Skip to main content
sharethis

นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ไม่เชื่อ ป.ย.ป. แก้ขัดแย้ง สองมาตรฐานได้ เพราะเป็นคนที่เกี่ยวข้องกับปัญหา เชื่อว่าทางเดียวคือการคืนอำนาจให้ประชาชน ปล่อยให้ระบอบประชาธิปไตยทำงานโดยไม่ถูกขัดจังหวะ ขอโทษและเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายจากกระบวนการยุติธรรม

คณะกรรมการย่อยในคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความปรองดอง (ป.ย.ป.) เกิดขึ้นเพื่อตอบคำถามเรื่องการปรองดอง แต่คำตอบที่ถูกต้องย่อมมาจากคำถามที่ถูกต้อง

ด้านหนึ่งที่ ป.ย.ป. สนใจคือด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม และมีแนวคำถามว่า ‘ทางออกหรือวิธีการดำเนินการต่อประเด็นความขัดแย้งที่เกิดจากความไม่ยอมรับในกระบวนการยุติธรรม การแทรกแซงการบังคับใช้กฎหมายอย่างไร เพื่อไม่ให้มีความเสี่ยงต่อการขยายไปสู่ความขัดแย้ง (จะแก้ไขปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย 2 มาตรฐานอย่างไร)’

ประชาไทนำประเด็นนี้ไปสนทนากับจันทจิรา เอี่ยมมยุรา จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มนิติราษฎร์ เบื้องต้นเธอตั้งข้อสังเกตกับคำถามว่า ผู้ตั้งคำถามเหมือนกับไม่ได้อยู่ในสังคมไทย ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องราวความขัดแย้งทางการเมืองไทยในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมา

“แต่เราก็รู้ว่ากลุ่มคนที่ตั้งคำถาม ป.ย.ป. ก็คือคนที่เกี่ยวข้องกับปัญหาทั้งนั้น จริงๆ แล้วก็เป็นผู้ที่ทำให้เกิดปัญหาสองมาตรฐานในทุกๆ เรื่องด้วยซ้ำไป แต่ตั้งคำถามว่าทำอย่างไรจึงจะไม่ให้เกิดสองมาตรฐาน คือไม่คิดว่ามันจะเป็นคำถามที่เอาไปทำอะไรต่อได้”

จันทจิราไม่ปฏิเสธว่า ปัญหาในกระบวนการยุติธรรมไทยมีอยู่จริงและการบังคับใช้กฎหมายแบบสองมาตรฐานก็เห็นได้อย่างชัดเจน แต่เมื่อผู้ตั้งคำถามคือผู้ที่ทำให้เกิดสองมาตรฐาน จึงป่วยการที่จะคาดหวังความจริงจังในการหาคำตอบและลงมือปฏิบัติ

ถามว่าแล้วจะแก้ไขปัญหาในกระบวนการยุติธรรมนี้อย่างไร คำตอบของจันทจิรากลับไม่ได้มุ่งความสนใจไปที่ตัวกระบวนการยุติธรรมหรือตัวบทกฎหมาย แต่มุ่งไปที่ภาพใหญ่กว่านั้นคือตัวระบอบการเมืองทั้งระบอบ เธอมองว่าความขัดแย้งทางการเมืองไทยปัจจุบัน ยากเกินกว่าที่กลไกใดกลไกหนึ่งจะเยียวยาได้ ทุกฝ่ายต้องนั่งคุยกันอย่างจริงจังก่อนที่เหตุการณ์จะพัฒนาไปถึงจุดที่เป็นไปเอง ซึ่งก็ไม่มีใครบอกได้ว่าจะลงเอยเช่นใด

“สิ่งที่จะแก้ปัญหาได้ต้องเป็นสิ่งที่ใหญ่มากคือแก้ที่ระบอบ แก้ให้ผู้ถืออำนาจสูงสุดกลับมาอยู่ในที่ในทางที่ควรจะเป็น”

จันทจิราขยายความว่า โดยปกติแล้ว เครื่องมือกลไกของรัฐทั้งหมดย่อมตอบสนองและดำเนินสอดคล้องไปกับผู้ถืออำนาจสูงสุด ถ้ากลไกเหล่านี้ไม่ตอบสนอง ก็มีทางเลือกอยู่ 2 ทางคือผู้ถืออำนาจกระเด็นออกไปหรือถ้าผู้ถืออำนาจมีกำลังมากพอก็จะบังคับให้กลไกเหล่านี้ต้องตอบสนองตนเอง

“เมื่อมีประชาธิปไตย มีนิติรัฐ สิทธิเสรีภาพของประชาชนจะไปตามปกติ จะมีการประกันให้ สถาบันต่างๆ จะรับรู้ถึงคุณค่าตรงนี้ และปฏิบัติหน้าที่ของตนสอดคล้องกับคุณค่านี้ตามระบอบ เมื่อผู้ถืออำนาจสูงสุดคือประชาชน กลไกของประชาธิปไตยมันจัดการให้สอดคล้องกับผู้ถืออำนาจสูงสุดเอง”

“โดยธรรมชาติ ผู้ถืออำนาจสูงสุดจะเป็นตัวกำหนดสถาบันต่างๆ เพื่อตอบสนองต่อเจตจำนงของผู้ถืออำนาจ ในโลกยุคใหม่ประชาชนเป็นผู้ถืออำนาจสูงสุด ถ้ายุคใดประชาชนถืออำนาจสูงสุด เราจะเห็นว่ากลไกของรัฐก็จะทำงานตามปกติ จะเห็นว่าหลังจากความรุนแรงปี 2535 ทุกอย่างถูกเขย่า มีรัฐธรรมนูญ 2540 คนเริ่มเห็นว่าต้องกลับมาสู่ทางที่เป็นหลักการประชาธิปไตย ตอนนั้นกฎหมาย ผู้บังคับใช้กฎหมาย ปฏิบัติตนอยู่ในที่ในทาง แม้จะมีความผิดพลาดบ้างก็ยอมรับได้ แต่ทุกอย่างมันตอบสนองต่อตัวรัฐธรรมนูญเวลานั้น ซึ่งให้ประชาชนเป็นผู้ถืออำนาจและถือได้จริง มีการเลือกตั้ง รัฐบาลดีมาก ดีน้อย นั่นอีกเรื่องหนึ่ง แต่เป็นรัฐบาลที่รับผิดชอบต่อประชาชน

“เมื่อมีประชาธิปไตย มีนิติรัฐ สิทธิเสรีภาพของประชาชนจะไปตามปกติ จะมีการประกันให้ สถาบันต่างๆ จะรับรู้ถึงคุณค่าตรงนี้ และปฏิบัติหน้าที่ของตนสอดคล้องกับคุณค่านี้ตามระบอบ เมื่อผู้ถืออำนาจสูงสุดคือประชาชน กลไกของประชาธิปไตยมันจัดการให้สอดคล้องกับผู้ถืออำนาจสูงสุดเอง”

แต่ภายหลังการรัฐประหาร ประชาชนก็ได้เห็นความผิดเพี้ยนของระบบและกลไก ในระบอบแบบนี้แม้แต่คนที่อยากทำงานได้ดีก็ไม่อาจอยู่ได้ เพราะระบบไม่ยินยอม ถามว่าความแตกแยกและการสองมาตรฐานเกิดขึ้นเมื่อใด มันก็เกิดขึ้นเมื่อผู้ถืออำนาจสูงสุดไม่ใช่ประชาชน กลไกทั้งหมดถูกจัดการให้ตอบสนองต่อผู้ถืออำนาจใหม่ หมายความว่าใครก็ตามที่ต่อต้านผู้ถืออำนาจใหม่จะถูกจัดการ ส่วนใครก็ตามที่สนับสนุนผู้ถืออำนาจใหม่ก็จะได้รับการสนับสนุน การช่วยเหลือ รวมทั้งการไม่ต้องรับผิดในทางกฎหมาย ดังนั้น ภาวะสองมาตรฐานก็เกิดขึ้นในสภาวะแบบนี้ กระบวนการยุติธรรมก็จะทำหน้าที่แยกประชาชนออกเป็นสองกลุ่ม จัดการกับกลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาลและให้ความช่วยเหลือกลุ่มที่สนับสนุนหรือเป็นเครือข่ายรัฐบาล

“การทำให้ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจเป็นคำตอบทุกข้อของปัญหา”

หากถามว่าจะแก้อย่างไร? จันทจิราไม่มีคำตอบในเชิงกฎหมายหรือกระบวนการยุติธรรมให้ แต่เธอเรียกร้องให้กลับสู่รากฐานของปัญหา นั่นก็คือใครคือผู้ถืออำนาจสูงสุด

“คำถามคือจะแก้ความเป็นสองมาตรฐานของกฎหมาย ของการบังคับใช้อย่างไร มันแก้ไม่ได้ ตราบเท่าที่เราไม่พูดถึงปัญหาพื้นฐาน ถ้าจะแก้ สำหรับดิฉันมีคำตอบเดียวคือคืนอำนาจสูงสุดให้แก่ประชาชน เมื่อประชาชนเป็นผู้ถืออำนาจที่แท้จริง ระบบ กลไกมีอยู่แล้ว อาจได้รัฐบาลที่ดีมาก ดีน้อย แต่กลไกปกติจะช่วยคัดกรองเอง ในที่สุดประชาชนจะเรียนรู้ว่าจะเลือกผู้แทนอย่างไร ในที่สุด ระบบต่างๆ ที่เป็นปัญหาจะถูกจัดการในระบบเอง เพราะว่าทุกกลไกรับผิดชอบต่อประชาชน ก็จะไม่มีปัญหาเรื่องการบังคับใช้กฎหมายเป็นสองฝักสองฝ่าย”

สิ่งเดียวที่ต้องเพื่อแก้ปัญหาสองมาตรฐานคือกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยเสียก่อน จากนั้นจึงค่อยตั้งคำถามกันใหม่ และคำถามเฉพาะหน้าเมื่อมีประชาธิปไตยแล้ว จันทจิราเสนอว่า ‘จะเยียวยาอย่างไร เยียวยาใคร กลุ่มไหน’

“คำถามที่ควรจะถามตอนนี้คือจะเยียวยาอย่างไร คุณต้องยอมรับว่ามีปัญหามาแล้ว และปัญหาสองมาตรฐานเกิดจากกระทำของรัฐหรือผู้ถืออำนาจรัฐหรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่มีความสามารถในการใช้อำนาจรัฐ แล้วเกิดการกระทำสองมาตรฐาน คนเหล่านี้ต้องได้รับการเยียวยา ถ้าคุณจะทำให้การสองมาตรฐานน้อยลง เยียวยาความรู้สึกของคนในสังคม ฟื้นฟูความรู้สึก ขอโทษประชาชนก่อน คุณต้องสร้างกระบวนการนิรโทษกรรมและชดใช้ความเสียหาย”

การคืออำนาจให้แก่ประชาชน ปล่อยให้ประชาชนได้เรียนรู้ว่าจะอยู่ จะใช้ประชาธิปไตย สิทธิ เสรีภาพในมืออย่างไร แม้อาจต้องใช้เวลานาน แต่สุดท้ายแล้วกลไกรัฐต่างๆ จะถูกปรับให้เข้าที่เข้าทางสอดคล้องกับผู้ถืออำนาจเอง ขอเพียงอย่าเกิดการขัดจังหวะหรือตัดตอน

จันทจิรา สรุปว่า

“การทำให้ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจเป็นคำตอบทุกข้อของปัญหา”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net