แอมเนสตี้ร้องทางการฟิลิปปินส์ยุติการวิสามัญฆาตกรรมในสงครามปราบปรามยาเสพติด

แอมเนสตี้ฯ ไทย ร้อง รมว.ยุติธรรม ฟิลิปปินส์ ขอให้แสดงท่าทีอย่างชัดเจนว่าการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรมเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้ และเป็นข้อห้ามอย่างเคร่งครัดในทุกสถานการณ์ เร่งสอบสวนทันทีโดยไม่ลำเอียง เอาผิดกับผู้มีส่วนรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน ใน “สงครามปราบปรามยาเสพติด”

25 เม.ย. 2560 รายงานข่างแจ้งว่า วันนี้ (25 เม.ย.60) เวลา 10.00 นักกิจกรรมแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยรวมตัวกันหน้าสถานทูตฟิลิปปินส์ประจำประเทศไทยเพื่อยื่นจดหมายถึงทางการฟิลิปปินส์แสดงความกังวลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในระหว่าง “สงครามปราบปรามยาเสพติด” ทำให้มีประชาชนจำนวนมากกว่า 7,000 คนต้องสูญเสียชีวิต โดยนักกิจกรรมสองคนแต่งตัวเป็นนางงามฟิลิปปินส์และนางงามไทย และบางส่วนแต่งกายด้วยชุดประจำชาติฟิลิปปินส์ พร้อมถือป้ายข้อเรียกร้องให้ยุติการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรมเพราะไม่ใช่แนวทางในการแก้ไขปัญหายาเสพติด​ ​

นอกจากนั้นยังมีการแจกจ่ายแจกมะม่วงซึ่งเป็นผลไม้ที่รู้จักกันดีของทั้งสองประเทศ และเป็นของขึ้นชื่อของฟิลิปปินส์ที่ติดสติ๊กเกอร์ข้อความ #StopTheKillings ให้กับสื่อมวลชนเพื่อเป็นสื่อกลางในการส่งต่อข้อความพร้อมทั้งมอบให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย
 
ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยให้ข้อความมูลเพิ่มเติมว่าจากรายงาน “ถ้าคุณเป็นคนจน คุณต้องถูกสังหาร” การวิสามัญฆาตกรรมในสงครามปราบปรามยาเสพติดของฟิลิปปินส์” (“If you are poor, you are killed” Extrajudicial executions in the Philippines “War on Drugs”) ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2560 ระบุว่ามีประชาชนจำนวนมากกว่า 7,000 คนต้องสูญเสียชีวิต จากการตรวจสอบพบว่าเป็นการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรมกล่าวคือเป็นการสังหารที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและจงใจโดยเป็นไปตามคำสั่งการของรัฐบาล หรือด้วยความรู้เห็นเป็นใจและความยินยอมจากรัฐบาล โดยเหยื่อที่ถูกสังหารส่วนใหญ่เป็นชายที่มาจากชุมชนยากจนในเขตเมือง การกระทำดังกล่าวส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อเด็ก ซึ่งบางคนถูกสังหาร ถูกลูกหลงระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ หรือได้รับประสบการณ์ที่ปวดร้าวทางจิตใจอันเป็นผลมาจากการสูญเสียพ่อแม่หรือญาติพี่น้องของตนไป หรือจากการเป็นพยานรู้เห็นการสังหารเหล่านั้น
 
“มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นอย่างมากและอย่างน่าตกใจ จากการทำ “สงครามปราบปรามยาเสพติด” แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจึงเรียกร้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมของฟิลิปปินส์ ให้แสดงท่าทีอย่างชัดเจนต่อเจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมายในฟิลิปปินส์ว่า การสังหารนอกกระบวนการยุติธรรมเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้ และเป็นข้อห้ามอย่างเคร่งครัดในทุกสถานการณ์  และเร่งดำเนินการสอบสวนโดยทันทีโดยไม่ลำเอียงและมีประสิทธิภาพต่อกรณีการสังหารในคดียาเสพติด โดยเฉพาะการสังหารที่เกิดขึ้นโดยเจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมาย พร้อมทั้งตั้งข้อหาอาญาในกรณีที่ผลการสอบสวนมีพยานหลักฐานที่เพียงพอและศาลรับฟังได้ เพื่อจะเอาผิดกับผู้มีส่วนรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งกรณีการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ” ปิยนุช กล่าว
 
ทั้งนี้สาธารณรัฐฟิลิปปินส์จะเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 30 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง (30th ASEAN Summit and Related Meetings) ที่เมือง Pasay สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ระหว่างวันที่ 26 – 29 เมษายน 2560 ซึ่งแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลในแต่ละประเทศจะร่วมกันส่งจดหมายถึงสถานทูตฟิลิปปินส์ในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย 

รายละเอียดจดหมายเปิดผนึก : 

จดหมายเปิดผนึกถึงทางการฟิลิปปินส์เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในระหว่าง “สงครามปราบปรามยาเสพติด”

25 เมษายน 2560

เรียน นายวิตาเลียโน อากีร์เร (Vitaliano Aguirre) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

เราเขียนจดหมายนี้ขึ้นเพื่อกระตุ้นให้ท่านแสดงท่าทีอย่างชัดเจนว่า การสังหารนอกกระบวนการยุติธรรมต่อผู้ต้องหาในคดียาเสพติดนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ชอบธรรมอย่างสิ้นเชิง และขอเรียกร้องให้ท่านประกันเพื่อให้มีการสอบสวนทันทีโดยไม่ลำเอียง เป็นอิสระและมีประสิทธิภาพต่อกรณีการสังหารซึ่งกระทำโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจและกลุ่มติดอาวุธไม่ทราบฝ่ายนับแต่รัฐบาลได้เริ่มต้น “สงครามปราบปรามยาเสพติด”และควรเปิดเผยผลการสอบสวนเหล่านี้ต่อสาธารณะ รวมทั้งกรณีที่มีพยานหลักฐานว่ามีการกระทำความผิดขึ้น ควรมีการฟ้องร้องและดำเนินคดีทางอาญาต่อไป

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกังวลอย่างยิ่งว่า การสังหารผู้ต้องสงสัยในคดียาเสพติดที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางและต่อเนื่องครั้งนี้อาจรุนแรงถึงขั้นเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลและโดยเฉพาะประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ในหลาย ๆ ครั้ง ได้แสดงท่าทีอย่างเปิดเผยในการยุยงส่งเสริมให้เจ้าพนักงานตำรวจ รวมทั้งบุคคลทั่วไปสังหารผู้ที่ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการค้ายาแทนที่จะปฏิบัติหน้าที่อย่างสอดคล้องตามกฎหมายในประเทศ

ข้อกังวลของเราอ้างอิงจากรายงาน “ถ้าคุณเป็นคนจน คุณต้องถูกสังหาร” การวิสามัญฆาตกรรมในสงครามปราบปรามยาเสพติดของฟิลิปปินส์” (“If you are poor, you are killed” Extrajudicial executions in the Philippines “War on Drugs”) ซึ่งมีการตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2560 จากปากคำของพยานและเอกสารที่รวบรวมได้ รวมทั้งสำนวนการสอบสวนของตำรวจและข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลมีข้อสรุปว่า กรณีการสังหารส่วนใหญ่ที่เราตรวจสอบปรากฏว่าเป็นการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรมกล่าวคือเป็นการสังหารที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและจงใจโดยเป็นไปตามคำสั่งการของรัฐบาล หรือด้วยความรู้เห็นเป็นใจและความยินยอมจากรัฐบาล

จากข้อมูลที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลบันทึกได้ส่วนใหญ่มีความเชื่อมโยงระหว่างการสังหารกับเหตุการณ์ที่ผู้ตายมีชื่ออยู่ใน “บัญชีดำ” ซึ่งมีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐในพื้นที่เป็นผู้จัดทำบัญชีดังกล่าว และให้ข้อมูลเหล่านั้นกับตำรวจ โดยแทบไม่มีการสอบสวนใดๆ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังพบหลักฐานที่เชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานของรัฐและกลุ่มติดอาวุธซึ่งทำการสังหารในกรณีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด โดยกลุ่มบุคคลเหล่านี้ได้รับค่าตอบแทนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อให้กระทำการดังกล่าว รวมทั้งหลักฐานว่ามีการจ่ายเงินอย่างไม่เป็นทางการให้กับตำรวจเพื่อให้ทำการสังหารบุคคลเหล่านั้น

งานวิจัยของเราชี้ให้เห็นว่า เหยื่อที่ถูกสังหารส่วนใหญ่เป็นชายที่มาจากชุมชนยากจนในเขตเมือง ซึ่งเป็นเหตุทำให้ “สงครามปราบปรามยาเสพติด” ที่รัฐบาลประกาศอย่างเป็นทางการเปรียบเสมือนสงครามที่กระทำต่อคนยากจน นอกจากนั้น การกระทำดังกล่าวส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อเด็ก ซึ่งบางคนถูกสังหาร ถูกลูกหลงระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ หรือได้รับประสบการณ์ที่ปวดร้าวทางจิตใจอันเป็นผลมาจากการสูญเสียพ่อแม่หรือญาติพี่น้องของตนไป หรือจากการเป็นพยานรู้เห็นการสังหารเหล่านั้น

จนถึงปัจจุบันทางการฟิลิปปินส์ยังคงเลือกใช้แนวทางที่รุนแรงและถึงขั้นทำให้ประชาชนเสียชีวิต เพื่อจัดการกับผู้ใช้ยาเสพติดแทนที่จะใช้แนวทางด้านสาธารณสุข ปฏิบัติการปราบปรามยาเสพติดนี้ได้ละเมิดสิทธิที่จะมีชีวิตซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานที่ไม่อาจลดทอนได้ และยังละเมิดสิทธิของประชาชนที่จะมีความสุขทั้งทางกายและใจอย่างดีสุดเท่าที่จะเป็นไปได้ บีบให้ผู้ใช้ยาเสพติดและผู้ที่ยังไม่ตกเป็นเหยื่อการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรมต้องเข้าโครงการการบำบัดโดยไม่สมัครใจและไม่ได้เพียงพอ นอกจากนั้น นี่ยังหมายความว่าผู้ใช้ยาเสพติดส่วนใหญ่จะไม่สามารถเข้าถึงบริการในการตรวจร่างกายและการบำบัดรักษาได้

ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจและบุคคลผู้ติดอาวุธที่ไม่ทราบฝ่ายจำนวนเท่าไรที่ถูกสอบสวน ยิ่งไม่ต้องพูดถึงว่ามีบุคคลใดถูกตั้งข้อหาเนื่องจากการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรมหรือไม่ รวมทั้งการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงอื่นๆ ปฏิบัติการปราบปรามยาเสพติดและการบังคับใช้กฎหมายอื่นๆ ที่มีพื้นฐานมาจากการใช้กำลังและแนวทางแบบทหารไม่ใช่ทางออกสำหรับการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมด้านยาเสพติด ในทางตรงข้าม กลับมีหลักฐานว่าแนวทางเหล่านี้นำไปสู่ความรุนแรง การคุกคามและการทุจริตที่เพิ่มมากยิ่งขึ้น โดยมักมีส่วนเกี่ยวข้องกับตลาดยาเสพติด

จากข้อมูลข้างต้นและการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นอย่างมากและอย่างน่าตกใจ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจึงขอเรียกร้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมให้

·        แสดงท่าทีอย่างชัดเจนต่อเจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมายในฟิลิปปินส์ว่า การสังหารนอกกระบวนการยุติธรรมเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้ และเป็นข้อห้ามอย่างเคร่งครัดในทุกสถานการณ์

·        ให้เร่งดำเนินการสอบสวนโดยทันทีโดยไม่ลำเอียงและมีประสิทธิภาพต่อกรณีการสังหารในคดียาเสพติด โดยเฉพาะการสังหารที่เกิดขึ้นโดยเจ้าพนักงานผู้บังคับใช้กฎหมาย

·        ให้ตั้งข้อหาอาญาในกรณีที่ผลการสอบสวนมีพยานหลักฐานที่เพียงพอและศาลรับฟังได้ เพื่อจะเอาผิดกับผู้มีส่วนรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งกรณีการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ

เราหวังอย่างจริงจังว่าท่านจะพิจารณาและให้การสนับสนุนต่อข้อเสนอแนะเหล่านี้

ขอแสดงความนับถือ

นางปิยนุช โคตรสาร

ผู้อำนวยการ

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท