Skip to main content
sharethis

คนทำสื่อห่วงหากพบทหารทำผิดอาจส่งผลต่อการพูดคุยสันติภาพ, แกนนำพูโล ประณามเจ้าหน้าที่ จี้คณะพูดคุยสันติภาพสอบสวนผู้กระทำผิด ด้านนักสิทธิเสนอญาติฟ้องกระบวนการยุติธรรม พยานต้องได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย นักวิชาการย้ำรัฐต้องยกเลิกวัฒนธรรมลอยนวล

จากเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ทหารพรานสังกัดกรมทหารพรานที่ 46 วิสามัญฆาตกรรมชาวบ้านในพื้นที่เขตรอยต่อระหว่างบ้านไอร์จือนะห์ หมู่ 5 กับบ้านธรรมเจริญ หมู่ 6 ต.โคกสะตอ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 29 มี.ค.2560 เวลา 13.30 น. ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุทันที 2 ราย

จากการรายงานข่าวก่อนหน้านี้พ.ต.อ.เรืองศักดิ์ บัวแดง ผู้กำกับการ สภ.รือเสาะ เปิดเผยว่า ก่อนเกิดเหตุชุดปฏิบัติการข่าวทหารและเจ้าหน้าที่ทหารพราน สังกัดกรมทหารพรานที่ 46 ได้สืบสวนและติดตามสะกดรอยนายอิสมาแอ หามะ และนายอาเซ็ง อูเซ็ง ซึ่งตกเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีกราดยิงนายสมชาย ทองจันทร์ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านธรรมเจริญ ม.6 ต.โคกสะตอ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส และครอบครัว เมื่อวันที่ 2 มี.ค.2560 (อ่านต่อ) ทั้งสองเดินทางมาจากจังหวัดยะลา เมื่อถึงจุดเกิดเหตุได้จอดรถแสดงตัวเพื่อขอตรวจค้น แต่นายอาเซ็งคนขับได้พยายามเร่งเครื่องหลบหนี ส่วนนายอิสมาแอได้ใช้อาวุธปืนยิงใส่กลุ่มเจ้าหน้าที่ จนต้องใช้อาวุธปืนยิงตอบโต้ทำให้ทั้งสองถูกกระสุนปืนเสียชีวิตทันที

หลังเกิดเหตุการณ์นี้ มีการร้องเรียนจากชาวบ้านในพื้นที่โดยให้ข้อมูลไม่ตรงกับที่เจ้าหน้าที่รัฐชี้แจง สำนักสื่อวาร์ตานี สื่อทางเลือกในพื้นที่ได้ลงไปพบปะญาติพร้อมสัมภาษณ์น้องสาวผู้เสียชีวิตที่อ้างว่าเธออยู่ในเหตุการณ์ด้วย และเผยแพร่คำให้สัมภาษณ์ในวันรุ่งขึ้น (30 มี.ค.2560) (อ่านต่อ) ว่า เธออายุ 15 ปี อยู่ในรถคันดังกล่าวด้วยและยืนยันว่าทั้งสองไม่มีอาวุธ  คำให้สัมภาษณ์นี้ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในพื้นที่อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในโซเชียลมีเดีย มีการตั้งคำถามว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร? ทำไมข้อมูลทหารกับข้อมูลของชาวบ้านถึงต่างกันโดยสิ้นเชิง? เป็นการจัดฉากเหมือนที่ผ่านมาหรือเปล่า? ถ้ามีการยิงปะทะกัน ทำไมรถของผู้เสียชีวิตถึงไม่มีรูกระสุนแต่อย่างใด? แล้วทำไมน้องสาวของผู้เสียชีวิตที่อยู่ในเหตุการณ์ในครั้งนี้ไม่ได้รับอันตรายใดๆ?

รัฐต้องยกเลิวัฒนธรรมลอยนวล เพื่อเอาชนะสงครามความชอบธรรม

อาทิตย์ ทองอินทร์ หัวหน้าภาควิชาสังคมศาสตร์ ม.ลัยรังสิต กล่าวว่า ตามทฤษฎี ผู้ที่สามารถช่วยหนุนเสริมความเข้มแข็งให้กับงานช่วยเหลือผู้สูญเสียได้ คือ องค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศ หรือ International Non-Governmental Organizations (iNGO) นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน และสื่อสารมวลชน ที่เป็นเสมือนด่านที่สองที่จะช่วยตรวจสอบและสอบทานการกระทำของรัฐให้โปร่งใส ชอบธรรม เสมือนอำนาจที่ถ่วงดุล แต่หนุนเสริมเป้าหมายเดียวกันคือ สันติภาพ

แต่ความเป็นจริงเป็นอย่างที่เราเห็น ใครพูดต่าง นำเสนอต่าง รัฐก็ผลักและเบียดพวกเขาไปเป็นฝ่ายตรงข้ามหมด เพราะหลังพิงกับแนวคิดชาตินิยมที่ไร้สติของสังคมใหญ่ซึ่งมักจะมักจะเข้าข้าง "พวกเดียวกัน" ก่อน และมีอคติกับ "พวกที่เป็นอื่น" ไปจากอัตลักษณ์ชาติที่ศูนย์กลางอำนาจเสมอ การทำงานของรัฐในพื้นที่ความรุนแรงจึงน่าสงสาร เพราะเมื่อพวกเขาปฏิเสธที่จะจับมือ ก็คงต้องสู้อย่างเดียวดาย

อาทิตย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทหารต้องเลิกวัฒนธรรมปกป้องพวกเดียวกันก่อน เช่น หลังเกิดเหตุแล้วข้อเท็จจริงยังไม่ชัดเจนก็อย่าพึ่งออกมาปกป้องพวกเดียวกันก่อน แต่ควรเปิดพื้นที่ของข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ออกมาก่อน และสามารถถกเถียงกันตามความเป็นจริงได้ ปัญหาใหญ่ของรัฐต่องานปาตานี (จังหวัดชายแดนใต้) ไม่ใช่การกุมสภาพพื้นที่ แต่เป็นปัญหาและปัญหาความชอบธรรมนี้มันพันอยู่กับความหวาดระแวงของผู้คนต่อสิ่งที่กังขาว่าเป็น "วัฒนธรรมลอยนวล" (impunity) ของฝ่ายเจ้าหน้าที่ ถ้าไม่แก้ข้อนี้ โดยทำงานร่วมกันกับผู้มีข้อมูลและเหตุผลแตกต่างกันแล้ว ก็ยากจะชนะในสงครามความชอบธรรม

เสนอญาติฟ้องตามกระบวนการยุติธรรม 

อัญชนา หีมมิหน๊ะ หัวหน้ากลุ่มด้วยใจ กล่าวว่า ทุกคนต้องสามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริง ต้องตั้งกรรมการตรวจสอบที่มีความเป็นอิสระและมีการเยียวยาที่เหมาะสม อย่างน้อยต้องทำให้คนเสียชีวิตได้มีการตรวจสอบอย่างเป็นธรรมว่าเป็นผู้บริสุทธิ์หรือไม่

เหตุการณ์ในรูปแบบนี้เกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมการไต่สวนการตายหลายๆ กรณีไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่ ไม่เป็นไปตามกฎการปะทะและไม่สามารถนำไปสู่การดำเนินคดีอาญาต่อเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติการได้

ประสบการณ์จากเหตุการณ์ เจ้าหน้าที่วิสามัญฆาตกรรมชาวบ้านและนักศึกษา ม.ฟาฏอนี ที่บ้านโต๊ะชูด ต.พิเทน อ.ทุ่งยางแดง จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2558 คือ การที่สังคมในพื้นที่ช่วยกันทำให้สังคมใหญ่กดดัน จนเจ้าหน้าที่ออกมายอมรับในสิ่งที่เขากระทำ และต้องชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่เจ้าหน้าที่กระทำ คือ สิ่งที่ผิดทั้งกฎหมายอาญาและกฎหมายพิเศษ

อัญชนา กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่ญาติผู้เสียชีวิตต้องทำคือ การดำเนินการฟ้องร้องตามกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้สังคมเห็นว่าคนที่ตายเป็นผู้บริสุทธิ์ และเจ้าหน้าที่ทำไม่ถูกต้อง อีกทั้งเรื่องนี้ควรมีผู้เชี่ยวชาญในการตรวจสอบข้อเท็จจริง เช่น สหประชาชาติ เป็นต้น

ย้ำเร่งพิสูจน์ความจริง หากพบทหารทำผิดเชื่อส่งผลการพูดคุยสันติภาพ

ต่วนอามีน ดาโอ๊ะมารียอ ผู้ประกาศข่าวจากสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมแห่งหนึ่งกล่าวว่า ส่วนตัวยังไม่ปักใจเชื่อข้อมูลของของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะเชื่อในกระบวนการยุติธรรมเป็นหลัก แต่เหตุการณ์นี้ทางครอบครัวไม่เชื่อว่าผู้เสียชีวิตมีอาวุธในครอบครองจริงและเชื่อว่าเป็นการกล่าวหาใส่ร้ายของเจ้าหน้าที่ เหมือนกรณีเหตุการณ์ทุ่งยางแดง ฉะนั้นฝ่ายรัฐเองต้องรีบดำเนินการพิสูจน์ความจริงและความจริงใจต่อสังคมโดยรัฐต้องตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง และเชิญทุกฝ่ายมามีส่วนร่วมด้วย

หากพิสูจน์ว่าคนของหน่วยงานความมั่นคงกระทำผิดเสียเอง ก็ต้องนำผู้กระทำผิดมารับโทษตามกระบวนการยุติธรรมด้วย มิเช่นนั้นจะมีศาลทหารไว้เพื่ออะไร อย่างไรก็ตาม ความผิดพลาดในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐก็ถือว่าเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้ และเมื่อกระทำผิดแล้วก็ต้องให้เป็นตามกระบวนการยุติธรรมเฉกเช่นประชาชนทั่วไป เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ที่ยืดเยื้อมาเนิ่นนาน

หากรัฐไม่สามารถพิสูจน์ความจริงได้ มันก็จะกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญที่กระทบต่อการพูดคุยสันติสุขอย่างแน่นอน เพราะการพูดคุยคือความหวังเดียวของการยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้น

ทั้งนี้สื่อมวลชนและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนควรติดตามความคืบหน้าต่อไปอย่างใกล้ชิด จนกว่าความยุติธรรมจะปรากฏกับทั้งสองฝ่าย

แกนนำพูโลประณามเจ้าหน้าที่ ร้องคณะพูดคุยสันติภาพ สอบสวนผู้กระทำผิด

กัสตูรี มะโกตา แกนนำองค์กรปลดปล่อยสหปาตานี หรือ กลุ่ม PULO ออกมาประณามการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐในเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุว่าจากการรายงานพวกเขาทั้งสองเป็นสามัญชนทั่วไป ต้องตกเป็นเหยื่อของความโหดเหี้ยมของเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลผู้กดขี่ เราขอประณามอย่างรุนแรงที่สุดจากการกระทำที่โหดเหี้ยมนี้ และขอเรียกร้องเพื่อให้เจ้าหน้าที่คณะพูดคุยสันติภาพเข้ามาสอบสวนอย่างโปร่งใสและยุติธรรม เพื่อนำผู้กระทำผิดเข้าสู้กระบวนการยุติธรรมโดยเร็วที่สุดตามสมควร (อ่านต่อ)

องค์กรสิทธิแถลงพยานต้องได้รับการคุ้มครอง ต้องมีกรรมการสอบข้อเท็จจริงที่อิสระ

นอกจากนี้กลุ่มด้วยใจได้ออกแถลงการณ์กรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส โดยระบุว่า ทั้งเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 มี.ค.2560 และเหตุการณ์ที่เกิดเมื่อวันที่ 29 มี.ค.2560 ได้ส่งผลกระทบทางด้านจิตใจต่อสังคมโดยรวมเป็นอย่างมาก

ในแถลงการณ์ระบุว่า ตามหลักการด้านสิทธิมนุษยชน เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่ต้องจับกุมและนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมายโดยกระบวนการยุติธรรม ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ไม่อาจใช้อำนาจตามอำเภอใจลงโทษหรือประหารผู้ต้องสงสัยว่ากระทำผิดโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมของศาลได้ เพราะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรมตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่

แถลงการณ์กลุ่มด้วยใจเรียกร้องให้ 1.หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการปกป้องคุ้มครองและและเยียวยาพยานผู้เห็นเหตุการณ์การเสียชีวิตของทั้งสองกรณี ซึ่งต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 การถามปากคำเด็กไว้ในฐานะเป็นผู้เสียหายหรือพยาน ให้แยกกระทำเป็นสัดส่วนในสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับเด็ก และให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอและพนักงานอัยการเข้าร่วมในการถามปากคำนั้นด้วย

2.เนื่องจากข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ที่มีหมายจับยังเป็นที่คลางแคลงใจในหมู่ประชาชนส่วนหนึ่ง จึงขอให้มีการคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยองค์กรอิสระ เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือการตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจที่มีความเป็นอิสระและมีความรู้ความเชี่ยวชาญที่เหมาะสม

สุดท้าย ขอให้การสืบสวนสอบสวนของพนักงานเจ้าหน้าที่ทำอย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมสามารถดำเนินการไปได้โดยอิสระเพื่อความเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายและไม่มีการชี้นำจากฝ่ายใด

 

หมายเหตุ  มีการแก้ไขเนื้อหา เวลา 01.30 น. (3 เม.ย.)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net