Skip to main content
sharethis

เดือน ต.ค. ปีที่แล้วมีการกวาดจับนักศึกษาและชาวมุสลิมที่พักย่าน ม.รามฯ ไป 40 กว่าคนท่ามกลางข่าวที่รัฐบอกว่าอาจมี “คาร์บอม” ตอนนี้ยังมี 9 คนที่โดนคุมขังในเรือนจำ หลายคนถูกจับแล้วปล่อยแล้วจับ บางส่วนจับเพิ่มใน 3 จังหวัด ยึดของกลางได้แค่ลังใส่น้ำบูดู จำเลยทั้งหมดปฏิเสธข้อกล่าวหา ศาลนัดพร้อม 8 พ.ค.นี้

หากใครจำได้ เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว (2559) มีการปูพรมกวาดจับนักศึกษา นักกิจกรรม มหาวิทยาลัยรามคำแหง รวมถึงเยาวชนประชาชนที่อาศัยอยู่ในย่านหน้ารามฯ จำนวน 40 กว่าคน ตั้งแต่วันที่ 10 ต.ค.2559 เป็นต้นมา จนนำมาสู่การจับกุมผู้ต้องสงสัยในปริมณฑลด้วย ทั้งหมดมีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงอ้างเหตุสงสัยว่าคนเหล่านี้อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเตรียมการก่อวินาศกรรมคาร์บอมบ์ในช่วงที่จะมีการประชุมสุดยอดผู้นำกรอบความร่วมมือเอเชีย (ACD) ที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 9-10 ต.ค.2559 (อ่านต่อ) และพอดีว่าช่วงเวลานั้นตรงกับโอกาสครบรอบ 1 ปี การสลายการชุมนุมที่ตากใบด้วย

ผู้ที่ถูกจับกุมถูกทยอยปล่อยตัวจนเกือบหมด บางคนถูกแจ้งข้อหามีกระท่อมไว้ในครอบครองและถูกลงโทษปรับ ขณะที่ข่าวคราวเงียบหายไปนานแล้ว แต่ความเป็นจริง ยังมีคนอีก 9 คนที่ถูกแจ้งข้อหาหนักและถูกจำคุกอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีจนปัจจุบัน

ข้อมูลล่าสุดจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รวมทั้งญาติผู้ถูกควบคุมตัว ระบุว่า เมื่อวันที่ 22 ก.พ.2560 อัยการยื่นคำฟ้องนายตาลมีซี โต๊ะตาหยง และพวกรวม 9 คน ซึ่งส่วนใหญ่ถูกควบคุมตัวเพิ่มเติมในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ในฐานความผิด ร่วมกันอั้งยี่ ซ่องโจร มีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม จากข่าวที่ปรากฏยังไม่พบของกลางเป็นวัตถุระเบิดตามคำฟ้อง มีเพียงกล่องลังที่ใส่น้ำบูดูเท่านั้นที่เจ้าหน้าที่ตำรวจยึดได้จากห้องพัก

ประชาไทสัมภาษณ์เพิ่มเติมเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ รวมทั้งความคืบหน้าของคดี

อัยการโจทก์ฟ้องข้อหาอั้งยี่ พ.ร.บ. วัตถุระเบิดฯ - นัดพร้อม 8 พ.ค.

กิจจา อาลีอิสเฮาะ ทนายความและเลขานุการมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม กล่าวว่า เมื่อวันที่ 22 ก.พ.2560 อัยการโจทก์ยื่นฟ้องนายตาลมีซี หรือซี โตะตาหยง กับพวกรวม 9 คน เป็นจำเลยฐานความผิด “ร่วมกันอั้งยี่ ร่วมกันซ่องโจร มีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 209, 210 และมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครอง ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 55, 78

และวันที่ 8 พ.ค.2560 เวลา 09.00 น.ที่ศาลอาญา จะมีการนัดพร้อม ตรวจพยานหลักฐาน

จำเลยป่วย ญาติประกัน 1.4 ล้านศาลไม่อนุญาต

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 6 มี.ค.2560 แม่ของนายอุสมาน กาเด็งหะยี จำเลยที่ 4 ได้ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยยื่นหลักทรัพย์จำนวน 1,452,000 บาท เนื่องจากจำเลยมีโรคเกี่ยวกับสมอง ต้องพบแพทย์เป็นประจำ แต่ศาลไม่อนุญาต ระบุในคำร้องว่า “พิเคราะห์แล้ว ความผิดตามฟ้องมีอัตราโทษสูง พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรงและกระทบต่อความสงบสุขของบ้านเมือง หากปล่อยชั่วคราวอาจเกิดความเสียหายแก่รูปคดี อีกทั้งจำเลยที่ 4 อาจหลบหนี จึงยังไม่มีเหตุสมควรปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 4 ในระหว่างที่พิจารณา ให้ยกคำร้องคืนหลักประกัน”

คำฟ้องกล่าวหาจำเลยเป็นสมาชิก “ขบวนการกู้ชาติรัฐปัตตานี”

ในสำนวนคำฟ้อง ระบุว่า จำเลยทั้ง 9 กับพวกอีก 8 คนที่อยู่ระหว่างหลบหนียังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้ร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายบท หลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ เมื่อระหว่างวัน เดือน และเวลาใดไม่ปรากฏชัดประมาณกลางปี พ.ศ.2553 ถึงวันที่ 10 ต.ค.2559 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง ทั้งเวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องติดต่อกัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยทั้ง 9 กับพวก ได้บังอาจร่วมเป็นสมาชิกของคณะบุคคลที่ใช้ชื่อว่า “ขบวนการกู้ชาติรัฐปัตตานี” อันเป็นคณะบุคคลในรูปแบบของการวางแผนร่วมกันจะแบ่งแยกดินแดน และก่อการร้ายในพื้นที่กทม.และสมุทรปราการ

ทนายโต้รัฐสร้างเรื่องเพื่อเบี่ยงประเด็น

กิจจา กล่าวว่า ทางมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมให้ความสำคัญกับคดีนี้พอสมควร เพราะชัดเจนว่าเป็นการกลั่นแกล้งจำเลย เป็นการเบี่ยงประเด็นหลักที่ถูกโจมตีทางการเมืองอย่างหนัก เพราะเวลานั้นข่าวร้อนที่สุดอันหนึ่งคือ คณะรองนายกฯ 38 คน เช่าเครื่องลำใหญ่ที่มีความจุของผู้โดยสารได้ 416 คน เดินทางไปประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน - รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐอเมริกาอย่างไม่เป็นทางการ ระหว่างวันที่ วันที่ 29 ก.ย. - 1 ต.ค. 2559 ที่มลรัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา (อ่านต่อ) ขณะเดียวกันก็มีการกระพือข่าวการก่อวินาศกรรมในกรุงเทพฯ และกวาดจับเยาวชนเหล่านี้แทน

ตาลมีซี จำเลยลูก 1 เป็นเสาหลักครอบครัว – โต้บูดูไม่ใช่สารทำระเบิด

ญาตินายตาลมีซี เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้นายตาลมีซีเป็นคนขยันทำงาน อยู่เฉยๆ ไม่ได้ เพราะมีภาระต้องรับผิดชอบหลายอย่าง เขามีครอบครัวและมีลูก 1 คน อายุประมาณ 5-6 ปี พ่อแม่เขาเสียชีวิตนานแล้ว ส่วนแม่ยายของเขาก็พึ่งเสียชีวิตตอนที่เขาอยู่ในเรือนจำ พูดได้เลยว่าเขาเป็นเสาหลักของครอบครัว และเขาไม่เคยมีประวัติในคดีความมั่นคงด้วย

ก่อนหน้าที่เขาจะขึ้นมาหางานที่ จ.สมุทรปราการ เขาทำอาชีพกรีดยางกับภรรยา พักอาศัยอยู่บ้านพ่อตาแม่ยาย แต่เพราะหลังๆ มานี้ราคายางถูกลงมากเลยขึ้นมาหางานทำ แต่ทำงานได้ 3-4 วัน ก็ถูกควบคุมตัวไป

ตัวของตาลมีซีถูกจำคุกจนปัจจุบัน บางวันที่มีนัดขึ้นศาลเขาใส่ชุดนักโทษมาศาล ตาลมีซีเคยเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า วันเกิดเหตุหลังเลิกงานเขามาเที่ยวห้องเพื่อนหน้า ม.รามฯ พอรุ่งเช้าเวลาประมาณ 5.00-6.00 น.  เจ้าหน้าที่บุกยิงทำลายประตูและโยนระเบิดควันเข้าไป

ญาติแสดงความเห็นใจภรรยาของตาลมีซีที่สภาพตอนนี้ประสบภาวะยากลำบากมาก จะทำงานก็ไม่มีสมาธิ แม่ก็พึ่งเสียชีวิต ส่วนสามีก็ถูกจับ จะขึ้นมาเยี่ยมก็ไม่ได้เพราะไม่มีเงิน

อย่างไรก็ตามญาติของตาลมีซียังติดใจเรื่องหลักฐานว่า มีหลักฐานอื่นอีกหรือไม่นอกจากกล่องน้ำบูดู มะนาว และมาม่า

“ถ้าแถวบ้านของพวกนี้เป็นของกิน ไม่ใช่สารทำระเบิด” ญาติตามีซีกล่าว

คำฟ้องระบุจำเลยที่ 3 (มูบารีห์) มีสารระเบิด PETN

ในสำนวนคำฟ้องนอกจากจะกล่าวถึงขบวนการกู้ชาติปาตานีแล้ว คำฟ้องยังระบุอีกว่า เมื่อวันที่ 15 ก.ย.2559 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง ถึงวันที่ 11 ต.ค.2559 เวลากลางคืนหลังเที่ยงคืน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยที่ 3 ได้บังอาจมีสารระเบิดชนิด PETN (Pentaerythritol Tetranitrate) มีน้ำหนัก ปริมาณเท่าใดไม่ปรากฏชัด ซึ่งเป็นสารระเบิดชนิดแรงสูง มีลักษณะสีขาวจนถึงสีเทาอ่อน และสีเหลือง ไม่ละลายน้ำ ซึ่งใช้ทำวัตถุระเบิดแบบผสมดินขยายการระเบิด ใช้ในฝักแคระเบิด หรือเชื้อปะทุ หรือใช้เป็นดินแดนระเบิดหลัก สามารถทำให้เกิดการส่งกำลังดันอย่างแรงต่อสิ่งห้อมล้อมโดยฉับพลัน

วันที่ 29 พ.ย.2559 เวลากลางวัน เจ้าพนักงานจับตัวจำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 3 ได้ และต่อมาเมื่อวันที่ 13 ธ.ค.2559 เวลากลางวัน เจ้าพนักงานจับตัวจำเลยที่ 4 ถึงจำเลยที่ 9 ได้ นำตัวส่งพนักงานสอบสวน ทำการสอบสวนแล้ว แต่ชั้นสอบสวน จำเลยทั้ง 9 ให้การปฏิเสธ

นักสิทธิฯ งง !! สารระเบิด PETN โผล่มาได้อย่างไร

เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายฯ เปิดเผยว่า ไม่แน่ใจว่าสารระเบิดชนิด PETN โผล่ในคำฟ้องได้อย่างไร ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่มีในข้อมูลข่าวสารเลย มีแต่ข่าวที่ยึดข้าวของเครื่องใช้ กล่องน้ำบูดูและเครื่องเทศเท่านั้น อย่างไรก็ตามในตัวคำฟ้องก็ไม่ได้เขียนระบุชัดเจนว่า จำเลยที่ 3 ถูกจับกุมที่ไหน วันเวลาใด และพร้อมของกลางสารระเบิดชนิด PETN ไว้ในครอบครองหรือไม่

“คงต้องรอวันนัดพร้อม ตรวจพยานหลักฐานว่า ทางอัยการโจทก์เขามีหลักฐานอะไรบ้าง แล้วศาลจะพิจารณาอย่างไรต่อหลักฐานเหล่านั้น” เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายฯ กล่าว

ด้านกิจจา เปิดเผยเพิ่มเติมเกี่ยวกับสารระเบิด PETN ว่า เจ้าหน้าที่ไปพบและเอามาจากไหนนั้นตนเองไม่ทราบ ทราบแต่เพียงว่าจำเลยที่ 3 ถูกจับกุมที่บ้าน อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส

“ตอนนี้ก็อยากทราบเหมือนกันว่าเจ้าหน้าที่ไปเจอสารระเบิดตัวนี้จากที่ใด ก็ต้องรอดูวัน 8 พ.ค.2560 วันนัดพร้อม ตรวจพยานหลักฐาน แต่จากประสบการณ์สารระเบิดตัวนี้ศาลไม่รับฟ้อง” กิจจากล่าว

ภาพโดย อิศเรศ เทวาหุดี (ดูภาพขนาดใหญ่)

จับแล้วปล่อย ปล่อยแล้วจับ นักสิทธิฯ สับสนกระบวนการ

เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายฯ ซึ่งติดตามคดีนี้มาตั้งแต่ต้นอธิบายว่า คดีนี้แรกเริ่มมีผู้ถูกจับกุม  5 คน คือ นายตาลมีซี นายอุสมาน นายอัมรี หะ นายนูรมาน อาบู และนายมุฟตาดีน สาและ ถูกควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 10 ต.ค.2559 พวกเขาเป็นคนจังหวัดนราธิวาส  กำลังศึกษาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ขณะเดียวกันก็ต้องการหางานทำใน กทม.เพื่อหารายได้ 

ก่อนหน้านี้มีนายอุสมาน ทำงานใน กทม. อยู่ก่อนแล้ว ส่วนคนที่เหลือตามมา กทม. และได้งานที่ จ.สมุทรปราการ พักอยู่ในห้องพักที่เจ้าหน้าที่ยึดของกลางเป็นกล่องลังใส่น้ำบูดู

คืนวันที่ 9 ต.ค.2559 พวกเขามาเที่ยวห้องพักนายอุสมานอยู่ใน ซ.รามคำแหง 53/1 เพื่อหาซื้อชุดทำงานจนดึกและนอนค้างคืนที่ห้องพักดังกล่าว

จนถึงวันที่ 10 ต.ค.2559 เจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้ปฏิบัติการเข้าจับกุมนักศึกษาและผู้ที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้ ม.รามคำแหง ไปที่ สน.หัวหมาก ทั้งหมด 40 กว่าคนรวมกับพวกเขาด้วย ทั้งหมดได้รับการทยอยปล่อยตัว ยกเว้นพวกเขาทั้ง 5 คน ที่ยังคงถูกควบคุมตัว ในวันที่ 11 ต.ค.2559 ถูกนำตัวไปศาลอาญา และถูกลงโทษปรับเนื่องจากมีใบกระท่อมเอาไว้ในครอบครอง

หลังจากนั้นพวกเขาถูกนำตัวมาควบคุมตัวที่ สน.หัวหมาก อีกครั้งจนกระทั่งมีเจ้าหน้าที่ทหารนำตัวไปยังค่ายทหารแห่งหนึ่งซึ่งไม่มีใครรู้ว่าค่ายใดเพราะพวกเขาถูกปิดตา

ญาติของพวกเขาได้พยายามติดตามหาตัว ในวันที่ 16 ต.ค.2559 บรรดาญาติได้เดินทางจากจังหวัดนราธิวาส มายัง กทม. และทราบในวันนั้นว่า ทั้งหมดถูกควบคุมตัวอยู่ที่กองพันทหารราบมณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) จึงได้เดินทางเข้าเยี่ยมตอนเย็นของวันที่ 17 ต.ค.2559 อย่างไรก็ตามในวันที่เข้าไปเยี่ยมไม่มีใครทราบอีกว่าพวกเขาทั้งหมดจะถูกส่งตัวต่อไปยังค่ายทหารในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ซึ่งมีการประกาศใช้เฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

นายตาลมีซี นายอัมรี นายนูรมาน และนายมุฟตาดีน ถูกควบคุมตัวที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร ต.บ่อทอง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ส่วนนายอุสมาน ถูกควบคุมตัวที่กรมทหารพรานที่ 46 ต.กะลุวอเหนือ อ.เมือง จ.นราธิวาส

นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ทหารยังมีการจับกุมผู้ต้องสงสัยเพิ่มในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อีก 2 คน คือ นายมูบาห์รี กะนา และนายอับดุลบาซิร สือกะจิ ต่อมาก็ได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 28 ต.ค.2559 พร้อมนายตาลมีซี และนายอุสมาน ส่วนนายอัมรี นายนูรมาน และนายมุฟตาดีน ยังคงถูกควบคุมตัวที่ค่ายอิงคยุทธฯ

ระหว่างที่มีการปล่อยตัวนั้นนายอุสมานเข้าไปสมัครเป็นทหารพรานที่กรมทหารพรานที่ 49 ต.วังพญา อ.รามัน จ.ยะลา ตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่

ส่วนนายตาลมีซี นายมูบาห์รี และนายอับดุลบาซิร ถูกเรียกให้มารายงานตัวอีกครั้งที่ค่ายอิงคยุทธฯ อีกครั้งในวันที่ 12 พ.ย.2559 และถูกควบคุมต่อจนถึงวันที่ 29 พ.ย.2559 พวกเขาทั้งสามถูกส่งตัวมาที่กองบังคับการปราบปราม กทม. ตามหมายศาลคดีอาญาหมายเลขดำที่ พ.2497/2559 พร้อมแจ้งข้อกล่าวหาว่าได้กระทำความผิดฐานอั้งยี่ ซ่องโจร ปรึกษาตกลงวางแผนเพื่อจะกระทำการก่อการร้ายในเขตพื้นที่ กทม. และจังหวัดสมุทรปราการ

ถัดอีกวันหนึ่ง (13 พ.ย.2559) นายอัมรี นายนูรมาน และนายมุฟตาดีน ก็ได้รับการปล่อยตัวออกมาจากค่ายอิงคยุทธฯ

วันที่ 7 ธ.ค.2559 มีการควบคุมตัวผู้ต้องหาเพิ่มอีก 1 คน คือ นายนิเฮง มะยี ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) โครงการอพาร์ทเมนต์ เขตมีนบุรี กทม. และถูกส่งมาที่กองบังคับการปราบปรามฯ ตามหมายขังของศาลคดีอาญาหมายเลขดำที่ พ.2572/2559  เช่นเดียวกัน

วันที่ 13 ธ.ค.2559 นายอุสมานที่เป็นทหารพรานอยู่ถูกควบคุมตัวตามหมายจับอีกครั้งที่กรมทหารพรานที่ 49 และถูกส่งตัวมาที่ สภ.หนองจิก อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ก่อนจะส่งต่อไปยังกองบังคับการปราบปรามฯ กทม. พร้อมกับนายมีซี เจ๊ะหะ นายปฐมพร มิหิแอ นายอัมรัน มะยี และนายวิรัติ หะมิ ที่ถูกควบคุมตัวในพื้นที่ก่อนหน้านี้ ตามหมายศาลคดีอาญาหมายเลขดำที่ พ.2572/2559

ปัจจุบันทั้ง 9 คน เป็นจำเลยถูกฟ้องดำเนินคดีอาญาหมายเลขที่ อ.561/2560 และมีการสอบคำให้การไปแล้ว ทั้งหมดให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา

อย่างไรก็ตามในเชิงความสัมพันธ์ของจำเลยทั้ง 9 คน นั้นนายตาลมีซี นายอุสมาน นายนิเฮง นายมูบารีห์ และนายอับดุลบาซิร เป็นคนบ้านเดียวกัน ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่ ต.ซากอ อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส ส่วนจำเลยที่เหลือมาจากต่างที่กัน

ปล่อย 2 วัน ส่งร่วมโครงการศูนย์สันติฯ เหตุกังวลใจอยู่บ้านจะโดนจับกุมอีกรอบ

นายเปาซี อาบู บิดาของนายนูรมาน หนึ่งในคนที่ถูกจับกุมคุมขังแต่สุดท้ายถูกปล่อยตัวและไม่ถูกดำเนินคดีเปิดเผยว่า ลูกของตนจบประถมศึกษาในพื้นที่ ต่อมัธยมต้นที่ ร.ร.ดังแห่งหนึ่งใน อ.ตันหยงมัส จ.นราธิวาส ต่อมัธยมปลายที่ ร.ร.ดังอีกแห่งใน อ.เมือง จ.ยะลา และย้ายมาเรียนที่ กศน.จนจบ

ต่อมาขึ้นมาหางานทำที่ จ.สมุทรปราการ จนได้งานทำเป็นพนักงานแพ็คสินค้าที่ร้านแห่งหนึ่ง ทำได้เพียงแค่ 3 วันก็ถูกควบคุมตัวไปหลังจากไปเที่ยวห้องเพื่อนหน้า ม.รามฯ

ลูกของตนได้รับการปล่อยตัวแล้วและไม่ได้อยู่ในกลุ่มจำเลยทั้ง 9 คนด้วย แต่อยู่บ้านเพียง 2 วัน ลูกรู้สึกกังวลใจ ไม่กล้าอยู่บ้าน เพราะกลัวจะถูกควบคุมตัวอีก ตนเลยปรึกษาผู้ใหญ่บ้านจนได้รับคำแนะนำให้เข้าร่วมโครงการดะวะห์ ของศูนย์สันติสุขที่ค่ายอิงคยุทธฯ จนตอนนี้ก็ยังอยู่ที่นั่น ตนเองก็รู้สึกหมดกังวลเพราะอยู่นั่นก็ไม่ได้ถูกทำร้ายร่างกายอะไร แต่หากอยู่บ้านไม่แน่ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจอาจจะมาคุมตัวอีก

ถึงปล่อยตัว อายุความยังอยู่ –โครงการดะวะห์ ฝึกวิชาชีพ ผู้ต้องสงสัยต้องร่วม 

ทนายกิจจา เปิดเผยว่า กรณีของนายนูรมาน นายมุฟตาดีน และนายอัมรี ถึงแม้ว่าจะได้รับการปล่อยตัวออกมาอยู่ข้างนอกแล้วก็ตาม แต่เมื่อมีการแจ้งข้อกล่าวหาในชั้นสอบสวนแล้ว อายุความก็ยังอยู่ เพียงแค่ยังไม่ถูกฟ้องและยังไม่ได้เป็นจำเลย

ส่วนโครงการอบรมจริยธรรมดะวะห์สัญจรที่นายนูรมานเข้าร่วมนั้น ตามความเข้าใจส่วนตัว เป็นโครงการในส่วนของศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) ส่วนใหญ่ระยะเวลาร่วมโครงการประมาณ 2-3 เดือน แต่หากเป็นโครงการฝึกวิชาชีพ ระยะเวลาร่วมโครงการประมาณ 6 เดือน ซึ่งตามความผิดอาญาคดีความมั่นคง ผู้ต้องสงสัยทุกคนจะต้องร่วมโครงการของเจ้าหน้าที่เสียก่อน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net