สลาวอย ชิเชก: เราต้องลุกออกมาจากซากปรักหักพังของระบอบเสรีประชาธิปไตย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

สุนทรพจน์ในพิธีสาบานตนรับตำแหน่งของโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อวันที่ 20 มกราคม ถือเป็นอุดมการณ์ในรูปแบบที่ชัดเจนที่สุด ข้อความอันแสนเรียบง่ายของมันวางอยู่บนความไม่คงเส้นคงวาที่ชัดเจนโดยพื้นฐานที่สุด สุนทรพจน์ของทรัมป์ฟังดูเหมือนสิ่งที่เบอร์นีย์ แซนเดอร์ก็สามารถพูดได้ ตัวอย่างเช่น  ผมพูดเพื่อคนทำงานหนักทุกคนที่ถูกหลงลืม ถูกละเลยและถูกกดขี่ขูดรีด ผมเป็นเสียงของพวกคุณ ตอนนี้พวกคุณมีอำนาจแล้ว อย่างไรก็ตาม นอกจากความขัดแย้งกันอย่างชัดเจนระหว่างถ้อยแถลงของทรัมป์กับผู้ที่เขาเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในช่วงแรกๆ (เช่น เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน[1]ซึ่งจะถือเป็นเสียงของคนทำงานหนักที่ถูกกดขี่ขูดรีดได้จริงหรือ?) ร่องรอยหลายอย่างชี้ให้เห็นว่าข้อความของเขาเปลี่ยนแปลงไปอย่างฉับพลัน

ทรัมป์พูดถึงชนชั้นนำในวอชิงตัน ไม่ได้พูดถึงนายทุนและนายธนาคารขนาดใหญ่ เขาพูดถึงการถอนตัวจากบทบาทของตำรวจโลก แต่ให้สัญญาว่าจะทำลายล้างกลุ่มก่อการร้ายมุสลิม ในบางครั้งเขาก็พูดว่าจะป้องกันการทดสอบขีปนาวุธของเกาหลีเหนือและจำกัดวงการเข้ายึดครองหมู่เกาะในทะเลจีนใต้ของจีน ดังนั้นสิ่งที่เรากำลังได้รับคือการแทรกแซงทางการทหารในระดับโลกซึ่งกระทำอย่างซึ่งหน้าในนามผลประโยชน์แห่งอเมริกันชน โดยปราศจากข้ออ้างเรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย

ย้อนกลับไปเมื่อทศวรรษที่ 1960 คำขวัญของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อมในช่วงแรกคือ “คิดในระดับโลก ลงมือทำในระดับท้องถิ่น!” ทรัมป์ให้สัญญาว่าจะทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง นั่นคือ “คิดในระดับท้องถิ่น ลงมือทำในระดับโลก” ในศตวรรษที่ยี่สิบ ไม่มีใครจำเป็นต้องมาประกาศว่า “อเมริกาต้องมาก่อน” เพราะในความเป็นจริงก็เป็นเช่นนั้น การที่ทรัมป์ประกาศเรื่องนี้ออกมาจึงบ่งชี้ว่า ในศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด การแทรกแซงในระดับโลกของอเมริกาจะยิ่งดำเนินไปในทางที่โหดร้ายมากยิ่งขึ้น ตลกร้ายที่ฝ่ายซ้ายซึ่งวิพากษ์วิจารณ์การทำตัวเป็นตำรวจโลกของสหรัฐอเมริกามาอย่างยาวนาน กลับเริ่มคิดถึงวันวานเก่า ๆ สมัยที่สหรัฐฯ ยัดเยียดมาตรฐานด้านประชาธิปไตยให้แก่(ประเทศต่างๆ ทั่ว)โลก

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าหดหู่ที่สุดในช่วงเวลาหลังการเลือกตั้งในสหรัฐฯ ไม่ใช่นโยบายของทรัมป์ แต่คือปฏิกิริยาของกลุ่มผู้มีอำนาจในพรรคเดโมแครตที่มีต่อความพ่ายแพ้ครั้งประวัติศาสตร์ของตนเอง พวกเขาแกว่งไปมาระหว่างแนวคิดสุดขั้วสองอย่าง ได้แก่ ความหวาดผวาต่อตัวปัญหาอย่างทรัมป์ กับแนวคิดขั้วตรงข้ามที่เห็นว่าสถานการณ์ยังปกติดี ไม่ได้มีอะไรที่ผิดธรรมดาเกิดขึ้น ด้านหนึ่ง คริสต์ แมทธิว แห่งช่อง MSNBC กล่าวว่าเขาพบข้อความที่ “ฟังดูเหมือนฮิตเลอร์” ในสุนทรพจน์รับตำแหน่งของทรัมป์ อีกด้านหนึ่ง จอห์น เบรสแนนของสำนักข่าว Politico รายงานว่า แนนซี เปโลซี “เอ่ยถึงเหตุการณ์ในทศวรรษที่แล้วซ้ำแล้วซ้ำเล่า สำหรับเธอ บทเรียนนั้นชัดเจน อดีตเป็นอารัมภบทสิ่งที่เคยใช้ได้ผลแล้ว ก็จะใช้ได้ผลอีกครั้ง ทรัมป์และรีพับลิกันจะล้มเหลว และเดโมแครตต้องพร้อมกระโจนคว้าโอกาสเมื่อพวกนั้นพลาดท่า”

ในอีกแง่หนึ่ง [บางคนมองว่า] ชัยชนะในการเลือกตั้งของทรัมป์เป็นเพียงการสับเปลี่ยนประธานาธิบดีระหว่างพรรครีพับลิกันกับพรรคเดโมแครตที่เกิดขึ้นอีกครั้ง นับจากสมัยของเรแกน บุช คลินตัน บุช โอบามา จนถึงทรัมป์ในปัจจุบัน ท่าทีดังกล่าวละเลยความหมายที่แท้จริงของชัยชนะในการเลือกตั้งของทรัมป์อย่างสิ้นเชิง นั่นคือทรัมป์ได้รับชัยชนะในครั้งนี้ก็เพราะความอ่อนแอของพรรคเดโมแครต และชัยชนะของเขาก่อให้เกิดการปรับโครงสร้างของพื้นที่ทางการเมืองทั้งหมดอย่างถอนรากถอนโคน

แต่จะเกิดอะไรขึ้นถ้าหากโครงการต่างๆ ของทรัมป์ เช่น การคุ้มครองทางการค้าแบบพอประมาณ (moderate protectionism) การสร้างงานและสร้างสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ ผนวกกับมาตรการความมั่นคงที่ต่อต้านผู้อพยพ และการสร้างสันติภาพรูปแบบใหม่ที่ผิดทิศผิดทางกับรัสเซีย เกิดเดินหน้าได้ดีและก่อให้เกิดผลในระยะสั้นบางอย่าง  นี่เองเป็นสิ่งที่ฝ่ายซ้ายเสรีนิยมที่กำลังตื่นตระหนักรู้สึกหวาดกลัวกันจริงๆ พวกเขากลัวว่าทรัมป์อาจจะไม่ใช่หายนะแต่อย่างใด

เราไม่ควรยอมจำนนให้กับความหวาดกลัวดังกล่าว ต่อให้ทรัมป์ดูจะประสบความสำเร็จ แต่ผลลัพธ์ของการเมืองของเขาจะไม่มีความชัดเจนสำหรับประชาชนทั่วไป ผู้ซึ่งจะรู้สึกเจ็บปวดต่อความสำเร็จนี้ในไม่ช้า หนทางเดียวในการเอาชนะทรัมป์และกอบกู้สิ่งที่มีคุณค่าต่อการรักษาในระบอบเสรีประชาธิปไตย คือการแยกตัวเองออกจากซากศพของระบอบเสรีประชาธิปไตยและสร้างฝ่ายซ้ายแบบใหม่ขึ้นมา องค์ประกอบของแผนการสร้างฝ่ายซ้ายแบบใหม่นี้ไม่ใช่สิ่งที่ยากเกินจินตนาการ ทรัมป์ให้สัญญาว่าจะยกเลิกข้อตกลงทางการค้าขนาดใหญ่ซึ่งสนับสนุนโดยคลินตัน ฝ่ายซ้ายทางเลือกจึงควรเป็นโครงการความร่วมมือระดับนานาชาติที่สดใหม่และแตกต่างจากข้อตกลงทั้งสองอย่างนั้น  ข้อตกลงของฝ่ายซ้ายรูปแบบใหม่จะสร้างอำนาจสาธารณะในการกำกับดูแลธนาคาร สร้างมาตรฐานทางสิ่งแวดล้อม สิทธิแรงงาน หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การปกป้องคนกลุ่มน้อยทางเพศและชาติพันธุ์ ฯลฯ บทเรียนใหญ่ของระบบทุนนิยมโลกคือรัฐชาติเพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำงานเหล่านี้ได้ มีเพียงความร่วมมือทางการเมืองในระดับนานาชาติเท่านั้นที่จะมีโอกาสเหนี่ยวรั้งทุนนิยมโลกเอาไว้

ครั้งหนึ่ง ฝ่ายซ้ายเก่าที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์เคยบอกกับผมว่า ข้อดีเพียงอย่างเดียวของสตาลินก็คือเขาทำให้ประเทศมหาอำนาจตะวันตกขวัญผวาได้จริงๆ และเราสามารถพูดถึงทรัมป์แบบเดียวกันนี้ได้ว่า ข้อดีเพียงอย่างเดียวของเขา คือเขาทำให้พวกเสรีนิยมหวาดหวั่นได้จริงๆ

หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง มหาอำนาจตะวันตกตอบโต้ต่อภัยคุกคามจากโซเวียตด้วยการให้ความสนใจข้อบกพร่องของตนเอง ซึ่งนำไปสู่พัฒนาการของรัฐสวัสดิการ คำถามคือฝ่ายซ้ายเสรีนิยมในปัจจุบันจะสามารถทำอะไรบางอย่างที่คล้ายคลึงกันนี้ได้หรือไม่?

 

เชิงอรรถ

[1] รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแห่งสหรัฐฯ คนปัจจุบันของรัฐบาลประธานาธิดีโดนัลด์ ทรัมป์ 

 

หมายเหตุ: แปลจากบทความ Slavoj Zizek. We Must Rise from the Ashes of Liberal Democracy (2017). ทั้งนี้ผู้แปลขอขอบคุณ ภาคิน นิมมานนรวงศ์ และ ธรรมชาติ กรีอักษร ที่ให้ความช่วยเหลือในการตรวจทานและขัดเกลาภาษาของผู้แปลให้ดียิ่งขึ้น

เกี่ยวกับผู้เขียน: สลาวอย ชิเชก เป็นนักปรัชญาและนักจิตวิเคราะห์ชาวสโลวาเนีย ที่ได้รับการยอมรับและมีการกล่าวถึงอย่างกว้างขวางในแวดวงนักวิชาการปัจจุบัน 

ผู้แปล: ต่อศักดิ์ จินดาสุขศรี รัฐศาสตร์บัณฑิต คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

   

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท