Skip to main content
sharethis

10 ภาคีด้านสิทธิฯ ร่วมแถลงร้องรัฐคืนประชาธิปไตย หยุดใช้อำนาจสร้างความกลัว ชี้สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย และการเคลื่อนไหวของพลเมือง คือวิถีทางที่ชอบธรรม ในการประคับประคองสังคมไทยให้เกิดการเปลี่ยนผ่านเชิงคุณภาพ มี สันติ มั่นคง และ ยั่งยืน ในระยะยาว

31 มี.ค. 2560 รายงานข่าวแจ้งว่า คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ และองค์กรภาคี ได้ร่วมกันจัดโครงการสัปดาห์สิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 5 : สิทธิมนุษยชนบนความเคลื่อนไหว ในระหว่างวันที่ 27 - 31 มี.ค. 2560 ณ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ โดยได้ออกแถลงการณ์ ในวันนี้ (31 มี.ค. 60) ณ ห้องประชุมสัมมนา 3 (13218) คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ

โดยองค์กรภาคีด้านสิทธิมนุษยชน 10 องค์กรที่ออกแถลงการณ์ร่วม ประกอบด้วย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม  สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน มูลนิธิการศึกษาเพื่อการพัฒนา มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน และแอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนล ประเทศไทย และสงขลาฟอรั่ม

รายละเอียดดังนี้

 

แถลงการณ์ร่วม

“หยุดการใช้อำนาจที่สร้างความหวาดกลัว - คืนประชาธิปไตยสู่สังคมไทย”

โดย องค์กรภาคีด้านสิทธิมนุษยชน 10 องค์กร

ภายใต้การปกครองประเทศโดยการควบคุมของรัฐบาลทหาร ได้มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างเข้มงวด ด้วยข้ออ้างเรื่องความสงบเรียบร้อย/ความมั่นคง มีการนำกฎหมายมาเป็นเครื่องมือในการควบคุมประชาชน โดยเฉพาะมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ทำให้ประชาชนหรือผู้ที่ลุกขึ้นมาคัดค้าน เห็นต่างถูกจัดการด้วยอำนาจพิเศษที่ไร้การตรวจสอบ มีการดำเนินคดีโดยที่กระบวนการยุติธรรมและระบบตุลาการอันเป็นเสาหลักค้ำจุนความยุติธรรมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน กลับไม่ทำหน้าที่อย่างที่ควรจะเป็น

ยิ่งในสถานการณ์ของการเร่งรุกคืบดำเนินนโยบายทางการเมืองและการพัฒนาประเทศ ภายใต้วาทกรรมประเทศไทย 4.0 ซึ่งเป็นการพัฒนาที่ให้ความสำคัญกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยละเลยปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความยุติธรรม สุขภาพ สิ่งแวดล้อม การดำเนินโครงการพัฒนาต่างๆที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนในระดับชุมชน ท้องถิ่น และสังคมไทยในภาพรวม ไม่ว่านโยบายทวงคืนผืนป่าในภูมิภาคต่างๆ โครงการพัฒนาภาคใต้ การก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก โรงไฟฟ้าถ่านหิน เหมืองแร่ เขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นต้น จะยิ่งเป็นการกรุยทาง-สร้างความชอบธรรมในการละเมิดสิทธิมนุษยชน การใช้ความรุนแรงและการสร้างความหวาดกลัวทั้งในทางตรงและทางอ้อม

ดังที่ปรากฏอยู่เนืองๆว่า ในขณะที่มีการผลักดันโครงการพัฒนาต่างๆ รัฐได้พยายามปิดกั้นการมีส่วนร่วมและกีดกันประชาชนที่ไม่เห็นด้วยให้ออกไปจากกระบวนการ ประชาชน พลเมืองถูกจัดการด้วยกฎหมายที่ไม่ชอบธรรม และกระบวนการยุติธรรมที่ไม่อาจเป็นที่พึ่งได้

สถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้ประชาชนและสังคมไทยตกอยู่ในสภาวะ“สังคมแห่งความหวาดกลัว” มากขึ้นเรื่อยๆ การขึงตรึงสังคมไทยไว้ด้วยความกลัว การทำให้ยอมจำนน การไม่คำนึงถึงหลักการพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชน หลักนิติธรรม และความเป็นประชาธิปไตย ไม่เพียงเป็นชนวนสำคัญที่จะนำพาสังคมไทยดำดิ่งไปสู่ความขัดแย้งอันรุนแรงและร้าวลึกมากขึ้นเท่านั้น หากยังมีความเสี่ยงสูงที่จะโน้มนำไปสู่การ “กัดกร่อนความชอบธรรม” และ “วิกฤตศรัทธาของประชาชนที่มีต่อรัฐและกลไกรัฐ” ในระยะยาว

องค์กรภาคีด้านสิทธิมนุษยชน 10 องค์กร ประกอบด้วย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม  สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน มูลนิธิการศึกษาเพื่อการพัฒนา มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน และแอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนล ประเทศไทย และสงขลาฟอรั่ม จึงขอเรียกร้องและเสนอแนะ ดังนี้

1.      เร่งสร้างบรรยากาศทางสังคมการเมืองให้เข้าสู่ “สภาวะปกติ” โดยเร็ว เพื่อเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิเสรีภาพของตนที่พึงมีตามหลักสากล โดยรัฐต้องเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชนในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการชุมนุม การมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง อันเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานและเป็นวิถีประชาธิปไตยเยี่ยงอารยะ

2.      สร้างหลักประกันด้านสิทธิและเสรีภาพในการปฏิบัติการและการเคลื่อนไหวของประชาชน-พลเมืองกลุ่มต่างๆ โดย "คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และการผดุงไว้ซึ่งความยุติธรรมที่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยสากล"

3.      การเคลื่อนไหวเรียกร้องการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของประชาชนในปัจจุบัน ล้วนตั้งอยู่บนพื้นฐานของการปกป้องฐานทรัพยากร สิทธิชุมชน อันเกี่ยวพันกับวิถีการดำรงชีวิต และการมีชีวิตสาธารณะที่เข้มแข็ง ดังนั้น “รัฐต้องโอบอุ้ม ปกป้อง คุ้มครอง และตอบสนองต่อข้อเรียกร้อง” อย่างจริงจัง ที่สำคัญต้องไม่ลดทอน แบ่งแยก หรือผลักประชาชนให้เป็นคู่ตรงข้าม ภายใต้ปรากฏการณ์ผิวเผินของการเมืองเสื้อสีแบบที่ผ่านมา

4.      การปกครองด้วยอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไม่อาจเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมใหม่ที่พึงปรารถนาร่วมกันได้ เพราะสังคมประกอบด้วยบุคคลที่หลากหลาย การเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงเท่านั้น คือ หนทางที่ควรจะเป็นการคืนอำนาจแก่ประชาชน การเร่ง “คืนความเป็นประชาธิปไตย” แก่สังคม เป็นสิ่งที่ต้องทำโดยเร่งด่วนเพื่อประชาชนทุกคน ทุกกลุ่ม ทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ และได้“ผนึกพลัง” ร่วมกันผลักดัน เคลื่อนไหว และเรียกร้องการเข้าสู่สังคมที่ให้คุณค่าในสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย และความเป็นพลเมือง อย่างจริงจังและต่อเนื่อง

5.   กระบวนการยุติธรรมและระบบตุลาการ ซึ่งเป็นหลักค้ำจุนความยุติธรรมและการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ต้องทำหน้าที่ในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐอย่างเต็มที่ ภายใต้กฎหมายที่ให้คุณค่ากับหลักการสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรม

องค์กรภาคีด้านสิทธิมนุษยชน ทั้ง 10 องค์กร ตระหนักว่าสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย และการเคลื่อนไหวของพลเมือง คือ วิถีทางที่ชอบธรรม ในการประคับประคองสังคมไทยให้เกิดการเปลี่ยนผ่านเชิงคุณภาพ มี สันติ มั่นคง และ ยั่งยืน ในระยะยาว และจักร่วมมือกันภายใต้พันธกรณีนี้อย่างมุ่งมั่นและเปี่ยมด้วยความหวัง

ด้วยศรัทธาและเชื่อมั่น

แถลง ณ วันที่ 31 มีนาคม 2560 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net