ประธาน สนช.รับมอบ รธน. 60 ชี้จากนี้ต้องพิจารณา กม.ตาม ม.77 รับฟังรอบด้าน-เป็นระบบ

ประธาน สนช.รับมอบรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 อัญเชิญมาประดิษฐาน ณ อาคารรัฐสภา คาดสามารถพิจารณาร่างกฎหมายปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน เตรียมเชิญหน่วยงานชี้แจงรับฟังความเห็นตามมา ม.77

ที่มาภาพ เว็บไซต์วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภา

เมื่อวันที่ 12 เม.ย.ที่ผ่านมา เว็บไซต์วิทยุและโทรทัศน์รัฐสภารายงานว่า พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รับมอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่ ธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส เลขาธิการคณะรัฐมนตรี อัญเชิญมายังอาคารรัฐสภา 2 โดยมี สรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร วรารัตน์  อติแพทย์ เลขาธิการวุฒิสภา และข้าราชการรัฐสภา เข้าร่วมในพิธี จากนั้นจะนำไปประดิษฐานภายในพิพิธภัณฑ์รัฐสภา ใต้ฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ตามธรรมเนียมปฏิบัติ

ประธาน สนช. กล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงลงพระปรมาภิไทย รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ไว้จำนวน 3 ฉบับ โดย 1 ใน 3 ฉบับ จะนำมาประดิษฐานไว้ที่รัฐสภาตามโบราณราชประเพณี

พรเพชร ยังกล่าวถึงการประชุม สนช. ในวันที่ 20 เม.ย. นี้ว่า สนช.จะมีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. …. และร่าง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งการพิจารณาร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้ สนช.สามารถแก้ไขเนื้อหาได้ตามสมควรเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ โดยส่วนตัวคาดว่า สนช. จะสามารถพิจารณาร่างกฎหมายทั้งสองฉบับให้แล้วเสร็จได้ภายใน 120 วัน ซึ่งเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญฉบับ ปี 2560 กำหนดไว้ และหลังจากที่ร่าง พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศมีผลบังคับใช้แล้ว จะทำให้การทำหน้าที่ของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ ขณะที่การพิจารณากฎหมายของ สนช. ต้องดำเนินการตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ส่วนกฎหมายที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของ สนช. นั้น จะมีการตรวจสอบว่ามีร่างกฎหมายฉบับใดที่ต้องมีการรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม ก็จะมีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาแสดงความคิดเห็นในชั้นกรรมาธิการ ทั้งนี้ สนช. ไม่สามารถส่งร่างกฎหมายที่อยู่ระหว่างการพิจารณากลับไปยังหน่วยงานไปดำเนินการรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมได้ เพราะไม่มีอำนาจดำเนินการ

สำหรับมาตรา 77 บัญญัติไว้ว่า  รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จําเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมาย ที่หมดความจําเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดํารงชีวิตหรือการประกอบอาชีพ โดยไม่ชักช้าเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน และดําเนินการให้ประชาชนเข้าถึงตัวบทกฎหมายต่าง ๆ ได้โดยสะดวกและสามารถเข้าใจกฎหมายได้ง่ายเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง

ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็น และการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนํามาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน เมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับแล้ว รัฐพึงจัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายทุกรอบระยะเวลาที่กําหนด โดยรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องประกอบด้วย เพื่อพัฒนากฎหมายทุกฉบับให้สอดคล้องและเหมาะสม กับบริบทต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป

รัฐพึงใช้ระบบอนุญาตและระบบคณะกรรมการในกฎหมายเฉพาะกรณีที่จําเป็น พึงกําหนดหลักเกณฑ์ การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐและระยะเวลาในการดําเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่บัญญัติไว้ ในกฎหมายให้ชัดเจน และพึงกําหนดโทษอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท