การเมืองเรื่องทำโพลล์

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ข่าวนายวีระ สมความคิด ถูกออกหมายจับเพราะการทำโพลล์ ทำให้ผู้เขียนเกิดความสนใจเรื่องการทำโพลล์ในบ้านเราขึ้นมาโดยฉับพลัน การทำโพลล์ถ้าอธิบายเชิงวิชาการง่ายๆก็คือการสำรวจความคิดเห็นหรือการกระทำของประชาชนในประเด็นที่สังคมสนใจในเวลานั้น เป็นงานที่ต้องใช้หลักการวิจัยเชิงปริมาณและหลักสถิติเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการเก็บข้อมูลความคิดเห็นจากคนกลุ่มเล็กๆ(เล็กมาก) แล้วมาสรุปเป็นความเห็นของประชาชนทั้งหมด เหมือนโพลล์ดังๆในบ้านเราที่ขยันทำกันทุกอาทิตย์ ก็เก็บข้อมูลจากคนประมาณพันคนไม่เกินสองพันคนเท่านั้นเอง ดูจากข่าวเห็นว่านายวีระถูกกล่าวหาว่านำข้อมูลที่ไม่จริง (ซึ่งนายวีระไปทำโพลของตนเองมา) มาเผยแพร่ ผลโพลล์ของนายวีระซึ่งค่อนข้างเป็นลบกับรัฐบาล ไม่น่าเชื่อถือ ถือว่าเป็นการเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จทางเฟสบุ้ค จึงถูกกล่าวหาว่าทำผิดพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ไป

ผู้เขียนค่อนข้างเห็นด้วยกับฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐว่าข้อมูลโพลล์ของนายวีระ ไม่น่าเชื่อถือ (แต่จะไม่พูดว่าเป็นข้อมูลเท็จ เพราะมันเป็นข้อมูลจริงที่ได้มาจากการทำโพลล์ของนายวีระ) และไม่สามารถยอมรับผลโพลล์ที่ออกมาว่าเป็นความคิดเห็นของประชาชนทั้งประเทศได้ ความจริงไม่ได้มีเพียงข้อมูลจากโพลล์ของนายวีระที่ดูไม่น่าเชื่อถือ ข้อมูลที่ได้จากสำนักโพลล์ดังๆของบ้านเรา 2-3 สำนักที่นำข้อมูลมาเผยแพร่ทางสื่อมวลชนกันทุกอาทิตย์ พยายามบอกว่าประชาชนคนไทยคิดอย่างนั้นชอบอย่างนี้ ก็ไม่ได้แตกต่างจากไปจากโพลล์ของนายวีระเท่าใดนัก คือความน่าเชื่อถือของข้อมูลมีค่อนข้างน้อย ไม่แตกต่างกับผลโพลล์ของนายวีระสักเท่าใด

ที่กล่าวเช่นนี้ไม่ได้เป็นดูถูกหรือดูหมิ่นว่าการทำโพลล์ของนายวีระหรือโพลล์ของสำนักโพลล์ดังๆไม่ดี ไม่มีคุณภาพ แต่เพราะเข้าใจดีว่าการทำโพลล์ให้ได้ข้อมูลหรือผลโพลล์ตรงกับสภาพความเป็นจริงในหมู่ประชากรทั้งหมด เป็นเรื่องยากมาก กระบวนการวิจัยเชิงสำรวจที่นำมาใช้ในการทำโพลล์ มีเงื่อนไขและข้อจำกัดหลายอย่างที่ทำจริงได้ยาก จึงทำให้ผลการวิจัยหรือผลโพลล์เบี่ยงเบนหรือไม่ตรงกับสภาพจริงได้ง่าย

ประการแรก การวิจัยเชิงสำรวจมีแนวคิดว่าผู้วิจัยจะต้องเลือกกลุ่มตัวอย่างในการเก็บข้อมูล ให้เป็นตัวแทนที่ดีของประชากรที่ทำการศึกษา จะทำให้สามารถใช้ข้อมูลที่เก็บจากกลุ่มตัวอย่าง (เพียงจำนวนน้อย) มาอ้างอิงเป็นข้อมูลของประชากรทั้งหมดได้ การวิจัยแบบนี้จึงต้องระมัดระวังในการกำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างและวิธีการสุ่มหรือวิธีเลือกตัวอย่าง กลุ่มตัวอย่างมักมีขนาดใหญ่พอสมควร มีการกระจายตัวไปทุกภาคส่วนของประชากร ทำให้ต้องเก็บข้อมูลจำนวนมาก ใช้เวลานาน ซึ่งไม่สอดคล้องกับการทำโพลล์ของสำนักโพลล์ทั้งหลาย ที่ต้องการผลในเวลาอันรวดเร็ว ทันข่าว ทันเหตุการณ์ ดังนั้นคนทำโพลล์จึงมักจะเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างเพียงจำนวนน้อย ไม่ค่อยกระจายตัว ที่เห็นส่วนใหญ่ใช้กลุ่มตัวอย่างเพียงหนึ่งพันถึงสองพันคนแทนประชาชนห้าสิบล้านคน กลุ่มตัวอย่างส่วนมากมักจะเป็นเครือข่ายหรือขาประจำของสำนักโพลล์แต่ละสำนักเท่านั้น ไม่ใช่ประชาชนทั่วไปที่บังเอิญถูกสุ่มตัวอย่างมาตามหลักสถิติที่แท้จริง ตรงจุดนี้ทำให้ผลโพลล์ที่ออกมามักมีความคลาดเคลื่อนหรือเบี่ยงเบนไปในทิศทางเดียวกับจุดยืนของสำนักโพลล์ เช่น สำนักโพลล์ที่สนับสนุนรัฐบาล มักจะมีเครือข่ายที่เป็นพวกสนับสนุนรัฐบาลด้วยกัน ผลโพลล์ที่ออกมาจึงมักจะเอนเอียงไปทางสนับสนุน ชื่นชมรัฐบาลเป็นพิเศษ ตรงกันข้ามสำนักโพลล์ที่ไม่เชียร์รัฐบาลเหมือนสำนักโพลล์วีระ สมความคิด ผลโพลล์ก็จะออกมาในทิศทางไม่เชียร์รัฐบาล ผลโพลล์จึงไม่ใช่ความคิดเห็นที่แท้จริงของประชาชนทั้งประเทศ เหมือนที่คนทำโพลล์ชอบอ้างอยู่เสมอ

ปัจจัยส่วนที่สองที่ทำให้ผลโพลล์ โดยเฉพาะโพลล์การเมือง เกิดความคลาดเลื่อนหรือเบี่ยงเบนได้ง่ายก็คือปัญหาผู้ให้ข้อมูลหรือกลุ่มตัวอย่างที่เลือก ไม่ได้เป็นแหล่งข้อมูลที่ดีในเรื่องนั้น หรือพูดง่ายๆก็คือกลุ่มตัวอย่างไม่ได้เป็นคนที่มีข้อมูลที่นักวิจัยถาม การทำโพลล์เริ่มต้นมาจากเรื่องทางการเมือง ซึ่งนำโพลล์มาใช้สำรวจความนิยมทางการเมือง เช่น หยั่งเสียงว่าคนใด พรรคใดจะชนะการเลือกตั้ง มีการไปสอบถามผู้มีสิทธิเลือกตั้งว่าจะเลือกใครพรรคใด กรณีนี้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง เป็นแหล่งข้อมูลที่ดี สามารถให้ข้อมูลได้ถูกต้อง ผลโพลล์จึงมักจะสอดคล้องกับผลการเลือกตั้งจริง แต่ในตอนหลังโพลล์ถูกนำไปใช้สอบถามความคิดเห็นประชาชนแทบทุกเรื่อง โดยเฉพาะในประเทศไทยซึ่งมีสำนักโพลล์หลายสำนักที่พยายามแข่งขันกันทำโพลล์แทบทุกอาทิตย์ ทำให้เกิดทำโพลล์โดยไม่ได้ระมัดระวังว่ากลุ่มตัวอย่างที่ให้ข้อมูลนั้น มีข้อมูลอยู่จริงหรือไม่ เช่น ถามว่า “การปรองดองที่รัฐบาลทำอยู่ เป็นความตั้งใจปฏิรูปประเทศอย่างแท้จริงหรือ เป็นเกมส์ทางการเมืองของรัฐบาล” หรือถามว่า “คดีวัดธรรมกายเกี่ยวกับนักการเมืองหรือไม่” คำถามวิจัยแบบนี้กลุ่มตัวอย่างที่เลือก ไม่ได้เป็นผู้มีข้อมูลในเรื่องเหล่านี้ เพราะไม่ได้เข้าไปร่วมในเหตุการณ์โดยตรง ดีไม่ดียังไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่าการปรองดองหมายถึงอะไร หรือคดีวัดธรรมกายนั้นเป็นอย่างไร การตอบโพลล์จึงเป็นการตอบไปตามความรู้สึกนึกคิดในขณะนั้น ไม่ได้ตอบบนหลักฐานข้อเท็จจริงใดๆทั้งสิ้น ผลโพลล์ที่ออกมาจึงมีคลาดเคลื่อนสูง และบ่อยครั้งที่พบว่าผลโพลล์มีความสอดคล้องกับกระแสข่าวที่เกิดขึ้นช่วงเวลาก่อนทำโพลล์ หรือพูดได้ว่ากลุ่มตัวอย่างที่ตอบโพลล์ไม่ได้ให้ข้อมูลตามข้อเท็จจริง แต่เป็นการตอบโพลล์ตามกระแสสังคม ณ เวลานั้น การทำโพลล์จึงมักถูกนำมาใช้ในทางการเมืองเพื่อสร้างกระแสความนิยมหรือกระแสความเกลียดชังต่อบุคคล พรรคการเมืองหรือสถาบันต่างๆ แทนที่จะเป็นเครื่องมือสำหรับการสำรวจ ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อให้เป็นข้อมูลข่าวสารสำหรับการทำงานต่อไป

ความเบี่ยงเบนของผลโพลล์ นอกจากจะเกิดจากอคติในการเลือกกลุ่มตัวอย่างแล้ว ยังเกิดขึ้นจากอคติในการออกแบบการวิจัย โดยเฉพาะการตั้งโจทย์หรือตั้งคำถามในการวิจัย ที่เอนเอียงไปทางใดทางหนึ่งตามกระแสของสังคม หรือตามจุดยืนของสำนักโพลล์มากกว่าการดำรงอยู่บนฐานวิชาการที่เป็นกลางอย่างแท้จริง การทำโพลล์ส่วนมากในปัจจุบัน ไม่ได้เน้นในเรื่องการแสวงหาข้อเท็จจริงเหมือนโพลล์เลือกตั้ง แต่จะเน้นไปที่การถามความคิดเห็น ความรู้สึกของผู้ให้ข้อมูลเป็นหลัก ประชาชนมีความคิดเห็นในเรื่องนี้ เรื่องนั้นอย่างไร ก็ยิ่งสนับสนุนให้มีการตั้งโจทย์ที่เอนเอียงได้ง่ายยิ่งขึ้น เราจึงเห็นการทำโพลล์ในลักษณะที่เป็นการอวยรัฐบาลโดยเฉพาะในช่วงที่รัฐบาลมีอำนาจพิเศษ มากกว่าจะเป็นการแสดงความเห็นแบบตรงไปตรงมา หรือในทางตรงกันข้ามในช่วงที่กระแสสังคมให้ความสนใจเกี่ยวกับปัญหาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แทนที่จะมีโพลล์ออกมาในลักษณะเป็นกลางถามความเห็นความรู้สึกของประชาชนอย่างรอบด้านทั้งในเชิงบวกเชิงลบต่อปัญหานั้น เรากลับเห็นโพลล์ในรูปแบบที่พยายามสื่อให้เห็นว่าเรื่องนั้นมีแต่ปัญหา หาข้อดีไม่ได้เลย สมควรแล้วที่รัฐบาลจะใช้กำลังเข้าไปแก้ไขปัญหาโดยไม่ต้องระมัดระวังผลที่จะเกิดตามมา

ข้อจำกัดทั้งสามประการที่กล่าวมานี้ ถือว่าเป็นข้อจำกัดสำคัญที่ทำให้ผลโพลล์หรือผลการวิจัยเชิงสำรวจมีความคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงได้มาก นักวิจัยหรือคนทำโพลล์ทุกคนก็รู้กันดี แต่การทำวิจัยกับคนกับสังคม ก็เป็นเรื่องยากที่จะหลีกเลี่ยงอคติเหล่านี้ อีกทั้งการทำโพลล์การเมือง/สังคมในปัจจุบันไม่ได้เป็นงานเชิงวิชาการแต่เพียงอย่างเดียว แต่ได้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่สำคัญอย่างหนึ่ง การทำโพลล์ได้กลายเป็นเครื่องมือในการสื่อสารประชาสัมพันธ์ที่สำคัญขององค์การที่เป็นเจ้าของสำนักโพลล์ ทำให้ชื่อหน่วยงานได้ปรากฎตามสื่อกระแสหลักตลอดเวลา สถาบันการศึกษาเล็กๆบางแห่งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก มีนักศึกษา ได้รับทุนการวิจัยมากขึ้นเพราะการทำโพลล์ ในส่วนรัฐบาลหลายๆรัฐบาล ก็พยายามนำโพลล์มาเป็นเครื่องมือในการสร้างความนิยมต่อรัฐบาล นโยบายรัฐบาล รวมถึงเป็นเครื่องมือในการสร้างทัศนคติ ความเชื่อทางการเมืองของประชาชนให้สอดคล้องกับความต้องการของรัฐบาล การทำโพลล์เป็นเครื่องมือที่ดีในการประเมินว่ากระแสสังคมที่รัฐบาลหรือองค์การของรัฐพยายามสร้างขึ้น เช่น กระแสการปฏิรูป กระแสการปรองดอง ได้รับการตอบรับจากประชาชนมากน้อยเพียงใด

จากข้อจำกัดที่มีอยู่ในกระบวนการทำโพลล์ ประกอบกับวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการทำโพลล์ในปัจจุบันดังที่เรารู้กันอยู่ การทำโพลล์ที่ผ่านมาจึงไม่ค่อยมีปัญหาใดๆ ผลโพลล์ส่วนใหญ่ก็ออกมาในทิศทางที่รัฐบาลค่อนข้างพอใจ มีการเผยแพร่ผลโพลล์แต่ละสำนักผ่านสื่อกระแสหลัก กระแสรองกันอย่างเอิกเกริกแทบทุกวัน โดยไม่ค่อยมีใครออกมาตำหนิกันว่าผลโพลล์ของคนนั้นไม่ดีไม่สมบูรณ์อย่างไร และไม่มีการกล่าวโทษใครเรื่องการทำโพลล์ เพิ่งจะมากรณีการทำโพลล์ของนายวีระ สมความคิดในครั้งนี้เท่านั้นเอง ที่ผลลัพธ์ออกมาค่อนข้างแตกต่างไป จนถึงขั้นต้องถูกออกหมายจับในฐานความผิดตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นเรื่องที่คนในวงวิชาการสมควรจับตามองเป็นอย่างยิ่ง เพราะอาจเป็นบรรทัดฐานทางวิชาการในยุคนี้ก็ได้ว่า “คนทำโพลล์จะต้องไม่ปล่อยให้ผลโพลล์ออกมาในลักษณะเป็นปรปักษ์ต่อรัฐบาล”

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท