Skip to main content
sharethis

นักวิชาการครุศาสตร์ จุฬาฯ เห็นพ้อง ปัญหาระบบการศึกษาไทยมีมากอยู่แล้ว ให้คนไม่มีใบประกอบวิชาชีพมาสอบครูรังแต่จะสร้างปัญหาเพิ่ม ยกต่างประเทศทำแล้วดีมีคุณภาพ แนะไทยไม่ควรสอนไปฝึกไป แต่ต้องได้ใบประกอบวิชาชีพครูก่อนแล้วจึงบรรจุเหมือนต่างประเทศ

จากซ้าย อรรถพล อนันตวรสกุล ภาวิณี โสธายะเพ็ชร ศิริเดช สุชีวะ อมรวิชช์ นาครทรรพ และสมพงษ์ จิตระดับ

เมื่อวันที่ 23 มี.ค. ที่ผ่านมา ที่คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดให้เสวนาวิชาการในหัวข้อ “มุมมองเชิงวิชาการต่อการเปิดโอกาสให้ผู้ไม่มีใบประกอบวิชาชีพสอบบรรจุครู”  โดยมี สมพงษ์ จิตระดับ ศาสตราจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ  อมรวิชช์ นาครทรรพ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ  และ โฆษกกรรมาธิการปฏิรูปการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) อรรถพล อนันตวรสกุล และ ภาวิณี โสธายะเพ็ชร เป็นวิทยากร อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ดำเนินการเสวนา โดย คณบดีคณะครุศาสตร์ รศ. ศิริเดช สุชีวะ

ศ.ครุ จุฬาฯ เรียนพิเศษหลังเลิกเรียนไม่แก้ปัญหา แนะสร้างกระบวนการเรียนรู้

สมพงษ์ กล่าวว่า ไทยกำลังตกอยู่ภายใต้วิกฤติในเชิงคุณภาพการศึกษา ผู้ออกนโยบายจึงต้องพยายามทำทุกอย่างให้คุณภาพการศึกษามันดีขึ้น ผลสอบ PISA ไทยอยู่ลำดับที่ 57 จาก 70 เรื่องการอ่าน ส่วนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์อยู่ลำดับที่ 54 ในขณะที่การสอบวัดความรู้พื้นฐานทั่วประเทศ O - NET นั้น ค่าเฉลี่ยสำหรับวิชาภาษาอังกฤษอยู่ที่ 27 คะแนน

ศาสตราจารย์จากคณะครุศาสตร์กล่าวว่า การแก้ปัญหาที่ดีไม่ได้มาจากการไปเรียนพิเศษหลังเลิกเรียน แต่ต้องมาจากการสร้างกระบวนการของการเรียนรู้ ให้เด็กสร้างโจทย์ สร้างการค้นหา การนำคนที่รู้เนื้อหาดีๆ มาสอนอย่างที่กำลังจะเกิดนั้น ในสายตาของแวดวงครุศาสตร์ศึกษา มองว่ากำลังทำผิด เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

“เรากำลังก้าวย่างไปสู่ความผิดพลาดครั้งใหญ่ของประเทศ โดยการเอาคนที่รู้เนื้อหาเยอะๆ มาสอน แต่ผมจะบอกว่ามันสอนไม่มีเสน่ห์ มันเป็นสากกะเบือ ไม่มีชีวิตชีวา ไม่รู้ว่าจะนำบทเรียนยังไง สอนยังไงให้มีลีลา เด็กหลังห้องจะจัดการยังไง จะวัดผลยังไง” สมพงษ์ กล่าว

สมพงษ์ ทิ้งท้ายว่า ครูเองก็ต้องพิจารณาตัวเองด้วย ถ้าหากยังทยอยส่งครูที่ด้อยคุณภาพ  ผู้บริหารโรงเรียนมีผลในการจะผลักดันการปฏิรูปการศึกษาจากระดับโรงเรียน โดยต้องดึงทรัพยากรครูที่เป็นเสือนอนกิน ทำงานกินเงินเดือน กินตำแหน่งไปวันๆ ให้ลุกขึ้นมาเริ่มต้นปรับปรุงระบบการศึกษาไทย  ต้องเปลี่ยนกรอบความคิดของครูทั้งประเทศ แล้วจะเห็นการปฏิวัติทางการศึกษาครั้งใหญ่ เพิ่มจำนวนครูเข้าไปอย่างเดียวไม่ได้แก้ไขอะไร และการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปใช้เวลานาน ต้องค่อยเป็นค่อยไป

อดีต สปช. ระบุสิ่งที่ รบ.ทำเคยทำมาก่อนสมัย รบ.ทักษิณ แต่บริบทต่างกัน

อมรวิชช์ กล่าวว่า ตนคิดว่ามีเรื่องที่อาจจะใหญ่กว่าครูผู้ช่วย ได้แก่ปัญหาเชิงโครงสร้างในระบบการศึกษาไทย ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาในอนาคต การคัดเลือกครูผู้ช่วยแบบใหม่นั้นเป็นแค่ส่วนหนึ่ง จากผลสำรวจในปี 2557 ครูเสียเวลาไป 42 เปอร์เซนต์จากการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่เกี่ยวกับการสอน ทั้งที่ในระดับสากลยอมรับแค่ 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

อดีต โฆษก กมธ.ปฏิรูปการศึกษาฯ สปช. กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลทำตอนนี้เคยทำมาก่อนในสมัยรัฐบาลทักษิณ แต่ในตอนนี้อยู่ในบริบทที่ต่างกัน สมัยก่อนคนไม่อยากเรียนครู แถมในสมัยนั้นยังส่งผลลัพธ์ในด้านลบต่อผลิตผลทางการศึกษา อมรวิชช์ ให้ความเห็นว่า ถ้าตอนนี้มีระบบเลือกแบบนี้ จะมีผลต่อการเลือกคณะของเด็กตอนเลือกเข้ามหาวิทยาลัยด้วย เพราะเด็กจะคิดว่าเรียนที่อื่นใช้เวลาน้อยกว่าเรียนครุศาสตร์แต่ก็สามารถสอบเป็นครูได้เหมือนกัน อาจสร้างปัญหาที่ใหญ่กว่าก็คือคนเก่งไม่มาเรียนครูโดยตรง

3 เหตุผลค้านผู้ไม่มีใบประกอบวิชาชีพครูมาสอบบรรจุ

อมรวิชช์ ไม่เห็นด้วยกับการให้คนที่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพครูมาสอบบรรจุด้วยเหตุผลว่า หนึ่ง ปัจจุบันการสอนเด็กรุ่นใหม่ยากขึ้น หลักสูตรครุศาสตร์ในต่างประเทศได้เพิ่มเนื้อหาใหม่มากมาย เช่น การทำงานของสมองเด็กในวัยต่างๆ และจะปรับการเรียนการสอนให้เหมาะอย่างไร สอง เรื่องของการดูแลเด็กที่มีความต้องการพิเศษ เป็นเงื่อนไขที่ต้องสร้างขีดความสามารถให้ครูสามารถดูแลเด็กได้  สาม การทำให้ผู้เรียนผูกพันกับการเรียน ในยุคดิจิทัลที่เด็กจะพร้อมใจสมาธิสั้นกับการมีเทคโนโลยีสมาร์ทโฟน เป็นเงื่อนไขที่คนเป็นครูจะต้องเข้าใจและแก้ปัญหาที่เกิดจากปัจจัยดังกล่าวให้ได้ การเรียนและอบรมแค่ไม่กี่วันไม่ได้ทำให้ครูมีคุณภาพเพียงพอ ตนสังเกตว่า รัฐบาลนี้เปลี่ยน รมว. กระทรวงศึกษาฯ มา 3 คนแล้ว และทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนรัฐมนตรีฯ ก็ยิ่งส่งผลต่อความต่อเนื่องของนโยบาย  กลายเป็นว่านโยบายเปลี่ยนไปตามหัวหน้า ซึ่งประเทศที่จะก้าวหน้าด้านการศึกษาไม่ควรมีนโยบายการศึกษาที่เปลี่ยนตามตัวคน ควรจะมีหมุดหมายการพัฒนา และหมุดหมายนโยบายที่จะต้องทำอย่างต่อเนื่อง การตัดสินใจออกนโยบายที่ขาดความรู้ หรือรู้ไม่ครบ ทำให้เกิดปรากฎการณ์การตัดสินใจเชิงนโยบายอย่างใจร้อน แทนที่จะกลายเป็นวิธีแก้ปัญหากลับสร้างปัญหาที่ใหญ่กว่า

ทั้งนี้ อมรวิชช์ ทิ้งท้ายว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นโอกาสให้แวดวงครุศาสตร์กลับมาถามตัวเองว่า จะต้องตอบสนองความคาดหวังของสังคมอย่างไรในเวลาที่มีความคาดหวังเชิงคุณภาพไว้สูง เป็นสิ่งที่กระตุ้นให้ครูต้องพัฒนาคุณภาพของตนเอง

ชี้กระบวนการที่จะได้ครูจะต้องไม่รวดเร็ว ฉาบฉวย

ภาวิณี กล่าวว่า ประเด็นที่ถกเถียงเกิดจากคนที่จบครูและไม่จบครู ที่ต้องการเข้าระบบสอบเป็นครูเหมือนกัน ส่วนตัวดีใจที่คนอยากเป็นครู แต่กระบวนการที่จะได้มาซึ่งครูจะต้องไม่รวดเร็ว ฉาบฉวยแบบนี้ ควรจะหาวิธีที่จะทำให้คนที่จบครูมารู้สึกว่าได้รับความยุติธรรม อาจจะต้องฝากถึงระดับผู้คิดนโยบายเรื่องกระบวนการที่ทำให้กลุ่มครูยอมรับว่าคนที่ไม่ได้เรียนครูอ

อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงปัญหาในระบบการศึกษาที่ทำให้ครูไม่ได้สอนว่าเป็นอุปสรรคที่ทำให้ครูไม่ได้สอน และนักเรียนก็ไม่ได้เรียน ทั้งยังเปรียบเทียบไทยกับฟินแลนด์ในเรื่องความต่อเนื่องของนโยบายการศึกษาว่าต้องมีความต่อเนื่องแม้จะเปลี่ยนตัวคน

นโยบายนี้เป็นเพียงยอดภูเขาน้ำแข็งของปัญหา 

“ถ้าได้คนเก่งมาเป็นครู แต่ระบบการทำงานไม่เอื้อ ต่อให้ไม่เก่งแค่ไหน แต่ไม่ได้สอนนักเรียน ไม่มีความหมาย ถูกจับไปอบรม ทำโน่นทำนี่ มันก็ไม่มีประโยชน์ บางคนเข้าสู่ระบบโรงเรียน บางทีก็มีบ่น ไม่ได้สอน ไปอบรมอย่างเดียว ทำทุกอย่างยกเว้นงานสอน” อรรถพล กล่าว

อรรถพล ให้ความเห็นว่า ถ้าจะโต้แย้งกันต้องอยู่บนหลักการความรู้ ไม่ใช่อารมณ์ นโยบายนี้เป็นเพียงภูเขาน้ำแข็งของปัญหา มีปัญหาอีกมากที่ต้องแก้ไข โจทย์สำคัญของผู้ตัดสินใจในกระทรวงคือการส่งเสริมให้งานหลักของครูคือการอยู่กับเด็ก ทุกชั่วโมงที่อยู่กับเด็กต้องเป็นชั่วโมงที่คุณภาพ ผ่านการออกแบบมาดีแล้ว งานทุกชิ้นที่ออกมาต้องมีความหมายกับเด็ก ครูเองจะทำงานหามรุ่งหามค่ำไม่ได้ ต้องพักผ่อนด้วย

