Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



กรัมชี่ เป็นนักปฏิวัติมาร์กซิสต์ชาวอิตาลี่ ที่ต้องใช้เวลาในคุกฟาสซิสต์หลายปี

กรัมชี่ พิสูจน์ให้เห็นคุณค่าของการผลิตหนังสือพิมพ์สังคมนิยมที่เสนอบทความในลักษณะที่สอดคล้องกับการต่อสู้ของกรรมาชีพพื้นฐาน “L’Ordine Nuovo” กรัมชี่ เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ที่ให้ทิศทางกับการต่อสู้ของกรรมาชีพในยุคปฏิวัติหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง กรัมชี่อธิบายว่ากรรมกรชอบอ่าน “L’Ordine Nuovo” เพราะ “เวลากรรมกรอ่าน เขาจะค้นพบส่วนดีที่สุดของตัวเขาเอง มีการตั้งคำถามและตอบคำถามที่ตรงกับปัญหาที่เขาพบอยู่ในช่วงนั้น” จะเห็นได้ว่า กรัมชี่ เน้นการนำตนเองของกรรมาชีพจากล่างสู่บน ซึ่งแตกต่างจากนักวิชาการปัจจุบันหลายคนที่พูดถึง กรัมชี่ เหมือนเป็นแนวคิด “วิชาการ” ที่ซับซ้อนจนคนธรรมดาเข้าใจยาก

ในงานเขียนสมัย “ปีสีแดง” ที่มีการยึดโรงงานต่างๆ กรัมชี่ จะเน้นปัญหาว่าเราจะทำอย่างไรให้การปฏิวัตินั้นนำผลประโยชน์แท้จริงมาสู่ชนชั้นกรรมาชีพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว กรัมชี่ มองว่าคณะกรรมการคนงานในสถานที่ทำงานต่างๆ ที่ตั้งขึ้นมาหลังจากที่คนงานยึดโรงงานจากนายทุน เป็นหน่ออ่อนของรัฐกรรมาชีพในอนาคต แต่ท้ายสุดขบวนการยึดโรงงานใน “ปีสีแดง” ก็ถูกผู้นำสภาแรงงานและพรรคสังคมนิยมปฏิรูปทำลายโดยการประนีประนอมกับระบบทุน ประสบการณ์นี้พิสูจน์ให้ กรัมชี่ เห็นว่าต้องมีการจัดตั้งพรรคปฏิวัติที่แท้จริงในหมู่กรรมาชีพ กรัมชี่ จึงมีส่วนสำคัญในการตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ (PCI)

กรัมชี่ เสนอว่าต้องแสวงหาแนวทางใหม่ที่ไม่ใช่แนวทางของลัทธิสหภาพที่สู้แต่ในกรอบขององค์กรสหภาพแรงงาน และไม่ใช่แนวทางของพรรคสังคมนิยมที่มัวแต่ประนีประนอมกับระบบปัจจุบัน

ถึงแม้ว่า กรัมชี่ มองว่าแนวทางของพรรคสังคมนิยมและสภาแรงงานในยุคนั้นผิดพลาด แต่เขาก็ยังเห็นคุณค่าของแนวร่วมในหมู่ฝ่ายซ้ายด้วยกันโดยเฉพาะในสมัยที่เกิดรัฐบาลปฏิกิริยาฟาสซิสต์ของ มุสโสลีนี  ในการเสนอให้สร้างแนวร่วมกับพรรคสังคมนิยม กรัมชี่ ไม่ได้มองว่าพรรคนี้คือ “ซีกขวาของแนวคิดลัทธิกรรมาชีพ” แต่มองว่าพรรคสังคมนิยมและพรรคปฏิรูปทั้งหลายในขบวนการแรงงาน ที่ยอมรับระบบและกรอบของทุนนิยม เป็น “ซีกซ้ายของแนวคิดลัทธิชนชั้นนายทุน” งานเขียนของกรัมชี่เรื่องนี้ค่อนข้างจะสอดคล้องกับมุมมองของ เลนิน เรื่องพรรคแรงงานอังกฤษว่าเป็น “พรรคกรรมาชีพที่ใช้แนวคิดชนชั้นนายทุน”

สำหรับคนที่เสนอตลอดว่ากรรมาชีพไม่สามารถมีบทบาทนำในการต่อสู้ กรัมชี่ มองว่า “ผู้ที่คัดค้านการจัดตั้งพรรคกรรมาชีพในสถานประกอบการและสถานที่การผลิต เป็นผู้ที่มีความคิดเป็นปฏิปักษ์กับกรรมาชีพ นี่คือตัวอย่างของความคิดนายทุนน้อยที่ต้องการใช้มวลชนกรรมาชีพในการปฏิรูปสังคม แต่ไม่ต้องการการปฏิวัติสังคมโดยกรรมาชีพและเพื่อกรรมาชีพ”  แต่นักวิชาการปัจจุบันจำนวนมากที่เอ่ยถึง กรัมชี่ ไม่เคยทำงานจัดตั้งพรรคของกรรมาชีพแต่อย่างใด

มาร์กซ์ เองเกิลส์ เลนิน และ ตรอทสกี ไม่มีประสบการโดยตรงจากการทำงานในประเทศทุนนิยมประชาธิปไตยที่เจริญ ดังนั้นงานของ โรซา ลักแซมเบอร์ก (จากเยอรมัน) และของ กรัมชี่ (จากอีตาลี่) จึงมีความสำคัญในการอธิบายว่าทำไมยังต้องมีการปฏิวัติระบบทุนนิยมเพื่อสร้างสังคมนิยมในประเทศที่พัฒนาแล้ว ทั้งๆ ที่ประเทศเหล่านี้อาจมีระบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา

กรัมชี่ ในงาน “สมุดบันทึกจากคุก” อธิบายว่าในประเทศพัฒนาที่มีระบบประชาธิปไตยมานาน ชนชั้นปกครองจะสร้างสถาบันขึ้นมามากมายในสังคม หรือที่ กรัมชี่ เรียกว่า “ประชาสังคม” สถาบันดังกล่าวมีไว้ครอบงำความคิดของพลเมือง ดังนั้นปัญหาใหญ่ของนักมาร์กซิสต์คือ จะทำอย่างไรเพื่อแย่งชิงอิทธิพลทางความคิดหลักในสังคมที่เดิมเป็นของชนชั้นปกครอง เพื่อมาเป็นแนวคิดของชนชั้นกรรมาชีพ กรัมชี่ เรียกการต่อสู้เพื่อแย่งชิงการครองใจในทางความคิด (hegemony) ว่าเป็นสงครามจุดยืน

ในประเด็น “ประชาสังคม” นี้จะเห็นว่า ประชาสังคมของ กรัมชี่ มีความหมายแตกต่างออกไปจากการใช้คำว่า “ประชาสังคม” ในแวดวงนักวิชาการและขบวนการ เอ็นจีโอ ในปัจจุบัน เพราะ กรัมชี่ มองสถาบันของประชาสังคมในแง่ร้ายว่าเป็นเครื่องมือในการปกครองครอบงำของชนชั้นนายทุน แต่กระแสปัจจุบันมองว่าประชาสังคมเป็นเครื่องมือของฝ่ายประชาชนในการลดทอนอำนาจรัฐ อย่างไรก็ตามแนวคิดแบบนี้จบลงด้วยการไม่ท้าทายอำนาจรัฐแต่อย่างใด

กรัมชี่ มองว่าการต่อสู้เพื่อการปฏิวัติสังคมนิยมมีสองรูปแบบที่ต้องใช้ในประเทศทุนนิยมประชาธิปไตย รูปแบบแรกคือ “สงครามทางจุดยืน” (war of position) ซึ่งเป็นการต่อสู้เพื่อช่วงชิงความผูกขาดทางความคิดของชนชั้นปกครอง และรูปแบบที่สองคือ “สงครามขับเคลื่อน” (war of manoeuvre) ซึ่งเป็นขั้นตอนการยึดอำนาจรัฐผ่านการปฏิวัติสังคมนิยม

สรุปแล้ว กรัมชี่ อธิบายว่าในระบบทุนนิยมประชาธิปไตย ถ้าเราจะล้มอำนาจรัฐและสร้างสังคมนิยม เราต้องต่อสู้เพื่อขยายอิทธิพลทางการเมืองของแนวคิดกรรมาชีพเพื่อครองใจคนส่วนใหญ่และทำลายเกราะป้องกันตัวที่นายทุนสร้างขึ้นภายในสถาบันต่างๆ ของประชาสังคมในขั้นตอนแรก

กรัมชี่ เสนอว่าการต่อสู้ขั้นตอน “สงครามทางจุดยืน” เพื่อช่วงชิงอิทธิพลทางความคิดในสังคม ขบวนการปฏิวัติสังคมนิยมต้องใช้ “ปัญญาชนอินทรีย์” (organic intellectuals) ซึ่งในมุมมอง กรัมชี่ “ปัญญาชนอินทรีย์” คือปัญญาชนที่ใกล้ชิดและเติบโตจากการต่อสู้ประจำวันของกรรมาชีพ ปัญญาชนประเภทนี้ต้องเกิดขึ้นจากการพัฒนากรรมาชีพธรรมดามาเป็น “ปัญญาชนกรรมาชีพ” อย่างไรก็ตามในสงครามทางจุดยืน กรัมชี่ มองว่าเราต้องไม่ลืมปัญญาชนจากชนชั้นอื่นที่มีส่วนในการสร้างการผูกขาดทางความคิดที่เป็นปฏิปักษ์ต่อแนวกรรมาชีพ กรัมชี่ จึงเสนอว่าภาระอันหนึ่งของปัญญาชนกรรมาชีพคือการชักชวนให้ปัญญาชนจากชนชั้นอื่นเปลี่ยนความคิดมาสนับสนุนกรรมาชีพ หรืออย่างน้อย หาทางในการลดอิทธิพลของปัญญาชนดังกล่าวในสังคม

กรัมชี่ อธิบายว่าถ้าเราจะต่อสู้เพื่อเปลี่ยนความคิดของกรรมาชีพ เราต้องเริ่มต้นจากการเข้าใจว่าในสมองของคนคนเดียวกันมักจะมีความคิดขัดแย้งดำรงอยู่เสมอ ความคิดสายหนึ่งมาจากการพยายามครอบงำความคิดในสังคมโดยชนชั้นปกครอง ดังนั้นเราทุกคนจะถูกกล่อมเกลาให้เชื่อแนวคิดของนายทุนที่เรียกว่า “กระแสหลัก” ซึ่งการกล่อมเกลาดังกล่าวกระทำผ่านสถาบันใน “ประชาสังคม” เช่นโรงเรียน ศาสนา สื่อต่างๆ และแม้แต่ครอบครัวเราเอง อย่างไรก็ตาม ในสมองของเราจะมีความคิดที่ขัดแย้งกับแนวแรกดำรงอยู่เสมอ ซึ่งความคิดรูปแบบที่สองมาจากประสบการณ์ประจำวันของเรา

ตัวอย่างของความคิดที่ขัดแย้งที่ดำรงอยู่ควบคู่กันไป เช่น เราอาจถูกสั่งสอนให้รักชาติและเคารพผู้นำของประเทศ แต่ในขณะเดียวกันเราอาจเห็นผู้นำกระทำตัวในลักษณะที่กอบโกยความร่ำรวยและกดขี่ขูดรีดคนไทยกันเองเป็นต้น ถ้าความขัดแย้งในความคิดดังกล่าวดำรงอยู่แค่ในระดับความคิดเท่านั้น โดยที่คนคนนั้นไม่ทำอะไร ความคิดที่ขัดแย้งกันอาจก่อให้เกิดความสับสนจนเลือกแนวไม่ถูก ตัดสินใจไม่ได้

ถ้าเราเข้าใจลักษณะความขัดแย้งทางความคิดที่ กรัมชี่ พูดถึง เราจะเริ่มเห็นวิธีการในการเปลี่ยนความคิดของมนุษย์เพื่อมาร่วมกับขบวนการปฏิวัติสังคมนิยม กรัมชี่ อธิบายว่าแค่การป้อนความคิดจากพรรคสังคมนิยมคงไม่เพียงพอ เพราะในที่สุด ในยามปกติ ชนชั้นปกครองที่คุมปัจจัยการผลิตทางวัตถุย่อมได้เปรียบในการสื่อและครอบงำความคิดของประชาชนในสังคม นี่คือสิ่งที่ คาร์ล มาร์กซ์ เสนอมาตลอด แต่ กรัมชี่ ชี้ให้เราเห็นว่าจุดอ่อนของชนชั้นปกครองในเรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อประชาชนมีประสบการณ์ในโลกจริงที่ขัดแย้งกับสิ่งที่ถูกสั่งสอนมา โดยเฉพาะในยามที่มนุษย์จำต้องต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพและผลประโยชน์ของตนเอง

กรัมชี่ เสนอว่าเมื่อมนุษย์เริ่มต่อสู้ในทางที่ขัดกับความเชื่อหลักในสังคม เช่นการออกมานัดหยุดงานหรือการประท้วง ทั้งๆ ที่ถูกสอนมาว่าเป็นสิ่งไม่ดี มนุษย์จะมีโอกาสปรับเปลี่ยนจิตสำนึกได้ง่ายขึ้น และถ้าเกิดการปรับเปลี่ยนจิตสำนึกและความเข้าใจในโลกจากมุมมองกระแสหลักมาเป็นมุมมองของกรรมาชีพ จะเกิดเอกภาพของทฤษฏีและการปฏิบัติของชนชั้นกรรมาชีพ

ชาวมาร์กซิสต์เข้าใจว่ากลุ่มคนที่อาจเปิดกว้างในการรับความคิดใหม่ๆ ที่ทวนกระแสหลัก เช่นคนที่มีแนวโน้มที่จะรับความคิดสังคมนิยม น่าจะเป็นกรรมาชีพที่กำลังต่อสู้ ไม่ใช่กรรมาชีพที่นิ่งเฉยรับสถานการณ์ ภาระของพรรคกรรมาชีพคือการนำการเมืองแบบมาร์กซิสต์ไปสู่กรรมาชีพที่ออกมาต่อสู้ในประเด็นปากท้องประจำวัน ในขณะเดียวกันพรรคกรรมาชีพจะต้องสนับสนุนและช่วยผลักดันให้เกิดการต่อสู้ทุกรูปแบบด้วย และต้องพยายามพัฒนาจิตสำนึกจากแค่เรื่องปากท้องไปเป็นการเมืองภาพกว้างในทุกประเด็น

อย่างไรก็ตามมีการบิดเบือนแนวคิดของ กรัมชี่ ในสมัยนี้ ซึ่งมักทำโดยนักวิชาการในมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ห่างเหินจากการต่อสู้จริงของกรรมาชีพ  พวกนี้พยายามตีความข้อเขียนของกรัมชี่ในเรื่องเกี่ยวกับการต่อสู้เพื่อการครองใจทางความคิด หรือการต่อสู้ใน “สงครามทางจุดยืน” ว่าเป็นการเสนอว่าไม่จำเป็นต้องปฏิวัติเพื่อยึดอำนาจรัฐอีกแล้ว และพวกนี้มักคุยแลกเปลี่ยนเรื่องแนวคิดของ กรัมชี่ ในเสวนาวิชาการเหมือนกับว่าแนวคิดของ กรัมชี่ ไม่เกี่ยวอะไรเลยกับการต่อสู้ปฏิวัติของกรรมาชีพ เพื่อล้มทุนนิยม และสร้างสังคมนิยม

 

 

อ่านเพิ่มเติมได้ที่: ว่าด้วย อันโตนิโอ กรัมชี่ โดย ใจ อึ๊งภากรณ์.pdf


เผยแพร่ครั้งแรกใน:  Turnleft Thailand

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net