแรงงานประมงกว่า 70,000 คน เพราะล่าสุดเรือประมงทั่วประเทศจอดนิ่งสนิทแล้วกว่า 15% และจะเพิ่มขึ้นเป็น 30% ในเดือน เม.ย. ก่อนเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งหากปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไขคาดว่าในอีก 6 เดือนข้างหน้าจะเพิ่มเป็น 80% ส่งผลต่อราคาอาหารทะเลจะพุ่งขึ้นเกือบ 100% กระทบต่อเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอย่างแน่นอน
 
ทั้งนี้ รองประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวอีกว่า สำหรับข้อเสนอที่จะส่งถึงรัฐบาลนั้น อาทิ ให้นำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาทดแทน ในรูปแบบเอ็มโอ รวมถึงให้เปิดจดทะเบียนแรงงานประมงรอบใหม่ เพื่อนำกลุ่มที่ยังลักลอบทำงานขึ้นมาอยู่ในระบบ
 
 
สศช.เผยหนี้สินคนไทยชะลอตัวต่อเนื่อง ขณะที่รายได้เพิ่มขึ้น แต่ต้องเร่งรณรงค์แรงงานนอกระบบให้มีการออมเพิ่มมากขึ้น
 
นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวถึงภาวะสังคมไทยไตรมาส 4 และตลอดปี 2559 โดยระบุว่า หนี้สินครัวเรือนชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยภาวะหนี้น่าจะเริ่มทรงตัว และลดลง โดยเห็นได้จากสินเชื่อ และการสร้างหนี้ครัวเรือนไม่สูงเหมือนช่วง 3-4 ปีก่อนหน้านี้ และระดับหนี้ไตรมาส 4 ปี 2559 มีสัญญาณเริ่มลดลง
 
ดังนั้น ปี 2560 รายได้เพิ่มขึ้นจะช่วยหนี้สินครัวเรือนชะลอตัวลง หนี้รถยนต์ที่ผ่อนจะเริ่มหมดลง หนี้ใหม่ที่ไม่สูงขึ้น ภาพรวมหนี้สินครัวเรือนคงจะชะลอตัวลง ภาครัฐพยายามช่วยหนี้รายย่อย และครัวเรือน ที่ต้องการกู้ฉุกเฉินเป็นธรรมมากขึ้น ดอกเบี้ยไม่สูงเกินไป และบางส่วนใช้หนี้ในระบบจะช่วยลดภาระหนี้ลงได้
 
นายปรเมธี กล่าวว่า ไตรมาส 3 ปี 2559 หนี้ครัวเรือนมีมูลค่าเท่ากับ 11,335,652 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว ร้อยละ 4.1 ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556 จากร้อยละ11.5 เป็นร้อยละ 6.6 ปี 2557 ร้อยละ 5.2 ปี 2558 และร้อยละ 4.7 ไตรมาสแรกปี 2559 และร้อยละ 4.3 ไตรมาส 2 ปี 2559 โดยมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 81.0 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคของธนาคารพาณิชย์ที่ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 7.4 ปี 2557 เป็นร้อยละ 5.2 ไตรมาสแรกปี 2559
 
สำหรับไตรมาส 4 ปี 2559 หนี้ครัวเรือนยังมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคธนาคารพาณิชย์ที่ขยายตัวชะลอลงเหลือร้อยละ 4.9 โดยเป็นการชะลอลงของสินเชื่อที่อยู่อาศัย และสินเชื่อเพื่อซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์ ซึ่งขยายตัวชะลอลงจากร้อยละ 7.7 และ 1.9 ไตรมาส 3 ปี 2559 เป็นร้อยละ 7.0 และ1.3 ไตรมาสนี้
 
ด้านความสามารถชำระหนี้เมื่อพิจารณจากสัดส่วนหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวม พบว่า ลดลงจากร้อยละ 2.73 ไตรมาส 3 ปี 2559 เป็นร้อยละ 2.71 ไตรมาสนี้ และลูกหนี้ที่ค้างชำระเงินต้น หรือดอกเบี้ยเกินกว่า 1 เดือน แต่ไม่ถึง 3 เดือน ลดลงจากร้อยละ 3.26 ไตรมาส 3 ปี 2559 มาอยู่ที่ร้อยละ 3.19 ในไตรมาสนี้ ขณะที่การผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนขึ้นไปของสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับมีมูลค่า 10,602 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 36.9 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.1 ของยอดสินเชื่อคงค้าง สำหรับการผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนขึ้นไปของสินเชื่อบัตรเครดิตมีมูลค่า 10,383 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 0.7 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.9 ของยอดสินเชื่อคงค้าง
 
สำหรับการแก้ไขปัญหาหนี้สินนอกระบบให้แก่ผู้มีรายได้น้อย รัฐบาลเปิดให้เจ้าหนี้นอกระบบจดทะเบียนผู้ประกอบการธุรกิจ รวมทั้งเพิ่มช่องทางให้ประชาชนรายย่อยที่มีความจำเป็นกู้ยืมผ่ายสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ และเห็นชอบร่างแผนพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน พ.ศ.2560-2564 เพื่อเป็นกรอบแนวทางพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชนที่ชัดเจน และให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงสวัสดิการของรัฐได้อย่างทั่วถึง และมีคุณภาพ ตลอดจนเพิ่มศักยภาพลูกหนี้โดยฟื้นฟู และอบรมอาชีพ การปลูกฝังความรู้ และวินัยทางการเงิน และติดตามผล เพื่อป้องกันการกลับไปเป็นหนี้ รวมทั้งคุ้มครองลูกหนี้โดยออกพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 เป็นต้น
 
ด้านการออม ประชาชนมีการออมเพื่อเกษียณอายุเพิ่มขึ้น ผู้ประกันตนระบบประกันสังคมปี 2559 จำนวน 14 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2558 ร้อยละ 1.8 อายุส่วนใหญ่อยู่ในช่วง 30-50 ปี ซึ่งการออมเริ่มต้นช้า ยังส่งผลต่อความเพียงพอของเงินบำนาญที่จะได้รับ ขณะที่ยังมีแรงงานกว่าร้อยละ 50 หรือ 18 ล้านคน ยังไม่มีหลักประกันรายได้หลังเกษียณ โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบ จึงต้องเร่งรณรงค์สร้างการรับรู้ สร้างความเข้าใจ ตระหนักถึงประโยชน์เพื่อให้เข้าสู่ระบบการออมมากขึ้น การเพิ่มจำนวนเงินออม และการบริหารเงินหลังเกษียณ เพื่อให้มีเงินเพียงพอต่อการดำรงชีพหลังเกษียณ
 
นายปรเมธี กล่าวถึงการจ้างงานไตรมาส 4 ปี 2559 ลดลงทั้งภาคเกษตร และนอกภาคการเกษตร อัตราการว่างงานเท่ากับร้อยละ 0.97 และตลอดปี 2559 อัตราว่างงานเท่ากับร้อยละ 0.99 ส่วนค่าจ้างแรงงาน และค่าล่วงเวลาเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 ผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 โดยผลิตภาพแรงงานภาคเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 และผลิตภาพแรงงานนอกภาคการเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 สำหรับประเด็นที่คาดว่า จะมีผลต่อการจ้างงาน และรายได้ของแรงงานปี 2560 ได้แก่ การจ้างงานภาคการเกษตร แม้สภาพอากาศคลี่คลาย และเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว แต่อุทกภัยที่เกิดขึ้นช่วงเดือนธันวาคมปี 2559 ถึงมกราคม 2560 ทำให้เกิดความเสียหายกับประชาชน และเกษตรกร โดยพืชได้รับผลกระทบมากกว่า 1.095 ล้านไร่ ด้านประมง 96,114 ตารางเมตร และปศุสัตว์ 8.8 ล้านตัว ที่ต้องช่วยเหลือเยียวยา และฟื้นฟูที่ทำกินของเกษตรกรต่อไป รวมถึงปัญหาน้ำในเขื่อนมีน้อยอาจไม่พอใช้ในฤดูแล้งที่จะมาถึง
 
ส่วนการว่างงาน แม้อัตราว่างงานของไทยยังอยู่ในระดับต่ำ โดยปี 2559 เท่ากับร้อยละ 1.0 แต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556-2558 จากร้อยละ 0.8, 0.9 และ 0.9 ตามลำดับ และเดือนมกราคมปี 2560 อัตราการว่างงานเท่ากับร้อยละ 1.2 ประกอบกับคาดการณ์ผู้จบการศึกษาใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานปี 2560 ประมาณ 550,000 คน และประมาณร้อยละ 61 เป็นผู้จบการศึกษาระดับอุดมศึกษา อย่างไรก็ตาม คาดว่าปี 2560 เศรษฐกิจจะขยายตัวร้อยละ 3.0-4.0 โดยมีการขยายตัวดีทุกด้าน โดยเฉพาะภาคเอกชน และการส่งออกที่มีแนวโน้มจะขยายตัวดีขึ้นหลังจากที่ชะลอตัวในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คาดว่าจะช่วยเพิ่มตำแหน่งงาน และสามารถรองรับแรงงานใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานได้
 
ขณะที่การปรับตัวของตลาดแรงงานเข้าสู่ยุคดิจิตอล 4.0 จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงความต้องการแรงงานทั้งคุณสมบัติ และผลตอบแทนของแรงงาน รัฐบาลจึงมีเป้าหมายสร้างกำลังคนของประเทศให้มีประสิทธิภาพ “Productive Manpower” ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ปี 2559 มีกำลังแรงงานรวม 38.3 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้มีงานทำ 37.73 ล้านคน ลดลงจากปีที่ 2558 คิดเป็นร้อยละ 0.9 ด้านผู้ว่างงาน 400,000 คน อัตราว่างงานคิดเป็นร้อยละ 1 การเร่งยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยเพื่อเตรียมเด็ก และเยาวชนให้พร้อมเข้าสู่ยุคประเทศไทย 4.0 โดยส่งเสริมการเรียนรู้เชิงบูรณาการแบบ STEMS และกำหนดไว้ในร่างแผนการศึกษาแห่งชาติ ปี 2560-2579 ผู้ป่วยด้วยโรคเฝ้าระวังโดยรวมลดลง แต่ยังต้องเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่ที่พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
 
 
ขสมก.ลุยต่อโครงการเพื่อสังคม รถเมล์ปลอดภัยไร้คุกคามทางเพศ 
 
น.ส.ศิริพร บุญเปี่ยม ผู้อำนวยการสำนักการเจ้าหน้าที่ องค์การขนส่งมวลขนกรุงเทพ(ขสมก.) ในฐานะ ประธานคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขการคุกคามทางเพศในสถานที่ทำงาน กล่าวถึง การทำงานป้องกันภัยคุกคามทางเพศบนรถเมล์และภายในองค์กร ขสมก. ว่า ขสมก.ยังคงดำเนินการสานต่อโครงการอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มการรณรงค์โดยใช้สื่อที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งโครงการนี้เริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2554ที่เริ่มมีคณะกรรมการในการทำงานและ มีการรณรงค์การป้องกันคุกคามทางเพศให้พนักงาน ขสมก.เป็นการภายในรวมทั้งช่วยเหลือดูแลผู้โดยสารด้วย โดยประเด็นในการอบรมพนักงาน คือ ให้ความรู้ และการแก้ไขปัญหาในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
 
น.ส.ศิริพร ยกตัวอย่างว่า ในส่วนของพนักงานหญิงของ ขสมก.เอง ที่ถูกคุกคาม มีตั้งแต่ส่งตั๋วแล้วจับมือ แล้วทำเป็นไม่เจตนา ซึ่งการคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้นมีหลายปัจจัยแตกต่างกันไปบางที ทั้งจับก้น นม โชว์ของสงวน ในการช่วยเหลือผู้โดยสาร กรณีที่ร้ายแรง เราจะแจ้งตำรวจเลย ซึ่งมีหลายกรณีที่เด็กผู้หญิงซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา ไม่กล้า เมื่อเกิดเหตุขึ้นพนักงานขสมก.จะช่วยเหลือตั้งแต่พาลงไปพบเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อแก้ไขเหตุการณ์ รวมทั้ง พนักงานจะทำหน้าที่เป็นหูเป็นตาให้ผู้โดยสาร และมีการแนะนำช่วยเหลือแล้วแต่กรณีๆไป ซึ่งวิธีที่ดีคือการใช้เสียงโดยตรง เพื่อให้เขาหยุดพฤติกรรม ขณะที่วิธีป้องกัน เมื่อผู้โดยสารถูกระทำไม่มั่นใจว่า จะปลอดภัยจะมีการ ส่งสัญญาณไปยังพนักงานขับรถเพื่อให้ปิดประตูรถทันที แล้วขับรถไปที่สถานีตำรวจ ซึ่งกรณีเหตุการณ์แบบนี้ก็ทำแบบเดียวกันกับเคสปฎิบัติงานบนรถเมล์ฟรี พนักงานจะทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้โดยสารในทุกขั้นตอน
 
น.ส.ศิริพร กล่าวว่า การดำเนินการโครงการของ ขสมก.ที่ผ่านมาถือเป็นหน่วยงานหรือองค์กรที่แรก ซึ่งความจริงแล้ว แต่ละองค์กรมีความจำเป็นต้องมีการณรงค์ต่อเนื่อง หรือทำงานร่วมกันในแต่ละหน่วยงาน เพราะที่ผ่านมีมติ ครม.ในเรื่องมาตรการการป้องกัน การละเมิดทางเพศในการทำงาน ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอให้หน่วยงานภาครัฐเอกชน ถือปฎิบัติ มีการมอบหมายนโยบายหน่วยงานราชการ มีการอบรมแนวปฎิบัติ ซึ่งก็ต้องดำเนินการต่อไปเรื่อยๆ เพราะความชัดเจนต้องใช้เวลา และฝากให้หน่วยงานให้ความสำคัญ โดยเฉพาะผู้บริหาร เพราะถ้าผู้บริหารไม่ให้ความสำคัญ ก็จะไม่สามารถขับเคลื่อนไปได้
 
"ในหน่วยงาน รับทราบเพียงมติ ครม.แต่ไม่ได้เป็นกฎหมายบังคับ หลายหน่วยงานในกรณีมองว่าไม่สำคัญ ทั้งๆที่ในการใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน เมื่อมีเหตุการณ์แบบนั้น มันส่งผลกระทบทางด้านจิตใจ หดหู่ ซึมเศร้า ซึ่งมันต้องช่วยเหลือกัน แต่ก็ถือว่ารัฐในปัจจุบันให้ความสำคัญเพิ่มมากขึ้น ในหน่วยงานมีนโยบายป้องกันติดตาม ซึ่งมันอยู่ทีว่าแต่ละหน่วยงานจะทำหรือไม่ทำหรือจริงจังแค่ไหน" น.ส.ศิริพร ระบุ
 
น.ส.ศิริพร กล่าวว่า ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้องค์กรไม่ขับเคลื่อนงานนี้อย่างจริงจัง หรือ มองว่าเป็นประเด็นเล็กน้อย เพราะมีทัศนคติว่า ทำแล้ว หรือ มารณรงค์เรื่องนี้ จะทำให้องค์กรตัวเองเสียหาย หรือขายหน้าหรือไม่ ซึ่งคิดว่าต้องเปลี่ยนความคิด ว่า เราต้องให้ความสำคัญ แม้นหน่วยงานไม่มีภารกิจด้านนี้แต่เราสามารถทำประเด็นเรื่องนี้คู่ขนานกันไปได้ เช่น มีโครงการอันนี้เป็นตัวเสริมเข้าไปสิ่งสำคัญคือ เปิดใจให้กว้าง ไม่ควรมองข้าม หรือไม่ให้ความสำคัญเพราะคิดว่าไม่มีความหมาย
 
"ผู้หญิงไม่ค่อยพูด อาย หรือกลัว เมื่อถูกกระทำฉะนั้นคนที่มีพฤติกรรมอย่างนั้นก็ยังคงทำต่อไป เพราะหัวหน้างานก็ไม่พูดหรือมีมาตรการลงโทษ มันจึงกลายเป็นถูกกระทำอย่างปกติ รวมทั้งต้องเข้าใจว่า การคุกคามมันมีหลายรูปแบบ ทั้งสายตา วาจา การกระทำ ซึ่งแต่ละคนไม่เหมือนกัน ความรู้สึกต่างกัน เมื่อเขาถูกกระทำและทำให้เกิดความอึดอัด หรือเครียด เหล่านี้ก็ถือเป็นเหมือนการคุกคามโดยตรงเหมือนกัน ขอให้ได้ช่วยกัน อย่าคิดว่ามันไม่ได้เกิดขึ้นกับตัวเราเพราะวันข้างหน้าเราเองก็อาจตกเป็นเหยื่อถูกคุกคามได้เหมือนๆกัน เมื่อเจอเหตุการณ์ทั้งตัวเราและผู้อืนที่ถูกกระทำ ช่วยกันส่งเสียง หรือถ่ายภาพคลิป เป็นหลักฐาน ซึ่งผู้หญิงเอง หรือ คนที่ถูกกระทำ ก็ต้องเปลี่ยนทัศนคติต้องลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมของเรา ภัยสังคมพวกนี้ ถ้าเสียงดังเอาจริงพวกนี้จะหยุดพฤติกรรมหรือ หนีไป ซึ่งสังคมต้องร่วมด้วยช่วยกันสอดส่องเป็นหูเป็นตา" น.ส.ศิริพร กล่าว
 
น.ส.ศิริพร กล่าวว่า เนื่องในวันสตรีสากล ที่ใกล้จะมาถึง อยากเรียกร้องให้ ผู้บริหาร หรือ หน่วยงานให้ความสำคัญเพราะบทบาทของผู้บริหารสามารถที่จะทำให้เกิดความจริงจังอย่างแท้จริงได้ในการทำงานเรื่องนี้ อย่าคิดว่าไม่เป็นประเด็นหลักอะไร มีเรื่องอื่นสำคัญกว่านี้ ซึ่งมันเป็นเรื่องมุมองสภาพสังคม วัฒนธรรมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ โดยส่วนใหญ่มีอำนาจบังคับต่างๆ ฉะนั้นขออย่าเห็นเป็นเรื่องธรรมดา หรือมองข้าม แต่ทุกคนต้องช่วยกันตื่นตัวร่วมมือกัน เพื่อให้สังคมเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องในประเด็นการป้องกันการคุกคามทางเพศ
 
 
ก.แรงงานติวเข้มปั้นเป็นที่ปรึกษาหวังพัฒนา SMEs เป้าปีแรก 180 แห่ง
 
กระทรวงแรงงานจัดทำโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน 2560 โดยจัดอบรมข้าราชการของกรมฯ เพื่อเตรียมความพร้อมในการที่จะไปเป็นที่ปรึกษาพัฒนากลุ่ม SMEs ตั้งเป้าปี 2560 พัฒนา SMEs จำนวน 180 แห่ง พัฒนาแรงงานไม่น้อยกว่า 10,000 คน และปี 2561 เป้าพัฒนา SMEs 250 แห่ง
 
นายธีรพล ขุนเมือง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงานได้จัดทำโครงการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ล่าสุดได้จัดทำหลักสูตร พื้นฐานการให้บริการปรึกษาแนะนำการเพิ่มผลิตภาพแรงงาน เพื่อจัดการฝึกอบรม ให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เตรียมความพร้อมในการให้คำปรึกษาแก่สถานประกอบกิจการ
 
สำหรับการฝึกอบรมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและยกระดับทักษะความรู้ ความสามารถของบุคลากรของกรมฯ ให้มีทักษะในการปฏิบัติหน้าที่เป็นที่ปรึกษาแก่สถานประกอบกิจการ โดยให้คำแนะนำแก่พนักงานในสถานประกอบกิจการเพื่อรองรับการเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 ผู้ผ่านการอบรมจะเป็นนักพัฒนาฝีมือแรงงานพันธุ์ใหม่ ซึ่งการฝึกอบรมมีทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ
 
ทั้งนี้ ในปี 2560 มีเป้าหมายพัฒนากลุ่ม SMEs จำนวน 180 แห่ง พัฒนาพนักงานไม่น้อยกว่า 10,000 คน และในปี 2561 กพร.มีเป้าหมายเชิญสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการฯ อีกจำนวน 250 แห่ง โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถลดต้นทุนในกระบวนการผลิต มีรายได้เพิ่มขึ้นและมีผลกำไรที่สูงขึ้น ประกอบธุรกิจได้อย่างมั่นคง
 
 
ท่องเที่ยวเผย 32 ตำแหน่งงาน ย้ายเสรีข้ามประเทศอาเซียน
 
นางสาววรรณสิริ โมรากุล อธิบดีกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ประเทศไทยกำลังจะมีกฎหมายรองรับข้อตกลงร่วมว่าด้วยการยอมรับคุณสมบัติบุคลากรด้านการท่องเที่ยวอาเซียน หรือ ASEAN Mutual Recognition Arrangement on Tourism Professionals เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาบุคลากรการท่องเที่ยวของไทยให้มีมาตรฐานรองรับการเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายแรงงานในสาขาการบริการและการท่องเที่ยวของประเทศอาเซียน
 
ทั้งนี้ ภายใต้ข้อตกลงนี้ บุคลากรด้านการท่องเที่ยวที่จะสามารถเคลื่อนย้ายแรงงานไปทำงานในอาเซียนมี 32 ตำแหน่ง ใน 6 แผนก 2 สาขา คือ สาขาที่พักและสาขาการเดินทาง โดยสาขาที่พัก มี 23 ตำแหน่ง แบ่งเป็น 1.แผนกแม่บ้าน 6 ตำแหน่ง ได้แก่ ผู้จัดการแผนกแม่บ้าน ผู้จัดการส่วนซักรีด หัวหน้าพนักงานทำความสะอาดห้องพัก พนักงานซักรีด พนักงานทำความสะอาดห้องพัก และพนักงานทำความสะอาดพื้นที่สาธารณะ 2. แผนกต้อนรับส่วนหน้า 5 ตำแหน่ง ได้แก่ ผู้จัดการฝ่ายต้อนรับส่วนหน้า ผู้ควบคุมดูแลฝ่ายต้อนรับส่วนหน้า พนักงานต้อนรับ พนักงานรับโทรศัพท์ และพนักงานดูแลสัมภาระ 3.แผนกประกอบอาหาร 7 ตำแหน่ง ได้แก่ ผู้บริหารงานครัว หัวหน้าพ่อครัว พ่อครัวแต่ละงาน ผู้ช่วยพ่อครัวฝ่ายอาหาร ผู้ช่วยพ่อครัวขนมหวาน พนักงานทำขนมปัง และพนักงานแล่เนื้อ 4.แผนกบริการอาหารว่างและเครื่องดื่ม 5 ตำแหน่ง ได้แก่ ผู้อำนวยการแผนกอาหารและเครื่องดื่ม ผู้จัดการหัวหน้าอาหาร หัวหน้าพนักงานบริการ พนักงานผสมเครื่องดื่ม และพนักงานบริกร
 
สาขาการเดินทาง 9 ตำแหน่ง แบ่งเป็น 1. แผนกธุรกิจท่องเที่ยว 4 ตำแหน่ง ได้แก่ ผู้จัดการทั่วไปธุรกิจท่องเที่ยว ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไปธุรกิจท่องเที่ยว ผู้ให้คำปรึกษาอาวุโสด้านการเดินทางท่องเที่ยว และผู้แนะนำการเดินทางท่องเที่ยว 2. แผนกบริหารธุรกิจท่องเที่ยว 5 ตำแหน่ง ได้แก่ ผู้จัดการธุรกิจ ผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาด ผู้จัดการฝ่ายสินเชื่อธุรกิจท่องเที่ยว ผู้จัดการฝ่ายบัตรโดยสาร และผู้จัดการฝ่ายท่องเที่ยว
 
 
กยศ.เตรียม กม.ลูกรับ พ.ร.บ.ใหม่ ชี้เพิ่มโอกาสกู้ 4 ลักษณะ
 
กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เตรียมพร้อม พ.ร.บ. ใหม่ ส่งเสริมวินัยทางการเงิน และลดปัญหาค้างชำระหนี้ของผู้กู้ยืม บูรณาการความร่วมมือภาครัฐและเอกชนอย่างเป็นระบบ เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้กู้ยืมรุ่นต่อไป โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 26 ก.ค. 2560 เป็นต้นไป
 
ดร. ฑิตติมา วิชัยรัตน์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เปิดเผยว่า “ในขณะนี้กองทุน อยู่ระหว่างการจัดทำร่างกฎหมายลูกเพื่อรองรับการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ. 2560 “พ.ร.บ. ใหม่” ที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2560 และจะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 180 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไปนั้น
 
โดยสาระสำคัญของ พ.ร.บ.ฉบับใหม่ดังกล่าว จะเป็นการช่วยเพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้กับนักเรียน นักศึกษา ด้วยการเพิ่มการให้กู้ยืมมากลักษณะขึ้นกว่าเดิม ซึ่งแบ่งเป็น 4 ลักษณะ คือ
(1) ขาดแคลนทุนทรัพย์ 
(2) ศึกษาในสาขาวิชาความต้องการหลักต่อการพัฒนาประเทศ 
(3) ศึกษาในสาขาขาดแคลนหรือมุ่งส่งเสริมเป็นพิเศษ และ 
(4) เรียนดีเพื่อสร้างความเป็นเลิศ
 
พ.ร.บ. ใหม่ ยังเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการของกองทุน โดยเฉพาะในส่วนการติดตามหนี้ ที่เป็นสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ คือได้กำหนดให้องค์กรนายจ้างมีหน้าที่หักเงินได้ที่มาจากการจ้างแรงงาน เช่น เงินเดือนค่าจ้างฯ ของผู้กู้ยืมที่เป็นพนักงานลูกจ้างนำส่งกรมสรรพากรพร้อมกับการนำส่งภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่ายเพื่อชำระหนี้คืนกองทุน
 
นอกจากนี้ กองทุนสามารถขอข้อมูลหรือเปิดเผยข้อมูลเท่าที่จำเป็น ของผู้กู้ยืม เพื่อประโยชน์ในการบริหารกองทุนและการติดตามการชำระเงินคืนเท่านั้น ซึ่งกฎหมายใหม่จะช่วยป้องกันความเสี่ยงมิให้ผู้กู้ยืมที่ค้างชำระหนี้ต้องเสียเบี้ยปรับและถูกดำเนินคดี/บังคับคดี เนื่องจากที่ผ่านมากองทุนมีฐานข้อมูลของผู้กู้ยืมที่ไม่เป็นปัจจุบันทำให้ยากต่อการติดต่อสื่อสารและไม่มีมาตรการเชิงบังคับในการชำระหนี้ที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ
 
โดยภาพรวมแล้ว พ.ร.บ. ใหม่ฉบับนี้ จะเป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนอย่างเป็นระบบในการส่งเสริมวินัยทางการเงิน ป้องกันความเสี่ยงของผู้กู้ยืม รวมถึงสร้างจิตสำนึกและความรับผิดชอบต่อเงินกู้ยืมที่นำมาจากงบประมาณแผ่นดิน เพื่อส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้กับนักเรียน นักศึกษาในรุ่นต่อไป” ผู้จัดการ กยศ. กล่าวในที่สุด
 
 
เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ EEC ต้องการผู้จบ 'มัธยม-ปวช.-ปวส.'
 
9 มีนาคม 2560 พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมติดตามผลการดำเนินงานการเตรียมแรงงานรองรับระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ณ อีซี่พล่าซ่า 1 ชั้น 2 นิคมอุตสาหกรรมอิสเทิร์นซีบอร์ด จังหวัดระยอง โดยกล่าวว่า ในการเดินทางมาครั้งนี้ เป็นการลงพื้นเพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานตามนโยบาย พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากข้าราชการ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
 
"ผมจะได้นำความคิดเห็น ข้อเสนอแนะรวมถึงสภาพปัญหาและความต้องการ ไปกำหนดเป็นแนวทางการพัฒนาแรงงานเตรียมรองรับการเป็นระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก รวมถึงการผลักดันงานด้านแรงงานตามนโยบายของรัฐบาลให้บรรลุผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยตั้งแต่ปี 2560 กระทรวงแรงงานได้ปรับบทบาทให้มีภารกิจที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อดูแลพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในภาพรวม ให้สอดรับการก้าวเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 อย่างเป็นรูปธรรม" พล.อ.ศิริชัย กล่าว
 
พล.อ.ศิริชัย กล่าวด้วยว่า เริ่มจากการเพิ่มบทบาทสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานให้เป็นสถาบันพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีอัตโนมัติและหุ่นยนต์ภาคตะวันออกจังหวัดระยอง เพื่อฝึกให้แรงงานมีความพร้อมรองรับความต้องการภาคอุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ เน้นการพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีชั้นสูงให้แก่ผู้ที่จบการศึกษาและแรงงานใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน
 
"เนื่องจากปัจจุบันในพื้นที่ภาคตะวันออก 3 จังหวัด คือ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา มีความต้องการแรงงานประมาณ 9,400 อัตราในตำแหน่ง งานการผลิต ขายส่ง-ขายปลีกซ่อมแซมยานยนต์ เครื่องใช้ในครัวเรือนและก่อสร้าง โดยส่วนใหญ่ต้องการผู้ที่จบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษา ปวช. และ ปวส. ให้ทำงานพื้นฐานทั่วไปและด้านช่างเทคนิคช่างประกอบ "รมว.กระทรวงแรงงาน กล่าว
 
พล.อ.ศิริชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ กระทรวงแรงงาน มั่นใจว่ามีความพร้อมในการพัฒนาแรงงานทุกด้าน เพื่อรองรับระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ และมีแผนการพัฒนาคนตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในการขับเคลื่อน
 
นอกจากนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ยังได้เน้นย้ำกับภาคเอกชน ถึงแนวทางการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว เพื่อให้เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ขณะเดียวกันกระทรวงแรงงาน ยังได้ดำเนินการปรับแก้ พ.ร.ก. การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวทั้งระบบ พ.ศ. ..... ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา อีกด้วย
 
การประชุมฯ ครั้งนี้ นอกจาก หัวหน้าส่วนราชการสังกัดกระทรวงแรงงาน ในพื้นที่กลุ่มจังหวัด EEC แล้วยังมีผู้บริหารนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด (WHA GROUP)ประธานอุตสาหกรรม ประธานหอการค้า ผู้แทนภาคเอกชน หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุมแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานด้านแรงงานด้วย
 
 
กสร. เตรียมเรียก “นายจ้าง” สอบเหตุ “ลูกจ้าง” ก่อสร้างอาคารรัฐสภาใหม่ ตกจากคานเหล็กสูง 10 เมตรดับ ชี้ หากพบไม่ปฏิบัติตามกฎหมายดำเนินคดีถึงที่สุด
 
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีเหตุลูกจ้างก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ พลัดตกจากคานเหล็กสูง 10 เมตร จนเป็นเหตุให้เสียชีวิต ว่า จากการสอบข้อเท็จจริงของพนักงานตรวจความปลอดภัยในเบื้องต้น ทราบว่า ขณะเกิดเหตุลูกจ้างกำลังปฏิบัติงานตามปกติ แต่ได้เกิดพลัดตกลงมาจากคานเหล็กขณะกำลังรื้อโครงเหล็ก ทำให้ร่างกายกระแทกพื้นเสียชีวิต ซึ่งพนักงานตรวจความปลอดภัยได้ออกหนังสือเชิญนายจ้างให้มาพบเพื่อสอบข้อเท็จจริงในวันที่ 14 มีนาคมนี้ หากตรวจสอบพบนายจ้างไม่ปฏิบัติตามจะดำเนินคดีตามกฎหมายทันที โดยอัตราโทษสูงสุดของการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงาน คือ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
นายสุเมธ กล่าวว่า อุบัติเหตุในการทำงานที่เกิดขึ้นแต่ละครั้ง ก่อให้เกิดความสูญเสียเป็นอย่างมาก ทั้งต่อผู้ประสบเหตุ ครอบครัว นายจ้างเองก็มีความผิด และถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม การประสบอันตรายจากการทำงานเป็นเรื่องที่สามารถป้องกันได้ เริ่มต้นด้วยการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด จึงขอเตือนไปยังนายจ้าง เจ้าของสถานประกอบกิจการอื่นๆ ให้ปฏิบัติตามกฎหมายความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด เพราะหากเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงเช่นนี้กับสถานประกอบกิจการใด กสร. จะดำเนินคดีตามอัตราโทษสูงสุดหากนายจ้าง
 
 
กรมชลฯ อัดงบ 3.4พันล้านบาท จ้างงานเกษตรกรแทนทำนาปรัง
 
นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยพี่น้องเกษตรกรทั่วประเทศ หลังจากที่ภาครัฐประกาศให้พักการทำนาปรังรอบที่ 2 เพื่อป้องกันปัญหาภัยแล้ง จึงมีนโยบายให้ทุกหน่วยงานในสังกัดดำเนินงานตามแผนเตรียมความพร้อมเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยแล้งด้านการเกษตรปี 2559/60 โดยมีนโยบายให้กรมชลประทานเข้าไปดำเนินการจ้างแรงงานเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรทั่วประเทศ ซึ่งในปีนี้มีการจัดสรรงบประมาณจ้างแรงงานจากภาคการเกษตรมาดำเนินงานด้านก่อสร้างและบำรุงรักษา เช่น งานก่อสร้างโครงการชลประทานขนาดเล็ก งานซ่อมแซมปรับปรุงโครงการกำจัดวัชพืชซึ่งจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพระบบชลประทานในการส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกในช่วงฤดูนาปี
 
โดยกรมชลประทานมีแผนการจ้างแรงงานจากวงเงินงบประมาณในปี พ.ศ. 2560 จำนวน 3,497.19 ล้านบาทปัจจุบันเบิกจ่ายค่าจ้างแรงงานแล้วจำนวน 559.06 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 15.99 ของงบประมาณการจ้างแรงงาน โดยมีการจ้างแรงงานไปแล้วจำนวน 41,184 คน ครอบคลุมทั้ง 76 จังหวัด ซึ่งจังหวัดที่มีการจ้างแรงงานมากที่สุด 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 3,035 คน จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 2,686 คน และจังหวัดสกลนคร จำนวน 2,283 คน ตามลำดับ
 
สำหรับการจ้างแรงงานดังกล่าว จะให้ความสำคัญในการว่าจ้างเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตร หรือลูกหลานของเกษตรกรเป็นอันดับแรก อย่างไรก็ตามหากบางพื้นที่มีจำนวนเกษตรกรมาสมัครไม่เพียงพอ จึงมีความจำเป็นต้องว่าจ้างแรงงานในภาคส่วนอื่นๆ แต่ต้องเป็นคนในพื้นที่หรือพื้นที่ใกล้เคียงซึ่งคาดว่าจะสามารถบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องชาวเกษตรกรทั่วประเทศได้ก่อนจะถึงฤดูฝนและการเพาะปลูกข้าวนาปีในฤดูกาลต่อไป ทั้งนี้ เกษตรกรที่ประสงค์จะทำงานในช่วงฤดูแล้งกับกรมชลประทานสามารถขึ้นทะเบียนเข้าร่วมโครงการได้ที่ สำนักงานชลประทานที่ 1-17 และโครงการชลประทานจังหวัดทั่วประเทศ
 
 
สำนักงานประกันสังคม แจงข้อเท็จจริงตัวเลขว่างงานผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ว่าเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลจากนักวิชาการเพียงด้านเดียว
 
นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีนักวิชาการนำเสนอข้อมูลจากสำนักงานประกันสังคมถึงสถานการณ์การว่างงานและการถูกเลิกจ้างของประเทศไทยผ่านสื่อมวลชนว่า การว่างงานและการถูกเลิกจ้างของประเทศไทยเพิ่มมากที่สุดในรอบหลายปี โดยการนำเสนอข้อมูลดังกล่าว สำนักงานประกันสังคมขอเรียนว่า เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลของนักวิชาการที่นำข้อมูลเพียงด้านเดียว คือนำตัวเลขเฉพาะคนออกจากการงานมานำเสนอโดยมิได้กล่าวถึงการจ้างงาน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ณ ธันวาคม 2558 มีจำนวน 10,390,000 คน และ ณ ธันวาคม 2559 มีจำนวน 10,510,000 คน แสดงให้เห็นว่ามีผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมเพิ่มขึ้นถึง 120,000 คน กล่าวได้ว่ายังคงมีการจ้างงานในระบบเพิ่มขึ้น
 
เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวต่อไปว่า ปัจจัยที่ทำให้อัตราการว่างงานและการถูกเลิกจ้างเพิ่มขึ้นในปัจจุบันมีอยู่หลายปัจจัย โดยเฉพาะคนวัยทำงานรุ่นใหม่มีทัศนคติการดำรงชีวิตที่เปลี่ยนไป มีความต้องการความมั่นคงในชีวิตสูง จึงตัดสินใจเปลี่ยนงานได้อย่างรวดเร็ว โดยเน้นเลือกบริษัท หรือองค์กรที่มั่นคง มีชื่อเสียง และมีโอกาสก้าวหน้ามากขึ้น หรืออาจตัดสินใจลาออกจากงานประจำ เพราะต้องการเป็นเจ้าของกิจการหรือทำงานอิสระตามวิชาชีพที่จบการศึกษาหรือความถนัดส่วนตัว
 
อย่างไรก็ตาม สำนักงานประกันสังคมจะได้ติดตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมพร้อมดูแลผู้ประกันตนที่ว่างงานและมุ่งมั่นพัฒนาพัฒนาปรับปรุงสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกันตนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ระบบประกันสังคมเป็นที่พึ่งและ สร้างหลักประกันความมั่นคงในชีวิตให้กับผู้ประกันตนผู้ใช้แรงงานอย่างแท้จริง
 
 
ก.ดิจิทัลฯ เร่งหาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะกิจ เงินเดือน 37,000-210,000 บาท
 
นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า โครงการที่จะจัดหาบุคคลระดับหัวกะทิเข้ามาร่วมทำงานกับหน่วยงานในกระทรวงนั้น ตอนนี้ได้หารือกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เพื่อหาบุคคลที่มีประวัติการทำงานดี มีความสามารถ ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางเกี่ยวกับการพัฒนาดิจิทัล เข้าทำงานในหน่วยงานรัฐของกระทรวง เป็นรูปแบบของสัญญาจ้างงานตั้งแต่ 3 เดือน ถึงไม่เกิน 4 ปี และต่อสัญญาต่อเนื่องเมื่อผ่านการประเมิน จำนวนรวม 100 คน
 
ทั้งนี้ จะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มพนักงานราชการเชี่ยวชาญ ในอัตราจ้าง 3 ระดับ คือ ระดับเชี่ยวชาญทั่วไป เงินเดือน 109,200 บาท ระดับเชี่ยวชาญในประเทศ เงินเดือน 163,800 และระดับเชี่ยวชาญต่างประเทศ เงินเดือน 218,400 บาท โดยจะต้องมีการประเมินผลงานทุก 1 ปี และกลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มพนักงานข้าราชการพิเศษเฉพาะกิจ เงินเดือน 37,680 บาท ถึง 68,350 บาท โดยการคัดเลือกนั้นจะใช้วิธีสรรหาและเป็นการรับแบบปิด คือ ให้สกอ.ช่วยหาในอุดมศึกษาด้วย
 
ทั้งนี้ จะเน้นหาคนเก่งที่ทำงานร่วมกันได้ ดังนั้นจะมีวัดระดับความฉลาดทางอารมณ์ (อีคิว) เป็นปัจจัยสำคัญด้วย ยอมรับว่าเป็นการใช้โอกาสของการเป็นกระทรวงใหม่เพื่อเฟ้นหาคนหัวกะทิเข้ามาร่วมทำงานพัฒนาดิจิทัล ส่วนงบประมาณในการจัดจ้างบุคคลนั้น ใช้ของสำนักงบประมาณ ไม่ใช่งบประมาณของกระทรวงดีอี
 
“มองว่ากระทรวงฯ ยังขาดความเป็นดีอี ใน 2 ส่วน คือ ยังขาดคนเก่งเฉพาะทางที่เป็นเลือดใหม่ในการทำงาน และขาดการจัดเก็บข้อมูลเพื่อมาวิเคราะห์ หรือ รีเสิร์ชเซ็นเตอร์ ดังนั้น จึงทำให้การกำหนดทิศทางที่จะเดินยังไม่ชัดเจนเท่าที่ควร หากมี 2 ส่วนนี้ครบ ก็จะตอบคำถามได้ว่า กระทรวงดีอี แตกต่างจากกระทรวงไอซีทีอย่างไร” รมว.กระทรวงดีอี กล่าว
 
 
กกจ.เตือนคนหางานอย่าหลงเชื่อโฆษณาชวนทำงานนวดที่ "กาตาร์" ผ่านเฟสบุ๊คส์ อ้างชื่อว่า “ชัยชาญ" พบบริการทางเพศแอบแฝงเสี่ยงถูกจับคดีค้าประเวณีได้
 
นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน(กกจ.)เปิดเผยว่า สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ แจ้งว่าขณะนี้มีประกาศรับสมัครงานผ่านทางfacebookอ้างชื่อว่า “ชัยชาญ...” โดยโฆษณาชวนเชื่อให้เข้าไปทำงานตำแหน่งพนักงานนวดที่ประเทศกาตาร์ โดยใช้วีซ่าประเภทท่องเที่ยว ซึ่งไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของการเดินทางเข้ามาในกาตาร์และขัดกับกฎหมายท้องถิ่น
 
"โดยมีการลงข้อความ รูปภาพและบัตรโดยสารเครื่องบินของคนไทยคนหนึ่ง ที่กำลังจะเดินทางไปประเทศกาตาร์ พร้อมทั้งให้หมายเลขติดต่อหากสนใจจะสมัครไปทำงาน คนหางานบางรายได้รับวีซ่าประเภททำงาน (Work – Yearly Resident) แต่เข้าไปทำงานโดยไม่มีสัญญาจ้างงานที่ผ่านการรับรองจากหน่วยงานราชการของไทยและกาตาร์"อธิบดีกรมการจัดหางานกล่าว
 
อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวอีกว่า อีกทั้งบางรายนายจ้างยังไม่ดำเนินการเปลี่ยนเป็นวีซ่าทำงานให้ หรือไม่ขอรับบัตรประจำตัวผู้อยู่อาศัยในกาตาร์ (Resident Permit - RP) ให้ และยังมีการให้บริการทางเพศแอบแฝงด้วยซึ่งประเทศกาตาร์มีกฎหมายควบคุมการเดินทางออกนอกประเทศของคนต่างชาติที่เข้าไปทำงานเป็นลูกจ้าง ทำให้ไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศกาตาร์ได้ หากไม่ได้รับความยินยอมจากนายจ้าง จึงส่งผลให้คนไทยหลายรายประสบปัญหาในการเดินทางออกนอกประเทศ จนต้องขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐ
 
นายวรานนท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาดังกล่าวข้างต้นส่วนใหญ่ที่พบจะอยู่ในกลุ่มพนักงานนวดในร้านนวดชาย ที่ต้องจ้างพนักงานเพศชายเท่านั้น เนื่องจากกาตาร์แบ่งร้านนวดสำหรับผู้ชายและผู้หญิง โดยพนักงานนวดและลูกค้าจะต้องเป็นเพศเดียวกัน ซึ่งการกระทำดังกล่าวจะเข้าข่ายการลักลอบส่งคนไปทำงานโดยผิดกฎหมาย และอาจมีการกระทำเป็นขบวนการทั้งในประเทศและต่างประเทศ
 
"ผมขอย้ำเตือนคนหางานว่าอย่าหลงเชื่อบุคคลที่ชักชวนให้ไปทำงานดังกล่าว เพราะอาจต้องเสียเงินฟรีและยังมีความเสี่ยง ในการทำงาน รวมทั้งไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือการดูแลที่เหมาะสม อย่างไรก็ตามหากประสงค์จะไปทำงานต่างประเทศขอให้ตรวจสอบข้อมูล หรือแจ้งเรื่องร้องทุกข์แจ้งเบาะแสการหลอกลวงคนหางานได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ หรือกองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน หรือโทรสายด่วนกรมการจัดหางาน 1694" นายวรานนท์ กล่าวในที่สุด
 
 
จับมือ 2 สถาบัน 3 สมาคม เร่งส่งเสริมพัฒนาอาชีพคนพิการ
 
กระทรวงแรงงานเตรียมร่วมมือมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาลัยราชสุดา สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึมไทยและสมาคมการค้าผู้ประกอบกิจการเพื่อสังคมคนพิการและผู้ด้อยโอกาสไทย ตั้งศูนย์ JOB COACH THAILAND CENTER คาดเป็นศูนย์ต้นแบบส่งเสริมการจ้างงานคนพิการอย่างยั่งยืน
 
กระทรวงแรงงาน โดยนายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานให้ความสำคัญกับการส่งเสริมอาชีพคนพิการ โดยพร้อมจะขับเคลื่อนให้เกิดการจ้างงานและพัฒนาอาชีพคนพิการตามยุทธศาสตร์ของรัฐบาล โดยได้สั่งการให้ทุกหน่วยในสังกัดกระทรวงแรงงานใช้กลไก “ประชารัฐ” ที่เน้นการบูรณาการร่วมจากทุกภาคส่วน เพื่อให้คนพิการมีงานทำอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน เกิดความมั่นคงในชีวิตและมีรายได้ในการประกอบอาชีพ ซึ่งในส่วนของกรมการจัดหางานนั้นได้กำหนดกรอบแผนการส่งเสริมการมีงานทำให้คนพิการ 20 ปี (2560-2579) โดยมุ่งให้คนพิการมีงานทำและมีรายได้ สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี ซึ่งใน 5 ปี แรก (2560-2564) ตั้งเป้าหมายให้คนพิการมีงานทำตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 จำนวน 3,000 คนต่อปี และมาตรา 35 จำนวน 10,000 คนต่อปี และมีรายได้เหนือเส้นรายได้ปานกลาง ซึ่งขณะนี้กรมการจัดหางานได้มีการหารือร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาลัยราชสุดา สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึมไทยและสมาคมการค้าผู้ประกอบกิจการเพื่อสังคมคนพิการและผู้ด้อยโอกาสไทยเกี่ยวกับการจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะด้านวิชาชีพของคนพิการในประเทศไทย (JOB COACH THAILAND CENTER) ที่กระทรวงแรงงาน โดยศูนย์แห่งนี้จะสามารถตอบโจทย์ปัญหาการจ้างงานคนพิการได้ เนื่องจากที่ผ่านมาระบบการจ้างงานคนพิการยังขาดกระบวนการเชื่อมโยงประสานงานระหว่างคนพิการและนายจ้างในการเป็นที่ปรึกษาแนะนำการจ้างงานคนพิการให้เหมาะกับตำแหน่งงานของสถานประกอบการ ขาดเทคโนโลยี สิ่งอำนวยความสะดวก นวัตกรรมในการส่งเสริมการมีงานทำและการประกอบอาชีพของคนพิการ ทำให้สถานประกอบการได้คนพิการไม่ตรงและไม่สอดคล้องกับความสามารถของ คนพิการ ดังนั้น จึงเกิดแนวคิดในการพัฒนาระบบบ่มเพาะคนพิการสู่การมีงานทำ โดยเริ่มจากการพัฒนาวิธีคิด ความเชื่อ ความรู้ของคนพิการ/ครอบครัว และนายจ้าง/ผู้ซื้อสินค้า บริการและชุมชน/สังคม ผู้สอนงาน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีที่จำเป็น เช่น อุปกรณ์ช่วยเหลือในการเดินทาง สิ่งอำนวยความสะดวกในการทำงาน เป็นต้น
 
ศูนย์ JOB COACH มี 3 กระบวนการหลักคือ 1) การบ่มเพาะก่อนจ้างงานจะเป็นระบบคัดกรองความสามารถในการมีงานทำของคนพิการ มีพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาในด้านต่าง ๆ เช่น การเตรียมความพร้อม การปรับทัศนคติก่อนเข้าสู่การทำงาน เป็นต้น 2) การส่งต่อ เป็นการสนับสนุนเข้าสู่การจ้างงาน โดยคำนึงถึงความแตกต่างและความถนัดของบุคคล ซึ่งคนพิการที่มีความพร้อมเข้าสู่กระบวนการมีงานทำจะได้รับการจ้างงานในสถานประกอบการและสามารถทำงานได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ขณะเดียวกันหากไม่สามารถทำงานในสถานประกอบการได้ก็จะสนับสนุนให้เป็นผู้ประกอบการต่อไป 3) การรักษา เป็นการพัฒนาหลังจ้างงาน เพื่อทำให้คนพิการสามารถมีโอกาสทำงานในสถานประกอบการได้มากขึ้น และมีทักษะในวิชาชีพที่ได้มาตรฐานเพื่อให้ได้ค่าตอบแทนในการจ้างงานที่สูงขึ้น นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้สถานประกอบการจัดซื้อสินค้าและบริการของคนพิการ
 
นายวรานนท์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ศูนย์ JOB COACH เป็นการจัดทำระบบสนับสนุนบ่มเพาะการจ้างงานคนพิการครั้งแรกในประเทศไทย เริ่มตั้งแต่การคัดกรองรับสมัครคนพิการ การจำลองศูนย์การฝึกวิชาชีพตามความต้องการของภาคเอกชน พร้อมทั้ง Matching คนพิการที่ผ่านการอบรมเข้ารับการจ้างกับองค์กรเอกชน และมีการติดตามการทำงานของคนพิการที่เข้าทำงานในสถานประกอบการ มีเป้าหมายคนพิการมาใช้บริการ 2,000 คน มีสาขาอาชีพที่ฝึกในเบื้องต้นประมาณ 10 สาขา เช่น ภาคอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การบริการ การก่อสร้าง เป็นต้น ซึ่งหากได้รับการตอบรับที่ดีจากคนพิการและสถานประกอบการก็จะได้พัฒนาไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศต่อไป
 
ที่มา: กระทรวงแรงงาน, 11/3/2560

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net