Skip to main content
sharethis
หลัง เครือข่ายเอ็นจีโอด้านสิทธิฯ กังวลปัญหา กสม.ไทย 'วัส ติงสมิตร' ออกคำแถลง แจง กสม.ทั้ง 7 คน แต่ละคนมีความรู้และประสบการณ์ในการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนทั้งจากภาครัฐและเอกชน ยันปฏิบัติหน้าที่อย่างอิสระและเป็นกลาง 

วัส ติงสมิตร ประธาน กสม. (ที่มาภาพ เว็บ กสม.) 

18 เม.ย.2560 จากกรณีเมื่อวันที ่11 เม.ย.ที่ผ่านมา เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนเอเชียว่าด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนระดับชาติ หรือ ANNI ได้ออกแถลงการณ์เรื่อง ความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ซึ่งเป็นการแสดงความกังวลต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายใน กสม.ไทย เพราะสัญญาณของความขัดแย้งภายในองค์กร กสม. ปรากฎอย่างชัดเจนสืบเนื่องจากการยื่นหนังสือลาออกของ นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย หนึ่งในกรรมการ กสม. ซึ่งอ้างเหตุผลเรื่องความไม่พอใจต่อการจัดการและระบบการทำงานภายใต้การบริหารงานของประธาน กสม. คือ วัส ติงสมิตร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (18 เม.ย.60) เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเเห่งชาติ ได้เผยแพร่คำแถลงของประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เรื่อง ความเห็นต่อแถลงการณ์ ANNI ดังกล่าว โดย ยืนยันว่า กระบวนการสรรหาบุคคลมาดำรงตำแหน่ง กสม. ตาม รัฐธรรมนุญฉบับใหม่ ต้องกำหนดให้ผู้แทนองค์กรเอกชด้านสิทธิมนุษยชนมีส่วนร่วมในการสรรหา บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังล่าวเกิดขึ้นโดยความมุ่งมันและร่วมมือร่วมใจของกรรมการและประธาน กสม. 

เรื่องความอิสระและความเป็นกลางของ กสม. วัส ระบุว่า ตาม พ.ร.บ.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 2542 บัญญัติรับรองไว้อย่างชัดแจ้ง ว่า กสม. ต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างอิสระและเป็นกลาง รวมทั้งรัฐธรรมนูญฉับบับใหม่ก็บัญญํติไว้อย่างชัดแจนเช่นกัน  สำหรับการลงคะแนนเสียงข้างมากและเสียงข้างน้อยในที่ประชุม กสม. นั้น ส่วนใหญ่ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ มีน้อยครั้งที่ไม่เอกฉันท์ ซึ่งเป็นปกติของทุกองค์กร การที่เสียงข้างน้อยขอให้ระบุมติที่ประชุมในรายงานผลการตรวจสอบหรือพิจารณาของ กสม. ให้ตรงกับข้อเท็จจริงในการประชุมย่อมทำได้และไม่ถือว่าเป็นการไม่ยอมรับมติเสียงข้างน้อย
 
ประธาน กสม. ยังยืนยันด้วยว่า กสม.ทั้ง 7 คน แต่ละคนมีความรู้และประสบการณ์ในการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนทั้งจากภาครัฐและเอกชน
 
รายละเอียดคำแถลงของประธาน กสม. มีดังนี้
 
 
 
สำหรับแถลงการณ์ของ ANNI นั้น สำนักข่าวอิศรา ได้รายงานไว้ว่า  ANNI ขอแสดงความกังวลต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเหตุการณ์นี้ถือเป็นการยืนยันอีกครั้งถึงกระบวนการสรรหาและแต่งตั้งของ กสม.ไทยที่ยังมีมาตรฐานไม่ดีพอ และส่งผลเป็นการจำกัดประสิทธิภาพในกระบวนการทำงานของ กสม. อันเป็นผลสืบเนื่องจากความล่าช้าของกระบวนแต่งตั้งกรรมการใหม่
 
ANNI ได้เคยประเมินกระบวนการสรรหาคณะกรรมการ กสม.ที่ยังขาดการมีส่วนร่วม ความโปร่งใส และไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของการคัดเลือกบุคคลจากคุณสมบัติ โดยกระบวนการสรรหาดังกล่าวย่อมส่งผลต่อความน่าเชื่อถือและความไว้เนื้อเชื่อใจของประชาชนต่อตัวกรรมการ กสม.เอง ซึ่งปรากฎเห็นได้ชัดจากกรณีผู้ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นกรรมการ กสม.ในปี 2558 นั้น มีผู้ได้รับเลือกคือ นางอังคณา นีละไพจิตร เพียงคนเดียวเท่านั้นที่มีความเชี่ยวชาญหรือเคยมีประสบการณ์ตรงต่อสายงานทางด้านสิทธิมนุษยชน
 
ANNI ขอเรียกร้องต่อประธาน กสม.ให้ดำเนินการเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของ กสม.ในฐานะองค์กรซึ่งสมควรจะมีความน่าเชื่อถือและเป็นอิสระเพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย โดยแทนที่จะให้ความสำคัญต่อเสียงข้างมากหรือเสียงข้างน้อยในการลงมติของคณะกรรมการฯ แต่นี่ถือเป็นช่วงเวลาอันเหมาะสมที่ประธาน กสม.จะต้องหยิบยกประเด็นเรื่องความหลากหลายภายในคณะกรรมการ กสม.ขึ้นมาพิจารณา ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วถือเป็นเรื่องที่เชื่อมโดยตรงไปถึงความจำเป็นที่องค์กรจะต้องมีความเป็นอิสระ ความน่าเชื่อถือ ความมีประสิทธิภาพ และเข้าถึงประชาชน
 
ทั้งนี้ ในช่วงเวลาอันวิกฤติของการปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ANNI ขอเรียกร้องต่อ กสม.ให้ยกระดับการทำงานในแง่ของความเป็นอิสระและความมีประสิทธิภาพขององค์กร การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างต่างๆ ภายในองค์กรถือเป็นเรื่องจำเป็นอย่างไม่มีเงื่อนไข เพื่อทำให้โครงสร้างขององค์กรสอดคล้องกับหลักการปารีส ตามคณะกรรมการว่าด้วยการบังคับการ (Paris Principles-compliant Commission)
 
ที่สำคัญ ประเด็นสำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ กสม. ไม่ว่าจะเป็นการจัดการที่ดีกว่าเดิมในเรื่องกระบวนการสรรหาและแต่งตั้งคณะกรรมการ, การได้รับความคุ้มกันอย่างแท้จริงในการทำหน้าที่, ประสิทธิภาพในการรับมือประเด็นสิทธิมนุษยชนภายในเวลาที่เหมาะสม, ความเป็นอิสระและเป็นกลางขององค์กร ฯลฯ เหล่านี้ต้องได้รับการแก้ไขผ่านพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างกระบวนการยกร่าง
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net