Skip to main content
sharethis

แรงงานทั่วโลกออกมารณรงค์เนื่องในวันแรงงานสากลเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2017 ที่ผ่านมา ภาพประกอบการรณรงค์ของสหภาพแรงงานครูแห่งควีนส์แลนด์, ออสเตรเลีย โดย Andrew Mercer (CC 0.2)

ที่เกาหลีใต้แรงงานต่างชาติก็ออกมาเรียกร้องสิทธิด้วย ที่มาภาพ: KCTU

เมื่อวันที่ 1 พ.ค. ที่ผ่านมาสำนักข่าวต่างประเทศ ได้รายงานว่ารายงานว่าสหภาพแรงงานทั่วโลกนำกลุ่มแรงงานออกมารณรงค์เนื่องในวันแรงงานสากล มีการเรียกร้องให้เพิ่มค่าแรง สภาพการทำงานที่ดีขึ้น การปรับปรุงในด้านสิทธิต่าง ๆ รวมถึงประเด็นการเมืองของแต่ละประเทศ

ที่สเปน สหภาพแรงงาน UGT และ CCOO ได้นำการรณรงค์ 73 แห่งทั่วประเทศสเปน เรียกร้องให้รัฐบาลอนุรักษนิยมของสเปนยกเลิกการปฏิรูปแรงงานที่จะทำให้การเลิกจ้างได้ง่ายขึ้นและจ่ายค่าชดเชยน้อยลง นอกจากนี้ยังมีการเรียกร้องการจ้างงานที่มั่นคง ค่าจ้างที่เหมาะสม เงินบำนาญที่ยุติธรรม และการคุ้มครองทางสังคมมากขึ้นด้วย

ที่รัสเซีย ข้อมูลจากกลุ่มสหภาพแรงงานระบุว่าจะมีแรงงานออกมาร่วมงานเฉลิมฉลองในวันแรงงานกว่า 2.5 ล้านคนทั่วประเทศ โดยที่จตุรัสแดง (Red Square) ในกรุงมอสโก สหภาพแรงงานที่ได้รับการสนับสนุนจากประธานาธิบดีปูตินได้จัดงานที่นี่ ส่วนพรรคคอมมิวนิสต์รัสเซียได้จัดกิจกรรมแยกต่างหากในกรุงมอสโกซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่า 3,500 คน

ที่ฝรั่งเศสคู่ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีฝรั่งเศส ทั้งเอ็มมานูเอล มาครอง (Emmanuel Macron) และมารีน เลอ แปง (Marine Le Pen) ถูกต่อต้านโดยกลุ่มสหภาพแรงงานทั้งคู่

ที่อิตาลี กลุ่มสหภาพแรงงานอิตาลีรณรงค์ตามคำขวัญ "การทำงาน: รากเหง้าของเราในอนาคต" มีผู้เข้าร่วมประมาณ 10,000 คน รวมถึงประธานคณะกรรมาธิการต่อต้านมาเฟียของรัฐสภาอิตาลีด้วย

ที่ตุรกี ประเทศที่มีการเมืองภายในตึงเครียดประเทศหนึ่ง มีการจับกุมผู้รณรงค์ประท้วงเนื่องในวันแรงงานไปกว่า 165 ราย หลังความพยายามสกัดผู้ประท้วงที่พยายามจะเดินขบวนไปยังจัตุรัสทัคซิม (Taksim Square) เพื่อประท้วงต่อต้านการขยายอำนาจของประธานาธิบดี

ที่บังกลาเทศ แรงงานอุตสาหกรรมเสื้อผ้านับพันคนก็ได้ออกมารณรงค์เรียกร้องให้มีการขึ้นค่าแรงและการคุ้มครองทางกฎหมาย กลุ่มสหภาพแรงงานผู้จัดการรณรงค์ระบุว่าการขึ้นค่าแรงเพียงอย่างเดียวนั้นยังไม่เพียงพอ แต่แรงงานจะต้องมีที่พักอาศัยและสุขภาพที่ดี และนายจ้างควรช่วยเหลือเพื่อให้ลูกของคนงานได้รับการศึกษาที่ดีด้วย

ที่ไต้หวันหลายพันคนเดินขบวนประท้วงการจ่ายค่าแรงต่ำที่ไม่เป็นธรรม รวมถึงเรื่องสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ไม่ดีนัก

ที่กัมพูชา แรงงานภาคอุตสาหกรรมเสื้อผ้านับพัน ออกมาเดินขบวนเพื่อยื่นคำร้องต่อรัฐสภาในกรุงพนมเปญ เรียกร้องให้มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และเรียกร้องเสรีภาพในการรวมตัวและสิทธิในการชุมนุมประท้วง

ที่ซูดานใต้ กลุ่มสหภาพแรงงานข้าราชการพลเรือนได้ออกมาเรียกร้องค่าแรงเพิ่มขึ้น ปัจจุบันแม้แต่ข้าราชการพลเรือนของซูดานใต้ยังมีค่าจ้างขั้นต่ำต่อวันต่ำว่า 2 ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยกลุ่มสหภาพแรงงานเรียกร้องไปที่ 5 2 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อวัน รวมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลรับประกันการชำระเงินบำนาญของผู้เกษียณก่อนอายุ หลังการประกาศอิสรภาพของประเทศเมื่อปี 2011 แต่ผู้เกษียณก่อนอายุยังคงรอเงินค้างจ่ายอยู่

นอกจากนี้ยังมีการณรงค์ในอีกหลายที่ในโลก เช่น สหรัฐอเมริกา, รวันดา, แอฟริกาใต้, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย ฯลฯ 

 

เรียบเรียงบางส่วนมาจาก

May Day Panorama: Millions worldwide march, protest, celebrate Workers Day (efe.com, 2/5/2017)
‘No more excuses’: Defiant rallies, marches for workers rights mark May Day (washingtonpost.com, 1/5/2017)

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net