ปรัชญาไม่ทำปรัชญา

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

เดือนธันวาคมที่ผ่านมา ผมเสนอในงานประชุมวิชาการความยุติธรรม: มองไทย มองโลก ที่มหาวิทยาลัยบูรพาว่า พบเอกสารทางวิชาการสาขาปรัชญา/ปรัชญาและศาสนาที่น่าจะเข้าข่ายการลักลอกผลงานทางวิชาการ (plagiarism) ซึ่งประกอบด้วย เอกสารประกอบการสอน 3 ชิ้น หนังสือ(ได้รับรางวัล) 1 ชิ้น บทความในวารสาร (ฐาน TCI) 1 ชิ้น และงานวิจัย (ที่ได้รับทุนสนับสนุน) 1 ชิ้น โดยลักษณะการลักลอกเป็นแบบการตัดแปะข้อความมาต่อๆ กัน เป็นการแปลจากภาษาอังกฤษเป็นหน้าๆ โดยไม่อ้างอิง และการนำงานของตัวเองมาตัดแปะใหม่เพื่อให้เป็นงานอีกชิ้นหนึ่ง

ความตลกร้ายของเรื่องนี้อยู่ที่ว่า คนเขียนเอกสารเหล่านั้นต่างเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ดำรงตำแหน่ง รศ. ผศ. จบการศึกษาระดับปริญญาเอกจากอเมริกาและอินเดีย จึงไม่น่าเป็นไปได้ที่คนเขียนเหล่านั้นจะไม่ทราบวิธีการทำงานที่ถูกต้องหรือไม่ทราบว่าการลักลอกผลงานทางวิชาการผิดจริยธรรม

นอกจากนั้น เมื่อมีการร้องเรียนเกิดขึ้น ผู้มีอำนาจกลับมาคุยกับคนร้องเรียนว่าให้หยุดการพูดถึงเรื่องนี้ และให้เหตุผลสนับสนุนว่า การลักลอกผลงานเป็นสิ่งที่ยอมรับได้เพราะ คนเขียนเกษียณอายุไปแล้ว ผู้เขียนไม่ทราบวิธีการทำงานที่ถูกต้อง (หรือเขียนอีกแบบ อาจารย์ไม่ทราบว่าการลักลอกผิด) และการไม่เอาเรื่องเป็นวิธีการแก้ปัญหาแบบศาสนา เนื่องจากเป็นสาขาปรัชญาและศาสนา จึงต้องแก้ปัญหาแบบนี้

เหตุผลของผู้มีอำนาจน่าสนใจเพราะการลักลอกผลงานวิชาการไม่ต่างจากการขโมยงานคนอื่นมาเป็นของตัวเอง คำสอนของศาสนาต่างๆ จะสนับสนุนให้มีการขโมยงานคนอื่นมาเป็นงานของตนเองได้อย่างไร

ผมอภิปรายในงานประชุมว่า งานที่ลักลอกผลงานทางวิชาการเหล่านี้สะท้อนว่าผู้เขียนไม่ได้ทำปรัชญา (do philosophy) ไม่ได้ขบคิดไตร่ตรองปัญหาพื้นฐาน ไม่ได้พิจารณาว่าเอกสารที่ใช้ถูก/ผิด น่าเชื่อถือ/ไม่น่าเชื่อถืออย่างไร ทำแต่เพียงตัดแปะเอกสารให้ดูเหมือนกับว่าเป็นงานที่น่าเชื่อถือชิ้นใหม่เท่านั้น

นอกจากนั้น การทำงานแบบนี้ขัดแย้งกับลักษณะของวิชาปรัชญาที่ต้องอาศัยความคิดเชิงวิพากษ์ ในการขบคิด ตั้งคำถาม ประเมิน วิพากษ์งานทางปรัชญา และขัดแย้งกับคุณลักษณะนิสัยของนักปรัชญาที่เป็นผู้ชอบตั้งคำถาม และเป็นอุปสรรคต่อการทำงานทางปรัชญาอีกด้วย

นอกจากนั้น สาเหตุที่ทำให้งานที่ลักลอกผลงานทางวิชาการมีจำนวนมาก และยังดำรงอยู่ได้ในวงการปรัชญาน่าจะมาจาก ประการแรก นักปรัชญาไทยเหล่านั้นมีคำตอบที่แน่นอนอยู่แล้ว คำตอบนั้นคือพุทธศาสนา จึงไม่ต้องแสวงหาคำตอบของคำถามทางปรัชญาอีกต่อไป ดังนั้นการทำปรัชญาจึงไม่มีความจำเป็น (ดูเพิ่มที่หนังสือขอบฟ้าปรัชญาของอ.โสรัจจ์)

ประการที่สอง นักปรัชญาไทยเหล่านั้นขลาดเขลาที่จะยืนยันต่อความจริง เป็นไปได้ยากมากที่คนตรวจงานจะไม่ทราบว่าเอกสารทางวิชาการลักลอกผลงานของผู้อื่น แต่ผู้ตรวงงานก็กลับให้รางวัลกับงาน กลับยอมรับให้มีการตีพิมพ์ นิสิตนักศึกษาที่อ่านเอกสารประกอบการสอนก็ช่วยกันเงียบเพื่อให้ตนเองอยู่รอดต่อไป

ประการสุดท้าย สังคมปรัชญาไทยไม่ได้ยอมรับ นับถือกันที่ผลงานจริงๆ แต่สนใจความเป็นพวกพ้อง ระบบอุปถัมภ์มากกว่าความสามารถที่แท้จริงๆ ของคนๆ หนึ่ง

ส่วนทางแก้ไขอาจทำได้ 2 ประการ ประการแรกส่งเสริมให้มีการฝึกทำปรัชญา เพราะการทำปรัชญาเป็นสิ่งที่ไม่เปิดช่องให้มีการลักลอกผลงานวิชาการได้เลย ในทางตรงข้ามกับส่งเสริมให้ทำงานอย่างวิพากษ์มากขึ้นด้วย ประการที่สอง สังคมปรัชญาจะต้องหยุดให้การสนับสนุนงานของเพื่อนร่วมงานที่ลักลอกผลงาน

สุดท้าย ทางแก้ไขนี้เหมือนจะหมดหวัง เพราะเสนอให้อาจารย์ปรัชญาฝึกทำปรัชญา ซึ่งจะให้ใครมาช่วยฝึกอาจารย์ปรัชญาทำปรัชญา และเป็นสิ่งที่น่าตั้งคำถามต่อไปอีกว่านิสิตนักศึกษาที่เรียนกับอาจารย์เหล่านี้จะเป็นอย่างไร

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท