เปิดข้อสังเกต 'ศูนย์ทนายฯ -ไอลอว์' ต่อประกาศงดติดตามโพสต์ 'สมศักดิ์-ปวิน-แอนดรูว์'

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และ ไอลอว์ ออกข้อสังเกตต่อประกาศกระทรวงดิจิทัลฯ สั่ง ปชช. งดติดตาม ติดต่อ เผยแพร่โพสต์ 'สมศักดิ์-ปวิน-แอนดรูว์' ชี้ติดตาม หรือติดต่อบุคคลใดนั้นไม่ได้เป็นการกระทำความผิดต่อกฎหมาย ระบุประกาศไม่มีอำนาจกำหนดได้ว่าการกระทำอะไรจะเป็นความผิด 

13 เม.ย. 2560 จากกรณีวานนี้ (12 เม.ย.60) มีประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่องการงดเว้นการติดต่อกับบุคคลบนสื่ออินเทอร์เน็ต โดยระบุว่า ด้วยศาลอาญา ได้มีคำสั่งให้ระงับการแพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันไม่เหมาะสม ตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 จึงขอให้ประชาชนโดยทั่วไป งดการติดตาม ติดต่อ เผยแพร่ หรือกระทำการใดๆ ที่มีลักษณะเป็นการเผยแพร่ เนื้อหา ข้อมูล ของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ และ แอนดรูว์ แม็กเกรเกอร์ มาร์แชล (Andrew MacGregor Marshall บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต สื่อสังคมออนไลน์ ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อมิให้เป็นการกระทำความผิดว่าด้วย พ.ร.บ.ดังกล่าว ทั้งเจตนา และไม่เจตนา

โดยภายหลัง สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวง รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ ผู้ลงนามในประกาศดังกล่าว เปิดกับมติชนออนไลน์ ว่า ประกาศดังกล่าวเป็นหนังสือราชการฉบับจริงที่ออกจากกระทรวง เพื่อการติดต่อสื่อสารให้ประชาชนทราบถึงการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างถูกต้อง เพราะที่ผ่านมายังไม่มีการประกาศออกมาอย่างชัดเจนว่าข้อมูลใดสามารถเผยแพร่ได้ หรือต้องใช้วิจารณญาณอย่างไร ทั้งนี้ประกาศดังกล่าวเป็นไปตามคำสั่งของศาลอาญาที่ให้ระงับข้อมูลการที่เผยแพร่ออกไปอย่างไม่เหมาะสม

“สำหรับอำนาจหรือการพิจารณาว่าการติดต่อบุคคลดังกล่าวจะทำได้หรือไม่นั้น เช่น การไลค์หรือการแชร์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ค จะเป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)” สมศักดิ์ กล่าว

ด้าน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และ iLaw ได้ออกข้อสังเกตต่อประกาศฉบับดังกล่าวด้วย ดังนี้

ศูนย์ทนายฯ ชี้ติดตามติดใคร ไม่ได้ผิดต่อกฎหมายใด

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีข้อสังเกตต่อประกาศฉบับดังกล่าวต่อไปนี้

1. การจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลนั้นไม่สามารถกระทำได้ ยกเว้นแต่การกำหนดโดยกฎหมายประกาศฉบับดังกล่าวซึ่งมีเนื้อหาเป็นการจำกัดสิทธิของประชาชนให้เลิกการติดตาม ติดต่อ เผยแพร่ข้อมูลของบุคคลทั้งสามนั้นกลับไม่มีการอ้างถึงฐานที่มาของอำนาจตามกฎหมายระบุไว้ ศูนย์ทนายความฯเห็นว่าประกาศดังกล่าวเป็นเพียงแต่การ “สื่อสาร” ของกระทรวงดิจิทัลต่อสาธารณชนเท่านั้น แต่ไม่ได้มีฐานะเป็น “กฎ” หรือ “คำสั่ง” ซึ่งจะมีสภาพบังคับต่อประชาชนแต่อย่างใด 

2. การระบุถึงเหตุในการออกประกาศดังกล่าวมีลักษณะที่ไม่ชัดเจน “คำสั่งของศาลอาญาให้ระงับการเผยแพร่ข้อมูลข้อมูลคอมพิวเตอร์อันไม่เหมาะสมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550” นั้นเป็นข้อความซึ่งประชาชนทั่วไปไม่อาจเข้าใจได้เลยว่าศาลมีคำสั่งต่อ “ข้อเท็จจริง” ใดที่เกิดขึ้น อีกทั้งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ก็ไม่ได้ให้อำนาจศาลสั่งให้ประชาชนเลิกติดตามหรือติดต่อบุคคลใดได้ 

3. การติดตาม หรือติดต่อบุคคลใดนั้นไม่ได้เป็นการกระทำความผิดต่อกฎหมายใด ประชาชนย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกได้ ส่วนการเผยแพร่ข้อมูลนั้นจะเป็นความผิดต่อกฎหมายหรือไม่นั้นจะต้องพิจารณาจาก “เนื้อหา” ที่เผยแพร่ แต่กฎหมายไม่ได้กำหนดว่าการเผยแพร่ข้อมูลจากตัวบุคคลใดจะเป็นความผิดเสมอ ประชาชนทั่วไปย่อมมีวิจารณญานในการรับและเผยแพร่ข้อมูลจากบุคคลใดๆได้

4. การกระทำความผิดตามกฎหมายอาญานั้นต้องเป็นการกระทำโดยเจตนาเท่านั้น หากเป็นการกระทำโดยไม่เจตนาแล้วโดยหลักแล้วไม่เป็นความผิด ยกเว้นแต่มีกฎหมายกำหนดให้การกระทำโดยประมาทนั้นเป็นความผิด อย่างไรก็ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 นั้นไม่มีการกำหนดฐานความผิดเกี่ยวกับการกระทำโดยประมาทไว้แต่อย่างใด

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่าประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง การงดเว้นการติดต่อกับบุคคลบนสื่ออินเทอร์เน็ต นั้นเป็นข้อเสนอแนะที่สร้างความสับสนต่อประชาชนทั่วไป ทำให้ประชาชนหวาดกลัวที่จะใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร และเนื้อหาตามประกาศดังกล่าวยังขัดต่อรัฐธรรมนูญและพันธกรณีตามกติการะกว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งรับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการแสดงออกไว้

 

ไอลอว์ระบุประกาศไม่มีอำนาจกำหนดได้ว่าการกระทำอะไรจะเป็นความผิด 

ขณะที่ iLaw ได้ตั้งข้อสังเกตเช่นกันว่า เมื่อพิจารณาตามประกาศฉบับดังกล่าว เปรียบเทียบกับพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง มีข้อสังเกตดังนี้

1. ตามที่ประกาศฉบับดังกล่าวอ้างถึงคำสั่งของศาลอาญา ที่ให้ระงับการแพร่หลายซึ่งข้อมูลอันไม่เหมาะสมนั้น เรียกเป็นภาษาที่เข้าใจกันง่ายๆ ก็คือ คำสั่งศาลให้ "บล็อคเว็บ" นั่นเอง ซึ่งจากสถิติเท่าที่ทราบ แต่ละปีศาลอาญามีคำสั่งบล็อกเว็บไซต์หลายพัน URL อยู่แล้วเป็นเรื่องปกติ แต่ในกรณีนี้ ระบุว่า ศาลสั่งมีคำสั่งเรื่องบล็อคเว็บเท่านั้น แต่การไม่ให้ติดตามหรือติดต่อบุคคลทั้งสามเป็นสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับคำสั่งศาล (ดูสถิติการบล็อกเว็บเพิ่มเติมที่นี่ : https://freedom.ilaw.or.th/blog/webblockstat20132014)

2. เมื่อศาลมีคำสั่ง "บล็อคเว็บ" อาจเป็นเพราะศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า ในเว็บไซต์นั้นๆ มีเนื้อหาบางประการที่เข้าข่าย ตามมาตรา 20 ของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ คือ เป็นเนื้อหาที่เป็นความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และผิดต่อกฎหมายอาญาในหมวดความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือเป็นเนื้อหาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี อย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อมีคำสั่งให้บล็อคเว็บไซต์ใด ก็อาจสั่งให้บล็อคทั้ง URL แต่ไม่ได้หมายความเนื้อหาทุกส่วนของเว็บไซต์ที่ศาลสั่งบล็อคนั้นจะเป็นความผิดทั้งหมด

3. การพิจารณาว่า การกระทำใดจะเป็นความผิดต่อกฎหมายและมีโทษหรือไม่ ต้องพิจารณาตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ในที่นี้ คือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14, 16 ซึ่งเอาผิดเฉพาะการ "นำเข้า" "เผยแพร่" "ส่งต่อ" ข้อมูล เรียกเป็นภาษาที่เข้าใจกันง่ายๆ ก็คือ การโพสต์หรือการแชร์ เท่านั้น ในปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายที่เอาผิดการ "ติดตาม" หรือ "ติดต่อ" และการ "กดไลค์" 

4. การ "เผยแพร่" หรือ "ส่งต่อ" ข้อมูลที่มีลักษณะผิดกฎหมายอาจเป็นความผิดด้วย ส่วนการเผยแพร่หรือส่งต่อ ข้อมูลจากแหล่งต้นทางที่เคยถูกศาลอาญาสั่งบล็อคเว็บ จะเป็นความผิดหรือไม่ก็ต้องพิจารณาเฉพาะข้อมูลที่มีการเผยแพร่หรือส่งต่อเป็นกรณีๆ ไป จะถือว่า การเผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลทุกอย่างจากแหล่งต้นทางที่เคยถูกศาลอาญาสั่งบล็อคเว็บเป็นความผิดเสมอไปไม่ได้

5. ประกาศฉบับดังกล่าวเป็นประกาศในลักษณะแจ้งข้อมูลให้ทราบ เพื่อให้ประชาชนระมัดระวังในการใช้สื่อสังคมออนไลน์เท่านั้น ประกาศฉบับดังกล่าวไม่ได้กำหนดการกระทำที่เป็นความผิดต่อกฎหมายและไม่ได้กำหนดโทษ ประกาศกระทรวงที่ออกและลงนามโดยปลัดกระทรวงมีสถานะเป็นเพียงกฎหมายลำดับรอง ไม่มีอำนาจกำหนดได้ว่าการกระทำอะไรจะเป็นความผิด เพราะการกำหนดการกระทำที่เป็นความผิดต้องออกเป็นกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติเท่าน้้น 

ดังนั้น การจะพิจารณาว่า การกระทำใดบนโลกออนไลน์จะเป็นความผิดหรือไม่ ต้องพิจารณาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับปี 2550 ประกอบกับประมวลกฎหมายอาญา และกฎหมายระดับพระราชบัญญัติอื่นเท่านั้น ซึ่งก็ต้องพิจารณาตามหลักเกณฑ์เดียวกับตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ที่พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ประกาศใช้ การออกประกาศดังกล่าวไม่ได้ขยายขอบเขตการกระทำที่ผิดกฎหมายออกไป และไม่มีใครสามารถนำเอาประกาศกระทรวงมาใช้ลงโทษบุคคลใดได้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท