Skip to main content
sharethis

คุยกับญาติเหยือกระสุนจริง พ่อ และแม่ ผู้ถูกยิงเสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมปี 2553 สะท้อนความคิดต่อกระบวนการเตรียมสร้างการปรองดอง ในยุค คสช. พวกเขาระบุสิ่งที่ต้องการเห็นคือความจริง และการมีส่วนร่วมของประชาชน ส่วนสิ่งที่ไม่ต้องการเห็นคือ การที่ทหารทำตัวเป็นคนกลาง

ท่ามกลางกระบวนการเตรียมสร้างความสามัคคีปรองดองที่กำลังเดินหน้าไป ซึ่งได้เริ่มนับหนึ่ง เดินหน้ารับฟังความคิดเห็นจากนักการเมือง และตัวแทนกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองเมื่อวันที่ 14 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยมี พล.อ.ชาญชัย ช้างมงคล เป็นเจ้าภาพในการเปิดโต๊ะรับฟังความคิดเห็น

กระบวนการที่กำลังเดินหน้าอยู่นี้ เกิดขึ้นมาจากการออก คำสั่งหน้าหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2560 เรื่องการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความปรองดอง โดยในคำสังได้ให้มีการตั้งคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฎิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความมัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) โดยมีนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน และให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอ ทั้งหมด 4 ด้าน ประกอบด้วย คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ คณะกรรมการเตรียมปฎิรูปประเทศ คณะกรรมการเตรียมยุทธศาสตร์ชาติ และสุดท้ายซึ่งเป็นชุดที่กำลังถูกพูดถึง และผู้คนในสังคมให้คสามสนใจเป็นพิเศษคือ คณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความปรองดองสามัคคี ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้มี พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระกลาโหม เป็นประธานคณะกรรมการ

การทำงานของคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความปรองดองสามัคคี ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาเพื่อทำงานโดยแบ่งออกเป็น 4 ชุด โดยมีเจ้าหน้าที่ทหารนั่งเป็นประธานคณะกรรมการทุกชุด เริ่มต้นแต่ 1.คณะอนุกรรมการด้านรับฟังความคิดเห็น ซึ่งมี พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน 2.คณะอนุกรรมการบูรณาการ ข้อคิดเห็นและเสนอแนะ ซึ่งมี พล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัต ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) เป็นประธาน 3.คณะอนุกรรมการจัดทำข้อเสนอกระบวนการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง มีพล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสารท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เป็นประธาน และ 4.อนุกรรมการด้านประชาสัมพันธ์ มีโฆษกกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ซึ่งคณะกรรมการทุกชุดจะทำงานประสานและสอดรับซึ่งกันและกัน โดยมีกรอบระยะเวลาในหารเตรียมการเพื่อสร้างความปรองดองครั้งนี้ทั้งหมด 90 วัน หรือ 3 เดือน ซึ่งทั้งหมดจะได้ข้อสรุปเรื่องการปรองดองไม่เกินเดือน เมษายน นี้

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีหลายประเด็นที่ผู้คนในสังคมยังสงสัยและตั้งคำถาม อย่างแรกที่สุดเห็นจะเป็นเรื่องความเป็นกลางของคณะกรรมการเตรียมสร้างการปรองดอง ซึ่งเมื่อเทียบดูสัดส่วนของคณะกรรมการทั้งหมดส่วนใหญ่จะเป็นทหาร ตำรวจ และข้าราชการ เกินครึ่ง ประเด็นที่สองที่ดูจะสำคัญไม่แพ้กันคือ “ประชาชน-คนธรรมดา” อยู่ตรงไหนของการปรองดองในครั้งนี้ และสามหรือการปรองดองครั้งนี้แท้จริงแล้วคือ การมัดมือชก และขอให้นักการเมือง แกนนำกลุ่มการเมือง สยบยอม อยู่ภายใต้กติกาใหม่ที่ คสช. เป็นผู้กำหนด

ประชาไท สัมภาษณ์ 3 ญาติเหยื่อกระสุนจริง จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 ถึงมุมมองการต่อกระบวนการเตรียมสร้างความปรองดอง ทุกเสียงระบุ ทหาร ไม่ควรจะทำตัวเป็นคนกลาง เพราะแท้จริงแล้วคือคู่ขัดแย้งกับประชาชน

00000

พะเยาว์ อัคฮาด

พะเยาว์ อัคฮาด แม่ของพยาบาล กมนเกด อัคฮาด ผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 ที่วัดปทุมวณาราม ซึ่งศาลอาญากรุงเทพใต้ได้มีคำสั่งในการไต่สวนการเสียชีวิตเมื่อวันที่ 6 ส.ค.56 แล้วว่าเสียชีวิตจากการถูกยิงด้วยกระสุนปืนขนาด .223 หรือ 5.56 มม. ที่มีวิถีกระสุนปืนยิงมาจากเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยอยู่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส หน้าวัดปทุมฯ ซึ่งเข้าควบคุมพื้นที่บริเวณแยกราชประสงค์ตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. ได้เปิดเผยความเห็นเกี่ยวกับกระบวนการปรองดองที่กำลังเกิดขึ้นว่า เห็นด้วยกับการสร้างความปรองดองที่กำลังจะเกิดขึ้น แต่สิ่งที่ไม่เห็นด้วยคือ การที่ทหารเข้ามาเป็นตัวกลางในกระบวนการตัวกล่าว

พะเยาว์ ระบุสาเหตุที่ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการดังกล่าวว่า เนื่องจากเจ้าหน้าที่ทหารที่เข้ามาเป็นตัวกลางในกระบวนการสร้างความปรองดองนั้น เป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงกับประชาชน อีกทั้งยังเป็นคู่ขัดแย้งหลักของความขัดแย้งในสังคมไทยที่กินระยะเวลานานกว่า 10 ปี

“ทหาร คือคู่ขัดแย้งโดยตรง ฉะนั้นการที่เอาคู่ขัดแย้งมาตั้งตนทำกระบวนการปรองดอง มันเป็นไปไม่ได้ คดีของพวกเขาก็มีอยู่ ความผิดของพวกเขา เขายังไม่เคยพูดถึงมันเลย โดยเฉพาะเหตุการณ์การสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 แล้วเวลากลายเป็นว่าพวกคุณมานั่งเป็นคณะกรรมการปรองดอง มันเป็นไปไม่ได้หรอก เพราะกระบวนการของคุณมันคือการมองข้ามหัวประชาชน” พะเยาว์ กล่าว

พะเยาว์ ได้ตั้งคำถามต่อไปว่า กระบวนการที่กำลังเกิดขึ้นนี้ เป็นการสร้างความปรองดองกับใครกันแน่ หรือจะเป็นเพียงการปรองดองกันเองในหมู่ชนชั้นนำทางการเมือง กับนักการเมืองพรรคต่างๆ เท่านั้น เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นคือ ไม่มีการพูดถึง หรือค้นหาความจริงที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์การสลายการชุมนุม และไม่มีการผู้ถึงผู้ที่สูญเสีย หรือได้รับผลกระทบโดยจากความขัดแย้งทางการเมืองเลย ซึ่งพะเยาว์เห็นว่า ประเด็นนี้เป็นเรื่องหลัก และเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่คณะกรรมการชุดนี้พยายามที่จะไม่พูดถึง

“ถ้าเป็นไปได้ เราอยากจะร้องขอว่า ถ้าคุณจะพูดถึงเรื่องปรองดอง ควรจะปล่อยให้เป็นเรื่องของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้กระทำ ไม่ใช่คุณ ความจริงทั้งหมดต้องมีการนำมาพูดถึง ถ้ายังเป็นแบบนี้ต่อไป เราไม่ยอมนะ เราคิดว่าถ้าจะปรองดองต้องพูดเรื่องนี้ ข้อเท็จจริงในการเสียชีวิตของประชาชนจะต้องถูกเปิดเผย ไม่ใช่คุณจะมานั่งพูดปรองดอง ปรองดอง แต่กลับเอาทุกอย่างซุกไว้ใต้พรมเหมือนอย่างที่ผ่านมาในอดีต ขอให้ทุกคนมาจับมือกันใหม่ และหลังจากนั้นอีกไม่นานก็จะมีมาฆ่ากันใหม่” พะเยาว์ กล่าว

เมื่อถามว่า กระบวนการเตรียมการสร้างความปรองดองในครั้งนี้พอจะมีช่องทางที่ทำให้สังคมไทยกลับมาคืนดีกันได้บ้างหรือไม่ พะเยาว์เห็นว่า ไม่มีทางที่จะกลับมาคืนดีกันได้ เพราะกระบวนการที่เกิดขึ้นมีได้การเรียกพรรคการเมืองเข้าไปพูดคุย ซึ่งพรรคการเมืองต่างก็ไม่ปฎิเสธ เพราะสุดท้ายแล้วไม่มีทางเลือก และพรรคการเมืองต่างก็ต้องการกลับสู่สนามการเลือกตั้ง

“พรรคการเมืองเขาไม่ได้ต้องการความปรองดอง เขาต้องการการเลือกตั้ง แล้วก็ไปจับมือกัน แต่คำถามคือคุณเอาประชาชนไปไว้ตรงไหน คุณจะเก็บเรื่องของประชาชนให้เงียบไว้ จะปล่อยให้คดีของพวกเขาดำเนินไป จะปล่อยให้เขาไม่ได้รับความเป็นธรรม ปล่อยให้เขาถูกฆ่าตายฟรีๆ ลูกฉันถูกทหารยิงตายหลักฐานระบุชัดเจน จะให้ฉันยอมเหรอ เป็นใครใครก็ไม่ยอม” พะเยาว์ กล่าว

พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ

ด้านพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ พ่อของเด็กหนุ่มที่ถูกหยุดอายุไว้เพียงแค่ 17 ปี สมาพันธ์ ศรีเทพ หรือ เฌอ ซึ่งชีวิตจากการถูกยิงที่บริเวณศรีษะ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ปี 2553 ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ระบุว่า ผู้ที่จะมาเป็น คนกลาง ในกระบวนการสร้างความปรองดองจะต้องไม่ใช่ทหาร ซึ่งมีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง แต่จะต้องเป็นคนอื่นๆ ซึ่งมีที่มาจากประชาชน หรือเป็นตัวแทนของประชาชน ซึ่งตามระบอบประชาธิปไตย คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการปรองดองจะต้องมาจากการแต่งตั้งโดยรัฐสภา

“คอนเซปในเรื่องของการปรองดอง เช่น การสร้างความรักความสามัคคีของคนในชาติ การให้อภัยซึ่งกันและกัน การค้นหาความจริง และการเปิดให้เกิดการมีส่วนร่วมในกระบวนการ หากพวกทำตามคอนเซปนี้เราเห็นด้วย แต่ไม่มีไง ขณะที่สิ่งที่เราไม่เห็นด้วยคือการเข้ามาเป็นคนกลางโดยทหาร ซึ่งเป็นผู้มีส่วนในการสลายการชุมนุมโดยใช้กำลังกับประชาชน เรื่องนี้เขากลับทำ”พันธ์ศักดิ์ กล่าว

เมื่อถามว่า หากดูจากการคณะกรรมการย่อย ภายใต้อนุกรรมการเตรียมสร้างความปรองดอง ก็จะเห็นว่าจะมีรายชื่ออื่นๆ ที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ทหาร หรือตำรวจ แต่มีรายชื่อของนักวิชาการที่มีชื่อเสียงในสังคมที่จะเข้ามารวบรวมความคิดเห็นที่ได้จากการรับฟัง และจัดทำเป็นข้อเสนอต่อไป การจัดการโครงสร้างคณะทำงานในลักษณะนี้พอจะเป็นเรื่องที่ยอมรับได้หรือไม่ พันธ์ศักดิ์ ตอบว่า อย่างไรก็ไม่เห็นด้วย เนื่องจากยังมีคณะกรรมการชุดใหญ่อยู่ ซึ่งควบคุมดูแลโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ และคณะอนุกรรมการย่อยแต่ละชุดต่างก็มีที่มาจากคณะกรรมการชุดใหญ่ทั้งสิ้น เรื่องนี้จึงผิดตั้งแต่ที่มาของคณะอนุกรรมการ

“คือถ้าที่มาที่ไปมันผิด ทุกอย่างก็ผิดหมด เราไม่สนใจว่าคุณจะอ้างว่า กระบวนการของคุณมีความโปร่งใส่แค่ไหน เพราะสิ่งที่เราเห็นคือการเรียกนักการเมือง แกนนำการเมือง การเรียกเข้าไปนี้ก็เหมือนกับการเรียกไปรายงานตัวกับ คสช. ไม่ต่างอะไรกับตอนที่คุณจะทำรัฐประหาร ที่เชิญคู่ขัดแย้งไปนั่งคุย แล้วปิดประตูถามว่าจะปรองดองกันหรือไม่ พอไม่ยอมคุณก็ทำรัฐประหาร แล้วก็จับพวกที่ไม่ยอมไปเข้าค่ายปรับทัศนะคติ กระบวนการมันไม่ต่างกันเลย”พันธ์ศักดิ์ กล่าว

พันธ์ศักดิ์ เห็นว่าหากรัฐบาลต้องการที่จะสร้างความปรองดองจริงๆ สิ่งแรกที่ควรทำคือการจัดให้มีการเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญที่ได้มีการลงประชามติไปแล้ว ถึงแม้ว่าตนเองจะไม่ยอมรับในตัวรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่กระบวนการต้องเดินหน้าต่อไป เพื่อที่จะทำให้ คสช. หมดอำนาจเผด็จการ และปล่อยให้มีการเลือกตั้ง จากนั้นเปิดให้มีกระบวนการสาธารณะที่เปิดเผย ตรวจสอบได้ สำหรับจัดทำเรื่องการสร้างความปรองดอง

“อยู่ๆ คุณจะมาบอกให้เราปรองดองกันได้อย่างไร มันต้องหาสาเหตุก่อนว่าที่ขัดแย้ง ที่ทะเลาะกันอยู่ทุกวันนี้มันเกิดจากอะไร ใครขัดแย้งกับใคร มันเริ่มจากจุดไหน ก็ต้องมีการค้นหาความจริงทั้งหมด และที่สำคัญต้องรอให้ประเทศชาติพร้อมเสียก่อน เพราะตอนนี้ไม่เห็นว่ามีอะไรที่พร้อมเลย” พันธ์ศักดิ์ กล่าว

บรรเจิด ฟุ้งกลิ่นจันทร์

ขณะที่ บรรเจิด ฟุ้งกลิ่นจันทร์ พ่อของ เทอดศักดิ์ ฟุ้งกลิ่นจันทร์ ซึ่งถูกยิงเข้าที่บริเวณทรวงอกหลายตำแหน่ง จากการสลายการชุมนุม เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2553 บริเวณสี่แยกคอกวัว ระบุว่า ต้องการเห็นบ้านเมืองเดินไปข้างหน้า และต้องการให้คนไทยกลับมารักสามัคคีกัน แต่เมื่อมองเข้าไปที่กระบวนการพูดคุยปรองดองที่กำลังเกิดขึ้น ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า สังคมไทยจะสามารถปรองดอง และคืนดีกันได้จริงหรือไม่

บรรเจิด ตั้งคำถามสำคัญว่า เพราะอะไรกระบวนการพูดคุยปรองดองที่เกิดขึ้นจึงมีเพียงแต่การเชิญนักการเมือง และแกนนำกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองเข้าไปพูดคุย ทั้งที่ในความเป็นจริงคนที่เป็นผู้เสียหายโดยตรงจากความขัดแย้งทางการเมือง ควรที่จะได้เป็นผู้เข้าไปมีส่วนร่วมในการเสนอความคิดเห็นก่อน

“ผมเห็นมาหลายสมัยแล้ว นักการเมืองพอถึงตอนทะเลาะก็ทะเลาะกันจะเป็นจะตาย แต่พอถึงเวลาที่จะมีผลประโยชน์ร่วมกันก็กลับมานั่งคุยกัน นั่งกินกาแฟ พูดคุยกันได้ปกติ การที่เชิญนักการเมืองเข้าไปพูดคุยไม่สามารถสร้างให้เกิดความปรองดองได้จริง และทหารเองก็เป็นคู้ขัดแย้งโดยตรง ไม่มีทางที่จะปรองดองกันได้หรอก”บรรเจิด กล่าว

บรรเจิด ระบุด้วยว่า สิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งในการปรองดองนั้นคือการ ให้อภัยซึ่งกันและกัน แต่จนถึงวันนี้ผู้ที่กระทำความผิด ซึ่งสั่งสลายการชุมนุมยังไม่เคยสำนึกผิด และยังไม่เคยพูดว่ารู้สึกเสียใจ และขอโทษกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่กลับทำตัวเป็นคนกลางมาสร้างความปรองดอง

“ความตายที่เกิดขึ้น จะมาบอกว่าคุณได้รับคำสั่งมาให้ ทำอย่างไรก็ได้ให้คนเลิกชุมนุมแล้วกลับบ้าน แต่สิ่งที่พวกคุณทำมันเกินไป ประชาชนออกมาชุมนุมมีแต่มือเปล่า มากที่สุดก็มีปืนหนังสติ๊ก กับท่อนไม้ แต่คุณมีเสื้อเกราะ คุณมีปืน มีวิธีอื่อีกมากมายที่จะทำให้คนเลิกชุมนุม แต่คุณเลือกยิง”บรรเจิด กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net