Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

รายงานข่าวเมื่อวันที่ 24 เมษายน ที่ผ่านมาว่า สำนักนายกรัฐมนตรียุคสมัยเผด็จการ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีคำสั่งให้ไล่นายธาริต เพ็งดิษฐ์ ออกจากราชการ หลังจากที่กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดในคดีร่ำรวยผิดปกติ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และยังมีการจัดเตรียมที่จะอายัดทรัพย์สินเพิ่มเติม โดยอ้างว่า นายธาริตโยกย้ายทรัพย์สินที่ทุจริตให้บุตร ภรรยา และคนใกล้ชิดเป็นมูลค่าจำนวนมาก

การไล่ออกจากราชการ หมายความว่า นายธาริตจะหมดสิทธิ์ที่จะได้รับบำเหน็จบำนาญ และยังมีแนวโน้มที่จะต้องถูกดำเนินคดีต่อไปอาจถึงขั้นติดคุก ที่น่าสนใจคือ ชะตากรรมของนายธาริต แทบจะไม่ได้รับความเห็นใจจากใครเลย แต่ที่เป็นเอามาก คือ กลุ่มสลิ่มเสื้อเหลือง และสื่อมวลชนฝ่ายขวา ต่างก็พากันโจมตีสมน้ำหน้า และอธิบายว่า การที่นายธาริตถูกลงโทษ เป็นผลกรรมจากครั้งอดีต โดยพิจารณานายธาริตในฐานะตัวอย่างของ”ข้าราชการชั่ว”ที่จะต้องถูกลงโทษ

ย้อนหลังกลับไปพิจารณาประวัติของนายธาริต มีข้อมูลว่า ธาริตเกิดเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2501 ที่อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท เดิมหลวงพ่อฤาษีลิงดำตั้งชื่อให้ว่า “เบญจ” เพราะเป็นลูกคนที่ 5 ของ ร.อ.เจี๊ยบ เพ็งดิษฐ์ อดีตนายทหารคนสนิทของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เขาได้เข้าเรียนที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และจบการศึกษาระดับปริญญาตรี จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เมื่อ พ.ศ.2524 ด้วยผลการศึกษาระดับเกียรตินิยม จึงได้รับเข้าเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ต่อมา จบปริญญาโทนิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขากฎหมายอาญาและกระบวนการยุติธรรมทางอาญา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ.2532 จึงสอบเข้ารับราชการในกรมอัยการ และได้แต่งงานกับวรรษมล ซึ่งทำงานเป็นนักกฎหมายเช่นเดียวกัน จน พ.ศ.2537 จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น”ธาริต” ตามความเชื่อในตำราโหราศาสตร์

ตำแหน่งหน้าที่ในงานราชการของนายธาริตก้าวหน้า จนได้เป็นเจ้าหน้าที่หน้าห้องของอัยการสูงสุด ในสมัยที่ นายคณิต ณ นคร ดำรงตำแหน่ง (พ.ศ.2537-2540) ต่อมา ในสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย นายธาริตได้รับการชักชวนจาก นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ให้มาทำงานที่สำนักนายกรัฐมนตรี โดยเข้าไปเป็นทีมงานของ นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ที่ปรึกษาใหญ่ของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

นายธาริตมีส่วนสำคัญในการร่างกฎหมายจัดตั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษ ด้วยแนวคิดที่ว่า ควรจะมีหน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่เฉพาะในการป้องกัน ปราบปราม และควบคุมอาชญากรรมที่มีผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งอำนาจหน้าที่ของฝ่ายตำรวจปกติจะมีข้อจำกัดมาก และเมื่อมีการจัดตั้งหน่วยงานนี้ ในสังกัดกระทรวงยุติธรรมเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2545 นายธาริตได้รับตำแหน่งรองอธิบดี ถือว่าเป็นชีวิตราชการที่ก้าวหน้าเร็วมาก

ต่อมา เมื่อ พ.ศ.2551 ในสมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ซึ่งมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ นายธาริตได้เข้าร่วมยกร่างกฎหมายจัดตั้งจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.) จึงได้รับตำแหน่งเป็นเลขาธิการ ป.ป.ท. คนแรก

แต่เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลเป็นพรรคประชาธิปัตย์ ฝ่ายรัฐบาลเห็นว่า พ.ต.อ.ทวี สองส่อง เป็นฝ่ายใกล้ชิดพรรคพลังประชาชน จึงโยกย้ายจากตำแหน่ง แล้วแต่งตั้งให้นายธาริตรับหน้าที่แทนตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ.2552 และนายธาริตกลายเป็นทำงานใกล้ชิดพรรคประชาธิปัตย์ และถือว่ามีผลงานชัดเจนในการสร้างให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ.)เป็นหน่วยงานการเมืองรับใช้ความมั่นคงของรัฐบาล โดยเฉพาะเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2553 รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ขึ้นมาควบคุมและปราบปรามการชุมนุมของคนเสื้อแดง บทบาทของนายธาริตยิ่งโดดเด่นในฐานะกรรมการ ศอฉ.ที่ขยันขันแข็ง ร่วมกับ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ที่เป็นโฆษก ศอฉ. ที่สำคัญ คือเป็นผู้ทำหน้าที่แถลงแสดงหลักฐานข้อมูลความเคลื่อนไหวสร้างสถานการณ์ของม็อบเสื้อแดง รวมทั้งเรื่องกองกำลังติดอาวุธชายชุดดำ ตลอดจนจัดทำข้อกล่าวหาคนเสื้อแดงเรื่องขบวนการหมิ่นสถาบันเบื้องสูง

หลังจากการชุมนุมยุติลงแล้ว ดีเอสไอ ภายใต้การบริหารของนายธาริต ก็ยังเป็นหน่วยงานหลักที่รับจัดหาคดี ทำสำนวนคดี และดำเนินคดีคนเสื้อแดง โดยเฉพาะคดีก่อการร้าย จึงทำให้นายธาริตเป็นที่เกลียดชังอย่างมากของฝ่ายคนเสื้อแดง และเป็นสาเหตุทำให้ถูกฝ่ายพรรคเพื่อไทยตรวจสอบอย่างหนัก ทั้งเรื่องการทำงานและเรื่องส่วนตัว โดยเฉพาะกรณีที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำคนเสื้อแดง ออกมาเปิดเผยเรื่องการโอนเงิน 1.5 แสนบาท เข้าบัญชีของภรรยาธาริต อ้างว่าเป็นเงินค่าตอบแทนในการเลี่ยงภาษี แต่นายธาริตตอบโต้ว่าเป็นเพียงค่าบริการให้คำปรึกษาทางกฎหมาย

ต่อมา เมื่อพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลายฝ่ายในพรรคเพื่อไทย และกลุ่มคนเสื้อแดงได้เรียกร้องและกดดันให้ปลดนายธาริต เพ็งดิษฐ์ แต่กลับกลายเป็นว่า นายธาริตเองยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไปอย่างมั่นคง โดยการปรับเปลี่ยนบทบาทมาทำงานรับใช้ฝ่ายรัฐบาลพรรคเพื่อไทยอย่างแข็งขัน และกลายเป็นผู้นำให้ ดีเอสไอ.เป็นหน่วยงานดำเนินคดีฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์ เช่น คดีต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอส คดีทุจริตก่อสร้างโรงพักทดแทน 396 แห่งทั่วประเทศ คดีสั่งสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง เป็นต้น เป็นเหตุให้นายธาริตถูกโจมตีว่า เมื่อเปลี่ยนรัฐบาล ธาริตก็ “เปลี่ยนสีลู่ตามลม”ให้อยู่ในตำแหน่งต่อไป แต่นายธาริตก็อธิบายว่า “ข้าราชการพลเรือนมีหน้าที่ปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาล หากไม่ปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาลจะมีความผิดทางวินัย นี่คือความจริงที่ต้องยอมรับ เพราะประเทศนี้วางกติกาว่า ฝ่ายการเมืองเป็นฝ่ายบริหาร ฝ่ายข้าราชการประจำเป็นฝ่ายปฏิบัติ ข้าราชการประจำคือเครื่องมือของฝ่ายการเมือง เมื่อกติกาของบ้านเมืองเราและกฎหมายเป็นเช่นนี้ เราก็ต้องปฏิบัติตามนี้”

และในกรณีเหตุการณ์เฉพาะนายธาริตอธิบายว่า เมื่อรัฐบาลประชาธิปัตย์บริหารประเทศ เลือกนโยบายการบังคับใช้กฎหมายแบบเด็ดขาด ซึ่งเขาเห็นว่าถูกต้อง เพราะความขัดแย้งขณะนั้น ถ้าไม่เด็ดขาดเกมก็ไม่จบ ก็จะเกิดการรบกันมากมาย ความสูญเสียอาจจะมากกว่าที่เห็นพันเท่า แต่เมื่อพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล แล้วใช้นโยบายการปรองดอง เขาก็เห็นด้วยว่าเป็นนโยบายที่ถูกต้อง เขาจึงต้องปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล ในสถานการณ์ที่ต่างกัน

ระหว่างการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. เพื่อขับไล่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2556 ทั้งนายธาริตและดีเอสไอ ก็ตกเป็นเป้าในการปิดล้อม-ขับไล่ กระทั่งบ้านภรรยาธาริตซึ่งซื้อไว้ที่เขาใหญ่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เพื่อทำโฮมสเตย์ ก็ถูกตรวจสอบว่าอาจรุกล้ำพื้นที่ป่าสงวน จนต้องยอมรื้อบ้านบางหลัง และคืนที่ดินบางส่วนให้กับราชการ

ต่อมา เพียง 48 ชั่วโมง หลังคณะทหารก่อการรัฐประหาร ก็มีคำสั่ง คสช. ที่ 8/2557 ย้ายนายธาริต พ้นจากตำแหน่งอธิบดีดีเอสไอ.ไปประจำที่สำนักนายกรัฐมนตรี หลังจากนั้น นายธาริตต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการขึ้นศาล เพื่อต่อสูคดี 26 คดี ที่เขาเป็นทั้งโจทก์และจำเลย นายธาริตอธิบายว่า

“เราไม่ต้องพูดถึงความแฟร์อะไรนะ แต่ผมอยากจะกระตุ้นเตือนความคิดนิดหนึ่งว่า สิ่งที่มันกำลังเกิดขึ้นกับผมในขณะนี้ กำลังเกิดขึ้นกับข้าราชการประจำคนหนึ่ง ที่ตั้งใจ และทุ่มเทการทำงานตามคำสั่งที่ได้รับมอบหมาย จากผู้ใต้บังคับบัญชา แต่ต้องมาเจออะไรแบบนี้ ต่อไปจะมีข้าราชการประจำคนไหนกล้าที่จะมาทำงานกันไหม”

จากคดีความร่ำรวยผิดปกติ นายธาริตจะถูกยึดทรัพย์ราว 346 ล้านบาท เพียงแต่ในที่นี้อยากมองอย่างเป็นกลางว่า เรื่องนี้เป็นคดีที่ถูกลงโทษจากเรื่องการเมือง เพราะคณะทหารและข้าราชการระดับสูงที่มีทรัพย์สินมากกว่านี้ก็ยังมีอีกหลายคน การลงโทษนายธาริตจึงเป็นเสมือนการ”ตักเตือน”ฝ่ายข้าราชการในโอกาสต่อไป ไม่ให้เบี่ยงเบนไปจากฝ่ายกระแสหลัก

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน โลกวันนี้วันสุข ฉบับ 614 วันที่ 29 เมษายน 2560

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net