Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 

ผมเชื่อว่าไม่มีใครแปลกใจกับผลการทดสอบทางด้านการศึกษาไทยที่ตกต่ำอย่างมาก เพราะในช่วงหลังๆมานี้ผลการทดสอบความสามารถในการเรียรรู้หรือการจัดอันดับการศึกษาสังคมไทยก็มักจะหลุดไปอยู่ท้ายๆเสมอมา จากนั้นก็จะมีนักวิชาการผู้ใส่ใจในการศึกษาออกมาวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนักหน่วง แต่ก็ไม่ได้เกิดอะไรขึ้น ปีต่อๆไปผลของการทดสอบก็จะออกมาในลักษณะต่ำเหมือนเดิม

คนไทยส่วนใหญ่รับรู้ความล้มเหลวของการศึกษาและมักแสวงหาทางออกด้วยตัวเอง คนรวยก็ส่งลูกหลานเรียนโรงเรียนอินเตอร์หรือโรงเรียนราษฎรที่แพงๆ    คนชั้นกลางก็เลือกทางออกด้วยการจ้างครูมาสอนพิเศษ ส่วนคนจนก็หาทางให้ลูกหันมาเรียนสายอาชีพแทนที่จะเดินทางในสายสามัญ และเมื่อนักเรียนจะต้องสอยเข้ามหาวิทยาลัยก็จะหันไปสู่การเรียน " เทคนิคการกาข้อสอบ " ด้วยการกวดวิชาโดยหลงคิดไปว่าเป็นการเรียนรู้

กระบวนการแก้ปัญหาด้วยตนเองของคนกลุ่มต่างๆ นี้ก็ปรากฏชัดในการวิเคราะห์คะแนนสอบโอเน็ตที่พบว่าลูกคนรวยจะมีคะแนนสอบที่ดีกว่าลูกคนจน เพราะลูกคนรวยมีโอกาศเรียนพิเศษ เดินทางไปต่างประเทศหรือการได้โอกาสอื่นๆ อันซื้อมาได้ด้วยเงิน

ผมเคยถามครูและอาจารย์จำนวนหนึ่งว่าในความเข้าใจของท่านนั้น "ความรู้" คืออะไร ผมพบว่าไม่มีใครเคยคิดถึงการจำกัดความของ " ความรู้" เลย  ดังนั้นสิ่งที่ครูบาอาจารย์สอนทั้งหมดก็คือชุดของข้อมูลที่ตนเองเคยเรียนมาและถูกบรรดานักวิชาการในกระทรวงกำหนดมาว่าให้บอกเด็กนักเรียนแบบนี้และแค่นี้ 

หากครูบาอาจารย์ไม่สามารถทำความเข้าใจหรือสร้างการจำกัดความของ " ความรู้" ได้ก็อย่าหวังว่าจะสอนอะไรให้เด็กคิดและแสวงหาความรู้ได้  เพราะครูเองก็ยังไม่รู้เลยว่า "ความรู้" คืออะไร

กระบวนการ " คิด" เพื่อแสวงหาความรู้จึงไม่มีอยู่ในระบบการศึกษาไทยโดยรวม  แล้วเราจะหวังอะไรจากเด็กนักเรียนที่เป็นผลผลิตของระบบการศึกษาแบบนี้

คงต้องพูดตรงๆว่าหมดหวังครับ

เพราะเราไม่สามารถจะหาคนแอ่นอกออกมารับผิดชอบปัญหาความล้มเหลวนี้ เท่าที่ผมจำได้นั้น ไม่เคยเห็นผู้บริหารระดับบนในกระทรวงศึกษาธิการออกมารับผิดชอบใดๆตลอดมา

นักการเมืองอาชีพหรือนักการเมืองที่มาจากการรัฐประหาร เมื่อได้อำนาจก็มักจะประกาศว่าจะปฏิรูปการศึกษา จากนั้นก็สั่งให้ผู้บริหารกระทรวงศึกษาคิดวิธีการ ซึ่งชนชั้นผูกขาดการศึกษาเหล่านี้ก็จะคิดได้เพียงในระดับแค่สั่งให้ครูอาจารย์ในโรงเรียนต่างๆทำกระดาษรายงาน ( paper work ) เพื่อสร้างการประเมินลักษณะใหม่ ซึ่งก็ล้มเหลวอีก เพราะไม่ได้มีความหมายโยงไปสู่การเรียนการสอนให้ห้องเรียนจริงๆ  มิหน่ำซ้ำ ยิ่งทำให้ครูลดทอนเวลาการสอนลงเพราะต้องไปร่วมกันเขียนรายงานอันไร้ประโยชน์นี้  รวมทั้งโรงเรียนก็เสียเงินงบประมาณไปในการดูแลเลี้ยงอาหารอย่างดีเพื่อให้บรรดา "ชนชั้นประเมิน " มีความรู้สึกประทับใจอันจะยังประโยชน์ในการประเมินโรงเรียนของตน

นักการเมืองที่มาจากหลายลักษณะมักจะหาเสียงหรือทำให้ตนเองได้ชื่อด้วยการเลือกหยิบ " หนี้ครู" ออกมาประกาศว่าจะแก้ไข พร้อมกับหาทางให้เงินกู้กับครูทั้งหลายอีก โดยหลอกตัวเองให้เชื่อว่าเพราะครูมีหนี้สินจึงไม่มีแก่ใจสอนเด็ก ทั้งๆทีหนี้ครูในช่วงยี่สิบปีหลังเป็นหนี้การลงทุน  และหากปลดหนี้ก่อนที่มีอยู่ ครูก็จะมีหนี้การลงทุนต่อเนื่องต่อไป และการเรียนการสอนก็เหมือนเดิมต่อไป

โปรดตระหนักไว้ด้วยนะครับว่า ครูส่วนใหญ่ในตอนนี้ไม่ใช่ "ครูจน" เหมือนเมื่อห้าสิบปีก่อนแล้วนะครับ และที่ผมแปลกใจก็คือครูกลับไม่พูดประเด็นนี้ กลับยอมรับ "ความจน" ที่รัฐหยิบมาใช้เพราะกลไกรัฐในการช่วยเหลือเรื่องหนี้ครูได้ทำให้ครูสามารถหมุนเงินไปใช้ได้กว้างขวางและคล่องมากขึ้น 

ผมพูดกับครูหลายแห่งว่าพวกท่านทั้งหลายล้วนแล้วเป็นผู้เชี่ยวชาญในการหมุนเงินจนน่าจะไปเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ( ฮา)

นักการเมืองทั้งหลายไม่มีความกล้าหาญที่จะ " ปฏิรูป" จริงๆหรอกครับ  เพราะเขารู้ดีว่าครูมีพลังทางการเมือง  หากไปทำอะไรให้กระทบเทือนก็จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ เสียงวิพากษ์วิจารณ์ก็เป็นเสมือนหนูที่ส่งเสียงและเรียกร้องให้เอากระดิ่งไปผูกคอแมว แต่ก็ไม่มีใครกล้าที่จะทำเพราะแมวกลุ่มนี้มีจำนวนเป็นแสน

จะทำอย่างไรกันดี เพื่อให้มีกระดิ่งไปผูกคอแมวสักอันสองอัน

ประการแรก ยกเลิกมาตรการจำกัดวงให้แก่ผู้ที่จบการศึกษาทางครู  เพื่อเปิดโอกาสให้คนที่จบสาขาวิขาที่ไม่ได้เรียนครูได้เป็นครู ซึ่งจะทำให้คนจบคณิตศาสตร์โดยตรงและอยาก/สามารถเป็นครูได้โดยตรง และการยกเลิกนี้จะทำให้การแข่งขันสูงมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้คนที่มีความสามรถได้เข้าไปสอนหนังสือ แน่นอนหากคิดว่าวิชาครูยังมีความหมายอยู่ ก็สอบวิชาครูด้วยก็ได้ (แต่ไม่จำเป็นต้องจบทางครู)

จริงแล้ว หัวใจของความเป็น " ครู " อยู่ที่ความปรารถนาจะให้เรียนรู้ ส่วนปลีกย่อยอื่นๆของวิชาครูไม่ค่อยมีความหมายต่อการเรียนการสอนสักเท่าไร สังคมไทยสืบทอดความนับถือครูมาจนกระทั้งทำให้วิชาครูและความเป็นครูแบบเดิมกลายเป็นสรณะและกลายเป็นปราการกั้นผู้มีความสามารถที่อยากเป็นครู  ซึ่งผมกล้าพนันว่าครูที่ก่อปัญหาในกระทรวงศึกษาทั้งหมดเคยเรียนวิชาครูมาแล้วทุกคน หมายความว่าเรียนหรือไม่เรียนวิชาครูก็ไม่ได้ส่งผลต่อพฤติกรรมครับ

ประการที่สอง ทำให้โรงเรียนระดับต่างๆเป็นประชาธิปไตย ด้วยการลดอำนาจผู้อำนวยการโรงเรียนลง  เปิดโอกาสให้ครู นักเรียน และชุมชน/ผู้ปกครองมี "สภา" ของตนเอง  ซึ่ง " สภา" ทั้งหมดนี้จะต้องเชื่อมกัน  เพื่อทำให้เกิดเสียงอื่นๆขึ้นในโรงเรียน แน่นอนว่า อาจจะทำให้ครูผู้เก๋าเกมเล่นการเมืองกับ " สภา" จนได้อำนาจ  แต่ก็ก็ต้องระมัดระวังตัวมากขึ้น

ประการที่สาม นักเรียนทั้งหลายต้องตระหนักแล้วว่าโรงเรียนเป็นเพียงแหล่งการแสวงหาความรู้หนึ่งที่ด้อยค่าลงไปเรื่อยๆ จึงจำเป็นที่จะต้องแสวงหาความรู้เอง ( ไม่ใช่เรียนพิเศษแบบเดิม )  และต้องตรวจสอบสิ่งที่ครูสอนด้วยว่ามันถูกต้องหรือล้าสมัยไปแล้ว แน่นอนว่าอาจจะทำให้ครูจำนวนไม่น้อยเกลียดชังแต่ก็จงหวังไว้ว่าการตรวจสอบของพวกนักเรียนจะเป็นประโยชน์แก่ครูและรุ่นน้องๆต่อไป

การวิพากษ์วิจารณ์ความล้มเหลวของการศึกษาอย่างที่ผมทำนี้  ก็จะค่อยๆจางหายไป รอโวยวายกันใหม่ปีหน้า เขียนแล้วก็เศร้าใจครับ

           

 

           

 

             

 

           

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net