Skip to main content
sharethis

พลันที่ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล โพสต์เฟซบุ๊กกรณีที่รัฐบาลไทยส่งคณะผู้แทน 46 คน เดินทางไปเข้าร่วม “การประชุมทบทวนการบังคับใช้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR)” รอบของประเทศไทย ในวันที่ 13-14 มีนาคม นี้ ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มันก็ได้สร้างความตื่นตัวให้กับผู้คนและเกิดการจับตาเวทีที่ว่านี้ไม่น้อย

นอกเหนือจากคำถามว่า รัฐส่งตัวแทนตอบคำถามไปทำอะไรตั้งครึ่งร้อย ผู้อ่านอาจยังสงสัยเรื่องขั้นตอนของกระบวนการทบทวนว่าเป็นอย่างไร? มีประเด็นอะไรที่ควรจับตามองบ้าง? แล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทยภายใต้รัฐบาลทหารที่ปัญหาสิทธิมนุษยชนด้านต่างๆ ถูกกางวางบนเวทีโลก?  ฯลฯ

ประชาไทสัมภาษณ์ พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ เจ้าหน้าที่ฝ่ายเอเชียตะวันออกของ The Asian Forum for Human Rights and Development (FORUM-ASIA) ซึ่งมีความรู้และประสบการณ์ตรงต่อการทำงานของกลไกนี้ เพื่อเคลียร์ข้อกังขาบางประการ คอการเมือง (และไม่การเมือง) จะได้ติดตามเวทีชื่อแปลกๆ นี้ได้สนุกสนานและรู้สึกใกล้ตัวยิ่งขึ้น

ไปต่อลำบากถ้าไม่รู้ ICCPR คืออะไร

-ICCPR มีเนื้อหามุ่งคุ้มครองสิทธิของบุคคลในฐานะที่เป็นพลเมืองและสิทธิในทางการเมือง เช่น สิทธิในการชุมนุม การกำหนดเจตจำนงของตนเอง สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก

-ICCPR กำหนดให้รัฐเคารพและประกันสิทธิของบุคคล โดยห้ามการเลือกปฏิบัติ ห้ามมิให้บังคับใช้กฎหมายอาญาย้อนหลัง

-ไทยเป็นภาคีและกติกานี้มีผลบังคับใช้กับไทยตั้งแต่ปี 2540 กติกานี้กำหนดให้รัฐภาคีต้องส่งรายงานการปฏิบัติตามพันธกรณีในปีแรกหลังเป็นภาคี จากนั้นต้องส่ง “รายงานทบทวน” ทุกๆ 5 ปี

-ประเทศไทยจัดส่งรายงานฉบับแรกล่าช้าไปกว่า 6 ปี !!! หลังจากนั้น “รายงานทบทวน” ไทยก็ส่งช้าไปอีกเกือบ 6 ปี !!!!!!

-ปีนี้จึงเป็นปีแรกของไทยสำหรับ “รายงานทบทวน” ว่ารัฐไทยเคารพสิทธิต่างๆ ตามกติกาสากลแค่ไหน และแจ็คพอตตกอยู่กับรัฐบาลทหาร นำโดย คสช.พอดิบพอดี

-ICCPR มีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีหน้าที่ในการตรวจสอบการปฏิบัติตามพันธกรณีที่กำหนดไว้ในกติกา คณะกรรมการนี้จะทำรายงานเงา (shadow report) ร่วมกับภาคประชาสังคมกลุ่มต่างๆ

-ตอนนี้ผู้คนที่สนใจแลกเปลี่ยนข้อมูลประเด็นสิทธิมนุษยชนและจับตาเวทีระหว่างประเทศนี้ ต่างก็ใช้ #ICCPR119TH ในโซเชียลมีเดีย (ทวิตเตอร์)

-แน่นอน งานนี้มีถ่ายทอดสด ที่ http://webtv.un.org/  หรือสนใจแบบมีวงคุย วงแปลควบคู่ไปด้วยก็ติดตามที่เพจประชาไท (รายละเอียดงานที่ https://www.facebook.com/events/259361284506797/)

