Skip to main content
sharethis


15 มี.ค. 2560 หลังกระแสวิพากษ์วิจารณ์กรณีไทยบีพีเอสลงทุนซื้อหุ้นกู้ของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (ซีพีเอฟ) ล่าสุด เมื่อเวลา 20.09 น. เว็บไซต์ไทยพีบีเอส รายงานว่า กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ประกาศลาออกจากตำแหน่ง ผู้อำนวยการ ส.ส.ท. แล้ว หลังมีการซื้อตราสารหนี้ของบริษัทเอกชนจนนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์จากหลายภาคส่วน

กฤษดา ระบุว่า แม้ว่าการดำเนินงานจะถูกต้องและเป็นประโยชน์ต่อองค์กร แต่กระทบต่อความรู้สึกของประชาชน รวมทั้งเครือข่ายที่เคยทำงานร่วมกับไทยพีบีเอส ซึ่งตนเองได้รับฟังข้อกังวลจากทุกฝ่ายและน้อมรับคำแนะนำ จึงขออภัยต่อการดำเนินการที่กระทบความรู้สึกของทุกคนเป็นอย่างมากและขอแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากผู้อำนวยการไทยพีบีเอส


ยอมถอย ไทยพีบีเอสยุติลงทุนหุ้นกู้ที่สังคมสงสัย-ชงบอร์ดเร่งพิจารณา
ก่อนหน้านี้ เมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา มีการเผยแพร่คำชี้แจงของคณะผู้บริหาร องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือไทยพีบีเอส ผ่านเว็บไซต์องค์กร โดยระบุว่า จะพิจารณาทบทวนกรอบนโยบายลงทุน รวมทั้งการยุติการลงทุนในตราสารหนี้บางบริษัท ที่อาจจะส่งผลให้ภาคประชาชนและสังคมโดยรวมเกิดข้อสงสัยและความคลางแคลงใจ โดยจะมีการนำเสนอให้คณะกรรมการนโยบาย ส.ส.ท. พิจารณาโดยเร็วที่สุด

อย่างไรก็ตาม คณะผู้บริหาร ส.ส.ท. ชี้แจงด้วยว่า การบริหารสินทรัพย์สภาพคล่องดังกล่าว ได้ดำเนินการตามกรอบนโยบายลงทุนที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการนโยบาย โดยได้ปรึกษาหารือกับที่ปรึกษาทางการเงินก่อนแล้ว โดยเป็นการลงทุนในตราสารหนี้เท่านั้น ไม่มีนโยบายลงทุนในหุ้นสามัญหรือตราสารทุนประเภทอื่นๆ อย่างเด็ดขาด ด้วยเหตุผลการบริหารความเสี่ยงทางการเงินที่ต่ำกว่า และบริหารจัดการสภาพคล่องได้ดีกว่า
 

สมเกียรติชี้ไม่ผิดทางกฎหมาย แต่อาจมีปัญหาเชิงสัญลักษณ์ 
อนึ่ง วานนี้ สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (TDRI) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่าง พ.ร.บ.ไทยพีบีเอส ระบุในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ต่อคำถามว่าไทยพีบีเอสในฐานะองค์กรสื่อสาธารณะ ไม่ควรลงทุนในตลาดทุน เพราะจะเป็นการแสวงหาผลกำไรใช่หรือไม่นั้น มาตรา 11 ของกฎหมายไทยพีบีเอส เขียนไว้ชัดเจนว่า รายได้ของไทยพีบีเอส มาจาก 7 แหล่ง โดยแหล่งหนึ่งคือดอกผลที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สิน ซึ่งหมายถึงผลตอบแทนจากการลงทุน การที่ไทยพีบีเอสไปลงทุนในการซื้อตราสารหนี้จึงไม่น่าจะเป็นปัญหาในข้อกฎหมายแต่อย่างใด

"ในประเทศไทย มีความเข้าใจผิดว่า องค์กรสาธารณะไม่สามารถ หรือไม่ควรลงทุนใดๆ นอกจากฝากเงินกับธนาคาร มิฉะนั้นจะเป็นการแสวงหาผลกำไร ซึ่งผิดวัตถุประสงค์องค์กร ผลก็คือองค์กรต่างๆ รวมทั้งมูลนิธิจำนวนมากมีปัญหาการขยายกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ของตน เพราะขาดเงินทุน ในความเป็นจริง เส้นแบ่งของหน่วยงานแสวงหาผลกำไร และหน่วยงานไม่แสวงหาผลกำไรคือ มีการนำส่วนของรายได้ที่มากกว่ารายจ่ายมาแบ่งกันในรูปเงินปันผลหรือไม่ ไม่ใช่ว่ารายได้มาจากไหน"

ต่อคำถามว่า การไปลงทุนตราสารหนี้ของซีพีเอฟ จะทำให้ไทยพีบีเอสเสียความอิสระในการเสนอข่าวที่เกี่ยวข้องกับซีพีเอฟหรือไม่นั้น เขากล่าวว่า การลงทุนตราสารหนี้ของซีพีเอฟ ทำให้ไทยพีบีเอสมีฐานะเป็น “เจ้าหนี้” ของซีพีเอฟ ไม่ใช่เป็น “ผู้ถือหุ้น” ดังที่จะเกิดจากการลงทุนในหุ้น ความแตกต่างก็คือ เจ้าหนี้จะได้ผลตอบแทนในอัตราแน่นอนคือ ดอกเบี้ย โดยไม่ขึ้นกับผลประกอบการของบริษัทเหมือนการได้เงินปันผลของผู้ถือหุ้น ในแง่มุมดังกล่าว กรณีนี้จึงไม่แตกต่างจากการที่ไทยพีบีเอสเอาเงินไปฝากธนาคารสักแห่ง เพราะมีผลทำให้ไทยพีบีเอสมีฐานะเป็น “เจ้าหนี้” ของธนาคารนั้นเช่นกัน และไม่น่าจะทำให้ไทยพีบีเอสทำข่าวที่เกี่ยวกับธนาคารนั้นอย่างตรงไปตรงมาไม่ได้

"ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ไม่ได้หมายความว่า การลงทุนของไทยพีบีเอส ในตราสารหนี้ของซีพีเอฟจะไม่มีประเด็นคำถามเลย เพราะการไปลงทุนที่เฉพาะเจาะจงในกิจการใดนั้น นอกจากจะมีมิติด้านการเงินแล้ว ยังมีมิติในเชิง “สัญลักษณ์” ด้วย โดยการลงทุนนั้นอาจถูกมองว่าเป็นการ “สนับสนุน” องค์กรที่ไปลงทุนนั้น ในต่างประเทศ กองทุนต่างๆ เช่น กองทุนบำนาญข้าราชการของแคลิฟอร์เนีย (CalPERS) ซึ่งมีแนวคิดก้าวหน้า จะหลีกเลี่ยงจากการลงทุนในกิจการที่ทำลายสิ่งแวดล้อม ละเมิดสิทธิแรงงานหรือไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม โดยหวังว่าความเป็นนักลงทุนรายใหญ่ของตนจะช่วยปรับพฤติกรรมของบริษัทต่างๆ ได้

"ในประเทศไทย เมื่อเร็วๆ นี้ ก็มีการตั้ง “กองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย” ซึ่งมุ่งลงทุนในหุ้นที่มีธรรมาภิบาลดี แล้วเอาเงินปันผลส่วนหนึ่งไปสนับสนุนงานต่อต้านคอรัปชัน ซึ่งมีผลดีทั้งมิติทางสังคมและมิติทางสัญลักษณ์ ดังนั้น คำถามในเรื่องนี้ก็คือ ไทยพีบีเอส ซึ่งเป็นองค์กรสื่อที่มีภารกิจเพื่อมุ่งสนับสนุนการพัฒนาสังคมที่มีคุณภาพ ควรลงทุนในซีพีเอฟหรือไม่? หากดูท่าทีของสาธารณะต่อความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทในเครือซีพีในกรณีต่างๆ ที่ผ่านมา ผมเห็นว่า ผู้บริหารไทยพีบีเอสควรพิจารณาทบทวนการลงทุนนี้อีกครั้ง เรื่องนี้ไม่ถึงกับมีผลกระทบเสียหายอะไรมากมาย ถ้าทำไปโดยไม่ได้คิดให้รอบคอบ ก็คิดใหม่ ทำใหม่ได้ครับ" สมเกียรติระบุ

 

จากกรณีที่มีการแสดงความคิดเห็นจากสังคม ถึงการบริหารสินทรัพย์สภาพคล่องขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) ด้วยการนำสินทรัพย์สภาพคล่อง (รายได้ที่ยังไม่ถึงกำหนดใช้จ่าย) ไปซื้อตราสารหนี้ เพื่อทำให้สินทรัพย์สภาพคล่องนั้นสร้างรายได้และถูกนำไปพัฒนาองค์กร ซึ่งกรณีนี้มีผู้ชมผู้ฟังส่วนหนึ่ง ได้ตั้งข้อสังเกตถึงความเหมาะสมของการลงทุนดังกล่าว และกังวลว่าจะกระทบความเป็นอิสระในการทำหน้าที่สื่อสาธารณะ ผู้บริหาร ส.ส.ท. ขอขอบคุณในทุกข้อคิดความเห็นจากทุกภาคส่วน ทั้งนี้ ผู้บริหาร ส.ส.ท. รู้สึกเสียใจและขออภัยที่สร้างความกังวลใจให้กับประชาชนที่ติดตามไทยพีบีเอสมาโดยตลอด

อย่างไรก็ตาม ผู้บริหาร ส.ส.ท ขอเรียนชี้แจงว่า การบริหารสินทรัพย์สภาพคล่อง มีจุดมุ่งหมายเพียงเพื่อให้การบริหารเงินรายได้ที่รอถึงกำหนดจ่าย มีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะมากที่สุด ภายใต้กรอบที่กฎหมายกำหนด โดยมีการจัดการบริหารความเสี่ยงทางการเงิน เป็นเงื่อนไขกำกับการลงทุน คือ ลงทุนในตราสารหนี้ที่มีการจัดอันดับเครดิตในระดับ A (จัดอันดับโดย TRIS) ซึ่งหมายถึงตราสารที่มีความเสี่ยงในระดับต่ำ มีความสามารถในการชำระดอกเบี้ยและคืนเงินต้นในเกณฑ์สูง

ส่วนเรื่องการใช้ดุลยพินิจนั้น กลไกการบริหารสินทรัพย์สภาพคล่อง ระเบียบ ส.ส.ท.กำหนดให้คณะกรรมการบริหารมีหน้าที่จัดทำกรอบนโยบายลงทุนเสนอให้คณะกรรมการนโยบายอนุมัติในทุกปีงบประมาณ โดยเสนอขออนุมัติพร้อมกับงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ เมื่อผ่านความเห็นชอบแล้ว ฝ่ายบริหารจึงดำเนินการบริหารจัดการในรูปแบบต่าง ๆ ภายใต้กรอบที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งเงินฝากในสถาบันการเงิน ตราสารหนี้ (พันธบัตรและหุ้นกู้) ซึ่งการบริหารสินทรัพย์สภาพคล่องในปีงบประมาณ 2560 ก็ดำเนินการตามกรอบนโยบายลงทุนที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการนโยบาย และการตัดสินใจเลือกลงทุนในตราสารหนี้บริษัทใดบริษัทหนึ่งนั้น ฝ่ายบริหารจะมีการปรึกษาหารือกับที่ปรึกษาทางการเงิน โดยลงทุนในตราสารหนี้เท่านั้น ไม่มีนโยบายลงทุนในหุ้นสามัญหรือตราสารทุนประเภทอื่นๆ อย่างเด็ดขาด ด้วยเหตุผลการบริหารความเสี่ยงทางการเงินที่ต่ำกว่า และบริหารจัดการสภาพคล่องได้ดีกว่า

อย่างไรก็ตาม เพื่อยืนยันในหลักการของสื่อสาธารณะ ที่ให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างรอบด้าน เสียงวิพากษ์วิจารณ์และข้อคิดความเห็นต่าง ๆ ต่อการบริหารสินทรัพย์สภาพคล่องของส.ส.ท. จึงเป็นสิ่งที่ฝ่ายบริหาร ส.ส.ท ตระหนัก และเล็งเห็นว่าจำเป็นต้องมีการพิจารณาทบทวนกรอบนโยบายลงทุน รวมทั้งการยุติการลงทุนในตราสารหนี้บางบริษัท ที่อาจจะส่งผลให้ภาคประชาชนและสังคมโดยรวมเกิดข้อสงสัยและความคลางแคลงใจ โดยจะมีการนำเสนอให้คณะกรรมการนโยบาย ส.ส.ท. พิจารณาโดยเร็วที่สุด


คณะผู้บริหาร ส.ส.ท.
15 มีนาคม 2560

 

 

หมายเหตุ: มีการเพิ่มเติมเนื้อหาข่าวและแก้ไขพาดหัว เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 15 มี.ค. 2560

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net