นักวิจัยอเมริกันเผย ทำไมคนจนในสหรัฐฯ 'ตายด้วยความสิ้นหวัง' เพิ่มขึ้นทุกปี

งานวิจัยเผย ช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมาอัตราการเสียชีวิตของชนชั้นล่างวัยกลางคนที่เป็นคนขาวในสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้น ปัญหาจากยาเสพติด ฆ่าตัวตาย หรือปัญหาแอลกอฮอล์ทำให้พวกนักวิจัยเรียกว่า 'ตายด้วยความสิ้นหวัง' ซึ่งนอกจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีจะแย่งงานของพวกเขาแล้วความคาดหวังจากสังคมที่เป็นคนขาวยังบีบรัดพวกเขามากกว่าด้วย

28 มี.ค. 2560 นิตยสารดิอิโคโนมิสต์ระบุว่าถึงแม้กลุ่มแรงงานอเมริกันที่ไม่มีปริญญาระดับอุดมศึกษาจะประสบปัญหาทางการเงินมาเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว แต่งานวิจัยเมื่อไม่นานมานี้แสดงให้เห็นว่าสภาพปัจจุบันเลวร้ายลงกว่าเดิม โดยยกตัวอย่างงานวิจัยของแอนน์ เคส และแองกัส ดีตัน ที่ระบุว่าในช่วง 20 ปีจนถึงปี 2541 อัตราการเสียชีวิตของคนขาววัยกลางคนชาวอเมริกันลดลงราวร้อยละ 2 ต่อปี แต่ว่าในช่วงระหว่างปี 2542-2556 อัตราการเสียชีวิตกลับเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่อัตราการเสียชีวิตของวัยกลางคนในยุโรปโดยรวมแล้วยังคงลดลงต่อเนื่องร้อยละ 2 ต่อไป

เคสและดีตันเรียกการเสียชีวิตของกลุ่มวัยกลางคนในสหรัฐฯ ที่มาจากยาเสพติด ฆ่าตัวตาย หรือปัญหาแอลกอฮอล์ว่า "ตายด้วยความสิ้นหวัง" (deaths of despair) สถาบันบรูกกิงส์ก็มีผลการวิจัยออกมาแบบเดียวกันว่าในช่วงปี 2557-2558 คนขาววัยกลางคนในสหรัฐฯ เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะอยู่ในรัฐใด อาศัยอยู่ในชนบทหรือในเมือง โดยที่อัตราการเสียชีวิตดังกล่าววัดจากคนขาวชาวอเมริกันที่อายุ 25 ปีขึ้นไปและไม่มีปริญญาคนเหล่านี้มีอัตราการเสียชีวิตมากกว่าเมื่อเทียบกับคนสีผิวอื่นๆ อย่างเอเชีย, คนดำ, ฮิสแปนิก อายุ 25 ปีขึ้นไปรวมกัน

ถึงแม้ว่าส่วนหนึ่งมันจะสะท้อนปัญหารายได้ตกต่ำลงของคนขาวในอเมริกัน แต่เรื่องนี้ยังสะท้อนการแบ่งแยกผู้คนจากการศึกษาด้วย โดยแม้ว่ากลุ่มผู้มีการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่เป็นคนขาวในสหรัฐฯ จะมีรายได้โดยเฉลี่ยลดลงเช่นกันแต่อัตราการเสียชีวิตของพวกเขาก็ลดลงด้วย อะไรกันที่ทำให้คนขาวที่ไม่มีปริญญาในสหรัฐฯ มีโอกาส "ตายด้วยความสิ้นหวัง" มากกว่าคนที่มีปริญญาหรือแม้กระทั่งคนสีผิวอื่นๆ ทั้งๆ ที่คนสีผิวอื่นๆ ก็มีระดับรายได้เท่ากับคนขาวชนชั้นล่างหรือบ้างก็อาจจะน้อยกว่า

นักวิจัยมองในเรื่องปัจจัยระยะยาวเกี่ยวกับเรื่องภาวะทางเศรษฐกิจอย่างการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทำให้คนงานทักษะน้อยโดยเฉพาะในสายงานภาคการผลิตขาดโอกาสได้งาน ขณะเดียวกันเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสังคมก็น่าจะมีส่วนด้วยเพราะคนขาวที่ใช้ชีวิตแบบมีรายได้น้อยก็จะมีชีวิตที่มั่นคงน้อยลงด้วย ผู้ชายคนขาวมักจะไม่แต่งงานแต่จะใช้ชีวิตแบบอาศัยอยู่ร่วมกันกับคนรักแบบไม่มั่นคงแน่นอน พวกเขาละทิ้งศาสนาระดับชุมชนหันไปหาศาสนาคริสต์ในเชิงสถาบันที่เน้นย้ำเรื่องอัตลักษณ์ส่วนบุคคล และพวกเขาก็มีโอกาสจะหยุดทำงาน หรือหยุดหางานโดยสิ้นเชิงมากกว่าด้วย เรื่องนี้จึงเป็นการล่มสลายของโครงสร้างครอบครัว ชุมชนและชีวิตที่แน่นอนของพวกเขา ขณะที่ทางเลือกทำให้คนหลายกลุ่มได้รับการปลดปล่อยแต่ก็ทำให้คนกลุ่มอื่นๆ ที่ล้มเหลวได้แต่โทษตัวเองแล้วรู้สึกสิ้นหวัง หมดหนทาง

มีอีกคำถามหนึ่งคือในหมู่คนรายได้น้อย ทำไมคนขาวถึงได้รับผลกระทบมากกว่าคนสีผิวอื่นๆ นักวิจัยได้แค่ตั้งสมมติฐานในเรื่องนี้ว่าน่าจะเป็นเพราะคนที่ถูกกดทางเชื้อชาติอย่างคนดำหรือฮิสแปนิกอาจจะไม่ได้เศร้ามากเท่าเพราะไม่ได้เจอความคาดหวังจากสังคมมากเท่าคนขาวอยู่แล้วและพวกเขาก็อาจจะมีความหวัง ความฝัน ว่าจะมีความก้าวหน้าในประเด็นเรื่องการเหยียดเชื้อชาติสีผิว แต่กับคนขาวที่คิดว่าตัวเองควรจะได้รับชีวิตที่ดีแต่ฝันไม่เป็นจริง พวกเขาก็จะถูกผลักเข้าไปสู่อาการซึมเศร้า ยาเสพติด และแอลกอฮอล์

แต่คำอธิบายดังกล่าวก็ยังไม่ชี้ชัดได้ว่าเหตุใดเรื่องนี้ถึงเกิดแต่เฉพาะในสหรัฐฯ เท่านั้น เพราะในรายงานของเคสกับดีตันระบุว่าในประเทศยุโรปจำนวนมากอัตราการเสียชีวิตในหมู่คนมีการศึกษาลดลงและในหมู่คนมีการศึกษาน้อยกว่าก็มีการเสียชีวิตน้อยลงมาก ทำให้สหรัฐฯ ดูน่าเป็นห่วงในเรื่องนี้

ดิอิโคโนมิสต์ระบุว่าสหรัฐฯ เป็นที่แห่งเดียวเท่านั้นที่งานสายการผลิตลดลง ในพื้นที่อื่นๆ อย่างอังกฤษ แคนาดา ไอร์แลนด์ ออสเตรเลีย ก็มีปรากฏการณ์ "ตายด้วยความสิ้นหวัง" เพิ่มขึ้นแต่ไม่มากเท่า นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ชวนให้วิจัยต่อ เช่น การใช้ฝิ่นระงับความเจ็บปวด การเข้าถึงอาวุธปืนได้ง่าย แต่ที่น่าจะส่งผลให้เกิดความสิ้นหวังจริงๆ คือ การที่ชาวอเมริกันต่างก็ไม่มีตาข่ายความปลอดภัยทางสังคมรองรับ โดยเฉพาะในเรื่องสวัสดิการสุขภาพ

ก่อนหน้าที่รัฐบาลโอบามาจะขยายการคุ้มครองของเมดิเคด (Medicaid) หรือ โครงการสวัสดิการสุขภาพคนจนมีไม่กี่รัฐในสหรัฐฯ ที่คุ้มครองประชากรผู้ใหญ่ที่ไม่มีลูก หรือแม้แต่ในปัจจุบันการขายการคุ้มครองของเมดิเคดก็ไปไม่ถึง 19 รัฐ รวมถึงการต้องร่วมจ่ายก็ทำให้เกิดข้อกำจัดในการเข้าถึงสวัสดิการ ขณะที่หลายประเทศผู้คนไม่ต้องกังวลเรื่องรายจ่ายให้กับสวัสดิการรัฐ

ทั้งนี้ยังมีเรื่องที่สหรัฐฯ มีสวัสดิการสังคมอื่นๆ น้อยกว่าประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ โดยที่พวกเขาใช้งบประมาณเพียงแค่ 1 ต่อ 5 เพื่อการฝึกฝีมือแรงงานเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในกลุ่มสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ทำให้คนที่ตกงานในสหรัฐฯ จะเจ็บหนักกว่า ในแง่มุมมองทางสังคมเอง สหรัฐฯ ก็โหดร้ายกว่าที่อื่น จากที่มีวัฒนธรรมเหมารวมว่าเหตุที่คนๆ หนึ่งทำอะไรพลาดเป็นเพราะคนๆ นั้นอย่างเดียว ก็เป็นพิษต่อสภาพจิตใจมนุษย์

ดิอิโคโนมิสต์จึงเสนอให้สหรัฐฯ ควรเน้นสวัสดิการรองรับประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มประชากรทักษะน้อยมากยิ่งขึ้นและทำให้สหรัฐฯ เป็นที่ๆ มีความหวังมากขึ้น ไม่ใช่ที่แห่งความสิ้นหวัง

 

เรียบเรียงจาก

Economic shocks are more likely to be lethal in America, The Economist, 25-03-2017
http://www.economist.com/news/finance-and-economics/21719428-new-research-shows-mortality-middle-aged-whites-continues-rise-economic

Deaths Of Despair: The White American Working Class Is Dying Young, Buzzfeed, 21-073-2017
https://www.buzzfeed.com/matthewzeitlin/deaths-of-despair-white-working-class-americans-are-dying

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท