Skip to main content
sharethis
 
กระทรวงแรงงาน เผยอาชีพ 'งานขาย-ธุรการทั่วไป-บัญชี-การเงิน' ยังมีความต้องการแรงงานสูง
 
เมื่อวันที่ 9 เม.ย. นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ ผู้ตรวจราชการกระทรวง ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) แสดงข้อมูลว่าในเดือนมีนาคม 2560 ประเทศไทยยังมีอัตราการว่างงาน 1.3% เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนถึง 99,000 คน และกลุ่มคนที่ว่างงานในเดือนนี้ ส่วนใหญ่เป็นผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อน ซึ่งมีจำนวนมากถึง 274,000 คน หรือเพิ่มขึ้น 49,000 คน โดยเป็นผู้ว่างงานจากภาคการบริการและการค้า 125,000 คน ภาคการผลิต 105,000 คน และภาคเกษตรกรรม 44,000 คน นั้น
 
เมื่อพิจารณาจากข้อมูลตำแหน่งงานว่างของกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานพบว่า ไตรมาสแรกปี 2560 ยังมีตำแหน่งงานว่างกว่า 50,000 อัตรา ในขณะเดียวกันข้อมูลจากภาคเอกชน เช่น JOBTHAI.COM ได้วิเคราะห์และคาดการณ์เรื่องสถานการณ์ความต้องการแรงงานไทยทั่วประเทศ ในไตรมาสที่ 2 พร้อมแนวโน้มของอาชีพที่ยังได้รับความนิยมสูงสุดของปี 2560 พบว่า ตำแหน่งงานว่างทั่วประเทศกว่า 87,000 อัตรา จังหวัดที่มีอัตราความต้องการแรงงานสูงสุดอันดับแรกคือ กรุงเทพฯ ต้องการจำนวน 45,752 อัตรา คิดเป็นร้อยละ 52.70 จากจำนวนงานทั้งหมดทั่วประเทศ
 
โดยอาชีพที่มีความต้องการแรงงานสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ งานขาย 5,728 อัตรา งานธุรการทั่วไป 1,420 อัตรา และงานบัญชี-การเงิน 806 อัตรา รองลงมาเป็นสมุทรปราการ จำนวน 6,770 อัตรา ชลบุรี 5,211 อัตรา ปทุมธานี 3,860 อัตรา และสมุทรสาคร 2,769 อัตรา ทั้งนี้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์กรมการจัดหางานได้บรรจุงาน 23,617 คน เดือนมีนาคมบรรจุงาน 26,209 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.97 ประกอบกับตัวเลขของสำนักงานประกันสังคม พบว่าเดือนกุมภาพันธ์ 2560 มีผู้ประกันตนใช้บริการกรณีว่างงานลดลงจากปี 2559 ร้อยละ 10.72 และมีจำนวนผู้ประกันตนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.56 เมื่อเทียบกับปีก่อน
 
นอกจากนี้ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของเดือนมีนาคม 2560 ซึ่งพบว่า ดัชนีฯ อยู่ที่ 76.8 เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ที่ดัชนีอยู่ที่ 75.8 โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนมีนาคม ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และสูงสุดในรอบ 24 เดือน อีกทั้ง ยังมีดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำในเดือนมีนาคม ก็ปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน โดยดัชนีอยู่ที่ 71.4 จากเดือนกุมภาพันธ์ที่อยู่ระดับ 70.3 อีกด้วย กระทรวงแรงงาน มีความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมให้ประชากรวัยแรงงานมีงานทำโดยการสร้างบริการที่สามารถเข้าถึงแหล่งการจ้างที่สะดวกรวดเร็ว ทั้งการจัดตั้งศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทยหรือ สมาร์ทจ๊อบเซ็นเตอร์ 77 แห่งทั่วประเทศ จัดตั้งศูนย์บ่มเพาะด้านวิชาชีพของคนพิการในประเทศไทย (Job Coach Thailand Center) จัดกิจกรรมนัดพบแรงงานเป็นประจำในทุกพื้นที่ทั่วประเทศมีบริการจัดหางานบนมือผ่าน Smart Job Application รวมถึงมีบริการแนะแนวอาชีพ และกองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้านสำหรับผู้ต้องการประกอบอาชีพอิสระอีกด้วย สามารถสอบถามรายละเอียดที่สายด่วน 1694
 
สำหรับผู้ที่ต้องการเพิ่มทักษะฝีมือแรงงานเพื่อการประกอบอาชีพต่าง ๆ กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้เปิดหลักสูตรอบรมหลากหลายวิชาชีพ ที่ศูนย์/สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศสามารถเลือกเข้ารับการอบรมได้ตามความถนัดโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ www.dsd.go.th
 
 
นายจ้างนำหนี้อื่นมาหักค่าจ้างลูกจ้างหรือยึดบัตรประชาชนมีโทษหนัก
 
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน แจงข้อกฎหมายนายจ้างนำค่าชุดทำงาน ค่าที่พักอาศัย หรือค่าใช้จ่ายอื่นมาหักจากเงินค่าจ้างของลูกจ้าง หรือยึดบัตรประชาชนใช้เป็นหลักประกันการทำงานไม่ได้ ฝ่าฝืนมีโทษทั้งจำทั้งปรับ
 
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ชี้แจงว่า จากกรณีมีข่าว เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยบางส่วนถูกหักค่าชุดทำงาน ค่าเช่าห้อง ถูกนายจ้างยึดบัตรประจำตัวประชาชน เพื่อเป็นหลักประกันการทำงานนั้น นายจ้างหรือสถานประกอบกิจการต่างๆ ไม่สามารถนำค่าใช้จ่ายใดๆ มาหักจากค่าจ้างของลูกจ้างได้ เนื่องจาก พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ได้กำหนดห้ามนายจ้างหักเงินค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดหรือค่าล่วงเวลาในวันหยุด เว้นแต่การหักเพื่อ 1. ชำระภาษีเงินได้ตามจำนวนที่ลูกจ้างต้องจ่ายหรือชำระเงินอื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ 2. ชำระค่าบำรุงสหภาพแรงงานตามข้อบังคับของสหภาพแรงงาน 3. ชำระหนี้สินสหกรณ์ออมทรัพย์ หรือสหกรณ์อื่นที่มีลักษณะเดียวกันกับสหกรณ์ออมทรัพย์หรือหนี้ที่เป็นไปเพื่อสวัสดิการที่เป็นประโยชน์แก่ลูกจ้างฝ่ายเดียวโดยได้รับความยินยอมล่วงหน้าจากลูกจ้าง 4. เป็นเงินประกันตามมาตรา 10 หรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายจ้างซึ่งลูกจ้างได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง และ 5. เป็นเงินสะสมตามข้อตกลงเกี่ยวกับกองทุนเงินสะสม การหักเงินจากลูกจ้างทั้ง 5 ประเภท ที่กล่าวข้างต้นต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของค่าจ้าง ที่ลูกจ้างได้รับ และต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อนเท่านั้น จึงจะหักเงินทั้ง 5 ประเภทดังกล่าวข้างต้นได้ การที่นายจ้างนำหนี้อื่นมาหักจากค่าจ้าง มีโทษตามมาตรา 144 จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
อธิบดี กสร. ชี้แจงเพิ่มเติมว่า สำหรับกรณีที่ลูกจ้างถูกนายจ้างยึดบัตรประจำตัวประชาชนไว้ โดยเฉพาะตำแหน่งพนักงานรักษาความปลอดภัยถือว่านายจ้างมีความผิด เพราะนายจ้างไม่สามารถยึดบัตรประชาชนใช้เป็นหลักประกันการทำงานได้ เนื่องจากพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ให้นายจ้างเรียกหลักประกันการทำงานจากลูกจ้างได้ 3 ประเภท คือ เงินสด ทรัพย์สิน และการค้ำประกันด้วยบุคคล ซึ่งการเรียกหลักประกันจะต้องไม่เกินวงเงิน 60 เท่า ของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายวันที่ลูกจ้างได้รับ การที่นายจ้างยึดบัตรประชาชนไว้เป็นหลักประกันการทำงาน หรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง ขัดต่อหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานประกาศกำหนด มีโทษตามมาตรา 144 จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ หากลูกจ้างไม่ได้รับความเป็นธรรม ถูกหักค่าชุดทำงาน ค่าที่พักอาศัย ถูกยึดบัตรประจำตัวประชาชนเป็นหลักประกันการทำงาน สามารถร้องเรียนและเรียกร้องสิทธิประโยชน์คืนได้ โดยติดต่อที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 - 10 , สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด หรือที่โทรศัพท์สายด่วน 1546
 
 
เปิดแอพ “SSO CONNECT” บริการผู้ประกันตน
 
นายสุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เผยว่า กระทรวงแรงงาน สำนักงานประกันสังคม ขานรับนโยบายรัฐบาล และกระทรวงแรงงาน โดยพลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีนโยบายในการพัฒนากำลังคนของประเทศ ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560 – 2579) เพื่อสร้างความ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เพื่อยกระดับจากไทยแลนด์ 2.0 สู่ 4.0 รวมทั้งพัฒนาระบบสารสนเทศการบริหารภายในองค์กรและสามารถรองรับการปรับเปลี่ยนการทำงานในยุกดิจิทัล พัฒนาระบบและเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อการเข้าถึงงานบริการภารรัฐในรูปแบบใหม่
 
ทั้งนี้การดำเนินการข้างต้นจะขับเคลื่อนด้วยกลไก “ประชารัฐ” โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพื่อสนองนโยบายดังกล่าว สำนักงานประกันสังคม ได้พลิกโฉมการให้บริการช่องทางใหม่เพื่อรองรับไทยแลนด์ 4.0 เชื่อมโยงการให้บริการของสำนักงานประกันสังคมกับผู้ประกันตน ผ่านสมาร์ทโฟน ซึ่งผู้ประกันตนสามารถตรวจสอบสิทธิประโยชน์ เช็คสิทธิสถานพยาบาล สิทธิทันตกรรมแบบไม่ต้องสำรองจ่าย เช็คประวัติการเบิกสิทธิประโยชน์ ตรวจสอบยอดเงินสะสมชราภาพ รวมทั้งติดตามข่าวสารประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ จากสำนักงานประกันสังคมได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และง่ายขึ้น ทุกที่ทุกเวลา ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
 
นายสุรเดช กล่าวแนะนำผู้ประกันตนสามารถลงทะเบียนใช้งานง่าย ๆ เพียงเข้าไปที่ ssoconnect.mywallet.co ใช้ได้ทั้งระบบ ios และ Andriod โดยจะเริ่มเปิดให้ผู้ประกันตนดาวน์โหลดอย่างเป็นทางการในวันนี้ (10 เมษายน 2560 ) เป็นต้นไป
 
 
ก.คลัง ออก 4 เกณฑ์ เลื่อนขั้นเงินเดือน “ลูกจ้างประจำส่วนราชการ” 1.5 แสนคนทั่วประเทศ ครึ่งปีแรก
 
ก.คลัง ออก 4 เกณฑ์เลื่อนขั้นค่าจ้างลูกจ้างประจำส่วนราชการครึ่งปีแรก เผยหลักเกณฑ์ใหม่นี้ ลูกจ้างประจำส่วนราชการ 1.5 แสนคนทั่วประเทศ จะสามารถได้รับค่าจ้างสูงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นสูงของตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งในแต่ละระดับ เผยลูกจ้างประจำเมื่อได้รับอัตราค่าจ้างถึงอัตราค่าจ้างขั้นสูงแล้ว ยังจะมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนพิเศษ ตามเกณฑ์ด้วย เผย เกณฑ์ใหม่ยังมีผลถึงลูกจ้างเกษียณอายุให้ได้รับการเลื่อนขั้นค่าจ้างในการคำนวณบำเหน็จลูกจ้างด้วย
 
วันนี้ (9 เม.ย.) มีรายงานจากกระทรวงการคลัง ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงการคลัง ได้เวียนหนังสือถึงผู้บริหารระดับสูง ปลัดกระทวง อธิบดี ผู้ว่าราชการจังหวัด เลขาธิการ อธิการบดี และผู้บัญชาการ เพื่อชี้แจงถึงหลักเกณฑ์และวิธีการให้ลูกจ้างประจำของส่วนราชการได้รับอัตราค่าจ้างสูงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นสูงของตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งในแต่ละระดับ ภายหลังได้กำหนดบัญชีโครงสร้างอัตราค่าจ้างลูกจ้างของส่วนราชการ และกำหนดบัญชีคุณสมบัติเฉาสะตำแหน่งและอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ขั้นสูงของลูกจ้างประจำของส่วนราชการให้ส่วนราชการถือปฏิบัติ
 
ทั้งนี้ เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี ที่เห็นชอบให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือนสูงกว่าขั้นสูงของตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งโดยกำหนดให้ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ดำรงตำแหน่งประเภท และระดับใดที่ได้รับเงินเดือนถึงอัตราเงินเดือนขั้นสูง หรือได้รับเงินเดือนถึงอัตราเงินเดือนสูงสุด (เงินเดือนต้น) เมื่อได้รับการพิจารณาเลื่อนเงินเดือนตามรอบการประเมินผลการปฏิบัติราชการแล้วให้ได้รับเงินเดือนในระดับถัดไปของแต่ละประเภทตำแหน่ง โดยมีผลบังคับใช้เมื่อ 1 ต.ค. 2559 ทั้งนี้จะมีลูกจ้างของส่วยราชกรประจำได้รับประโยชน์ 155,053 คน
 
มีรายงานว่า หนังสือเวียนเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างขั้นสูงของลูกจ้างประจำฉบับนี้ กระทรวงการคลัง ได้ออกคำสั่งให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับเงินเดือนสูงกว่าขั้นสูงของข้าราชการพลเรือนสามัญที่มีผลบังคับแล้ว โดยอาศัยอำนาจตามข้อ 8 แห้งระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยลูกจ้างประจำของส่วนราชการ พ.ศ. 2537 เห็นสมควรกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการให้ลูกจ้างประจำของส่วนราชการได้รับอัตราค่าจ้างสูงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นสูงของตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งในแต่ละระดับ สรุปได้ดังนี้
 
1. ลูกจ้างประจำผู้ดำรงตำแหน่งใด ระดับใด ที่ได้รับค่าจ้างถึงอัตราค่าจ้างขั้นสูง (ค่าจ้างต้น) ของตำแหน่งในแต่ละระดับ เมื่อได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นค่าจ้างตามรอบการประเมินผลการปฏิบัติราชการแล้ว ให้ได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้นตามที่กำหนด ดังนี้
 
1.1 ตำแหน่งใด ระดับใด ที่กระทรวงการคลังกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นสูงไว้ในบัญชีแต่ละกลุ่ม ให้ได้รับค่าจ้างสูงขึ้นต่อไปจนถึงอัตราค่าจ้างขั้นสูงของบัญชีนกลุ่มนั้นๆ ยกเว้น ตำแหน่งช่างจัดสถานที่พิธีการ ระดับ ข2 ที่กระทรวงการคลังกำหนดให้ใช้อัตราค่าจ้างขั้นสูงของบัญชีกลุ่มที่ 4 ขั้นที่ 16 อัตราค่าจ้าง 46,470 บาท ให้ได้รับอัตราค่าจ้างสูงขึ้นต่อไปจนถึงขั้นที่ 19.5 อัตราค่าจ้าง 54,170 บาท ซึ่งเทียบเท่าอัตราเงินเดือนขั้นสูงสุดของข้าราชการตำแหน่งประเภททั่วไป (ขั้นสูงสุด 54,820 บาท)
 
1.2 ตำแหน่งใด ระดับใด ที่กระทรวงการคลังกำหนด ให้ใช้อัตราค่าจ้างขั้นสูงสุดของบัญชีแต่ละกลุ่ม ให้ได้รับค่าจ้างสูงขึ้นต่อไป จนถึงอัตราค่าจ้างขั้นสูงของระดับถัดไป 1 ระดับ ในกลุ่มบัญชีถัดไป (โดยเทียบชั้นใกล้เคียงในทางที่สูงกว่าของกลุ่มบัญชีถัดไป)
 
1.3 ตำแหน่งใด ระดับใด ที่กระทรวงการคลังกำหนด ให้ใช้อัตราค่าจ้างขั้นสูงของบัญชีกลุ่มที่ 4 ขั้นที่ 28.5 อัตราค่าจ้าง 74,310 บาท ให้ได้รับค่าจ้างอัตราสูงขึ้นต่อไป จนถึงข้นที่ 29.5 อัตราค่าจ้าง 76,800 บาท (โดยขยายเพดานอัตราค่าจ้างเพิ่มขึ้น จำนวน 1 ขั้น เพื่อใช้เป็นขั้นวิ่งของตำแหน่งดังกล่าว)
 
2.ลูกจ้างประจำรายใด ที่ได้รับค่าจ้างตามข้อ 1 ให้ได้รับค่าจ้างในวันที่ 1 เมษายน หรือวันที่ 1 ตุลาคม ตามรอบการประเมินผลการปฏิบัติราชการ ในกรณีที่ลูกจ้างประจำรายใดต้องพ้นจากราชการเพราะเหตุเกษียณอายุให้ได้รับการเลื่อนขั้นค่าจ้างดังกล่าวเพื่อประโยชน์ในกาคำนวณบำเหน็จลูกจ้าง ในวันที่ 30 กันยายน ของปีที่จะพ้นจากราชการเพราะเหตุเกษียณอายุ
 
3. ลูกจ้างประจำรายใดได้รับค่าจ้างตามหลักเกณฑ์ และวิธีการนี้ เมื่อได้รับค่าจ้างถึงอัตราค่าจ้างขั้นสูงตามนัยข้อ 1 แล้ว ให้ได้รับค่าตอบแทนพิเศษตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายค่าตอบแทนพิเศษของข้าราชการและลูกจ่างประจำผู้ได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างถึงขั้นสูงหรือใกล้ถึงขั้นสูงของอันดับหรือตำแหน่ง พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
 
4. ลูกจ้างประจำรายใดได้รับค่าตอบแทนพิเศษตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายค่าตอบแทนพิเศษของข้าราชการและลูกจ้างประจำผู้ได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้างถึงขั้นสูงหรือใกล้ถึงขั้นสูงของอันดับหรือตำแหน่ง พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม อยู่ในวันที่หลักเกณฑ์และวิธีการนี้มีผลบังคับใช้นำค่าตอบแทนพิเศษในรอบการประเมินผลการปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2559 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2559 มารวมเป็นขั้นค่าจ้างตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559
 
ทั้งนี้ การปรับอัตราค่าจ้างในหลักเกณฑ์นี้ เดิม ลูกจ้างประจำของส่วนราชการจะได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้นตามผลการประเมินการปฏิบัติงานในวันที่ 1 เมษายน, 1 ตุลาคม ตามรอบการประเมินผลการปฏิบัติงานไปจนกว่าจะได้รับอัตรา ค่าจ้างขั้นสูงสุด (ค่าจ้างตัน) ในส่วนที่เกินกว่านั้นจะได้รับค่าตอบแทนพิเศษตามระเบียบ กระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายค่าตอบแทนพิเศษของข้าราชการและลูกจ้างประจำผู้ได้รับ เงินเดือน หรือค่าจ้างถึงขั้นสูงของอันดับหรือตำแหน่ง พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
 
โดยหลักเกณฑ์ใหม่นี้ ลูกจ้างประจำสามารถได้รับค่าจ้างสูงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นสูงของตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งในแต่ละระดับ ดังตัวอย่างนี้
 
1. ตำแหน่งใด ระดับใด ที่กระทรวงการคลังกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นสูงไว้ในบัญชีแต่ละกลุ่ม ให้ได้รับค่าจ้างสูงขึ้นต่อไปจนถึงอัตราค่ำจ้างขั้นสูงสุดของบัญชีในกลุ่มนั้นๆ เช่น
บัญชีกลุ่มที่ 1 ตำแหน่งพนักงานทั่วไประดับ 1 อัตราค่าจ้างขั้นสูง (ค่าจ้างตัน) ขั้นที่ 30 อัตราค่าจ้าง 16,650 บาท ตำแหน่งพนักงานทั่วไประดับ 2 อัตราค่าจ้างขั้นสูง (ค่าจ้างตัน) ขั้นที่ 32 อัตราค่าจ้าง 17,880 บาท ให้ได้รับอัตราค่าจ้างขั้นสูงต่อไปจนถึงขั้นที่ 37 อัตราค่าจ้าง 21,010 บาท ซึ่งเป็นอัตราค่าจ้างขั้นสูงสุดของบัญชีกลุ่มที่ 1
 
บัญชีกลุ่มที่ 3 ตำแหน่งพนักงานธุรการระดับ 3 อัตราค่าจ้างขั้นสูง (ค่าจ้างตัน) ขั้นที่ 31 อัตราค่าจ้าง 34,110 บาท ตำแหน่งพนักงานธุรการ ระดับ 4 อัตราค่าจ้างขั้นสูง (ค่าจ้างตัน) ขั้นที่ 33 อัตราค่าจ้าง 36,450 บาท ตำแหน่งพนักงานธุรการ ระดับ 4/หัวหน้า อัตราค่าจ้างขั้นสูง (ค่าจ้างตัน) ขั้นที่ 35 อัตราค่าจ้าง 39,050 บาท ให้ได้รับอัตราค่าจ้างขั้นสูงต่อไปจนถึงขั้นที่ 37 อัตราค่าจ้าง 41,610 บาท ซึ่งเป็นอัตราค่าจ้างขั้นสูงสุดของบัญชีกลุ่มที่ 3
 
บัญชีกลุ่มที่ 4 ตำแหน่งผู้ควบคุมวิทยุสื่อสารการบิน ระดับ ท3/หัวหน้า อัตราค่าจ้างขั้นสูง (ค่าจ้างตัน) ขั้นที่ 24.5 อัตราค่าจ้าง 65,310 บาท ตำแหน่งนักบิน ระดับ ท3 อัตราค่าจ้างขั้นสูง (ค่าจ้างตัน) ขั้นที่ 25.5 อัตราค่าจ้าง 67,560 บาท ตำแหน่งช่างเครื่องบิน ท3/หัวหน้า อัตราค่าจ้างขั้นสูง (ค่าจ้างตัน) ขั้นที่ 26.5 อัตราค่าจ้าง 69,800 บาท ให้ได้รับอัตราค่าจ้างขั้นสูงต่อไปจนถึงขั้นที่ 28.5 อัตราค่าจ้าง 74,310 บาท ซึ่งเป็นอัตราค่าจ้างขั้นสูงสุดของบัญชีกลุ่มที่ 4 ยกเว้น ตำแหน่งช่างจัดสถานที่พิธีการ ระดับ ช 2 ที่กระทรวงการคลังกำหนดให้ใช้อัตราค่าจ้าง ขั้นสูงของบัญชีกลุ่มที่ 4 ขั้นที่ 16 อัตราค่าจ้าง 46,470 บาท ให้ได้รับอัตราค่าจ้างสูงขึ้นต่อไป จนถึงขั้นที่ 19.5 อัตราค่าจ้าง 54,170 บาท ซึ่งเทียบเท่าอัตราเงินเดือนขั้นสูงสุดของข้าราชการ ตำแหน่งประเภททั่วไป (ขั้นสูงสุด 54,840 บาท)
 
กรณีตำแหน่งใด ระดับใด ที่กระทรวงการคลังกำหนดให้ใช้อัตราค่าจ้างขั้นสูงสุดของบัญชีแต่ละกลุ่ม ให้ได้รับค่าจ้างขั้นสูงขึ้นต่อไป จนถึงอัตราค่าจ้างขั้นสูงที่ กระทรวงการคลังกำหนดของระดับถัดไป 1 ระดับ ในกลุ่มบัญชีถัดไป (โดยเทียบขั้นใกล้เคียง ในทางที่สูงกว่าของกลุ่มบัญชีถัดไป) เช่น
 
บัญชีกลุ่มที่ 1 ตำแหน่งพนักงานทั่วไป ระดับ ๒ /หัวหน้า อัตราค่าจ้างขั้นสูง (ค่าจ้างตัน) ขั้นที่ 37 อัตราค่าจ้าง 21,010 บาท (ซึ่งเป็นอัตราค่าจ้างขั้นสูงสุดของบัญชี กลุ่มที่ 1) ให้ได้รับค่าจ้างสูงขึ้นต่อไป (โดยให้เทียบขั้นใกล้เคียงในทางที่สูงกว่าของกลุ่มบัญชีที่ 2) จนถึงบัญชีกลุ่มที่ 2 ขั้นที่ 30 อัตราค่าจ้าง 25,670 บาท (ซึ่งเป็นอัตราค่าจ้างขั้นที่ กระทรวงการคลังกำหนดของระดับถัดไป 1 ระดับ)
 
บัญชีกลุ่มที่ 2 ตำแหน่งพนักงานธุรการ ระดับ ๒ อัตราค่าจ้างขั้นสูง (ค่าจ้างตัน) ขั้นที่ 30 อัตราค่าจ้าง 25,670 บาท (ซึ่งเป็นอัตราค่าจ้างขั้นสูงสุดของบัญชี กลุ่มที่ 2) ให้ได้รับค่าจ้างสูงขึ้นต่อไป (โดยให้เทียบขั้นใกล้เคียงในทางที่สูงกว่าของกลุ่มบัญชี ที่ 3) จนถึงบัญชีกลุ่มที่ 3 ขั้นที่ 31 อัตราค่าจ้าง 34,110 บาท (ซึ่งเป็นอัตราค่าจ้างขั้นที่ กระทรวงการคลังกำหนดของระดับถัดไป 1 ระดับ)
 
บัญชีกลุ่มที่ 3 ตำแหน่งใดที่กระทรวงการคลังกำหนดให้ใช้บัญชีกลุ่มที่ 3 อัตรา ค่าจ้างขั้นสูง (ค่าจ้างตัน) ขั้นที่ 37 อัตราค่าจ้าง 41,610 บาท (ซึ่งเป็นอัตราค่าจ้าง ขั้นสูงสุด ของบัญชีกลุ่มที่ 3) ให้ได้รับค่าจ้างสูงขึ้นต่อไป (โดยให้เทียบขั้นใกล้เคียงในทางที่สูงกว่าของกลุ่มบัญชี ที่ 4) จนถึงบัญชีกลุ่มที่ 4 ขั้นที่ 16 อัตราค่าจ้าง 46,470 บาท (ซึ่งเป็นอัตราค่าจ้างขั้นที่ กระทรวงการคลังกำหนดของระดับถัดไป 1 ระดับ)
ตัวอย่างที่ 4 ตำแหน่งนักบินและผู้ควบคุมหน่วยการบินระดับ 3/หัวหน้า ที่กระทรวงการคลัง กำหนดให้ใช้บัญชีกลุ่มที่ 4 อัตราค่าจ้างขั้นสูง (ค่าจ้างตัน) ขั้นที่ 28.5 อัตราค่าจ้าง 74,310 บาท ให้ได้รับค่าจ้างสูงขึ้นต่อไปจนถึงขั้นที่ 29.5 อัตราค่าจ้าง 76,800 บาท (โดยขยายเพดาน อัตราค่าจ้างขั้นสูงจำนวน 1 ขั้น เพื่อใช้เป็นขั้นวิ่งของตำแหน่งดังกล่าว) ซึ่งเทียบเท่าอัตราเงินเดือน ขั้นสูงสุดของข้าราชการตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิ
 
ที่มา: ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 9/4/2560
 
ผู้รับงานไปทำที่บ้านเพียงคนเดียว สามารถกู้เงิน กองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้านได้แล้ว
 
กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ขยายโอกาสให้กับผู้รับงานไปทำที่บ้านเพียงรายเดียวก็สามารถกู้เงินทุนหมุนเวียนจากกองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้านได้แล้ว ปล่อยกู้รายละไม่เกิน 50,000 - 200,000 บาทอัตราดอกเบี้ยต่ำ ร้อยละ 3 ต่อปี กำหนดชำระคืนภายใน 5 ปี เผยปล่อยกู้ไปแล้วกว่า 300 กลุ่ม สร้างรายได้กว่า 92 ล้านบาท
 
กระทรวงแรงงาน โดยนายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า กรมการจัดหางานได้ดำเนินการตาม 8 วาระปฏิรูปแรงงานของกระทรวงแรงงาน สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับแรงงานนอกระบบ เน้นสร้างหลักประกันทางสังคม เพื่อให้มีอาชีพ มีรายได้ และสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ ซึ่งกรมการจัดหางานได้มีการส่งเสริมอาชีพให้กับแรงงานนอกระบบ โดยส่งเสริมการรับงานไปทำที่บ้าน ด้วยการสนับสนุนให้มีการรวมกลุ่มกัน มีการบริหารจัดการกลุ่มให้เข้มแข็ง เพื่อประโยชน์ในการรับงานไปทำที่บ้านอย่างต่อเนื่อง และยังสนับสนุนเงินกู้จากกองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้านอีกด้วย ซึ่งเป็นกองทุนหมุนเวียนเพื่อให้กลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้านได้กู้ยืมไปซื้อวัตถุดิบ อุปกรณ์การผลิตหรือขยายการผลิต สร้างอาชีพ สร้างรายได้อย่างยั่งยืน และเพื่อให้ผู้รับงานไปทำที่บ้านมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น กรมการจัดหางานจึงได้แก้ไขระเบียบ ประกาศหลักเกณฑ์การกู้เงินกองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้านให้ผู้รับงานไปทำที่บ้าน จากเดิมให้กู้ได้เฉพาะเป็นกลุ่มผู้รับงานฯ โดยแก้ไขให้รายบุคคลก็สามารถกู้ได้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ร้อยละ 3 ต่อปี กำหนดชำระคืนภายใน 5 ปี กู้ได้รายละไม่เกิน 50,000 - 200,000 บาท ทั้งรายกลุ่มและรายบุคคล โดยผู้สนใจจะกู้เงินกองทุนฯ จะต้องเป็นผู้จดทะเบียนกับกรมการจัดหางานและมีสถานที่อยู่และสถานที่รับงานเป็นหลักแหล่ง
 
นายวรานนท์ กล่าวอีกว่า ตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบันมีการปล่อยกู้แล้ว จำนวน 309 กลุ่ม เป็นเงิน 28,111,000 บาท สร้างรายได้ให้กับผู้รับงานไปทำที่บ้านไม่ต่ำกว่าปีละ 92,700,000 บาท หากผู้รับงานไปทำ ที่บ้านใดสนใจ สามารถไปจดทะเบียนหรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 ในท้องที่ที่เป็นที่ตั้งสถานที่รับงานของตน หรือโทร.สายด่วนกรมการจัดหางาน 1694
 
 
ทหารปลดประจำการไม่ต้องกลัวตกงาน กพร.ฝึกอาชีพติดอาวุธให้เพียบ
 
นายธีรพล ขุนเมือง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่าจากการที่กระทรวงแรงงานและกระทรวงกลาโหมได้ร่วมมือกันตามแนวทางประชารัฐในการส่งเสริมการมีงานทำให้กับทหารกองประจำการนั้น กระทรวงแรงงานโดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ได้มีการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ในการตอบสนองความร่วมมือของทั้งสองกระทรวงมาโดยตลอด ด้วยการมอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศประสานหน่วยงานของกองทัพในพื้นที่จัดฝึกอบรมอาชีพตามความต้องการของทหารกองประจำการ เช่น ช่างปูนปั้นไม้เทียม ช่างเดินสายไฟฟ้าภายในอาคาร ช่างเชื่อมไฟฟ้าด้วยมือ ช่างซ่อมเครื่องยนต์เล็กเพื่อเกษตร ช่างการบำรุงรักษาเครื่องปรับอากาศในบ้านและการพาณิชย์ขนาดเล็ก บริการอาหารและเครื่องดื่ม และการประกอบอาหารไทย เป็นต้น ระยะเวลาการฝึกอบรม 12-60 ชั่วโมง การฝึกอบรมเน้นทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ และถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการประกอบอาชีพ โดยสามารถนำความรู้ที่ได้รับต่อยอดเป็นอาชีพประจำหรือธุรกิจส่วนตัวหลังปลดประจำการได้ จะสอดคล้อง 8 วาระปฏิรูปกระทรวงแรงงาน "มิติใหม่ของการส่งเสริมการมีงานทำแรงงานทั่วไป คนพิการ ผู้สูงอายุ" ของพลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โดยในปี 2560 กพร.ได้วางเป้าหมายการฝึกอบรมไว้ที่ 3,020 คน แต่มีการเร่งดำเนินการฝึกอบรม 2,217 คน ในการตอบสนองความต้องการของสถานประกอบกิจการจะเกินเป้าหมายที่วางไว้ รายได้เฉลี่ยทหารกองประจำการที่มีงานทำ 9,633 บาทต่อคนต่อเดือน
 
นายธีรพล กล่าวต่ออีกว่าสำหรับในบางสาขาอาชีพที่ทหารกองประจำการสนใจเข้ารับการฝึกอบรม ก็ได้มีการเชิญภาคีเครือข่ายหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการฝึกอบรม เช่น ร่วมกับบริษัท เอ็นเอส บลูสโคป (ประเทศไทย) จำกัด ฝึกอบรมช่างติดตั้งโครงสร้างเหล็กและแผ่นเมทัลชีท ดำเนินการในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ ระนอง ระยอง ชลบุรี และนครนายก มีทหารผ่านการฝึกอบรมทั้งสิ้น 295 คน ในอนาคตจะมีการจัดทำหลักสูตรกลางเพิ่มเติมในหลักสูตรการฝึกอาชีพเสริมสาขาช่างติดตั้งโครงสร้างเหล็กและแผ่นเมทัลชีท ระดับพื้นที่ฐาน ระยะเวลาการฝึกอบรม 18 ชั่วโมง นำไปใช้ฝึกอบรมให้ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดต่างๆ มากยิ่งขึ้น
 
"มีโอกาสได้รับฟังเสียงสะท้อนจากสถานประกอบกิจการที่รับทหารกองประจำการเข้าทำงาน ส่วนใหญ่ต่างชมว่าเป็นกำลังแรงงานที่มีคุณภาพทั้งในด้านร่างกายที่แข็งแรง มีระเบียบวินัยและใฝ่เรียนรู้ ส่วนด้านทักษะฝีมือที่ได้รับการฝึกอบรมจากกพร. ก็มีมาตรฐานจึงเป็นที่ต้องการของสถานประกอบกิจการ ขณะนี้มีอีกเพียง 14 จังหวัด ประกอบด้วยพัทลุง ปทุมธานี ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ สุพรรณบุรี ฉะเชิงเทรา สุราษฎร์ธานี นครสวรรค์ เชียงราย ปัตตานี เลย พะเยา หนองคาย และมุกดาหาร ยังไม่ได้ดำเนินการฝึกอบรม โดยจะเริ่มฝึกในช่วงเวลาเมษายนนี้ถึงกันยายน 2560" อธิบดีกพร.กล่าว
 
 
กรมการจัดหางาน ตั้งหน่วยบริการและอำนวยความสะดวก ส่งคนหางานกลับบ้านเทศกาลสงกรานต์ ปี 2560 สกัดถูกต้มตุ๋นจากแก๊ง 18 มงกุฏ
 
วานนี้ (12 เม.ย.2560) ที่สถานีรถไฟกรุงเทพ หัวลำโพง นายศักดิ์สกล จินดาสวัสดิ์ ผู้ตรวจราชการกรมการจัดหางาน ได้รับมอบหมายจากกรมการจัดหางาน ร่วมกิจกรรม “ส่งคนหางานกลับบ้านเทศกาลสงกรานต์ ปี 2560” ภายใต้โครงการ “ให้บริการจัดหางานและคุ้มครองคนหางานตลอด 24 ชั่วโมง” จัดโดยสำนักงานจัดหางานกรุงเทพ มหานครพื้นที่ 1 เพื่อประชาสัมพันธ์ภารกิจการให้บริการจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน โดยให้บริการจัดหางานและรับเรื่องราวร้องทุกข์แก่ผู้เดินทางเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ และประชาชนทั่วไป ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าว สารตลาดแรงงาน และคนหางาน โดยเฉพาะให้ประชาชนที่ใช้บริการ ณ สถานีรถไฟหัวลำโพง ระมัดระวังกลุ่มมิจฉาชีพที่ใช้โอกาสที่ประชาชนเดินทางกลับบ้านช่วงสงกรานต์มาหลอกลวงคนหางาน และชักชวนว่าสามารถจัดหางานให้ทำได้ และจัดส่งคนหางานให้กับนายจ้างเพื่อรับค่าตอบแทน
 
โดยได้จัดเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวกและแนะนำการให้บริการจัดหางานของรัฐแก่ประชาชนทั่วไป ณ จุดให้บริการสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) จำนวน 3 ผลัดคือ ผลัดที่ 1 เวลา 06.00 – 14.00 น. ผลัดที่ 2 เวลา 14.00 – 22.00 น. และผลัดที่ 3 เวลา 22.00 – 06.00 น. โดยปฏิบัติงานทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์
ทั้งนี้ในปี 2560 (มกราคม-มีนาคม) ได้ให้บริการจัดหางาน จำนวน 695 คน และได้ประชาสัมพันธ์การคุ้มครองคนหางานแก่ประชาชน จำนวน 1,418 คน
 
 
กระทรวงแรงงานเผยสถิติแรงงานระดับฝีมือของกลุ่มประเทศอาเซียนในไทย พบฟิลิปปินส์ครองแชมป์นิยมทำงานมากสุด
 
กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เผยสถานการณ์การทำงานของคนต่างด้าวระดับฝีมือชำนาญการในกลุ่มประเทศอาเซียนที่ได้รับอนุญาตทำงานในประเทศไทย ปี 2560 พบล่าสุดฟิลิปปินส์ครองแชมป์ได้รับอนุญาตทำงานมากที่สุด จำนวน 14,830 ตำแหน่ง โดยส่วนใหญ่ประกอบอาขีพด้านการสอน เน้นย้ำคนต่างด้าวที่ประสงค์จะทำงานในประเทศไทยต้องขอใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) จากกรมการจัดหางาน
 
กระทรวงแรงงาน โดยนายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน เผยสถานการณ์การทำงานของคนต่างด้าวในกลุ่มประเทศอาเซียน ( 9 ประเทศ) ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2560 ว่า มีคนต่างด้าวกลุ่มประเทศอาเซียนที่ได้รับอนุญาตทำงานคงเหลือทั่วราชอาณาจักร จำนวน ทั้งสิ้น 1,380,349 คน โดยในประเภทระดับฝีมือชำนาญการนั้นมีจำนวน 24,823 คน เป็นมาตรา 9 (ทั่วไป) จำนวน 21,500 คน และมาตรา 12 ส่งเสริมการลงทุน จำนวน 3,323 คน ซึ่งสัญชาติที่ได้รับอนุญาตทำงานในประเทศไทยมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ 1. ฟิลิปปินส์ จำนวน 14,830 ตำแหน่ง 2. มาเลเซีย จำนวน 2,924 ตำแหน่ง 3. สิงคโปร์ จำนวน 2,034 ตำแหน่ง 4. เมียนมา จำนวน 1,948 ตำแหน่ง และ 5.อินโดนีเซีย จำนวน 1,279 ตำแหน่ง โดยอาชีพที่ได้รับอนุญาตทำงานมากที่สุดในกลุ่มทั่วไป (มาตรา 9) คือ ผู้ประกอบอาชีพด้านการสอน รองลงมาเป็นผู้จัดการฝ่ายอื่นๆ และผู้ประกอบวิชาชีพด้านธุรกิจ ตามลำดับ ขณะที่กลุ่มส่งเสริมการลงทุน (BOI) มาตรา 12 อาชีพผู้จัดการฝ่ายอื่นๆ ได้รับอนุญาตทำงานมากที่สุด รองลงมาเป็นสถาปนิก วิศวกร และช่างเทคนิคด้านต่าง ๆ ตามลำดับ
 
ทั้งนี้ ขอย้ำเตือนว่าคนต่างด้าวที่ประสงค์จะทำงานในระดับฝีมือชำนาญการในประเทศไทยจะต้องได้รับการอนุญาตทำงานจากกรมการจัดหางาน และต้องเป็นผู้ที่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร หรือได้รับอนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง มิใช่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาในฐานะนักท่องเที่ยวหรือผู้เดินทางผ่าน อีกทั้งยังต้องไม่เป็นบุคคลที่ขาดคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามตามเงื่อนไข ดังนี้ 1. มีความรู้และความสามารถในการทำงานตามที่ขออนุญาต 2.ไม่เป็นบุคคลวิกลจริตหรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ 3.ไม่เป็นผู้เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อน วัณโรคในระยะอันตราย โรคเท้าช้างในระยะปรากฏอาการอันเป็นที่รังเกียจแก่สังคม โรคติดยาเสพติดให้โทษอย่างร้ายแรง โรคพิษสุราเรื้อรัง และโรคซิฟิลิสในระยะที่ 3 และ 4.ไม่เคยต้องโทษจำคุกในความผิดตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองหรือกฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าวภายในระยะเวลา 1 ปีก่อนวันขอรับใบอนุญาต นอกจากนี้ คนต่างด้าวต้องไม่ขอทำงานตามพระราชกฤษฎีกากำหนดงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ พ.ศ. 2522 จำนวน 39 อาชีพ เช่น งานเสมียนพนักงานหรืองานเลขานุการ งานให้บริการทางกฎหมาย งานมัคคุเทศก์หรืองานจัดนำเที่ยว งานในวิชาชีพวิศวกรรม งานเร่ขายสินค้า งานควบคุม ตรวจสอบหรือให้บริการบัญชี ยกเว้นงานตรวจสอบภายในเป็นครั้งคราว เป็นต้น โดยอายุของใบอนุญาตทำงานจะพิจารณาอนุญาตให้ตามความจำเป็นของงานหรือตามที่ขอ ทั้งนี้ไม่เกิน 2 ปีต่อครั้ง หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการขอใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าวระดับฝีมือชำนาญการ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน โทร.02-245-2745 หรือโทร.สายด่วนกรมการจัดหางาน 1694
 
ที่มา: กระทรวงแรงงาน, 15/4/2560
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net