หมุดที่หายไป กับความถูกต้องทางประวัติศาสตร์

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ตั้งแต่ช่วงบ่ายๆ เมื่อวาน (14 เมษายน 2560) เป็นต้นมา กระแสข่าวในประเทศที่น่าจะเป็นที่สนใจมากที่สุดคงหนีไม่พ้นเรื่องของ “หมุดคณะราษฎร” ที่หายไป หรือว่าให้ถูกก็คือ โดนเปลี่ยนไป กลายเป็นหมุด “ประชาชนสุขสันต์หน้าใส” ที่ชาวเน็ตเรียกกันสั้นๆ ว่า “หมุดหน้าใส” (ซึ่งที่มาของคำว่า “หน้าใส” ก็อยู่ระหว่างการเดาและอภิปรายกันต่างๆ นานา)

เมื่อเกิดกระแสดังกล่าวขึ้น ก็ได้เกิดกระแสลุกขึ้นต่อต้านรวมถึงทวงคืนหมุดมากมาย รวมไปถึงการนำเสนอข้อมูลของสิ่งที่เป็น “มรดกของคณะราษฎร” อื่นๆ นอกเหนือจากหมุดคณะราษฎรนี้ โดยรวมๆ ก็เป็นการอภิปรายถึงผลรวมของผลงานที่คณะราษฎรได้สร้างไว้ โดยเฉพาะในเชิงอุดมการณ์ที่ต่อให้ทุบวัตถุทางกายภาพอันจับต้องได้อีกสักเพียงใด ก็ไม่อาจจะมาทำลายอุดมการณ์และคำประกาศที่คณะราษฎรได้วางรากฐานไว้ได้ เพราะมันฝังอยู่กับตัวตนเรา เป็นภาพที่ควบแน่นในมโนสำนึกอย่างชัดเจนจนไม่มีทางจะพรากไปได้อีกต่อไป อีกแง่มุมหนึ่งที่มีการพยายามอธิบายกันมากก็คือ การทำลายหมุดนี้เป็นความพยายามในการ “ลบอดีต ฆ่าประวัติศาสตร์ เขียนเรื่องราวความเป็นมาใหม่”

ที่ว่ามาทั้งหมดนั้นผมเห็นด้วยทั้งสิ้น และได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในความโกรธเกรี้ยว งุนงง ปนเศร้ากับพวกเขาเหล่านั้นด้วย ที่จู่ๆ “หมุด” หายไป แต่พอเริ่มตั้งหลักได้ กลับมาลองคิดภาพทวนดีๆ กรณีของหมุดที่หายไปนี้อาจจะไม่ได้ผิดไปเสียหมดก็ได้ อาจจะขึ้นอยู่กับวิธีการมองประวัติศาสตร์และมองตัวหมุดนั้นเองด้วย

ภายใต้กระแสข้อถกเถียง การวิพากษ์วิจารณ์และเรียกร้องสารพัดนั้น หลักๆ แล้วจะมองเรื่องหมุดอยู่บน 2 สถานะหลักๆ นั่นคือ “ในฐานะวัตถุ” กับมองหมุดบนฐานของ “ความหมายของการมีอยู่ของตัวหมุด” นั้น ผมคิดว่าหลักๆ แล้วเท่าที่เห็นอภิปรายกันโดยมากวางอยู่บนฐานของการมองหมุดในฐานะ “วัตถุทางประวัติศาสตร์” นี้ ไม่ว่าจะมองในฐานะของมรดกทางประวัติศาสตร์ของคณะราษฎร หรือในฐานะวัตถุโบราณที่พึงอนุรักษ์ไว้ และถามหาความรับผิดชอบในการสืบหาจากกรมศิลปากร เป็นต้น หากมองบนฐานคิดนี้ผมก็คิดว่าไม่ผิดอะไร ถูกต้องแล้วและก็อยากจะขอร่วมเรียกร้องด้วยในที่นี้

แต่ส่วนที่ผมสนใจเป็นพิเศษคือ การอภิปรายเรื่องหมุดบนฐานของ “ความหมายของการมีอยู่ของตัวหมุด” เอง ว่ากันง่ายๆ ก็คือ หากหมุดดังกล่าวนี้มันเป็นเพียง “หมุดทั่วๆ ไป” มันก็เป็นเพียงแค่ฝาทองเหลืองแผ่นหนึ่ง ราคาหากสั่งทำคงสักหลักพันบาท (อาจจะหลายพัน) ว่าง่ายๆ ก็คือ ก้อนโลหะแปะถนนที่ราคาสูงสักหน่อยเท่านั้น แต่เพราะหมุดมันไม่ได้เป็นแค่ก้อนทองเหลืองธรรมดา มันแฝงด้วยความหมายหรือสัญญะโดยตัวมันเองว่า “ณ ตัวแหน่ง และวันที่ที่มีการปักหมุดนี้ ประเทศไทยเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแล้ว มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด และมีประชาชนเป็นเจ้าของประเทศที่กำหนดและดำเนินกลไกการปกครอง ไม่ใช่ของใครคนหนึ่งคนใดอีกต่อไป”

ความหมายหรือสัญญะเหนือตัวตนของหมุดนี้เองที่ทำให้เกิดกระแสการอภิปรายเรื่องการพยายาม “ลบ, บิดเบือน หรือเขียนประวัติศาสตร์ใหม่” เพราะฉะนั้นหากมองจากจุดยืนนี้ หมุดที่หายไปจึงเป็นอะไรที่ผิดมากกว่าการหายไปของวัตถุโบราณทางประวัติศาสตร์ แต่มันคือการพยายามรื้อถอนความจริงทางประวัติศาสตร์ที่พ่วงติดกับตัวหมุดนั้นออกไปจากความทรงจำของสังคมด้วย ซึ่งในตอนต้นผมเห็นด้วย แต่อย่างที่บอกว่าผ่านไปสักพักหนึ่งพอเริ่มขบคิดอะไรชัดเจนขึ้น ผมก็คิดว่าบางทีการอภิปรายแบบนั้นจากจุดยืนนี้อาจจะไม่ถูกเสียทีเดียว

คำถามหลักของผมคือ ความหมายจริงๆ ของหมุดที่ว่าไว้เมื่อสองย่อหน้าก่อนมันคืออะไร? สำหรับผมมันไม่ใช่การบอกกล่าวถึง “สภาวะปัจจุบันอันเป็นอยู่ของประเทศขณะที่ปักหมุด” นะ ว่า ”ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแล้ว...” แต่ประเด็นหลักของความหมายของตัวหมุดนั้นมันคือเมสเสจที่บอกว่า “ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมแล้ว”

ความหมายที่พ่วงติดบนตัวหมุด จึงไม่ใช่ความหมายที่มีขึ้นเพื่อจารึกสภาวะอันเป็นปัจจุบันในช่วงเวลาแห่งการลงหมุด ว่าตอนนี้ประเทศเราเป็นแบบนั้นแบบนี้ แต่มันคือหมุดหมายที่บอกว่า “เราเปลี่ยนแปลงไปจากกาลก่อน” ต่างหาก ฉะนั้นภาพของสภาวะอันเป็นปัจจุบันที่พ่วงอยู่กับตัวหมุดในฐานะสัญญะจึงมีตัวตนอยู่เพื่อบอกกับเราว่า “ก่อนหน้านี้เราไม่ได้เป็นอย่างนี้ แต่เราได้เปลี่ยนแปลงแล้ว เราได้ก้าวออกมาจากจุดเดิมที่เราเคยเป็น” ความหมายที่ซ่อนอยู่ในหมุดจึงไม่ใช่เพียงสภาพมิติเดียวของประวัติศาสตร์ หากแต่มันเชื่อมโยงมิติทางประวัติศาสตร์ใน 2 ช่วงเวลาเข้าไว้ด้วยกัน (ก่อน และหลังการเปลี่ยนแปลง) เพียงแต่ผ่านการจารึกภาพเหตุการณ์ของประวัติศาสตร์แค่ฝั่งเดียว (คือฝั่ง “หลังการเปลี่ยนแปลง” แล้ว)

เมื่อความหมายหรือสัญญะที่พ่วงอยู่กับหมุดมันถูกวาดออกมาด้วยภาพประวัติศาสตร์เพียงฝั่งเดียว (คือฝั่ง “หลังการเปลี่ยนแปลง” แล้ว) หลายคนที่มองจากจุดยืนนี้และวิพากษ์วิจารณ์เรื่องหมุด จึงมองว่าการเปลี่ยนหมุด หรือการที่หมุดหายเป็นอะไรที่ “ผิด” เป็นความผิดทั้งทางการเมืองและทางประวัติศาสตร์ เพราะมองเพียงแต่ภาพผูกติดของมิติเดียวทางประวัติศาสตร์ ไม่ได้มองถึงความหมายแท้จริงของหมุดที่บอกถึง ความเปลี่ยนแปลง

หากพวกเขามองสัญญะว่า “หมุด” แทนความหมายของ “การเปลี่ยนแปลง” อย่างจริงจังแล้ว จะพบว่าเอาเข้าจริงๆ ในทางปฏิบัตินั้น “การเปลี่ยนหมุดนี้เป็นอะไรที่ถูกต้องในทางการเมืองและในทางประวัติศาสตร์เป็นอย่างมาก” และอย่างมีนัยยะสำคัญทีเดียว เพราะหมุดคณะราษฎรเดิมนั้นเป็นหมุดหมายที่บอกกับเราว่า ประเทศไทยได้เปลี่ยนเข้ามาสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) แล้ว เพราะฉะนั้นในวันนี้ที่ประวัติศาสตร์การเมืองในความเป็นจริงเปลี่ยนแปลงไป ก็ย่อมถูกต้องที่หมุดจะต้องถูกเปลี่ยน เพื่อเป็นหมุดหมายที่ชัดเจนของการเปลี่ยนแปลงในทางการปกครองที่เกิดขึ้นอีกครั้งในปัจจุบัน

เราเปลี่ยนแปลงอะไรอีก?

- เราอยู่ในยุคที่มีรัฐธรรมนูญใหม่แล้ว แต่ยังคงมีมาตรา 44 ที่เกาะแน่นอยู่จนเรียกได้ว่ามีอำนาจพอๆ หรือมากกว่าตัวรัฐธรรมนูญเอง

- เราอยู่ในยุคที่รัฐธรรมนูญมีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาจากที่ประชาชนได้ทำการลงมติเห็นชอบไว้ “เป็นอย่างมาก” โดยประชาชนไม่มีสิทธิรับรู้ก่อนได้เลยจนกระทั่งวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ

- เราอยู่ในยุคที่รัฐธรรมนูญ รวมถึงตัวเนื้อหาพร้อมจะโอนอ่อนปรับเปลี่ยนได้ตามพระราชประสงค์[1]

เพราะฉะนั้นเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขนี้มีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 ที่ผ่านมา จึงเท่ากับเป็นการประกาศอย่างเป็นทางการในทางกฎหมายว่า ประเทศไทยได้เข้าสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่งแล้ว นั่นคือเปลี่ยนไปใช้รูปแบบการปกครองแบบ Monarchical Constitution เพราะฉะนั้นการจะมีหมุดใหม่เพื่อจารึกการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์นี้ จึงเป็นเรื่องที่ถูกต้องทั้งในทางการเมืองและในทางประวัติศาสตร์แล้วนั่นเอง

 

เชิงอรรถ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท