เสธ.กองทัพเรือชี้แจงซื้อเรือดำน้ำ S-26T คิดดีแล้วอย่างรอบคอบ รอบด้าน ลึกซึ้ง กว้างไกล

กองทัพเรือเปิดฐานทัพเรือสัตหีบตั้งโต๊ะแถลงข่าวซื้อเรือดำน้ำ S-26T จากจีน โฆษกกองทัพเรือยืนยันเดินหน้าจัดซื้อตามมติคณะรัฐมนตรี ส่วน พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ระบุเรือดำน้ำปัจจุบันต้องมีภารกิจหลากหลาย ทั้งกองเรือตรวจการณ์ ภารกิจมนุษย์กบ ใช้รักษาสันติภาพ โจมตีเป้าหมายเรือผิวน้ำและเป้าหมายบนฝั่ง โดยใช้จรวดนำวิถีเข้าสู่เป้าหมาย ใช้ปฏิบัติการลับ ใช้ยกพลขึ้นบก ต่อต้านการก่อการร้าย โดยเรือดำน้ำ S-26T มีคุณสมบัติเหมาะสมต่อภารกิจนี้

แถลงข่าวชี้แจงการจัดซื้อเรือดำน้ำที่ฐานทัพเรือสัตหีบ เมื่อ 1 พ.ค. 2560 ที่มาของภาพ: โต๊ะข่าวการเมือง/ไทยพีบีเอส Live

1 พ.ค. 2560 เวลา 15.00 น. วันนี้ พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เสนาธิการทหารเรือ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ (กจด.) จะนำคณะชี้แจงทุกขั้นตอนและรายละเอียดในการจัดซื้อเรือดำน้ำ ที่โรงเก็บอากาศยาน เรือหลวงจักรีนฤเบศร ท่าเรือจุกเสม็ด อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี โดยจะใช้เวลาประมาณ 45 นาที ให้สื่อมวลชนสามารถซักถามในข้อสงสัยต่างๆ

สำหรับรายชื่อผู้ที่ชี้แจงโครงการจัดหาเรือดำน้ำจีน ประกอบด้วย 1.พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เสนาธิการทหารเรือ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ 2.พล.ร.ท.พัชระ พุ่มพิเชฏฐ์ รองเสนาธิการทหารเรือ ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดจ้างสร้างเรือดำน้ำในลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาล 3.พล.ร.ต.กฤษฎาภรณ์ พันธุมโพธิ ผู้อำนวยการสำนักงานจัดหายุทโธปกรณ์ทหารเรือ ในกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ 4.พล.ร.ต.วิสาร ปัณฑวังกูร ผู้บัญชาการกองเรือดำน้ำ กองเรือยุทธการ ในฐานะผู้บัญชาการหน่วยผู้ใช้งาน และ 5.พล.ร.อ.จุมพล ลุมพิกานนท์ โฆษกกองทัพเรือ

ทั้งนี้ พล.ร.อ.จุมพล ลุมพิกานนท์ โฆษกกองทัพเรือ ยืนยันว่า กองทัพเรือยังคงเดินหน้าจัดซื้อเรือดำน้ำจากสาธารณรัฐประชาชนจีน 1 ลำ มูลค่า 13,500 ล้านบาท ตามมติคณะรัฐมนตรี 18 เมษายน 2560

ด้าน พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เสนาธิการทหารเรือ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ (กจด.) ชี้แจงว่าขั้นตอนการจัดหาเรือดำน้ำ ผ่านมติคณะรัฐมนตรีแล้ว จึงสามารถเล่าให้ฟังในบางประเด็นได้ กองทัพเรือไม่ได้เสนอเรือดำน้ำแค่ในยุคนี้ เสนอกองบังคับการเรือดำน้ำมาทุกยุคทุกสมัยมาเป็นศตวรรษ ไม่ได้มีวาระแอบแฝง แต่พิจารณาอย่างรอบคอบ รอบด้าน ลึกซึ้ง กว้างไกล คำนึงยุทธศาสตร์กองทัพเรือ มีกระบวนการจัดหาแบบโปร่งใส ตรวจสอบได้ ยึดประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน

ทั้งนี้งบประมาณที่ใช้จัดหาเรือดำน้ำไม่ได้เบียดบังกระทรวง ทบวงกรมอื่น ฝากไปถึงเพื่อนๆ ทหารเหล่าอื่น ไม่ต้องกังวลว่าเมื่อซื้อเรือดำน้ำจะทำให้ไม่มีงบประมาณจัดหาอากาศยานในภายภาคหน้า หรือไม่มีการซ่อมบำรุงรักษารถรบ เรือรบ เครื่องบิน เรื่องนี้จะมีการแถลงเพื่อให้สบายใจ

ในอดีตในการซื้อเรือดำน้ำ จะเน้นใช้ในลักษณะเรือโจมตีเรือผิวน้ำ ด้วยตอร์ปิโด แต่ในยุคปัจจุบัน ด้วยเทคโนโลยีและขีดความสามารถปัจจุบัน เรือดำน้ำจึงมีภารกิจหลากหลาย เช่น กองเรือตรวจการณ์ ภารกิจมนุษย์กบ ใช้รักษาสันติภาพ การโจมตีเป้าหมายเรือผิวน้ำ และเป้าหมายบนฝั่ง ใช้จรวดนำวิถีเข้าสู่เป้าหมาย ใช้งานร่วมกับหน่วยอื่น ใช้ปฏิบัติการลับยกพลขึ้นบกได้ นอกจากนี้จะมีการใช้ในภารกิจพิเศษต่อต้านการก่อการร้าย

โดยเรือดำน้ำต้องมีขีดความสามารถ มีคุณสมบัติที่ตอบสนองต่อความต้องการเหล่านี้ และเรือดำน้าดีเซลรุ่น S26T จากจีน มีคุณสมบัติเหมาะสมต่อภารกิจเหล่านั้น สิ่งเหล่านี้จะพึงพอใจหรือไม่ ผู้ใช้ก็คือผู้บัญชการกองเรือดำน้ำจะมาตอบโจทย์นี้

ทั้งนี้กองทัพเรือแถลงด้วยว่า กองทัพเรือไม่มีเรือดำน้ำประจำการมากว่า 60 ปีแล้ว และการมีเรือดำน้ำจะป้องกันการถูกปิดอ่าวไทยที่มีลักษณะเป็นก้นถุง โดยเรือดำน้ำถือเป็นเส้นเลือดสำคัญในการขนส่งสินค้าและเชื้อเพลิง หากมีการใช้กำลังน้อยนิดก็ปิดอ่าวไทยได้ ที่ว่าอ่าวไทยตื้นนั้น ก็เคยมีเรือดำน้ำต่างชาติเข้ามาปฏิบัติการ เช่น ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เรือหลวงสมุยซึ่งทำหน้าที่ลำเลียงน้ำมันก็ถูกเรือดำน้ำของสัมพันธมิตรโจมตี ยืนยันว่ากองทัพเรือดำเนินการจัดหาเรือดำน้ำรอบใหม่มาอย่างยาวนานนับตั้งแต่ปี 2538 ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง

แฟ้มภาพอาคารกองบัญชาการกองเรือดำน้ำแห่งใหม่ และการเตรียมการจัดพิธีเปิดอาคารกองบัญชาการกองเรือดำน้ำ ณ ฐานทัพเรือสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เมื่อเดือนมิถุนายน 2557 โดยในเวลานั้นมี พล.ร.ท.ภาณุ บุณยะวิโรจ เป็นผู้บัญชาการกองเรือดำน้ำ ปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นเสนาธิการกองเรือยุทธการ (ที่มา: เพจกองเรือดำน้ำ กองเรือยุทธการ)

เรือหลวงสินสมุทรและลูกเรือ เป็น 1 ใน 4 เรือดำน้ำของกองทัพเรือที่ประจำการระหว่างปี พ.ศ. 2481 - 2494 (ที่มา: แฟ้มภาพ/วิกิพีเดีย)

อนึ่งกองทัพเรือมีการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานสำหรับเรือดำน้ำ โดยกองทัพเรือได้อนุมัติแผนการก่อสร้างอาคารกองบัญชาการกองเรือดำน้ำ บริเวณท่าเรือแหลมเทียน ฐานทัพเรือสัตหีบ และจัดหาเครื่องฝึกศูนย์ยุทธการเรือดำน้ำ พร้อมอาคารฝึกศูนย์ยุทธการเรือดำน้ำ จากบริษัท Rheinmetall Defence Electronics (GmbH) และมีพิธีเปิดอาคารเมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2557

โดยขณะนี้กองทัพเรือไทยอยู่ระหว่างจัดหาเรือดำน้ำมาประจำการ โดยรายงานในวารสารด้านความมั่นคง Janes ในเดือนตุลาคม 2556 ระบุว่ากองทัพไทยต้องการจัดซื้อเรือดำน้ำพลังดีเซล 1 ลำ ภายในปี พ.ศ. 2567

ทั้งนี้หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มมีเรือดำน้ำในประจำการแล้ว โดยอินโดนีเซียมีเรือดำน้ำประจำการตั้งแต่ พ.ศ. 2524 เป็นเรือดำน้ำ Type 209 จากเยอรมนี 2 ลำ และขณะนี้อยู่ระหว่างต่อเรือที่เกาหลีใต้อีก 3 ลำ สิงคโปร์เริ่มมีเรือดำน้ำประจำการใน พ.ศ. 2538 ปัจจุบันมีเรือดำน้ำ 6 ลำ ทั้งหมดเป็นเรือดำน้ำจากสวีเดน แบ่งเป็นเรือดำน้ำ Sjoormen class 4 ลำ และเรือดำน้ำ Vastergotland-class 2 ลำ ส่วนเวียดนามมีเรือดำน้ำชั้น Kilo-class ของรัสเซีย 6 ลำ

ส่วนมาเลเซียมีเรือดำน้ำ The Scorpene class จากฝรั่งเศส 2 ลำ ประจำการตั้งแต่ พ.ศ. 2547 ที่ฐานทัพเรือในรัฐซาบาห์ ทางตอนเหนือของเกาะบอร์เนียว ขณะที่ฟิลิปปินส์ และพม่า มีแผนที่จะจัดซื้อเรือดำน้ำมาประจำการเช่นกัน

ก่อนหน้านี้ รัฐสภาไทยอนุมัติการจัดซื้อเรือดำน้ำตั้งแต่ปี พ.ศ. 2478 โดยเป็นส่วนหนึ่งภายใต้งบประมาณตามพระราชบัญญัติบำรุงกำลังทางเรือ พ.ศ. 2478 ทั้งนี้มีการตั้งงบจัดซื้อเรือดำน้ำจำนวน 3 ลำ รวมวงเงิน 6.9 ล้านบาท ต่อมาในการประมูลเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2478 บริษัทมิตซูบิชิจากประเทศญี่ปุ่นเป็นผู้ชนะการประมูลโดยเสนอต่อเรือดำน้ำจำนวน 4 ลำ ราคาลำละ 8.2 แสนบาท

ข้อมูลจากวิกิพีเดีย ระบุว่า เรือดำน้ำ 4 ลำ ประกอบด้วย เรือหลวงสินสมุทร เรือหลวงมัจฉาณุ เรือหลวงวิรุณ และเรือหลวงพลายชุมพล เป็นประเภทเรือดำน้ำรักษาฝั่งขนาดเล็ก ระวางขับน้ำต่ำกว่า 500 ตัน ประกอบขึ้นที่อู่ต่อเรือบริษัทมิตซูบิชิ เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น โดยมีการส่งมอบในวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2480 และเข้าปะจำการที่ไทยในวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2481 ต่อมามีการปลดประจำการพร้อมกันทั้ง 4 ลำเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 เนื่องจากขาดแคลนอะไหล่ และประเทศญี่ปุ่นถูกห้ามผลิตอาวุธหลังสิ้นสงครามโลกครั้งที่สอง และภายหลังเหตุการณ์กบฎแมนฮัตตันเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2494 มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกองทัพเรือ มีคำสั่งยุบหมวดเรือดำน้ำ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท