Skip to main content
sharethis

เหตุวิสามัญฆาตกรรม “ชัยภูมิ ป่าแส” ยังคลุมเครือ ล่าสุดตำรวจภาค 5 แถลงว่าผู้ตายเอี่ยวค้ายา อ้างใช้เงินฟุ่มเฟือย-มีรถขับ - แต่ “ชัยภูมิ” ไม่ใช่รายแรก เพราะเดือนที่แล้วก็มีเหตุวิสามัญในพื้นที่ ขณะที่แกนนำชาวลาหู่เผยในยุคสงครามยาเสพติดสมัย “ทักษิณ” พวกเขาก็ตกเป็นเป้าหมาย และถูกเจ้าหน้าที่รัฐคุกคามโดยตลอด รวมไปถึงเหตุวิสามัญด้วย

ชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมเยาวชนชาติพันธุ์ลาหู่ที่ถูกวิสามัญฆาตกรรมเสียชีวิตที่ด่านตรวจรินหลวง เมื่อ 17 มีนาคม 2560 (ที่มา: ภาพจาก Kowit Phothisan)

สภาพที่เกิดเหตุเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2560 (ที่มา: TNN)

เหตุการณ์เจ้าหน้าที่ทหารวิสามัญฆาตกรรม ชัยภูมิ ป่าแส เยาวชนนักกิจกรรมชาวลาหู่ และการจับกุมพงศนัย แสงตะหล้า เพื่อนร่วมทางในคดียาเสพติด สร้างแรงกระเพื่อมบนโลกโซเชียลมีเดียและสังคมไทยระยะหนึ่งแล้ว มีความเห็นและข้อเท็จจริงจากทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่ พยานในเหตุการณ์และคนที่รู้จักผู้ตายประเดประดังเข้ามา โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรอบสัปดาห์ประมวลได้ดังนี้

17 มี.ค. เจ้าหน้าที่ทหารจาก ร้อย.ม.2.บก.ควบคุมพื้นที่ 1 ฉก.ม.5 ร่วมกับ ชสท.ที่ 5 กกล.ผาเมือง ได้กระทำการวิสามัญ ชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมเยาวชนชาติพันธุ์ลาหู่ชื่อดัง (อ่านที่นี่)

จากคำให้การของเจ้าหน้าที่ ระบุว่า ทหารเรียกตรวจค้นรถ Honda Jazz ป้ายทะเบียน ขก 3774 ที่ชัยภูมิ เดินทางมาโดยมีพงศนัยเป็นคนขับ

ทหารอ้างว่าตรวจพบยาบ้าจำนวนราว 2,800 เม็ด ชัยภูมิพยายามขัดขืนการจับกุม โดยหยิบมีดจากหลังรถพยายามต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ และวิ่งหลบหนีไปในป่า เมื่อเจ้าหน้าที่ตามไปพบว่า ผู้ตายกำลังจะปาระเบิดชนิดขว้างสังหารใส่ จึงได้ทำการวิสามัญโดยยิงเข้าที่ตัวผู้ตาย 1 นัด

พงศนัยถูกนำไปฝากขังที่เรือนจำ จ.เชียงใหม่ ส่วนศพชัยภูมิถูกนำไปชันสูตรพลิกศพที่โรงพยาบาลนครพิงค์ จ.เชียงใหม่

18 มี.ค. มีรายงานการตายออกมาจาก ร.พ.นครพิงค์ ระบุว่า ชัยภูมิ ป่าแส “เสียชีวิตจากบาดแผลกระสุนปืนลูกโดดทำลายอวัยวะในช่องอก (GUN SHOT WOUND TO THE CHEST)” (อ่านที่นี่)

สุมิตรชัย หัตถสาร ทนายความที่ปรึกษาแก่กลุ่มองค์กรที่ติดตามสถานการณ์ ให้ข้อมูลกับประชาไทว่า ผลชันสูตรปากเปล่าที่แพทย์รายงานกับญาตินั้น ระบุว่า กระสุนเข้าที่ต้นแขนซ้ายและทะลุเข้าไป มีลูกปืนบางส่วนแตกในลำตัวซึ่งแพทย์ได้ผ่าออกมาแล้ว แต่ไม่สามารถกำหนดระยะยิงได้ เนื่องจากเป็นการยิงจากปืนความเร็วสูงและแพทย์ไม่มีความรู้ด้านนี้

สุมิตรชัยคาดว่า รายงานชันสูตรพลิกศพจากแพทย์จะใช้เวลาในการจัดทำทั้งสิ้น 1 เดือน ก่อนที่จะส่งให้กับอัยการต่อไป

ผู้สื่อข่าวประชาไทรายงานว่า พงศนัย ผู้รอดชีวิต ยังต้องคดียาเสพติด ศาลเรียกหลักทรัพย์ประกันตัว 2 ล้านบาท แต่ญาติไม่มีเงินประกัน

20 มี.ค. ศพของชัยภูมิ ถูกฝังตามประเพณีท้องถิ่น (อ่านที่นี่)

21 มี.ค. แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล และฮิวแมนไรท์วอทช์ ออกแถลงการณ์ เรียกร้องทางการไทยให้ดำเนินการสอบสวนอย่างเป็นอิสระและเห็นผลต่อกรณีการสังหาร ชัยภูมิ (อ่านที่นี่)

ภาคีองค์กรและเครือข่าย 31 องค์กร ร่วมลงนามแถลงการณ์ท่าทีและข้อเรียกร้องต่อเหตุการณ์ดังกล่าว 3 ประเด็น ประณามการกระทำของเจ้าหน้าที่ และขอให้มีการตรวจสอบความจริง (อ่านที่นี่)

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้ออกแถลงการณ์ ขอให้นำคนผิดมาลงโทษเยียวยาผู้เสียหาย กรณีทหารวิสามัญนักเรียนมัธยม เยาวชนต้นกล้าชาวลาหู่ คุ้มครองพยานในการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริง (อ่านที่นี่)

สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีมติที่ประชุมว่าจะหยิบยกเรื่องนี้มาตรวจสอบ โดยจะรวบรวมข้อมูลจากทั้งฝ่ายเจ้าหน้าที่และผู้เสียหาย และขอให้พนักงานสอบสวนนำความจริงมาตีแผ่ให้ได้ว่ายาเสพติดจริงๆแล้วเป็นของใคร

22 มี.ค. มติชน รายงานว่า พล.ต.ท.พูลทรัพย์ ประเสริฐศักดิ์ ผบช.ภ.5 แถลงข่าวว่า เจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบหลักฐานการโอนเงินและตั้งข้อสังเกตพฤติกรรมการใช้เงินที่มีการจับจ่ายใช้สอยอย่างมือเติบ มีเงินฝากในธนาคารบัญชีโรงเรียนสัปดาห์ละหลักพันบาท ส่วนรถที่ใช้นั้นเป็นรถของนางแสงหล้า ชาวอำเภอฝาง ขณะนี้หลบหนีเรื่องยาเสพติด ปรามโซเชียลมีเดียจะโพสท์อะไรก็อย่าเอาอารมณ์เป็นตัวตั้ง ระวังโดนดำเนินคดีหมิ่นประมาทเจ้าหน้าที่ (อ่านที่นี่)

ในขณะที่ เดลินิวส์ รายงานเพิ่มเติมจากคำแถลงของตำรวจภาค 5 อ้างว่า สายของ สภ.สันทราย เคยล่อซื้อยาบ้าจากชัยภูมิ 600 เม็ดเมื่อเดือนมกราคม แต่ชัยภูมิไหวตัวทัน โดยระบุว่าได้ลงบันทึกประจำวันเงินค่ามัดจำไว้ที่ สภ.สันทราย (อ่านที่นี่)

 

เจ้าหน้าที่พูดอย่าง คนในเหตุการณ์พูดอย่าง เพื่อนผู้รอดชีวิตในคุกคือกุญแจสำคัญ

แม้ร่างไร้วิญญาณของชัยภูมิ จะถูกกลบฝังอยู่ใต้พื้นดินแล้ว แต่ยังคงมีการให้ข้อมูลเพิ่มมาอีก มีข้อมูลใหม่จากทั้งผู้ที่อ้างว่าอยู่ใกล้เคียงที่เกิดเหตุ ผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งเจ้าหน้าที่

ไทยพีบีเอส ได้สัมภาษณ์พยานในที่เกิดเหตุ ระบุว่า ในช่วงที่เกิดเหตุชาวบ้านเห็นเหตุการณ์ ตอนที่ชาวบ้านจะเข้าไปใกล้ๆ เจ้าหน้าที่บอกว่า "ไม่ต้องเข้าใกล้ มันไม่มีอะไร มันยังไม่ตาย" และมีคำให้การพยานแวดล้อมสถานที่เกิดเหตุยืนยันว่าได้ยินเสียงปืน 3 นัด โดย 2 นัดแรกเกิดขึ้นก่อนที่นายชัยภูมิจะวิ่งไปในที่จุดที่ถูกยิงเสียชีวิต ต่อมาได้ยินเสียงปืนอีก 1 นัด และเห็นชัยภูมิล้มลง "ชาวบ้านเห็นเยอะแยะ อยู่ในรถลากเขาออกมาซ้อม เหยียบหน้าเขาไว้ แล้วยิงขู่สองนัด พอหลุดจากที่ทหารซ้อม พอหลุดไป ก็วิ่งหนี พอวิ่งหนี ทหารก็ไล่ยิง แล้วไม่ให้ชาวบ้านเข้าใกล้ด้วย" พยานแวดล้อมรายหนึ่งให้ข้อมูล

ผู้ปกครองของชัยภูมิมาก็ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสว่า รู้จักกับผู้ตายมาตั้งแต่เด็ก เชื่อว่าเป็นนักกิจกรรมเพื่อสังคมและมีความประพฤติดี และไม่เชื่อว่าผู้เสียชีวิต จะขัดขืนเจ้าหน้าที่ รวมถึงลักลอบขนยาเสพติด

ขณะที่ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ให้ความเห็นผ่านเฟซบุ๊ก Chainarong Sretthachau ตั้งข้อสังเกตว่า

1.เป็นความจริงหรือไม่ที่ชัยภูมิจะขนยาบ้าผ่านจุดเกิดเหตุในวันที่ถูกสังหาร เนื่องจากจุดที่เกิดเหตุเป็นด่านถาวร ซึ่งทราบกันดีว่ามี ฉ.ก.ม.5 ตรวจจับยาเสพติดเข้มขันตลอดเวลา ขณะที่ข้อมูลจากคนในพื้นที่ระบุว่า พวกที่ขนยา ไม่มีใครขนทางรถผ่านด่านกัน แต่จะใช้ช่องทางอื่นเพื่อหลบหลีกด่าน

2.เป็นความจริงหรือไม่ที่ชัยภูมิจะมีอาวุธระเบิด และพกระเบิดพร้อมยาบ้าผ่านด่านที่มีการตั้งถาวร อีกทั้งยังกล้าถือระเบิดต่อสู้ ซึ่งนำไปสู่การที่เขาถูกสังหารอย่างถูกกฎหมายภายใต้สิ่งที่รัฐเรียกว่า "วิสามัญฆาตกรรม"

3.ชัยภูมิเป็นชาวลาหู่ แต่จะเป็นไปได้หรือที่ชัยภูมิจะขนยาให้กลุ่มว้า เพราะยาบ้าที่ทหารนํามาแสดงโดยอ้างว่าพบจากที่กรองอากาศของรถคันที่ชัยภูมินั่งไปนั้น หีบห่อเป็นยาบ้าของกลุ่มว้า (รัฐฉาน ประเทศพม่า) ซึ่งมีราคาแพง ในขณะที่หากชาวลาหู่จะขนยาบ้าจากกลุ่มลาหู่ (รัฐฉาน ประเทศพม่า) จะเป็นอีกแบบและราคาถูกกว่า

ด่านตรวจรินหลวง เป็นด่านตรวจยาเสพติดของทหาร ตั้งอยู่กลางสามแยก มีการตั้งบังเกอร์ มีสิ่งปลูกสร้างถาวร และมีการตั้งเครื่องกีดขวางทุกทิศทาง โดยเส้นทางนี้เป็นเส้นทางที่คนในชุมชนบ้านกองผักปิ้ง ใช้เดินทางเข้าออกเป็นประจำ (ที่มา: แฟ้มภาพ/Googlmaps)

ในขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐเองก็ได้ให้การว่าเป็นการกระทำที่สุดวิสัย จากการบอกเล่าพฤติการณ์ที่ชัยภูมิพยายามขัดขืนการจับกุม ไปจนถึงพยายามที่จะขว้างปาระเบิดใส่เจ้าหน้าที่ นำไปสู่การวิสามัญฆาตกรรมดังกล่าว ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 19 มี.ค. พีพีทีวี รายงานว่า ทหารที่วิสามัญฆาตกรรมชัยภูมิ ได้เข้ามอบตัวกับตำรวจแล้ว โดยถูกแจ้งความดำเนินคดีในข้อหา ฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา โดยพนักงานสอบสวนให้ประกันตัวไปสู้คดีในชั้นศาล

มติชน ได้รายงานว่า พล.ต.ท.พูลทรัพย์ ประเสริฐศักดิ์ ผบช.ภ.5 ก็ได้รายงานต่อสื่อมวลชนว่าทหารได้กระทำการค้นหาตามยุทธวิธี การวิสามัญเป็นไปเพื่อป้องกันตัว เพราะจากการสอบสวนพงศนัยแล้ว พบว่าชัยภูมิมีการติดต่อกับบุคคลที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้ผ่านโทรศัพท์ระหว่างขับรถบ่อยครั้ง โดยพูดคุยกันเป็นภาษาพื้นเมือง และได้ตั้งข้อสังเกตพฤติกรรมการใช้เงินภายหลังการตรวจสอบเส้นทางการเงิน ว่ามีการจับจ่ายใช้สอยอย่างมือเติบ มีเงินฝากในธนาคารบัญชีโรงเรียนสัปดาห์ละหลักพันบาท ทั้งยังสงสัยว่าทหารจะพยายามยัดยาบ้าจำนวน 2800 เม็ด ราคาประมาณ 2.8 แสนบาทเพื่ออะไร

เดลินิวส์ รายงานจากถ้อยแถลงของพูลทรัพย์ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจเคยทำการล่อซื้อจากนายชัยภูมิ นัดส่งยาบ้า 600 เม็ด มีการโอนเงินที่มีการลงบันทึกประจำวันไว้ที่สภ.สันทราย เป็นค่ามัดจำ เข้าบัญชีนายชัยภูมิ และนัดส่งของกันที่หลังมหาวิทยาลัยชื่อดัง ต.หนองป่าครั่ง ซึ่งขณะนั้นนายชัยภูมิ เดินทางมาส่งยาด้วยตัวเองโดยใช้รถคันที่เกิดเหตุ แต่นายชัยภูมิ ไหวตัวทัน ซิ่งรถหลบหนีไปได้ก่อน ซึ่งทางตำรวจมีหลักฐานและพยานในเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นมา

ความคลุมเครือของอายุชัยภูมิก็เป็นอีกเรื่องที่ยังหาคำตอบไม่ได้ เพื่อนที่รู้จัก และทำกิจกรรมร่วมกับชัยภูมิมานานเชื่อว่า ชัยภูมิอายุ 17 ย่าง 18 ปี เพราะยังเรียนอยู่ชั้น ม.4 ส่วนในบัตรผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนหมายเลขศูนย์ระบุว่าชัยภูมิ เกิดปี พ.ศ. 2539 คำนวณอายุได้ 21 ปี

ท่ามกลางความคลุมเครือที่ปกคลุมสถานการณ์นี้ พงศนัย แสงตะหล้า เพื่อนร่วมทางของชัยภูมิ ที่ถูกศาลฝากขังเอาไว้ที่เรือนจำ จ.เชียงใหม่ เห็นจะเป็นกุญแจสำคัญสู่ความจริงที่เกิดขึ้น ณ ที่เกิดเหตุ ปัจจุบัน พงศนัยต้องคดียาเสพติด ทางเจ้าหน้าตำรวจกำลังสอบปากคำจากพยานอยู่ โดยศาลได้เรียกหลักทรัพย์ประกันตัวแก่พงศนัยเป็นจำนวน 2 ล้านบาท ซึ่งดูจะเป็นจำนวนที่มากเกินไปสำหรับญาติของเขา (อ่านที่นี่)

 

ชัยภูมิ ไม่ใช่รายแรก เดือนที่แล้วก็มีเหตุวิสามัญแบบนี้

อนึ่ง ต้องบันทึกด้วยว่า พฤติการณ์การวิสามัญฆาตกรรมในพื้นที่ ไม่ได้เกิดกับ “ชัยภูมิ ป่าแส” เป็นครั้งแรก เมื่อหนึ่งเดือนที่ผ่านมา มีเหตุวิสามัญ “อาเบ แซ่หมู่” อายุ 32 ปี โดยทหารในเขตพื้นที่รับผิดชอบของร้อย ม.2 บก.ควบคุมที่ 1 ฉก.ม 5 เช่นกัน โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่า ได้ตรวจยาเสพติดและติดตามจับกุม แต่ “อาเบ” ได้ขัดขวางการจับกุมด้วยการหลบหนี และพยายามฆ่าเจ้าหน้าที่ด้วยการขว้างระเบิดใส่เจ้าหน้าที่ ทำให้เจ้าหน้าที่วิสามัญ แต่ปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าต่อปมการเสียชีวิตนี้ (อ่านที่นี่)

 

ลาหู่ และผลกระทบในช่วงสงครามยาเสพติด-เผยโดนคุกคามหนักถึงชีวิต

ประชาไท สัมภาษณ์ สีละ จะแฮ ประธานสมาคมชาวลาหู่เกี่ยวกับความเป็นมาของชาติพันธุ์ลาหู่ สีละ กล่าวว่า ประวัติศาสตร์ของชาติพันธุ์ลาหู่นั้นต้องนับถอยหลังไป 200 ปีนับตั้งแต่อพยพมาจากประเทศจีน ชาติพันธุ์ลาหู่นั้นบางส่วนอยู่บริเวณประเทศไทยปัจจุบันก็มี บางส่วนก็อพยพมาจากจีนตอนใต้ อพยพมาบนเส้นทางที่ปัจจุบันคือพม่า เรื่อยมาจนถึงไทย

จากการตั้งถิ่นฐานก่อนการเข้ามาของระบบรัฐสมัยใหม่ สัญชาติ ป่าสงวนและอุทยานแห่งชาติ ทำให้เกิดการปะทะ ความขัดแย้งระหว่างนโยบายสาธารณะจากกรุงเทพฯ กับชาติพันธุ์ลาหู่ที่ใช้ชีวิตในพื้นที่ดังกล่าวเรื่อยมา ไม่ว่าจะเป็นการถูกลิดรอนสิทธิ์ในการรับของอุปโภคบริโภคจากบางหน่วยงาน หรือขาดการเข้าถึงสวัสดิการการรักษาพยาบาลเมื่อเจ้าหน้าที่รัฐพบว่าไม่มีสัญชาติ หรือการถูกเอาผิดจากการเข้าไปทำไร่ทำนาบนที่ที่เคยทำมาแต่เดิม แต่เมื่อเวลาผ่านไปกลับกลายเป็นพื้นที่ป่าสงวน

อย่างไรก็ดี ชาติพันธุ์ลาหู่นั้นเป็นเพียงหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีถิ่นฐานตามชายแดนไทย - พม่า ที่ได้รับผลกระทบในชีวิตและทรัพย์สินจากนโยบายทางการเมืองของรัฐบาลกรุงเทพฯ ในช่วงที่มีการปราบปรามยาเสพติดด้วยนโยบาย “สงครามต่อต้านยาเสพติด” ของอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อช่วง พ.ศ. 2546 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สินของชาวลาหู่ที่มีถิ่นฐานในบริเวณที่มีการขนยาเสพติดข้ามแดนชุกชุม รายงานพิเศษ “ขยี้เกลือบนปากแผล: ชาวลาหู่กับ 10 ปี แห่งบาดแผลของอาชญากรรมโดยรัฐ” เผยแพร่ในประชาไท ชี้ให้เห็นว่า ในช่วงการปราบปรามยาเสพติด เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจใช้ความรุนแรงคุกคามชาวลาหู่ด้วยการบุกรุกเคหสถาน ยึดทรัพย์ ทำร้ายร่างกาย อุ้มหาย จับกุมคุมขังโดยพลการ รวมไปถึงการสังหาร

รายงานจาก Human Rights Watch ระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ได้ใช้มาตรการรุนแรงในการแก้ไขปัญหายาเสพติดตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 2546 เรื่อยไปจนถึง พ.ศ. 2549 ภายหลังการกระทำรัฐประหารรัฐบาลทักษิณ โดยผู้เสียชีวิตหลายรายเป็นประชากรของชนพื้นเมืองในภาคเหนือ ซึ่งรายงานระบุว่า เป็นผู้ที่มีความขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่รัฐบ่อย ผู้เสียชีวิตถูกระบุเอาไว้ใน “บัญชีดำ” จากทางรัฐในฐานะผู้ต้องสงสัยในคดีค้ายาเสพติด รายงานระบุว่าผู้ “[ผู้เสียชีวิต]หลายรายถูกฆ่าตรงด่านตรวจ หรือไม่ก็หลังจากถูกเรียกไปรายงานตัวที่สถานีตำรวจหรือค่ายทหารในท้องที่ไม่นาน”

 

ชาวบ้านกับ จนท. ทะเลาะกันบ่อยจนไม่ไว้วางใจ ตั้งแต่เรื่องที่ทำกินยันโพสต์คลิปในเฟซบุ๊ก

ในชุมชนบ้านกองผักปิ้งของ ชัยภูมิ ป่าแส ก็มีความบาดหมางกับทางเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจเรื่อยมา ไม่ว่าจะเป็นกรณีทหารบุกรุกพื้นที่ทำกินของชาวบ้านเพื่อปลูกป่า ทั้งยังใช้กำลังเข้าทำร้ายชาวบ้านที่จะใช้พื้นที่ดังกล่าวทำการเกษตรเมื่อ พ.ศ. 2548 (อ่านที่นี่) รวมไปถึงเหตุการณ์ทหารตบตีทำร้ายชาวบ้านกองผักปิ้ง และแจ้งความไมตรี จำเริญสุขสกุล พี่ชายบุญธรรมของชัยภูมิ เนื่องจากเจ้าตัวโพสท์เฟซบุ๊กเล่าเรื่องราวดังกล่าว

ความทรงจำของชุมชนที่ผูกติดอยู่กับการถูกใช้ความรุนแรงจากภาครัฐดังกล่าวนำไปสู่รูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างทหารและชนพื้นเมืองในลักษณะที่ไม่ไว้วางใจกัน ชาวบ้านยังรู้สึกว่า เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจมักมีท่าทีก้าวร้าวเมื่อพวกตนใส่ชุดพื้นเมืองหรือแสดงอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ออกมา

สีละ ยังได้ให้ข้อมูลว่า มีเหตุขัดแย้งระหว่างชาวลาหู่กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารเป็นระยะ ประธานสมาคมชาวลาหู่ได้ให้ข้อมูลว่า ในหน้าเพาะปลูกจะมีชาวลาหู่ถูกดำเนินคดีเป็นจำนวนมากเนื่องจากไปทำการเกษตรในพื้นที่ปัจจุบันกลายเป็นป่าสงวนหรืออุทยาน บางทีทหารก็ทำร้ายชาวบ้าน โดยระบุว่า เมื่อไม่นานมานี้ มีเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ใช้กำลังทำร้ายชาวบ้านจนต้องเข้าโรงพยาบาล

ประธานสมาคมชาวลาหู่ให้ความเห็นว่า ไม่ไว้ใจทหาร ตำรวจ บางทีเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ทหารและตำรวจก็เข้ามาสร้างปัญหามากกว่าแก้ปัญหา รู้สึกว่าทหารตำรวจไม่สามารถพึ่งพาได้ ในขณะที่ชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์รู้สึกว่าได้พึ่งพระเมตตาของในหลวงพระองค์ก่อน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net