อรรถพล ตั้งคำถามต่อว่า จะให้โรงเรียนลงทุน ลงเวลาเพื่อใช้เวลาดูแลครูที่ไม่มีประสบการณ์การสอนจริงเหรอ รัฐบาลกำลังเพิ่มโจทย์ให้กับตัวเองโดยไม่จำเป็น นโยบายนี้มีเจตจำนงที่น่าสนใจ แต่จะยอมรับได้คือต้องผ่านการอบรมก่อนแล้วค่อยเข้าโรงเรียน หรือประกาศปีนี้แล้วใช้ปีหน้าเพื่อให้มีเวลาปรับตัว ต้องมีเวลาให้ครูผู้ช่วยพัฒนาตัวเองกับการสอน แต่อย่าสื่อสารห้วนๆแล้วทำให้คนมีความหวังแล้วจากนั้นก็ผิดหวังกับการศึกษาไทยเลย เนื่องจากในระบบการศึกษาไทยมีสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาจนขนาดเด็กที่จบครุศาสตร์ยังพากันลาออกจากโรงเรียนเพราะรับไม่ได้ นโยบายที่ออกมากระทบครูทั้งประเทศจำนวนกว่า 6 แสนคนควรจะต้องถามไถ่กลุ่มวิชาชีพกันบ้าง

อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า แวดวงครูจะต้องมีการทำงานเชิงรุกมากขึ้น เพื่อมีพื้นที่สื่อสารกับสังคมให้เข้าใจว่าการศึกษาคืออะไรกันแน่ ตนเป็นห่วงสภาวะการผลิตบัณฑิตคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ออกมาจนล้นตลาด แล้วยังเป็นห่วงอนาคตของนักเรียนที่จะต้องเรียนหนังสือกับครูที่ไม่มีหลักการจัดการการศึกษา ที่ต้องสอนไปด้วยอบรมไปด้วย ทั้งนี้ ในมุมกลับกัน แวดวงครุศาสตร์ก็ต้องรับผิดชอบคุณภาพการบริหารจัดการการศึกษาให้ดีด้วย

ยกสิงคโปร์ - ฟินแลนด์ ครูมีสิทธิ์เสียงในนโยบายการศึกษา กว่าจะได้เป็นต้องคัดแล้วคัดอีก

อรรถพล กล่าวว่า ทุกวันนี้สังคมเข้าใจคำว่าครูในบทบาทที่หลากหลายจากการผุดขึ้นมาของรูปแบบการเรียนการสอนนอกหลักสูตรการศึกษาและนอกห้องเรียน ซึ่งต่อให้ผู้สอนไม่ได้จบจากสายวิชาชีพครู เขาก็คือครู ความเป็นครูก็เติบโตขึ้นจากการที่ได้สอนเด็กเช่นกัน อาจารย์ที่เป็นแรงบันดาลใจของตนก็ไม่ได้จบจากคณะครุศาสตร์ เพราะความเป็นครูเป็นคุณลักษณะ ความคาดหวังดังกล่าวจึงทำให้เกิดศาสตร์ที่จะสร้างคุณลักษณะดังกล่าว สิ่งนี้จึงเป็นจุดต่างของหลักสูตรครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ การมีเป้าหมายหลักสูตรต่างกัน จึงส่งผลให้มีอัตลักษณ์ของผลผลิตต่างกัน

อาจารย์จากคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ยกตัวอย่างสถาบันผลิตครู NIE (National Institute of Education) ครูถูกพัฒนาให้เป็นครูที่เก่งที่สุดเพื่อไปสร้างพลเมืองที่ดีที่สุด ต้องได้คนเก่งมาเป็นครู มีการสร้างค่านิยมร่วมกัน เวล มีโรดโชว์ไปตาม รร. ยกค่านิยม ‘การเป็นผู้สร้างสังคม’ ในการหาผู้สมัครเรียน เพราะสิงคโปร์มีประชากรน้อย  เขาจึงจะให้ประชากรด้อยคุณภาพไม่ได้แม้แต่คนเดียว ในขณะเดียวกัน สิงคโปร์เน้นคุณลักษณะครูที่จะสอนให้เด็กมีคุณภาพ ความแม่นในเนื้อหาเป็นคุณสมบัติรองลงมา

ต่อประเด็นการรับบุคคลที่จบจากสาขาวิชาอื่นมาเป็นครูนั้น อรรถพลกล่าวว่า สิงคโปร์ก็รับครูจากวิชาอื่นด้วย แต่ต้องผ่านการอบรมก่อนอย่างน้อย 16 เดือน ผ่านประสบการณ์ชั้นเรียน มีหลักสูตรปริญญา ต้องมีคุณลักษณะที่เหมือนกันกับคนที่เรียนครูมา

กลับมาที่สังคมไทยซึ่งเน้นการแข่งขัน แต่อรรถพลย้ำว่า ต้องอย่าลืมสร้างคนที่เป็นอนาคตของสังคมด้วยไม่ใช่แค่จะสร้างคนเก่งอย่างเดียว การรับทรัพยากรบุคคลจะต้อไม่มีการปล่อยให้คนที่ไม่ถูกฝึกฝนไปสอนในโรงเรียน ตนเชื่อว่าทุกคนสามารถฝึกฝนคุณลักษณะการเป็นครูได้ แต่ว่านโยบายการรับสมัครครูผู้ช่วยดังกล่าว ไม่บ่งชี้แน่ชัดว่ากระบวนการฝึกหัดเป็นอย่างไร การสวนนักเรียนไปด้วย และอบรมไปด้วยนั้นจะยิ่งเป็นการสร้างความไม่เชื่อใจในระบบการศึกษาของผู้ปกครอง

ภาวิณี อธิบายตัวแบบการศึกษาในฟินแลนด์ว่า ระดับการยกย่องอาชีพครูในฟินแลนด์นั้นสูงกว่าไทยมาก สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะชาวฟินแลนด์มีความเชื่อใจในระบบการศึกษามาก ความเชื่อใจจึงเป็นเหตุให้ระบบการผลิตครูต้องผลิตครูให้ตอบสนองความคาดหวังดังกล่าว ครูเองก็ถูกหล่อหลอมให้มีจิตวิญญาณ และทักษะในการสอนนักเรียนตั้งแต่เริ่มศึกษาในวิชาชีพครู ส่งผลให้ฟินแลนด์มีคุณภาพการศึกษาที่ดี ที่เกิดขึ้นบนฐานของความไว้วางใจระหว่างครูและผู้ปกครอง ทั้งที่อาชีพครูในฟินแลนด์ไม่ได้มีอัตราเงินเดือนที่สูงมากเกินไปเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ

อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า อัตราการรับสมัครผู้ประสงค์จะเรียนครูในฟินแลนด์นั้นน้อยมากถึง 1 ต่อ 10 โดยกระบวนการคัดเลือกนั้นต้องผ่านการสอบข้อเขียนและการสัมภาษณ์ที่ผู้สมัครต้องแสดงวิสัยทัศน์และคุณสมบัติที่เหมาะสมในการเป็นครูออกมาให้มากที่สุด

ทั้งนี้ ที่ฟินแลนด์ก็มีช่องทางให้ผู้ที่ไม่ได้เรียนครูสมัครบรรจุเป็นครู แต่ต้องใช้ 1 ปี – 1 ปีครึ่ง ในการสอบเพื่อให้ได้มาซึ่งประกาศนียบัตร ในขณะที่บ้านเราสอบไปก่อน ได้แล้วค่อยว่ากัน เดี๋ยวค่อยมาอบรม ซึ่งตรงนี้อาจจะให้ผลที่ไม่เหมือนกัน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net