(ยัง) ไม่มีสหภาพแรงงานมหาวิทยาลัย ในประเทศไทย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

1. สถิติแรงงานในมหาวิทยาลัย

ข้อมูลจากเว็บไซต์สารสนเทศอุดมศึกษา เดือนตุลาคม 2559 สถาบันอุดมศึกษา 116 แห่ง จาก 155 แห่ง[1] มีสถิติจำนวนแรงงานในสถาบันอุดมศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน ดังนี้

ตารางที่ 1       จำนวนบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา ตุลาคม 2559

ประเภท

ข้าราชการ

จ้างชั่วคราว

 

จ้างประจำ

 

พนักงานมหาวิทยาลัย

พนักงานราชการ

รวม

อาจารย์ที่มีชั่วโมงสอนและช่วยสอน

12,628

5,976

5,384

39,686

200

63,874

บุคลากรสายสนับสนุน

6,253

29,111

15,589

62,559

1,587

115,099

รวม

18,881

35,087

20,973

102,245

1,787

178,973

ตัวเลขดังกล่าวทั้งหมดรวมทั้งแรงงานอาจารย์และแรงงานประเภทอื่นมีจำนวนกว่า 1.8 แสนคน จำนวนนี้เทียบเคียงได้กับจำนวนแรงงานข้ามชาติที่ได้รับอนุญาตทำงานในภาคเหนือเมื่อปลายปี 2558 ที่มีจำนวน 182,328 คน[2] แต่แรงงานจำนวนมากขนาดนี้ กลับเป็นแรงงานที่ถูกละเลยความสำคัญในหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นสภาพการจ้างงาน สวัสดิการ และอื่นๆในความมั่นคงของวิชาชีพ ในบทความนี้ผู้เขียนขอขยายประเด็นเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของการเกิดขึ้นของสหภาพแรงงานมหาวิทยาลัยเพื่อการต่อรองและต่อสู้ร่วมกันเพื่อสวัสดิการของตนและมิตรสหายแรงงานในวิชาชีพอื่นๆ

2. เหตุผลที่ควรมีสหภาพแรงงานมหาวิทยาลัย

กรณีปัญหาของแรงงานมหาวิทยาลัยนั้น มีทั้งส่วนของแรงงานที่เป็นอาจารย์ และแรงงานมหาวิทยาลัยที่ไม่ได้ทำหน้าที่การสอนซึ่งมักถูกเรียกว่าเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยสายสนับสนุน ซึ่งส่วนหลังคือ แรงงานส่วนใหญ่ในสถาบันอุดมศึกษา แต่ตัวละครที่มักถูกฉายออกมาคือ อาจารย์มหาวิทยาลัย เรื่องราวของพวกเขาปรากฏอยู่ตามสื่ออย่างสม่ำเสมอ ดังที่ผู้เขียนได้เสนอไปแล้วว่า ปัญหาอย่างหนึ่งก็คือ การไม่ตระหนักถึงความเป็นแรงงานของตนในหมู่อาจารย์มหาวิทยาลัย[3] ทั้งด้วยการถูกสั่งสอนอบรมมา หรือการถูกมัดตรึงด้วยกฎหมายแรงงาน ในกรณีแรกนั้นอาจเป็นมรดกตกทอดมาจากความเป็นครู และความเป็นข้าราชการมาแต่เดิมที่นอกจากจะเป็นการสร้างพื้นที่แห่งเกียรติยศของตนแล้ว ในทางกลับกันมันได้แยกความเป็นแรงงานออกจากมิตรสหายแรงงานทั้งหลายไปด้วย ที่ผ่านมาการต่อสู้เคลื่อนไหวเรื่องแรงงานหรือสวัสดิการทั้งหลายในสังคมไทย แทบไม่ได้อยู่ในกระแสสำนึกของอาจารย์มหาวิทยาลัยทั่วไปด้วยซ้ำ จนกระทั่งสภาพการจ้างงานที่ไม่มั่นคง อันเนื่องมาจากว่าอาจารย์มิได้เป็นข้าราชการที่มีอายุจ้างงานตลอดชีวิต มีสวัสดิการชั้นดีเลิศเผื่อแผ่ครอบครัวอีกต่อไปถึงได้ทำให้อาจารย์ส่วนหนึ่งเริ่มตั้งคำถามกับสภาพการจ้างงานที่เป็นอยู่มากขึ้นเรื่อยๆ

ขณะที่แรงงานที่ไม่ใช่อาจารย์ในมหาวิทยาลัยกลับถูกละเลย[4] ทั้งที่มีจำนวนมากกว่า จากตารางที่หนึ่งสัดส่วนต่อแรงงานทั้งหมดนับเป็น 64.31% เสียงของพวกเขายิ่งน้อยกว่าน้อย การดำรงชีวิตอยู่ของพวกเขาคล้ายกับเป็นเพียงผู้สนับสนุนให้อาจารย์ทำงานได้อย่างสะดวกสบาย ไม่ใช่แรงงานที่มีความเสมอภาคและเท่าเทียมกัน ในทางอุดมคติการรวมตัวกันได้จะสามารถสร้างอำนาจต่อรองต่อผู้ว่าจ้าง ซึ่งในที่นี้ก็คือ ผู้บริหารมหาวิทยาลัย การรวมตัวกันที่ผ่านมานั้นอาจจะมีในรูปของสมาคมวิชาชีพและเกิดเฉพาะกับผู้ที่มีสถานะที่ดีอยู่แล้วเช่นอาจารย์ แต่กระนั้นหมู่อาจารย์มักนิยมตั้งสมาคมวิชาชีพของตนเองมากกว่า เนื่องมาจากการรวมกลุ่มดังกล่าวนำไปสู่การสร้างเครือข่ายในวิชาชีพ และการเข้าถึงแหล่งทุน แต่มักจะไม่ได้มีบทบาทต่อรองเกี่ยวกับปัญหาสภาพการจ้างงาน ทั้งยังไม่มีที่ทางในโครงสร้างกฎหมายแรงงานใดๆ แต่ความคิดในเชิงอุดมคติใดที่จะตอบโจทย์ในการสร้างอำนาจต่อรองร่วมกันระหว่างแรงงานในมหาวิทยาลัย?

คำตอบหนึ่งก็คือ สหภาพแรงงาน

สหภาพแรงงานคืออะไร? สหภาพแรงงาน[5] คือ องค์กรของเหล่าแรงงานที่พวกเขาจัดตั้งขึ้นเพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับผู้ว่าจ้าง กลุ่มทุน หรือรัฐบาล โดยมีความเป็นอิสระจากกลุ่มดังกล่าว ยิ่งเมื่อมีสมาชิกสหภาพจำนวนมากขึ้นก็ยิ่งมีอำนาจต่อรองขึ้นได้ด้วย อนึ่งโดยแนวคิดแล้วสหภาพแรงงานนั้นต้องยืนอยู่บนพื้นฐานของความเป็นประชาธิปไตยที่สมาชิกมีส่วนในการกำหนดและควบคุมนโยบายของสหภาพ อย่างไรก็ตามการเพิ่มจำนวนสมาชิกนั้นตามกฎหมายแล้วจะต้องเป็นความสมัครใจ ไม่ใช่เป็นการบังคับ[6] สหภาพแรงงานนั้นสามารถจัดตั้งได้ในสถานประกอบการเดียวกัน และข้ามสถานประกอบการกัน[7] นอกจากนั้นสหภาพแรงงานสามารถรวมตัวกันตั้งแต่ 2 แห่งขึ้นไปรวมเป็นสหพันธ์แรงงาน เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างสหภาพ แรงงาน และคุ้มครองผลประโยชน์ของสหภาพแรงงานและลูกจ้าง[8]  ซึ่งเป็นการสร้างความเข้มแข็งของสหภาพมากขึ้น แต่กระนั้นสหภาพแรงงานไม่ได้ถือว่าผู้บริหารสถานประกอบการเป็นศัตรู แต่เป็นมิตรสหายที่มีความเท่าเทียมกันในฐานะเพื่อนมนุษย์ที่สามารถเจรจาและต่อรองกันได้

อย่างไรก็ตาม ไม่เคยมีการจัดตั้งสหภาพแรงงาน ในสถาบันอุดมศึกษามาก่อนจะด้วยเหตุผลใดนั้น จะได้กล่าวต่อไป  

 

3. ปัญหาการตั้งสหภาพแรงงานในมหาวิทยาลัย และการเชื่อมต่อกับแรงงานนอกมหาวิทยาลัย

ในเชิงเทคนิคแล้ว การจัดตั้งสหภาพแรงงานในประเทศไทย สัมพันธ์โดยตรงกับกฎหมายพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ด่านแรกที่คาดว่าทำให้หลายคนในมหาวิทยาลัยต้องถอยหลังหากต้องการจะตั้งสหภาพแรงงาน ก็คือ การไม่ให้บังคับใช้กฎหมายนี้กับราชการส่วนกลาง, ราชการส่วนภูมิภาค, ราชการส่วนท้องถิ่น รวมทั้งราชการของกรุงเทพมหานคร และ เมืองพัทยา, กิจการรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และกิจการอื่นตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา เนื่องจากว่า แต่เริ่มนั้น มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นหน่วยงานราชการมาก่อน กฎหมายนี้จึงเป็นเสมือนกรงขังมิให้เกิดการจัดตั้งสหภาพแรงงานขึ้นในมหาวิทยาลัยในเชิงโครงสร้าง

ขณะที่อาจารย์เอง นอกจากปัญหาของความมั่นคงของระบบราชการมาแต่เดิมและการดำรงสถานภาพที่สูงส่งที่เป็นอุปสรรคในการรวมตัวแล้ว อาจารย์มหาวิทยาลัยเองยังมีปัญหาที่ไม่สามารถรวมตัวกันได้ไม่ว่าจะด้วยทัศนคติ สาขาวิชาที่ถูกแบ่งแยกกันไปตามศาสตร์ต่างๆ นอกจากนั้นสัญญาจ้างงานที่ต่างกันที่ทำให้สถานภาพที่ต่างกันไปด้วยไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ, พนักงานราชการ, พนักงานมหาวิทยาลัย, ลูกจ้างประจำ, ลูกจ้างชั่วคราว ส่วนแรงงานที่ไม่ใช่อาจารย์ก็ตกอยู่ในโครงสร้างกฎหมายเดียวกันที่นอกจากจะไม่มีสวัสดิการที่มั่นคงให้แล้ว ยังตัดสิทธิพื้นฐานของแรงงานอีกด้วย ทั้งที่ในทางปฏิบัติแล้วพวกเขาเป็นผู้ใช้แรงงานอย่างเข้มข้นในกรณีอย่างแม่บ้าน ภารโรง คนสวน ฯลฯ

การจัดตั้งสหภาพแรงงานมหาวิทยาลัยนอกจากจะเป็นการรักษาผลประโยชน์ของตนนั่นคือสิทธิแรงงานพื้นฐานในสถานที่ทำงานแล้ว ผู้เขียนเห็นว่า จะเป็นพื้นที่แห่งการเชื่อมต่อกับแรงงานอื่นๆที่อยู่ภายนอกมหาวิทยาลัยด้วย ดังที่กล่าวไปแล้วว่าการจัดตั้งสหภาพแรงงานนั้นอาจจัดตั้งเป็นสหพันธ์ เมื่อมีสหภาพแรงงานสองแห่งขึ้นไป การรวมตัวกันเช่นนี้ระหว่างมหาวิทยาลัยยิ่งจะเป็นการสร้างความแข็งแกร่งจนอาจกลายเป็นเครือข่ายระดับชาติได้ การรวมตัวกันเช่นนี้จะนำไปสู่การต่อรองเพื่อให้ผู้บริหารแก้ไขปัญหาสภาพการจ้างงานที่ย่ำแย่ต่างๆ เช่น ความไม่เป็นธรรมของการจ้างงาน อย่างการให้ออกอย่างไม่เป็นธรรม หรือการปรับปรุงสวัสดิการของมหาวิทยาลัยให้ดีขึ้น ฯลฯ หรือการเรียกร้องต่อรัฐบาลในประเด็นสาธารณะร่วมกับแรงงานภาคอื่นๆ ในประเด็นที่ใหญ่ขึ้น เช่น การเรียกร้องสวัสดิการทางสังคมที่ดีขึ้น การปรับระบบการให้บริการในนามประกันสังคมจะต้องไม่ใช่เป็นการให้บริการชั้นสอง หรือการให้เบิกที่ไม่สมเหตุสมผล และปกป้องผลประโยชน์กองทุนไม่ให้รัฐนำเงินไปใช้โดยไม่ได้รับการยินยอมจากผู้จ่ายเงินสมทบ ไม่เพียงเท่านั้นการตระหนักถึงปัญหา และผลประโยชน์ร่วมกันอาจนำไปซึ่งการสร้างพรรคการเมืองให้เป็นปากเป็นเสียงของเหล่าแรงงานที่จะไปทำงานทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น 

4. ข้อเสนอระยะสั้น กลุ่มศึกษาปัญหาแรงงานในมหาวิทยาลัย

การไปถึงสหภาพแรงงานมหาวิทยาลัยได้นั้น คงต้องเดินทางทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะการจัดการเกี่ยวกับกฎหมาย ผู้เขียนมีข้อเสนอระยะสั้น นั่นคือ การรวมกลุ่มและสร้างเครือข่ายกันระหว่างอาจารย์และแรงงานในมหาวิทยาลัยต่างๆ ทราบกันดีว่า มหาวิทยาลัยได้กระจายตัวอยู่ตามจังหวัดต่างๆ แม้จะยังไม่ครบทุกจังหวัด แต่ก็มีฐานอยู่ทั้งในมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ 15 แห่ง มหาวิทยาลัยราชภัฏ 40 แห่ง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 9 แห่ง ฯลฯ ภายในมหาวิทยาลัยเหล่านี้สามารถที่จะตั้งกลุ่มศึกษาปัญหาแรงงานขึ้น เพื่อนำไปสู่การทำความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาสภาพการจ้างงานและการแก้ไขปัญหาต่างๆในพื้นที่ของตนเอง โดยมีเรื่องสหภาพแรงงานเป็นประเด็นหนึ่งที่ควรศึกษา คู่ไปกับการศึกษากฎหมายเกี่ยวกับแรงงาน เช่น  พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551, พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 (ปรับปรุง), พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528, พระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2545, พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2551, พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518, พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541, พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543, พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 เป็นต้น

ไม่เพียงเท่านั้น การตั้งกลุ่มเช่นนี้ยังอาจนำไปสู่การร่วมเรียนรู้กับแรงงานในเขตจังหวัดหรือพื้นที่ใกล้เคียงของตน ในสถานประกอบการต่างๆ โดยเฉพาะแรงงานที่มีการจัดตั้งสหภาพแรงงานขึ้นในเขตจังหวัดของตนเอง ทั้งเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ หรือรวมกลุ่มช่วยเหลือในสิ่งที่กลุ่มแรงงานมหาวิทยาลัยที่ช่วยได้ ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่า แรงงานในเขตต่างจังหวัดที่ไม่ใช่ย่านโรงงานขนาดใหญ่อาจขาดพลังที่เชื่อมต่อกับแรงงานอื่นๆ หากสถาบันการศึกษาอย่างมหาวิทยาลัยจะเป็นพื้นที่กลาง หรือกระทั่งสะพานเชื่อมต่อแรงงาน น่าจะทำให้รากฐานความเคลื่อนไหวด้านแรงงานมีความเข้มแข็งขึ้น จนนำไปสู่จัดตั้งสหภาพแรงงานได้ในอนาคต.

 

เชิงอรรถ

[1] เว็บไซต์สารสนเทศอุดมศึกษา. "บุคลากรอุดมศึกษา". สืบค้นเมื่อ 30 เมษายน 2560 จาก http://www.info.mua.go.th/information/show_all_statdata_table.php?data_show=4 อย่างไรก็ตาม ไม่มีข้อมูลอีก 39 แห่ง เช่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์, มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, มหาวิทยาลัยรังสิต, มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ฯลฯ

[2] กระทรวงแรงงาน. "วารสารสถิติจำนวนคนต่างด้าวที่ได้รับอนญุาตทำงานคงเหลือทั่วราชอาณาจักรประจำปี 2558". สืบค้นเมื่อ 30 เมษายน 2560 จาก https://www.doe.go.th/prd/assets/upload/files/alien_th/cea979ea00fbb2f2ad2b6d5e53d5dde8.pdf

[3] ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์ และ อัคจร แม๊ะบ้าน. "ความเป็น ‘แรงงาน’ ที่หายไป: บุคลากรในมหาวิทยาลัยกับความคำนึงหาสหภาพแรงงาน". สืบค้นเมื่อ 30 เมษายน 2560 จาก https://prachatai.com/journal/2016/10/68440

[4] ตัวอย่างการยกประเด็นดังกล่าว ได้แก่ ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์. "แรงงานผี: สภาวะไม่ใช่คนในพื้นที่ทำงาน กรณีศึกษาแม่บ้านและภารโรง". สืบค้นเมื่อ 30 เมษายน 2560 จาก https://prachatai.com/journal/2016/09/68107 (28 กันยายน 2559) 

[5] อ่านเพิ่มเติมใน ฐานข้อมูลสหภาพแรงงานไทย. "สหภาพแรงงานคืออะไร ". สืบค้นเมื่อ 30 เมษายน 2560 จาก http://www.thailabordatabase.org/th/union.php?c=about

[6] “พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518”, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 92, ตอนที่ 47, 26 กุมภาพันธ์ 2518, น.ฉบับพิเศษ 67

[7] ฐานข้อมูลสหภาพแรงงานไทย. "สหภาพแรงงานคืออะไร ". สืบค้นเมื่อ 30 เมษายน 2560 จาก http://www.thailabordatabase.org/th/union.php?c=about

[8] “พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518”, ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 92, ตอนที่ 47, 26 กุมภาพันธ์ 2518, น.ฉบับพิเศษ 63

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท