บ.ฟาร์อีสปั่นทอฯ นครปฐม จ่ายช่วยเหลือพนักงานที่ไม่ย้ายงานมา กทม.

นายจ้าง-พนักงาน บริษัท ฟาร์อีสต์ปั่นทออุตสาหกรรม จำกัด จ.นครปฐม ทำข้อตกลงจ่ายช่วยเหลือพนักงานที่ไม่ประสงค์ย้ายไปทำงานที่โรงงานสำนักงานใหญ่ที่ กทม. ในอัตราร้อยละ 55 ของเงินค่าชดเชยตามอายุงานที่พนักงานมีสิทธิได้รับตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ก่อนหน้านี้ปี 2559 บ.ฟาร์อีสปั่นทอฯ จ.บุรีรัมย์ ก็ปิดโรงงานย้ายมา กทม. เช่นกัน
 
เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2560 ที่ผ่านมา กรรมการผู้จัดการบริษัท ฟาร์อีสต์ปั่นทออุตสาหกรรม จำกัด และตัวแทนพนักงานของบริษัทฯ ได้ลงนามในบันทึกการเจรจา ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.นครปฐม โดยทั้งสองฝ่ายได้เจรจากันโดยสมัครใจในเรื่องการช่วยเหลือพนักงานที่ไม่ประสงค์โยกย้ายไปทำงานที่โรงงานของบริษัทฯ สำนักงานใหญ่ที่กรุงเทพฯ และมีพนักงานสมัครใจที่จะลาออก โดยผลการตกลงของทั้ง 2 ฝ่ายมีดังนี้ ข้อ 1.บริษัทฯ ตกลงจ่ายช่วยเหลือพนักงานที่ไม่ประสงค์ย้ายไปทำงานที่โรงงาน (สำนักงานใหญ่) ในอัตราร้อยละ 55 ของเงินค่าชดเชยตามอายุงานที่พนักงานมีสิทธิได้รับตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 โดยแบ่งจ่ายเป็นงวด จำนวน 6 งวด จ่ายเข้าบัญชีเงินค่าจ้างของพนักงานทุกเดือนภายในวันที่ 22 ของทุกเดือนจนครบ งวดแรกจ่ายวันที่ 22 เม.ย. 2560 ข้อ 2. บริษัทฯ และพนักงานตกลงให้พนักงานไม่ต้องมาปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค. 2560 เป็นต้นไป และข้อ 3. กรณีบริษัทฯ ขาดชำระเงินช่วยเหลือตามข้อตกลงนี้งวดใดงวดหนึ่งถือว่าเป็นการที่นายจ้างบอกเลิกจ้างพนักงานทันที
 
ก่อนหน้านี้เมื่อเดือน ก.ย. 2559 พนักงานกว่า 240 คน ของบริษัท ฟาร์อีสท์ปั่นทออุตสาหกรรม จำกัด การ์เมนท์ 5 ตั้งอยู่ที่ อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ และ การ์เมนท์ 6 ตั้งอยู่ที่ อ.พุทไธสง จ.บุรีรัมย์ ได้ขอความช่วยเหลือและรับเรื่องร้องเรียนต่อต่อสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, สำนักงานประกันสังคมจังหวัด และสำนักงานจัดหางานจังหวัดบุรีรัมย์ หลังบริษัทฯ ได้ติดประกาศ จะย้ายสถานประกอบกิจการไปยังกรุงเทพฯ ในวันที่ 1 ต.ค. 2559 ซึ่งทำให้พนักงานได้รับความเดือดร้อนไม่สามารถย้ายตามไปทำงานตามที่ทางบริษัทประกาศได้ เนื่องจากประสบปัญหาค่าครองชีพ ระยะทางไกล พร้อมกับนายจ้างไม่ระบุถึงสวัสดิการที่พนักงานจะได้รับหากย้ายตามไปทำงานด้วย ทำให้พนักงานกว่า 240 คน ปฏิเสธที่ย้ายตาม และต่อมาพนักงานจำนวน 138 คน ได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการสวัสดิการแรงงาน กรณีนายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตตามปกติของพนักงานหรือครอบครัว จึงขอเลิกสัญญาจ้างและให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยพิเศษตามมาตรา 120 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งในเดือน ธ.ค. 2559 บริษัทฯ และพนักงานสามารถเจรจาตกลงกันได้โดยนายจ้างยินยอมจ่ายเงินช่วยเหลือให้แก่พนักงานทั้ง 138 คน ๆ ละ 10,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,380,000 บาท พนักงานได้รับเงินแล้วจึงถอนคำร้องและยุติเรื่อง
 
ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานมาตรา 120 ฉบับแก้ไข ปี 2551การย้ายสถานประกอบการ หมายถึงการที่นายจ้างเปลี่ยนแปลงสถานที่ทำงาน หรือย้ายสถานที่ทำงานทั้งหมดไปตั้ง ณ.สถานที่อื่น   อันไม่ใช่สถานที่ทำงานเดิมหรือสถานที่ทำงานสาขาของนายจ้างซึ่งมีอยู่เดิม ซึ่งการย้ายสถานประกอบการในลักษณะนี้บังคับใช้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานมาตรา 120 ฉบับแก้ไข ปี 2551 องค์ประกอบที่สำคัญ คือ 1. ย้ายสถานประกอบการไปตั้ง ณ สถานที่อื่น  2. ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของลูกจ้าง 3. แจ้งให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน ก่อนวันย้าย 4. ลูกจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างได้ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งจากนายจ้าง หรือ 5. ลูกจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างได้ในวันกำหนดย้ายสถานประกอบการ  6. ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษ เท่ากับอัตราค่าชดเชยตามกฎหมาย (พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงงานฯ) มาตรา 118 7. ต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษหรือค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่ลูกจ้างภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ลูกจ้างบอกเลิกสัญญาจ้าง และ 8. กรณีนายจ้างไม่แจ้งล่วงหน้าให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้า ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 30 วัน
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท