ฟังคำชี้แจงนศ.ราชภัฏยะลากรณี “ป้ายผ้าปาตานี” ก่อนมหา’ลัย-นศ.แถลงร่วม

“เรากระทำการทุกอย่างบนฐานคิดที่บริสุทธิ์ใจต่อสังคม และไม่มีการแทรกแซงแต่อย่างใด...ปาตานี คือ พื้นที่ คือ ชาติ อัตลักษณ์ คือรากเหง้าของเรา เป็นคำจำกัดความที่ไม่ได้ผลักคนอื่นที่ไม่ใช่มลายูออกไป ที่นี่มีประวัติศาสตร์การอยู่ร่วมกันของคนที่หลากหลาย เราอยากให้มีการถกเถียงอย่างสันติวิธีมากกว่าการกลบพื้นที่การถกเถียงด้วยการใช้ความรุนแรง”


ที่มา: องค์การบริหารนักศึกษาม.ราชภัฏยะลา

จากกรณีที่เมื่อวันที่ 11 มี.ค.2560 นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ชูป้ายรณรงค์เชิงตั้งคำถาม "ขออนุญาตเรียกตนเองว่าปาตานีได้ไหมครับ" ในขบวนพาเหรดมหกรรมกีฬาจันทน์กะพ้อเกมส์ ครั้งที่ 8 ซึ่งจัดโดยองค์การบริหารนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังจากภาพดังกล่าวได้ถูกเผยแพร่ในสังคมออนไลน์ก็เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ แลกเปลี่ยนหรือกระทั่งด่าทอโดยมีการใช้วาทกรรมสร้างความเกลียดชัง (Hate Speech) ต่อมาวันที่ 12 มี.ค.ที่ผ่านมา ภาณุ อุทัยรัตน์ คณะทำงาน ครม. ส่วนหน้าซึ่งเป็นผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ และเป็นอดีตเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า ได้รับรายงานจากทางมหาวิทยาลัยว่าเป็นป้ายข้อความที่ไม่ได้ผ่านการตรวจผ่านของกรรมการนักศึกษาและเจ้าหน้าที่ แต่เป็นกลุ่มคนไม่หวังดีฉวยโอกาสสอดแทรกเข้ามาในระหว่างพิธีการ และมหาวิทยาลัยมีการตั้งกรรมการตรวจสอบเรื่องนี้ในวันนี้ (13 มี.ค.)

ในการตรวจสอบเรื่องนี้ สื่อมวลชนรายงานว่า ผศ.ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา พร้อมด้วยคณะบดีคณะครุศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ และคณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร เข้าประชุมร่วมกับ นายฮาซัน สารีมา นายกองค์การบริหารนักศึกษาภาคปกติ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา นายอิบรอเฮง มะเซ๊ง นายกสโมสร คณะครุศาสตร์ นายซูกรอน สาเม๊าะ นายกสโมสรคณะมนุษย์ศาสตร์ นายบูกอรี มามะ นายกสโมสรคณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร นายซูรฮัน เซ็งแว นายกสโมสรคณะวิทยาการจัดการ และนายกามารูดิน ยามา ประธานสภานักศึกษา โดยจะมีการสรุปข้อมูลและผลการประชุมเพื่อออกแถลงการณ์ร่วมกันชี้แจงกับสื่อมวลชนในวันที่ 14 มี.ค.นี้

ด้านนายกองค์การบริหารนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา นายฮาซัน สารีมา ซึ่งเป็นเจ้าภาพในการจัด มหกรรมกีฬาจันทน์กะพ้อเกมส์ครั้งที่ 8 ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวประชาไทว่า เจตนารมณ์หลักในแสดงออกทางการเมืองผ่านขบวนพาเหรดในครั้งนี้คือ การสะท้อนความรู้สึกนึกคิดของนักศึกษาต่อสภาพบรรยากาศทางเมืองที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ไม่เพียงแต่ประเด็นการตั้งคำถามกับการเรียกตนเองว่าปาตานีเท่านั้น ยังมีประเด็นการพัฒนาที่ขาดการมีส่วนร่วม เรื่องถ่านหิน เรื่องสวัสดิการนักศึกษา ตลอดจนประเด็นการใช้มาตรา 44 ของหัวหน้าคสช. สิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นจากการกระทำที่เราตั้งใจจะตั้งคำถามสร้างการถกเถียง

“เราเข้าใจสภาพของมหาวิทยาลัยในช่วงตกต่ำของระบอบประชาธิปไตยดี แต่อย่างไรก็ตาม เราขอวิงวอนให้มหาวิทยาลัยคงสภาพการเป็นพื้นที่เสรีทางวิชาการ เคารพยอมรับความคิดเห็นที่หลากหลายของมนุษย์” ฮาซันกล่าว

“สิ่งที่เราอยากอธิบายคือ เรากระทำการทุกอย่างบนฐานคิดที่บริสุทธิ์ใจต่อสังคม เราแสดงออกเพื่อให้สังคมไม่นิ่งนอนใจต่อสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น เราไตร่ตรองแล้ว และที่สำคัญไม่มีการแทรกแซงแต่อย่างใด ในความรู้สึกของพวกเราปาตานี คือ พื้นที่ คือ ชาติ อัตลักษณ์ คือรากเหง้าของเรา แต่อยากทำความเข้าใจว่า ปาตานี คือคำจำกัดความที่ไม่ได้ผลักคนอื่นที่ไม่ใช่มลายู ผลักคนจีน คนพุทธ ออกไป เพราะปาตานีเคยมีประวัติศาสตร์การอยู่ร่วมกันของคนที่หลากหลาย อย่างไรก็ตาม เราอยากให้มีการถกเถียงอย่างสันติวิธีมากกว่าการกลบพื้นที่การถกเถียงด้วยการใช้ความรุนแรง การยอมรับความจริงว่าที่นี้ คือ ปาตานี เป็นการวางรากฐานที่สำคัญยิ่งต่อกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี ที่รัฐดำเนินการอยู่” ฮาซันกล่าว

ทั้งนี้ คำว่า ปาตานี นับเป็นข้อถกเถียงสำคัญในความขัดแย้ง ความรุนแรง ที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ของประเทศไทย คำว่า “ปาตานี” (PATANI) หรือในภาษามลายูถิ่นออกเสียงว่า “ปตานี” คือพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสี่อำเภอของจังหวัดสงขลา มีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ย้อนกลับไปตั้งแต่ยุคอาณาจักรปาตานีอันรุ่งเรืองเมื่อประมาณสี่ร้อยปีก่อนที่สยามยึดครองประมาณต้นยุครัตนโกสินทร์ ซึ่งต่อมามีการแบ่งพื้นที่นี้ออกเป็นเจ็ดหัวเมือง และแบ่งเป็นจังหวัดแบบปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม สำหรับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงและชาวไทยจำนวนหนึ่งยังคงมีมุมมองว่าคำว่า ปาตานี มีนัยยะทางการเมืองของการแบ่งแยกดินแดน แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาภาคประชาสังคมชาวมลายูได้พยายามใช้คำนี้ในชื่อองค์กร และการจัดงานต่างๆ จนทำให้คำว่าปาตานีเป็นที่แพร่หลายและถูกยอมรับในวงกว้างมากขึ้น  (อ่านหลากความคิดเห็นเกี่ยวกับคำนี้ได้ที่นี่)

ที่มา: องค์การบริหารนักศึกษาม.ราชภัฏยะลา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท