Skip to main content
sharethis

ผู้คนในพม่าที่ตั้งตารอหยุดยาวในช่วงสงกรานต์ต้องเปลี่ยนแผนอีกครั้ง หลังจากต้นเดือนมีนาคม รัฐบาลพม่าประกาศมาอย่างกระชั้นชิดให้ลดวันหยุด "มหาสงกรานต์" จาก 10 วัน เหลือ 5 วัน โดยให้เหตุผลว่าหยุด 10 วัน กระทบธุรกิจ-การเดินทาง-กระจายสินค้า แต่ยังให้ จนท.รัฐหยุด 10 วันแล้วค่อยเปลี่ยนปีหน้า ทำให้ลูกจ้างเอกชนรู้สึกเสียเปรียบ จนเกิดเหตุประท้วงขอคืนวันหยุด 10 วัน

นักศึกษาพม่าร่วมในขบวนแห่เทศกาลสงกรานต์ที่มัณฑะเลย์ ประเทศพม่าเมื่อ 12 เมษายนปี 2555 (ที่มา: แฟ้มภาพ/Htoo Tay Zar/Wikipedia)

ปฏิทินวันหยุดพม่าในปี 2559 จะเห็นวันหยุดสีแดงเถือกเนื่องในวันสงกรานต์ระหว่าง 11-20 เมษายน และเมื่อรวมกับวันเสาร์อาทิตย์ก็จะเป็นวันหยุดยาวตั้งแต่ 9-20 เมษายน หรือหยุด 12 วัน

ทั้งนี้โฆษกสำนักงานประธานาธิบดีพม่า ซอเท ได้ประกาศมาตั้งแต่ 9 มีนาคม ว่ารัฐบาลพม่าจะลดวันหยุดช่วงติงยาน หรือเทศกาลสงกรานต์จากเดิม 10 วัน ลดเหลือ 5 วัน คือจากเดิม 11 ถึง 20 เมษายนในปีที่แล้ว มาเป็น 13 ถึง 17 เมษายนเท่านั้น โดยให้เหตุผลว่าวันหยุด 10 วัน เป็นอุปสรรค์ต่อการทำงาน การบริการธนาคาร ทำให้การเดินทางและการกระจายสินค้าล่าช้า เนื่องจากมีวันหยุดที่ยาวนาน

โดยวันหยุดที่ลดลงในช่วงสงกรานต์ Coconut Yangon ซึ่งอ้างคำแถลงของซอเท ระบุว่า รัฐบาลพม่าจะพิจารณานำวันหยุด 5 วัน ไปชดเชยให้ในวันที่ 4 และ 6 ตุลาคม ช่วงวันออกพรรษา 2 พฤศจิกายน ช่วงวันลอยกระทง และ 30 และ 31 ธันวาคมช่วงวันขึ้นปีใหม่ อย่างไรก็ตามการจัดวันหยุดใหม่ 5 วันยังไม่มีความชัดเจน ต้องรอการประกาศอย่างเป็นทางการ

ทั้งนี้ประกาศของสำนักงานประธานาธิบดีพม่าระบุว่า แม้จะมีการเปลี่ยนวันหยุด แต่เจ้าหน้าที่รัฐบาลพม่ายังคงมีวันหยุดสงกรานต์ 10 วันในปีนี้ แต่จะไปลดวันหยุดเหลือ 5 วันในปีหน้า ส่วนผู้ที่ได้จองการเดินทางเอาไว้แล้ว ก็สามารถทำตามแผนการเดินทางได้ แต่วันหยุดตอนนี้มีเพียง 5 วันเท่านั้น

สำนักข่าวอิระวดีระบุว่า วันหยุดสงกรานต์ 10 วัน เริ่มต้นในสมัยรัฐบาลทหารพม่าเมื่อปี 2550 เกิดขึ้นหลังจากย้ายเมืองหลวงใหม่ไปที่เนปิดอว์ได้ 2 ปี

ทั้งนี้เจ้าหน้าที่รัฐบาลพม่าที่เมืองหลวงและแรงงานทั่วประเทศพม่าจะเดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงวันหยุดนี้ และผู้ที่ทำงานในช่วงวันหยุดสงกรานต์จะได้ค่าจ้างเพิ่ม 2 เท่า

สำนักข่าวอิระวดีระบุว่า การประกาศของรัฐบาลพม่าในเดือนมีนาคมถือว่ากระชั้นชิด เพราะหลายคนอาจจะวางแผนการเดินทางแล้ว มีคนจำนวนมากแสดงความไม่พอใจเนื่องจากการตัดวันหยุดกระทันหันทำให้นายจ้างได้เปรียบและลูกจ้างเสียเปรียบ

โดยการลดวันหยุดกระทันหันดังกล่าว ทำให้เมื่อ 26 มีนาคมที่ผ่านมา มีสมาชิกสหพันธ์แรงงานเมียนมา (CTUM) กว่าห้าพันคน ออกมาชุมนุมในย่างกุ้ง เรียกร้องให้คืนวันหยุด 10 วันด้วย ทั้งนี้จากรายงานของเมียนมาไทม์

วินเทงจีซอ ประธานสหพันธ์แรงงาน CTUM ระบุว่า จากการสำรวจข้อมูล พบว่าแรงงานไม่พอใจกับการลดวันหยุด เนื่องจากแรงงานที่ทำงานในโรงงานส่วนใหญ่มาจากภูมิลำเนาห่างไกล และประสบความยากลำบากในการกลับไปพบครอบครัวภายในช่วงวันหยุดเพียง 5 วัน

"พวกเราไม่ใช่พนักงานของรัฐบาล พวกเราเป็นคนงานภาคเอกชน มีวันลาน้อยนิด ในขณะที่พนักงานของรัฐบาลมีวันหยุดมากมาย ถ้าพวกรัฐบาลต้องการทำให้มีวันหยุดเท่ากัน ก็ต้องให้สิทธินั้นแก่เราเหมือนกัน" วินเทงจีซอกล่าว

ขณะที่วินเทงจีซอกล่าวด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงตัวเลขวันหยุดสร้างปัญหาให้กับทั้งนายจ้างและลูกจ้าง

"แรงงานส่วนใหญ่ในโรงงานที่ฉันทำงาน มาจากพื้นที่ห่างไกลจากภาคย่างกุ้ง ไม่อาจกลับภูมิลำเนาได้ในช่วงวันหยุด 5 วัน พวกเรายอมรับวันหยุด 10 วันเท่านั้น" ฉ่วยฉ่วยถั่นกล่าวกับผู้สื่อข่าวเมียนมาไทม์

 

แปลและเรียบเรียงจาก

Thingyan Holiday Cut Short, By SAN YAMIN AUNG, Irrawaddy, 10 March 2017

Workers want 10-day Thingyan holiday, Zaw Zaw Htwe, Myanmar Times, Monday, 27 March 2017

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net