-ส่วนใครอยากอ่านประวัติความเป็นมา และกลไกที่ว่านี้โดยละเอียด จุใจ ไปเลยที่เว็บศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน งานดีมีคุณภาพ

10 ข้อควรรู้ ก่อนการประชุมทบทวนการบังคับใช้ ICCPR ของไทย ที่นครเจนีวา 13-14 มี.ค. 60

เปิด “คำถาม” คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน UN และ “คำตอบ” รัฐบาลไทย ก่อนเวทีทบทวน ICCPR

-“รอบที่ผ่านมามีรายการคำถามกว่า 20 รายการ หลักๆ ก็เป็นประเด็นเสรีภาพในการแสดงออก การชุมนุม การปกป้องสิทธิมนุษยชน การใช้คำสั่งของ คสช.ที่ลิดรอนสิทธิ โดยที่เป็นกังวลกันมากก็คือคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ที่มีลักษณะละเมิดสิทธิชัดเจน การใช้ศาลทหารที่แม้จะยกเลิกไปแล้วแต่ยังมีคดีที่ค้างอยู่เพราะไม่สนธิสัญญา ไม่มีผลบังคับใช้ย้อนหลัง ซึ่งคำถามทั้งหลายนี้รัฐไทยก็ตอบไปบางส่วน แต่คำตอบของรัฐไทยก็จะมีรูปแบบคล้ายๆ กันทุกข้อว่าตอนนี้อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่โรดแมปประชาธิปไตย เป็นช่วงที่ประเทศชาติต้องการความสงบเรียบร้อย เราก็ต้องดูว่าคณะกรรมการจะพิจารณาว่ามีน้ำหนักมากน้อยแค่ไหน” พิมพ์สิริ กล่าว
 

แล้วเวทีนี้ครั้งนี้ มีนัยต่อไทยยังไง

-การพิจารณากรณีไทยจะมีในวันที่ 14 มีนาคม และวันที่ 23 มีนาคม 2560 จะมีข้อสรุปเชิงเสนอแนะ (Concluding Observation) ออกมา เป็นคำแนะนำจากคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญอิสระ มีเนื้อหาเป็นขั้นตอนที่รัฐบาลไทยพึงปฏิบัติเพื่อเติมเต็มพันธสัญญาที่ให้ไว้ตามกฎหมายระหว่างประเทศตามที่ให้สัตยาบันไว้

-ในส่วนของผลกระทบที่จะมีต่อประเทศไทยนั้น ที่ชัดเจนคือ ภาพลักษณ์ของไทยในเวทีนานาชาติ 

“ไทยเรามีลักษณะเป็นผักชีโรยหน้า...รัฐไทยก็อยากดูดีในสายตาประชาคมโลก เราภาคประชาสังคมก็สามารถใช้ตรงนี้ในการรณรงค์ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางบวกในประเทศได้” พิมพ์สิริกล่าว

“คุณสมชาย (นีละไพจิตร) หายไป 13 ปี บิลลี่ก็หายไป 3-4 ปีแล้ว ไม่ได้มีความพยายามสืบสวนสอบสวนหรือรับเป็นคดีพิเศษ อยู่ๆ ก็กระโดดกระเด้งมารับเป็นคดีพิเศษก่อนการทบทวนไม่กี่วัน ถามว่าเป็นอาการผักชีโรยหน้ามั้ย ก็ใช่แหละ แต่ก็เป็นประโยชน์ต่อครอบครัวของทั้งสองคนและก็เป็นเรื่องที่จะต้องติดตามต่อไปว่าจะมีการปฏิบัติจริงไหม” พิมพ์สิริกล่าว
 

กลไกนี้ไม่มีผลบังคับ ถ้า คสช. โนสน โนแคร์ ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นใช่ไหม

“กฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งหมดทั้งมวลตั้งบนฐานคิดที่ว่า เรามีรัฐเป็นศูนย์กลาง รัฐแต่ละรัฐมาตกลงกันว่าเราจะอยู่ร่วมกันบนโลกใบนี้ยังไง และรัฐชาติสมัยใหม่มีแนวคิดหลักๆ วางอยู่บนหลักอธิปไตย ดังนั้น กฎหมายระหว่างประเทศทั้งหมดจึงมีลักษณะเป็นแนวนอน ไม่เหมือนกฎหมายภายในประเทศทีมีลักษณะการบังคับใช้แบบบนลงล่าง แต่กฎหมายระหว่างประเทศจะวางอยู่บนฐานของการตกลงและการร่วมมือระหว่างรัฐมากกว่า ถามว่ามีกลไกการบังคับใช้แบบถ้าไม่ทำจะถูกลงโทษเดี๋ยวนั้นเดี๋ยวนี้ [เหมือนกฎหมายภายในประเทศ] ไหม มันก็ไม่มี” พิมพ์สิริกล่าว
 

อย่างนี้ก็แค่เวทีแก้ต่างของรัฐ?

“รัฐไทยต้องแก้ต่างอยู่แล้ว ทั้งรัฐบาลทหารและเลือกตั้งก็ต้องแก้ต่างตัวเองในลักษณะที่ไม่ต่างกันมาก แต่ความรุนแรงของการละเมิดสิทธิมนุษยชนอาจจะต่างกัน หรือประเทศอื่นที่มีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้งก็คงต้องแก้ต่างอยู่ในระดับหนึ่ง ประเด็นคือ ความเห็นหรือข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการที่ได้ จะถือเป็นเอกสารอ้างอิงสำหรับงานผลักดันต่อไป การเคลื่อนไหวในประเด็นสิทธิมนุษยชนเราจะนำเอาข้อคิดเห็นจากคณะกรรมการอิสระมาใช้และกดดันว่า คุณต้องทำแบบนี้ตามที่เสนอเป็นอย่างน้อย จะทำมากกว่าก็ได้ เพื่อให้ได้ชื่อว่าไทยได้ปฏิบัติตามพันธสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ” พิมพ์สิริกล่าว
 

ทำไมรัฐบาลต้องส่งคนไปตอบคำถามตั้ง 46 คน

ผู้แทนรัฐบาลไทยไปเข้าร่วมการประชุมทบทวนที่มีจำนวนผู้แทนถึง 46 คน ซึ่งมากกว่าจำนวนผู้แทนของทุกประเทศที่เข้าประชุมทบทวนในช่วงเวลาเดียวกัน

“[รัฐบาลไทย]มีลักษณะไม่ชอบเสียหน้า ถามว่ากลัวจนหัวหดมั้ยก็คงไม่ แต่ไม่ชอบเสียหน้า อยากให้นานาชาติมองว่าประเทศเราเคารพสิทธิมนุษยชนตามมาตรฐานสากล มันก็จะเกิดอาการผักชีโรยหน้าขึ้นมา ขนคนไปเยอะๆ ให้อุดได้ทุกคำถาม” พิมพ์สิริกล่าว

“46 คนถือว่าเป็นคณะใหญ่ ถ้าดูจากรายชื่อจะเห็นว่ามีทหารและตำรวจรวมกัน 8 คน ค่อนข้างชัดเจน รัฐไทยไม่ชอบเสียหน้า ดูง่ายๆ ในเวทีระหว่างประเทศ ตั้งแต่ UPR (การทบทวนประเด็นสิทธิมนุษยชนทั่วไปที่ทำกันทุก 4ปี) ล่าสุดเมื่อปีที่แล้ว หลังจากทบทวนไม่นาน มีการประกาศยกเลิกการใช้ศาลทหารกับพลเรือน” พิมพ์สิริกล่าว

“จริงๆ แล้ว 8 ใน 46 เป็นผู้แทนถาวรที่เจนีวาอยู่แล้ว เป็นคนของกระทรวงการต่างประเทศ ที่มีหน้าที่รับผิดชอบงานด้านสิทธิมนุษยชนอยู่แล้ว ไปจากไทยจริงแค่ 38 คน และในจำนวนนั้นมี 8 คนที่เป็นทหาร ตำรวจ” พิมพ์สิริกล่าว
 

รัฐบาลไทยส่งการบ้านช้า ส่อเจตนาอะไรไหม 

- iLaw รายงานว่า ไทยส่งรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนช้าทุกครั้งตั้งแต่เข้าร่วมเป็นภาคีเมื่อ พ.ศ. 2539 

“คำตอบของคำถามนี้คือ ด้วยตัวกลไกภายใต้สนธิสัญญา ไม่ได้มีกลไกบังคับเหมือนกับ UPR การส่งรายงานเป็นไปตามความสมัครใจของรัฐ ถ้าดีเลย์มันก็คือดีเลย์ รัฐชาติก็สามารถเตะถ่วงความไม่อยากรายงาน ความไม่สนใจ ความขาดแคลนบุคลากรที่จะทำหน้าที่นี้ได้ ICCPR เป็นเพียงหนึ่งในสนธิสัญญาหลักด้านสิทธิมนุษยชน และตัว ICCPR กำหนดให้การส่งรายงานเป็นไปตามความสมัครใจของรัฐ มันเลยเป็นช่องว่างให้รัฐเลี่ยงที่จะไม่นำเสนอประเด็นสิทธิมนุษยชนได้” พิมพ์สิริกล่าว
 

เอาประเด็นในประเทศไปตีแผ่ในเวทีนานาชาติเป็นหนึ่งในข้อกังวลของรัฐบาลไทยว่าจะสร้างความแตกแยก

“ก็ถ้าไม่อยากให้พูดถึงปัญหาก็ต้องแก้ปัญหา การพูดถึงปัญหาก็ไม่ได้นับว่าตีแผ่ ปัญหามันมีอยู่ คุณจะปฏิเสธเหรอว่าไม่มี”

“เราพยายามบอกคุณว่าทำยังไงมันจะดีขึ้นได้ ทำยังไงมันจะได้มาตรฐานสิทธิมนุษยชนแบบที่เขายอมรับกันแบบสากล ไม่ใช่แบบไทยๆ ถ้าไม่อยากให้พูดถึงปัญหาก็แก้ปัญหาซะสิ ง่ายจะตาย”
 

คิดว่าจะมีผลลัพธ์รูปธรรมภายหลังการทบทวนครั้งนี้มากน้อยแค่ไหน

“ส่วนตัวไม่หวังว่ารัฐบาลทหารจะนำคิดความเห็นเหล่านี้ไปปฏิบัติ เพราะว่าเกือบสามปีที่ผ่านมาก็เห็นแล้วว่าเขาไม่ได้มีความต้องการที่จะเคารพสิทธิมนุษยชน ความเห็นที่แตกต่าง หรือสิทธิเสรีภาพของประชาชน ประเด็นที่ต้องผลักดันกันต่อไปก็คือเมื่อมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ข้อสรุปเชิงเสนอแนะพวกนี้มันก็เป็นพันธกรณีที่รัฐไทยต้องปฏิบัติไม่ว่าจะมีรัฐบาลรูปแบบไหน ในแง่นี้เราคิดว่า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมีความชอบธรรม แล้วถ้าอยากได้ความชอบธรรม ได้เครดิตเพิ่มมากขึ้นในสายตานานาชาติก็ควรนำข้อเสนอแนะมาปฏิบัติให้เป็นจริง”

“กลไกนี้อาจจะดูซับซ้อนและเป็นเรื่องไกลตัว อาจไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน แต่จริงๆ แล้วเรื่องของสิทธิเสรีภาพมันเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกับเราทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ภายใต้รัฐบาลแบบไหน ตอนนี้อาจจะเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากสำหรับทุกๆ คนที่เชื่อในความเท่าเทียม สิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย แต่ไม่ได้หมายความว่าถ้ามีรัฐที่มาจากการเลือกตั้งตามวิถีประชาธิปไตย การต่อสู้สิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย จะจบลง ก็คงต้องต่อสู้กันไปยาวๆ”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net