คุยก่อนปรองดอง#5(จบ): ‘พวงทอง ภวัครพันธุ์ ’:คนไทยอย่าเพิ่งหวังโลกช่วยล้อม คสช.

พวงทอง ตีนัยคำถามปรองดองด้านการต่างประเทศ เชื่อ คสช. อยากรักษาหน้าแต่ก็ไม่อยากเปลี่ยนนโยบาย เตือนคนไทยอย่าคาดหวังต่างชาติมาก เพราะการเมืองต่างประเทศเป็นเรื่องของผลประโยชน์ คนไทยต้องทำเอง จี้ตั้งคำถามต้องถามหาสาเหตุ จะปรองดองได้ประชาธิปไตยต้องมาก่อน

เมื่อต้นปี 2560 มีคำสั่งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2560 ให้จัดตั้ง คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) นำทีมโดยข้าราชการ ทหาร-ตำรวจ และได้มีการเชิญตัวแทนพรรคการเมืองเข้ามาพูดคุยเพื่อหารือแนวทางและกรอบการทำงาน ณ กระทรวงกลาโหมตั้งแต่เดือน ก.พ.

ป.ย.ป. ได้ตั้งคำถามให้นักการเมืองแสดงวิสัยทัศน์เป็นจำนวน 10+1 ประเด็น ที่มีประเด็นครอบคลุมกว้างขวาง มีโจทย์ปัญหาในส่วนที่เกี่ยวกับการต่างประเทศที่มีใจความว่า

“ด้านการต่างประเทศ ท่านมีแนวคิดที่จะดำเนินการต่อประเด็นการนำปัญหากิจการภายในประเทศมายกระดับให้เป็นปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ รวมทั้งผลกระทบจากการดำเนินการของต่างประเทศ เช่น ปัญหาเขตแดน ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน. ปัญหาเสรีภาพและประชาธิปไตยปัญหาแรงงานและการค้ามนุษย์ฯลฯ ที่ส่งผลทำให้เกิดความแตกแยกในสังคมไทยอย่างไร”

ประชาไท ได้สอบถามความคิดเห็นจาก รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้ช่วยตีความคำถาม และให้ความเห็นต่อกระบวนการปรองดองภายใต้รัฐบาลทหาร ท่ามกลางการละเมิดสิทธิมนุษยนชน ซึ่ง สะท้อนจากการเป็นที่โจษขานในเวทีระหว่างประเทศหลายครั้งตั้งแต่รัฐบาล คสช. ยึดอำนาจ

ปรับภาพลักษณ์คือนัยของคำถาม จะปรองดองต้องใช้ปากประชาชนไม่ใช่ปากกระบอกปืน

พวงทอง กล่าวว่า นัยของคำถามแสดงถึงความกังวลต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาล คสช. และประเทศไทยในเวทีโลกต่อประเด็นการลิดรอนสิทธิมนุษยชน ซึ่ง คสช. มีแนวโน้มในการแก้ปัญหาด้วยการแก้ไขภาพลักษณ์มากกว่าการแก้ไขปัญหาจากต้นตอ

“คือไม่มีทางที่ทหารจะเปลี่ยนนโยบายตนเองในด้านสิทธิมนุษยชนแน่นอน แต่จะเลือกทำให้ดูดีขึ้นได้ เป็นผักชีโรยหน้ามากขึ้น คสช. อยากได้ยินการนำเสนออย่างมีเหตุมีผลที่ทำให้ภาพพจน์ของรัฐบาลทหารดีขึ้นในสายตาประชาคมโลกโดยที่เขาไม่ต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง”

อาจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาฯ ให้ความเห็นเกี่ยวกับสิ่งที่ควรพิจารณาเมื่อพูดถึงการปรองดอง ว่าพื้นฐานต้องมาจากการที่ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นได้อย่างเสรี เพื่อถกเถียงกันถึงปัญหาของประเทศและวิธีการที่จะเดินหน้ากันต่อไป แต่ในช่วงกว่าสามปีของรัฐบาล คสช. ได้แสดงให้เห็นถึงความไม่เอาใจใส่ในประเด็นดังกล่าว การปรองดองของรัฐบาลทหารตั้งอยู่บนฐานของการปิดปากคนที่คิดต่าง

คำถามปรองดองในหัวข้อการต่างประเทศควรจึงควรที่จะเปลี่ยนหัวข้อจากการแก้ไขภาพลักษณ์ไปเป็นการแก้ไขที่ตัวปัญหาภายใต้ระบอบการปกครองที่เป็นประชาธิปไตย

“รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตย ที่ชาญฉลาดพอควรจะตั้งคำถามใหม่ว่า เราจะแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยของไทยอย่างไร เพื่อไม่ให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ถูกนานาชาติวิพากษ์วิจารณ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า คำถามต้องกลับไปแก้ต้นตอของปัญหา ไม่ใช่คำถามที่จะแก้ไขภาพพจน์ โดยที่ไม่ถามว่าอะไรที่ทำให้ภาพพจน์ของไทยย่ำแย่”

พวงทอง ยังให้ความเห็นต่อนัยทางการเมืองต่อการนำพรรคการเมืองมาร่วมสังฆกรรมปรองดองว่า เป็นการกดดันให้พรรคการเมืองยอมรับกติกาของการปรองดองในแบบฉบับของรัฐบาลทหาร ซ้ำยังอาจมีลักษณะของการต่างตอบแทนเมื่อมีพรรคการเมืองเลือกที่จะตอบคำถามปฏิรูป การเดินหน้ากระบวนการปรองดองภายใต้บรรยากาศที่ไม่เป็นประชาธิปไตยที่ยังปิดกั้นสิทธิและเสรีภาพของประชาชนนั้น จะไม่ก่อให้เกิดการพัฒนาในสังคมแต่อย่างใด

“นี่ไม่ใช่การปรองดอง มันเป็นการใช้อำนาจในการที่จะทำให้คนอื่นๆยอมทำตามตนเอง กลุ่มที่เข้าไปร่วมปรองดองก็อาจจะได้รับรางวัล เช่น ได้กลับเข้าไปเป็นรัฐบาลอีกครั้ง เราก็ดีเอาคำพูดสวยๆ หรูๆ ของฝรั่งมาใช้ แต่เนื้อหานั้นก็เป็นเนื้อหาที่กลุ่มอำนาจของไทยต้องการ เพื่อคงไว้ซึ่งอำนาจ ภายใต้คำพูดที่สวยหรูดูดีเท่านั้นเอง”

 

โลกนี้หมุนได้ด้วยผลประโยชน์ จะแก้ปัญหาในไทยก็ต้องให้ไทยทำ

อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาฯ เตือนสติคนไทยว่า ไม่ควรหวังกับการช่วยเหลือจากประเทศประชาธิปไตย หรือองค์การระหว่างประเทศมากจนเกินไป ควรจะแก้ไขปัญหาจากภายในประเทศ เนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างประเทศตั้งอยู่บนฐานของผลประโยชน์ องค์การระหว่างประเทศนั้นทำได้เพียงสร้างแรงกดดันผ่านการทำให้อับอาย (Shaming) และไม่มีบทลงโทษใดๆ และพฤติกรรมของแต่ละประเทศล้วนผ่านการคำนวณแล้วว่ามีความคุ้มค่าในเชิงผลประโยชน์มากน้อยเพียงใด ในปัจจุบัน มหาอำนาจตะวันตกมีผลประโยชน์ทางการค้าการลงทุนกับไทยสูง เมื่อไทยมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับต่างชาติมาก มาตรการกดดันรัฐบาลทหารในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนจะลดความเข้มข้นลงเพื่อรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ในด้านต่างๆ กล่าวคือ ปัญหาสิทธิมนุษยชนและระบอบการปกครองของไทยยังมีความสำคัญน้อยกว่าผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์และการค้า การลงทุน รัฐบาล คสช. เองก็ยังมีความคิดว่า เมื่อจัดการปัญหาในประเทศเรียบร้อยแล้วต่างชาติก็จะกลับมาญาติดีด้วยเหมือนเดิม

“เอาเข้าจริง การให้ต่างชาติเข้ามายุ่งมากกว่าวิจารณ์มันก็เป็นผลเสียต่อการเมืองไทยในระยะยาว คือเวลาที่เราพูดถึงต่างชาติ(มหาอำนาจ) จะมาช่วยสร้างประชาธิปไตยได้แค่ไหน มันต้องดูผลประโยชน์ ความสำคัญของคุณต่อมหาอำนาจตะวันตก ถ้าคุณไม่มีผลประโยชน์เลย อย่างเช่นพม่าในช่วงทศวรรษ 1980 แทบจะไม่มีความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุนกับประเทศตะวันตก นั่นหมายถึงการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากตะวันตกก็จะไม่กระทบกับผลประโยชน์ของเขามากนัก ความเป็นไปได้ที่จะเกิดการคว่ำบาตรเพื่อกดดันทางเศรษฐกิจจะเป็นไปได้สูง แต่ไทยในยุคนี้ตะวันตกต้องการที่จะเข้ามาทำการค้าการลงทุน มีผลประโยชน์ในไทยสูง โดยเฉพาะเมื่อจีนเป็นมหาอำนาจและมีท่าทีที่แข็งกร้าวยิ่งขึ้นในหลายประเด็นโดยเฉพาะกรณีทะเลจีนใต้ สหรัฐฯ กลับมาให้ความสำคัญกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งไทยสำคัญกับยุทธศาสตร์ทางการทหารของสหรัฐฯอยู่ เพราะตอนนี้สหรัฐฯ ยังไม่สามารถเข้ามาใช้พื้นที่ของประเทศบนภาคพื้นทวีป ซึ่งสหรัฐฯ เองก็หวังว่าความสัมพันธ์กับไทยจะเปิดโอกาสให้สหรัฐฯ เข้ามาใช้พื้นที่ภาคพื้นทวีปได้ เราจึงไม่ควรหวังให้ปัจจัยภายนอกประเทศจะช่วยเหลืออะไร นี่เป็นปัญหาของคนไทยที่ต้องแก้ด้วยปัจจัยภายใน”

 

ต้องแก้ที่โครงสร้างอำนาจสังคม การเมือง พอกันทีกับวาทกรรมคนดี(ของรัฐไทย)

“ต่อให้เป็นรัฐบาลเลือกตั้ง สิทธิมนุษยชนก็ไม่ใช่เรื่องที่เขาให้ความสำคัญ แต่ก็น่าจะเป็นโอกาสให้การผลักดันประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน สามารถเดินหน้าได้ในบรรยากาศที่ปลอดภัยและมีอิสระที่จะดำเนินงานได้มากกว่าภายใต้รัฐบาลทหาร ถ้าหวังจะสู้เรื่องนี้ เราก็ต้องสู้ให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยก่อน”

พวงทองให้ความเห็นว่า ไทยมีรูปแบบโครงสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองและสังคมที่ไม่สอดรับกับหลักการสิทธิมนุษยชน การโฆษณาชวนเชื่อจากรัฐ รวมไปถึงหลักสูตรทางการศึกษาผลิตซ้ำวาทกรรมความเป็นพลเมืองดีในแบบของไทยและไม่ให้ความสำคัญกับหลักสิทธิมนุษยชน และเครื่องมือที่จะใช้ผลักดันประเด็นสิทธิมนุษยชนให้เป็นที่ตระหนักต่อสังคมไทยในวงกว้าง จำเป็นจะต้องมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยก่อน

“เราจะเห็นว่าประเด็นสิทธิมนุษยชนไม่เคยอยู่ในระบบการศึกษาไทย ในระดับมหาวิทยาลัยก็มีไม่กี่คณะ ไม่กี่ภาควิชาที่ีสอนวิชาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน แต่เราสอนในห้องเรียนอย่างเดียวได้ไหม ถ้ามีสอนก็ดี แต่ทำไมสอนไม่ได้ เพราะว่าวัฒนธรรมทางการเมืองและสังคมในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เช่น เจ้านาย - ลูกน้อง ครู - นักเรียน ความสัมพันธ์ในครอบครัว มันเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่แสดงถึงความเท่าเทียมกัน มันยากมากที่จะให้ครูไทยสอนเรื่องสิทธิมนุษยชนแล้วบอกว่า ครูต้องเคารพสิทธิของเด็กนะ คุณจะเฆี่ยนตีเด็กไม่ได้ พูดจาดูถูกเด็กไม่ได้ ทำโทษอะไรต้องมีกฎเกณฑ์ เด็กมีสิทธิ์ที่จะโต้เถียงหรือแสดงความคิดเห็น ดิฉันยังนึกไม่ออกว่าครูไทยจะสอนสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร ดังนั้น มันก็เป็นปัญหาของโครงสร้างอำนาจ ที่ไม่ต้องการให้สิทธิมนุษยชนเข้าไปอยู่ในบทเรียน”

“ไปดูกลไกการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐตั้งแต่สงครามเย็นก็ยังย้ำประเด็นซ้ำๆซากๆ เรื่องความดี คนดี นักการเมืองเลว เรื่องที่เราต้องเคารพผู้มีอำนาจมากกว่า หรือผู้อาวุโสกว่า... ถ้าเราสามารถผลักดันให้คนตระหนักถึงประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนจากกลไกหลายๆด้านได้ การศึกษาก็เป็นอันหนึ่ง แต่มันจะไม่ได้เป็นประเด็นผลักดันร่วมกันของกระทรวงศึกษาหรือแม้กระทั่งของ สกอ. (สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา) แต่ในขณะเดียวกันคุณจะเห็นหลักสูตรเกี่ยวกับพุทธศาสนา การเป็นคนดี พลเมืองดีในแบบของรัฐไทย ในความหมายที่ว่าคุณต้องอยู่ภายใต้กรอบของสังคมไทย แพร่หลายไปในโรงเรียนหรือแม้กระทั่งในมหาวิทยาลัย แต่ไม่ได้สอนว่าทุกๆคนมีสิทธิ์เท่าเทียมกัน ต้องเคารพสิทธิเสรีภาพของคนอื่น สิทธิทางการเมือง สิทธิทางสังคม”

 

โลกเลี้ยวขวา ไทยแหกโค้ง: อนุรักษ์นิยมแบบไทยๆ ไม่ใส่ใจกติกา

ต่อกระแสการ “เลี้ยวขวา” หรือกระแสทิศทางของนโยบาย คุณค่าทางสังคมที่มีความเอนเอียงในไปด้านอนุรักษ์นิยมมากขึ้นในต่างประเทศ ไม่ว่าการออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร การเถลิงอำนาจของโดนัลด์ ทรัมป์ในสหรัฐฯ และความหวาดกลัวอิสลามอย่างแพร่หลาย (Islamophobia) จะเป็นแรงเสริมให้รัฐบาล คสช. ดำเนินนโยบายล้อตามกระแสโลกหรือไม่นั้น พวงทองให้ความเห็นว่าสถานการณ์ในประเทศไทยนั้นเลวร้ายกว่ามานานแล้ว “จริงๆไทยเลี้ยวก่อนเขาอีก กระแสเรียกร้องทหารรัฐประหารเริ่มตั้งแต่ปี 2549 ที่พันธมิตรเรียกร้องให้ทหารรัฐประหาร เราเลี้ยวขวาก่อนยุโรป อเมริกาซะอีก ของเราเลี้ยวแล้วลงเหวด้วย แล้วยังไม่รู้ว่าจะขึ้นมาได้เมื่อไหร่ ยุโรป อเมริกาเลี้ยวขวายังไงก็แล้วแต่ สิ่งหนึ่งที่เป็นเสมือนข้อห้ามคือ ต้องไม่ลบกติกาการเมือง กระแสวัฒนธรรมทางการเมือง นโยบายเศรษฐกิจ สวัสดิการสังคมอาจจะขวาจัด แต่จะไม่ลบกติกาการเมืองในแง่สิทธิของประชาชนในการเลือกตั้ง ไม่ละเมิดรัฐธรรมนูญที่มีอยู่ แต่ของเราเวลาเลี้ยวขวาทีเราเหยียบกติกาทิ้งหมดเลย”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท