สุรพศ ทวีศักดิ์: ความ(ไม่)เป็น ‘พุทธศาสนาแบบเหตุผลนิยม’

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

เห็นวิจารณ์กันว่า การปฏิรูปธรรมยุติกนิกายในสมัย ร.4 ทำให้เกิดการตีความพุทธศาสนาเน้นความมีเหตุผล สอดคล้องกับวิทยาศาสตร์ ส่งผลให้เกิดการลดความสำคัญของ “โลกุตตรธรรม” อันเป็นมิติด้านจิตวิญญาณที่ลึกสุดของพุทธศาสนา หันมาเน้น “โลกียธรรม” หรือ “ศีลธรรมทางโลก” มากขึ้น

นอกจากนี้ การเน้นความเป็นเหตุเป็นผลของพุทธศาสนา ยังทำให้เกิดการ “ลดทอน” ความหลากหลายของการศึกษาตีความคำสอน ความเชื่อเรื่องสวรรค์ นรก บุญบาปตามคติไตรภูมิพระร่วงถูกลดความสำคัญลง พื้นที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์แคบลง อารมณ์ความรู้สึกทางศาสนาหายไป ทำให้พุทธศาสนาแข็งกระด้าง ขาดมิติละเอียดอ่อนด้านจิตวิญญาณ และอารมณ์ความรู้สึก เป็น “พุทธศาสนาแบบเหตุผลนิยม” ที่มีปัญหามาจวบปัจจุบัน

ผมพยายามทำความเข้าใจว่า “พุทธศาสนาแบบเหตุผลนิยม” หมายถึงอะไร บอกตามตรงว่าผมอ่านจากคำวิจารณ์ต่างๆ แล้วก็ไม่เข้าใจ เพราะไม่ได้เห็น “นิยาม” ที่ชัดเจน จนกระทั่งได้อ่านคำนิยามของพระไพศาล วิสาโล ในเชิงอรรถของหนังสือ “พุทธศาสนาไทยในอนาคต แนวโน้มและทางออกจากวิกฤต” (หน้า 18) ว่า

...แต่ละคนแต่ละกลุ่มอาจมีนิยามเกี่ยวกับพุทธศาสนาไม่เหมือนกัน...ดังนั้น การพ่วงคุณศัพท์ “เหตุผลนิยม” ให้แก่พุทธศาสนาย่อมช่วยให้เราเข้าใจตรงกันว่า กำลังพูดถึงพุทธศาสนาแบบไหน

อนึ่ง “เหตุผลนิยม” ในที่นี้ใช้ในความหมายหลวมๆ โดยเน้นถึงการใช้เหตุผลและวิธีการที่ประจักษ์หรือพิสูจน์ได้ในการเข้าถึงความจริง กล่าวอีกนัยหนึ่ง มีความหมายครอบคลุมไปถึงการคิดในเชิงวิทยาศาสตร์ด้วย ถึงแม้ว่าวิทยาศาสตร์นั้น ถ้ากล่าวอย่างเคร่งครัดแล้วเป็นเรื่องของประจักษ์นิยม คือเชื่อว่าประสาทสัมผัสทั้งห้าเป็นที่มาแห่งความรู้ของมนุษย์ ขณะที่เหตุผลนิยมนั้นเชื่อว่าที่มาแห่งความรู้ของมนุษย์อยู่ที่การใช้เหตุผล

จะเห็นว่า “เหตุผลนิยมในความหมายหลวมๆ” ดังกล่าว คือ “ลูกผสม” (hybrid) ระหว่าง “เหตุผลนิยม” (rationalism) ที่หมายถึงแนวคิดทางญาณวิทยา (epistemology) ที่เชื่อในการใช้เหตุผลในการแสวงหาความจริง และให้สิทธิอำนาจสูงสุดแก่เหตุผลในการตัดสินความจริง กับ “ประสบการณ์นิยม” (empiricism) ที่เชื่อในการใช้ประสาทสัมผัสในการแสวงหาความจริง  และให้สิทธิอำนาจสูงสุดในการตัดสินความจริงแก่ประสบการณ์ทางประสาทสัมผัส

ปัญหาคือ แม้ในทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์จะถือว่าเป็นเรื่องปกติที่เราจะสร้าง “มโนทัศน์” (concept) ขึ้นมาใหม่ เพื่อใช้อธิบายความคิดและปรากฏการณ์บางอย่างที่เรานำเสนอ แต่การนำเอาคำ “เหตุผลนิยม” ที่ใช้กันในปรัชญาตะวันตก ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายชัดเจนของตัวมันเองอยู่แล้ว และเป็นที่เข้าใจกันทั่วไปว่า “เหตุผลนิยม” คือแนวคิดที่โต้แย้งกับ “ประสบการณ์นิยม” มาให้ความหมายใหม่ในแบบ “ลูกผสม” ระหว่างเหตุผลนิยมกับประสบการณ์นิยมดังนิยามของพระไพศาล ย่อมทำให้เกิดความสับสนได้ง่ายๆ

กล่าวคือ คำว่า “เหตุผลนิยมในความหมายหลวมๆ” ดังกล่าว ย่อมไม่ใช่ rationalism ในปรัชญาตะวันตก เมื่อนำคำนี้มาต่อท้ายพุทธศาสนาเป็น “พุทธศาสนาแบบเหตุผลนิยม” พร้อมกับวิจารณ์ว่าที่เป็นแบบนี้เพราะรับอิทธิพลความคิดจากตะวันตก ย่อมทำให้เข้าใจผิดไปว่า เพราะพุทธศาสนาถูกทำให้มีความเป็น “เหตุผลนิยมแบบตะวันตก” จึงทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา ดังที่วิจารณ์กัน

เป็นความจริงว่า การเน้น “ความเป็นเหตุเป็นผล” หรือ “rationality” (ซึ่งมีความหมายกว้างกว่า reasoning, logic, rationalism) ในประเพณีทางปัญญาของตะวันตก ก็มักจะถูกวิจารณ์ว่าก่อให้เกิดปัญหาการลดทอนความหลากหลาย ละเลยมิติด้านอารมณ์ความรู้สึก เป็นต้น

แต่ข้อวิจารณ์ดังกล่าวก็อาจมีส่วนทั้งถูกและผิด เนื่องจากแนวคิดเรื่องความเป็นเหตุเป็นผลมีความซับซ้อนในตัวมันเองค่อนข้างมาก เพราะนักคิดบางคนก็อธิบายว่า “ทุกความเชื่อต่างมีความเป็นเหตุเป็นผลจากมุมมองของตัวมันเอง” เช่น คนไม่นับถือศาสนาอาจมองว่าคนนับถือศาสนางมงาย แต่คนนับถือศาสนาเขาก็คิดว่าตนเองมีเหตุผลในการนับถือศาสนา ขณะที่คนนับถือศาสนาก็อาจมองว่าคนไม่นับถือศาสนาไม่มีเหตุผล แต่คนไม่นับถือศาสนาก็ย่อมมีเหตุผลของตนเองที่จะไม่นับถือ เป็นต้น

ถ้าทุกความเชื่อต่างก็มีความเป็นเหตุเป็นผลจากมุมมองของตนเอง ความเป็นเหตุเป็นผลก็มีได้หลายแบบ เช่น ความเป็นเหตุเป็นผลแบบภูมิปัญญากรีก แบบศาสนาคริสต์และศาสนาอื่นๆ แม้แต่ไสยศาสตร์ก็อาจมีความเป็นเหตุเป็นผลจากมุมมองของตัวมันเอง ส่วนความเป็นเหตุเป็นผลอันเป็นลักษณะของสภาวะสมัยใหม่ (modernity) คือ ความเป็นเหตุเป็นผลแบบวิทยาศาสตร์ ความเป็นเหตุเป็นผลแบบเสรีนิยม (liberalism) เป็นต้น

แต่ความเป็นเหตุเป็นผลแบบเสรีนิยม ย่อมไม่ใช่เหตุ “ลดทอน” มิติของอารมณ์ความรู้สึกและความหลากหลาย เนื่องจากแนวคิดปรัชญาเสรีนิยมก็มีทั้งที่เน้นความสำคัญของเหตุผลและอารมณ์ความรู้สึก แต่หัวใจของเสรีนิยมคือ “เสรีภาพ” เพราะยึดเสรีภาพเป็น “กติกากลาง” ของระบบสังคมการเมืองและอื่นๆ ความหลากหลายจึงเป็นไปได้จริง

เมื่อพูดถึง “พุทธศาสนาแบบเหตุผลนิยม” ย่อมมีนัยสำคัญทางศีลธรรมมากกว่าทางญาณวิทยา จึงน่าจะเปรียบเทียบกับ “เหตุผลนิยมทางศีลธรรม” (moral rationalism) อันเป็นแนวคิดที่ให้สิทธิอำนาจสูงสุดแก่เหตุผลในการตัดสินความดีหรือความถูกต้อง เช่น จริยศาสตร์สายค้านท์ (Kantian Ethics) ที่ถือว่า “เหตุผลต้องเป็นอิสระ” จากการครอบงำของอารมณ์และอิทธิพลภายนอกต่างๆ เช่น ศาสนา ประเพณี อำนาจรัฐ และอื่นๆ จึงจะทำให้เราตัดสินความถูกต้องได้เที่ยงตรงและสร้าง “กฎศีลธรรม” (moral law) ขึ้นมาได้ และมีเจตจำนงแน่วแน่ที่จะทำตามกฎศีลธรรมนั้นได้ (เจตจำนงทำตาม moral law ค้านท์เรียกว่า “Good Will”)

แต่ “กฎศีลธรรม” ที่มาจาก “เหตุผล” ในความหมายของค้านท์กลับให้ความสำคัญสูงสุดกับ “ความละเอียดอ่อน” ของ “ความเป็นมนุษย์” เพราะค้านท์ถือว่ากฎศีลธรรมใดๆ ที่เราแต่ละคนสร้างขึ้นจากการใช้เหตุผล จะต้องวางอยู่บนพื้นฐานของการ “เคารพ” (respect) ใน “ความเป็นมนุษย์” ของตัวเองและคนอื่นเท่าเทียมกัน นั่นคือ ความเป็นมนุษย์ในฐานะที่เราต่างเป็นปัจเจกบุคคลที่มีเหตุผล อิสรภาพ และศักดิ์ศรีในตัวเอง การกระทำใดๆ ที่ใช้ความเป็นมนุษย์เป็น “เครื่องมือ” ย่อมผิดศีลธรรม

การมีศีลธรรมในความหมายของค้านท์ จึงไปกันไม่ได้กับระบบเผด็จการ เพราะระบบเผด็จการย่อมเป็นระบบที่ใช้ความเป็นมนุษย์เป็นเครื่องมือ เพราะเป็นระบบที่ไม่ยอมรับ “เสรีภาพ” ของปัจเจกบุคคล แต่เสรีนิยมสายค้านท์ถือว่าระบบสังคมการเมืองที่ปกป้องความเป็นมนุษย์ ย่อมเป็นระบบที่รัฐรักษา “สิทธิ” เป็น “กติกาลาง” คือรัฐต้องรับรอง “สิทธิในเสรีภาพที่จะเลือกคุณค่าและการมีชีวิตที่ดีของปัจเจกบุคคล” ฉะนั้น เหตุผลนิยมทางศีลธรรมและเสรีนิยมสายค้านท์ที่ให้ความสำคัญกับ “เหตุผล” ก็ไม่ได้ “ลดทอน” มิติด้านอารมณ์ เพราะให้ความสำคัญกับการเคารพความเป็นมนุษย์ที่มีเหตุผล อิสรภาพ และศักดิ์ศรีในตัวเอง และไม่ได้ “ลดทอน” ความหลากหลาย เนื่องจากถือว่า รัฐต้องรักษา “สิทธิ” ในฐานะเป็น “กติกากลาง” อันเป็นรากฐานของการมีเสรีภาพในการเลือกคุณค่าที่หลากหลายของปัจเจกบุคคล

แล้วทำไม “พุทธศาสนาแบบเหตุผลนิยม” จึงลดทอนมิติด้านอารมณ์และความหลากหลาย ผมคิดว่าเป็นเพราะพุทธศาสนาไม่ได้มีความเป็น “เหตุผลนิยม” (แบบที่เข้าใจกันในปรัชญาตะวันตก) จริง และไม่สามารถเป็นเช่นนั้นได้ เพราะพุทธศาสนาที่ถูกปฏิรูปโดยชนชั้นปกครอง ย่อมถูกปฏิรูปจากอำนาจที่ไม่มีความเป็นเหตุเป็นผลในความหมายสมัยใหม่ เพราะอะไรที่มีความเป็นเหตุเป็นผลในความหมายสมัยใหม่ ย่อมถูกท้าทายได้ด้วยเหตุผล และสิ่งที่ถูกท้าทายได้ด้วยเหตุผล ย่อมต้องอยู่ในกรอบ “เสรีภาพ” ที่จะตั้งคำถาม โต้แย้ง วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบได้

ที่ว่าการปฏิรูปพุทธศาสนาสมัย ร.4 (ซึ่งเป็นช่วงที่สยามเปลี่ยนแปลงสู่ความทันสมัย) เป็นจุดเริ่มต้นให้มีการตีความพุทธศาสนาเน้นความเป็นเหตุเป็นผล เป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้นนั้น เป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่เถียงกันได้ แต่สมมติว่าเป็นจริงตามนั้น พุทธศาสนาที่มีเหตุผล หรือ “พุทธศาสนาแบบเหตุผลนิยม” จะถูกใช้เป็นเครื่องมือของฝ่ายอนุรักษ์นิยม (ซึ่งอิงฐานความชอบธรรมของอำนาจบนความเป็นเหตุเป็นผลคนละอย่างกับความเป็นเหตุเป็นผลแบบวิทยาศาสตร์ และแบบเสรีนิยม) ได้หรือไม่ คำตอบคือ “ได้” อยู่แล้วครับ

อันที่จริงแม้แต่คำว่า เสรีภาพ, ประชาธิปไตย, สิทธิมนุษยชน, ความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมาย, นิติรัฐ ฯลฯ ก็ถูกฝ่ายอนุรักษ์นิยมใช้เป็น “เครื่องมือ” อย่างปกติอยู่แล้ว (เขาไม่เคยประกาศเลยนะครับว่าจะทำรัฐประหารเพื่อสถาปนา “ระบบเผด็จการ” มีแต่ประกาศว่าจะ “ปฏิรูปประชาธิปไตย”) แต่สิ่งเหล่านั้นเมื่อถูกใช้ภายใต้ “อำนาจนิยาม” ของฝ่ายอนุรักษ์นิยม มันย่อม ไม่มี “ความหมายแบบเดิม” อีกต่อไป

เช่นเดียวกัน “พุทธศาสนาแบบเหตุผลนิยม” ภายใต้อำนาจผูกขาดการสถาปนาความจริงของรัฐ อันเป็นอำนาจที่ปฏิรูปให้เกิดพุทธศาสนาเช่นนั้นขึ้นมา ก็ไม่เคยมี “ความเป็นเหตุผลนิยม” อย่างที่ใช้กันในประเพณีทางปัญญาของตะวันตก เหมือนคำว่าเสรีภาพ, ประชาธิปไตย, สิทธิมนุษยชน, ความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมาย, นิติรัฐ ฯลฯ ที่อยู่ภายใต้อำนาจนิยามของฝ่ายอนุรักษ์นิยม ก็ไม่สามารถจะมีความหมายอย่างที่เข้าใจกันในโลกตะวันตก

ฉะนั้น จึงไม่ใช่ว่าเป็นเพราะอิทธิพลของความคิดเหตุผลนิยม และความคิดเรื่องความเป็นเหตุเป็นผลแบบวิทยาศาสตร์ของตะวันตกเข้ามาทำให้พุทธศาสนามี “ความเป็นเหตุผลนิยมแบบตะวันตก” แล้วส่งผลให้เกิดการ “ลดทอน” มิติด้านอารมณ์ความรู้สึก ความหลากหลายในการศึกษาตีความและอื่นๆ

ต้นเหตุของการ “ลดทอน” คือการสถาปนา “พุทธศาสนาของรัฐ” ซึ่งรวมศูนย์อำนาจปกครอง การจัดการศึกษา การตีความคำสอนและอื่นๆ ภายใต้ “คณะสงฆ์ของรัฐ” ซึ่งทำให้พุทธศาสนาของรัฐมีวัฒนธรรมอำนาจนิยม และเป็นเครื่องมือสร้าง “อำนาจชอบธรรม” (legitimacy) และ “อำนาจครอบงำ” (domination) ของรัฐมายาวนาน นี่ต่างหากคือ “ปัญหาระดับรากฐาน” จริงๆ ที่จำเป็นต้องช่วยกันคิดหาทางแก้ไขกันต่อไป

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท