Skip to main content
sharethis

 “ช่วยด้วย"  คำ ๆ นี้ทำให้ผมใจหายเมื่อได้ยินผ่านสายโทรศัพท์ ที่กั้นด้วยลูกกรงและกระจกใส โดยเฉพาะจากคนที่ผมเคยเข้าใจว่าเค้าเข้มแข็งและยิ้มได้ตลอดเวลาแม้จะพบเจอเรื่องเลวร้าย

เมื่อวันพุธ (15 มีนาคม 2560) ผม ในฐานะเพื่อนและนักศึกษาปริญญาโทด้านสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ได้มีโอกาสไปเยี่ยม  "ไผ่ จตุภัทร"  ที่เรือนจำจังหวัดขอนแก่น ในก้าวแรกที่เข้าไปเจอไผ่ที่อยู่หลังลูกกรงและกระจกกั้น ผมยังคงเห็นรอยยิ้มที่เข้มแข็งเหมือนกับที่พบเจอมาโดยตลอด

ในช่วงเวลาอันจำกัดเพียง 15 นาที พร้อมกับเพื่อน ๆ อีกจำนวน 5 คน ผู้เข้าเยี่ยมจะต้องสลับกันใช้โทรศัพท์เพียงเครื่องเดียวในการพูดคุยกับไผ่ ผมจึงตั้งใจเพียงทักทายและอัพเดทเรื่องราวโลกภายนอก เช่น งานเสวนาต่าง ๆ การประชุม ICCPR ที่เพิ่งผ่านไปในวันก่อนหน้า และนำกำลังใจและความห่วงใยจากเพื่อน ๆ ที่ส่งผ่านมาบอกเล่าให้กับไผ่ หลังจากนั้นผมจึงถามไผ่ว่า  "อยากฝากบอกอะไรเพื่อน ๆ ไหม"  คำถามนี้ทำให้รอยยิ้มของไผ่หายไปในช่วงเวลาหนึ่ง ไผ่ยืดตัวขึ้นและพูดคำว่า  "ช่วยด้วย"  มันทำให้ผมใจหายและพูดอะไรต่อไม่ออก ประกอบด้วยความคิดที่แวบขึ้นมาโดยอัตโนมัติทำให้ผมนึกถึงความเลวร้ายสุดขีดที่ไผ่อาจพบเจอในสถานที่นี้

ในช่วงขณะหนึ่งของความเงียบ ผมไม่สามารถคิดเรื่องอื่นได้แม้แต่เรื่องที่เตรียมมาเพื่ออัพเดทให้ไผ่ฟัง ผมได้เพียงแต่มองเข้าไปในดวงตาของไผ่ที่จู่ ๆ ความเข้มแข็งก็หายไป จวบจนระยะหนึ่งผ่านไป ผมจึงรวบรวมสติแล้วถามต่อว่า "ไผ่ยังโอเคใช่ไหมข้างในนั้น" ไผ่เริ่มยิ้มอีกครั้งแล้วตอบกลับว่า  "โอเคพี่ แต่ผมเริ่มจะหมดหวังแล้ว"  แม้ไผ่จะเริ่มมีรอยยิ้มกลับมาบ้าง แต่ผมก็สัมผัสได้ถึงความเหนื่อยล้าและความผิดหวังต่อสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับไผ่ ผมจึงตั้งใจฟังโดยคิดว่าช่วงเวลา ณ ตอนนี้ สิ่งเดียวที่สามารถทำได้คือการรับฟังให้มากที่สุด อย่างน้อยก็เพื่อให้ไผ่ได้ระบายความกดดันออกมา

"ฝากบอกเพื่อน ๆ ด้วยนะพี่ เราต้องสู้เรื่องนี้กันต่อ เรื่องนี้เป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชน เป็นเรื่องของทุกคน ผมไม่อยากให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับใครอีก อยากให้เรื่องของผมเป็นกรณีศึกษา"

ระหว่างทางกลับ ผมได้คิดทบทวนคำว่า "ช่วยด้วย" ของไผ่ ซึ่งอาจจะตีความได้สองความหมาย ในความหมายแรกอาจเป็นภาวะที่สิ้นหวังกับสถานการณ์ของตัวเองในปัจจุบัน ผนวกกับสภาพแวดล้อมที่ไผ่ต้องพบเจอ แต่ในความหมายที่สอง หากคำว่า "ช่วยด้วย" เป็นการร้องขอไปถึงสังคม  ที่ไผ่อยากเห็นผู้คนตระหนักและต่อสู้เรื่องสิทธิมนุษยชนและความเป็นธรรมของสังคมในภาพรวม ไม่ใช่เพียงเพื่อตัวของไผ่เอง

ในขณะที่สังคมภายนอกพยายามพูดถึง  "สันติภาพ"  และ  "การปรองดอง"  ผมเห็นว่าเราจะขาดการพูดเรื่อง "สิทธิมนุษยชน" ไปเสียไม่ได้  การสร้างสังคมที่เรากำลังใฝ่หาจะเป็นไปไม่ได้เลยถ้าประชาชนหลายภาคส่วนไม่สามารถมีส่วนร่วม รวมทั้งมาตรฐานของกลไกรัฐโดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมที่ยังปล่อยให้การละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นสิ่งที่ไผ่กังวลในการใช้กลไกรัฐเป็นเครื่องมือในการจำกัดสิทธิเสรีภาพอาจจะส่งผลกระทบต่อ  "ทุกคน"  ในสังคมโดยไม่มีข้อยกเว้นและไม่มีใครสามารถโต้แย้งได้  ดังนั้นการสร้าง  "สันติภาพ"  และ  "การปรองดอง"  จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ถ้าวันนี้เรายังเพิกเฉยและไม่ให้ความสำคัญในเรื่องสิทธิมนุษยชน ที่เป็นพื้นฐานสำคัญของสังคม

การไปเยี่ยมไผ่ในครั้งนี้ ทำให้ผมนึกถึงบทกวีของ Martin Niemöller ผู้ต่อต้านนาซียุคเรืองอำนาจ ที่ทำให้ผมเห็นว่าสันติภาพจะเป็นจริงไปไม่ได้ ถ้าคนในสังคมยังเพิกเฉยต่อเรื่องราวที่อาจดูไกลตัว อย่างเช่นกรณีของไผ่

ครั้งแรก "เขา" มาจับพวกคาทอลิก
แต่ฉันเป็นโปรเตสแตนต์ ฉันจึงเฉยเสีย

ต่อมา "เขา" มาจับคอมมิวนิสต์
แต่ฉันไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์ ฉันจึงไม่ได้ทำอะไร

ต่อมา "เขา" มาจับพวกสหภาพแรงงาน
แต่ฉันไม่ได้อยู่ในกลุ่มนั้น ฉันจึงยังนิ่งอยู่

จากนั้น "เขา" มาจับคนยิว
แต่ฉันไม่ได้เป็นคนยิว ฉันจึงยังนิ่งเฉยดังเดิม

และเมื่อถึงเวลาที่ "เขา" มาจับฉัน
ก็ไม่เหลือใครสักคนที่คิดจะพูดหรือทำอะไร…

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net