Skip to main content
sharethis

รายการล่าความจริง และ ปมลึก ปมลับ เจาะดีลเรือดำน้ำ ระบุสเปคด้อยกว่าเจ้าอื่น มีนัยทางการเมืองหลังปิดดีลหมื่นล้านในช่วงข้าวยากหมากแพง

ภาพจาก TPBS Live

เมื่อวันที่ 26 เม.ย. ที่ผ่านมารายการ ล่าความจริง ของช่อง NOW 26 รายงานข่าวในหัวข้อ “เจาะเอกสารเรือดำน้ำจีน เมื่อประชาชนถูกมัดมือชก” ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับคุณสมบัติเรือดำน้ำ S26T ที่มีมติ ครม. ให้จัดซื้อจากรัฐบาลจีน 1 ลำ วงเงิน 13,500 ล้านบาท จากแผนการจัดซื้อของกองทัพเรือทั้งหมด 3 ลำ ด้วยวงเงิน 36,000 ล้านบาท

“ประเด็น "ซื้อ 2 แถม 1" ถูกตั้งคำถามว่าเป็นการล็อคสเปคให้จีนหรือไม่ เพราะในเอกสารเชิญชวนที่กองทัพเรือส่งไปยังบริษัทต่างๆ ที่เรียกว่า Request for Offer ได้เขียนความต้องการในการจัดหาเรือดำน้ำครั้งนี้ไว้อย่างชัดเจนว่า ต้องการจัดหา 2 ลำในวงเงิน 36,000 ล้านบาท และบริษัทอื่นก็เสนอตามนั้น รวมทั้งจีนด้วย แต่ภายหลังจีนมาเสนอสิทธิพิเศษ "ซื้อ 2 แถม 1" หลังจากนั้นกองทัพเรือก็เปลี่ยนเอกสารโครงการใหม่ ระบุว่าเป็นโครงการจัดหาเรือดำน้ำ 3 ลำ ในวงเงิน 36,000 ล้านบาท”

ทีมล่าความจริง รายงานว่า ขนาดของตัวเรือที่ใหญ่กว่าเรือดำน้ำอื่นที่ถูกเสนอขาย ทำให้ระดับความลึกที่เรือดำน้ำจะซ่อนพรางได้ปลอดภัย ต้องมีความลึกที่ 60 เมตร แต่ความลึกเฉลี่ยของทะเลไทยอยู่ที่ 25-40 เมตร

เรือดำน้ำ S26T สามารถทำความเร็วสูงสุด คือ 18 นอต หรือ...กม./ชม. ได้เพียง 10 นาที ระยะปฏิบัติการ 8,000ไมล์ ในขณะที่เรือดำน้ำชาติอื่นทำความเร็วสูงสุดได้ 20 นอต นาน 1 ชั่วโมง และมีระยะปฏิบัติการมากกว่า 10,000 ไมล์

S26T มีระบบอำนวยการรบในการคำนวณเป้าหมายด้อยกว่าเรือดำน้ำแบบอื่นหลายเท่า ทั้งทางการจีนก็เสนอจำนวนตอร์ปิโดให้น้อยมาก เป็นลูกจริง 4 ลูก ลูกซ้อม 2 ลูก สำหรับเรือดำน้ำ 3 ลำ ในขณะที่เรือดำน้ำบางแบบให้ลูกจริงถึง 16 ลูก สำหรับเรือดำน้ำ 2 ลำ

ในแง่ของอายุการใช้งาน เอกสารที่เสนอจากบริษัทของจีนระบุว่า เรือดำน้ำจีนมีอายุการใช้งานอยู่ที่ 25 ปี ซึ่งสั้นกว่าเรือดำน้ำแบบอื่น ที่บางแบบมีอายุการใช้งานนานถึง 40 ปีขึ้นไป อายุการใช้งานของแบตเตอรี่ก็ต่ำมาก การเปลี่ยนแบตเตอรี่แต่ละครั้งก็ใช้งบประมาณสูงมาก เรื่องอะไหล่และการซ่อมบำรุงก็ไม่รวมอยู่ในข้อเสนอ ทั้งๆ ที่เรือดำน้ำแบบอื่นเสนอราคารวมอะไหล่แล้ว บางประเทศยินดีสร้างท่าจอดเรือให้ บางประเทศกำหนดเพดานวงเงินถึง 1,100 ล้านบาท แม้ฝ่ายที่สนับสนุนเรือดำน้ำจีนจะออกมาให้ข้อมูลการจัดอันดับเรือดำน้ำที่ดีที่สุดของโลก ประจำปี 2016 ว่าเรือดำน้ำ S26T ติดอันดับท็อปเท็นด้วย แต่ข้อมูลนี้ก็ไม่มีแหล่งที่มายืนยันชัดเจน และการจัดอันดับอีกหลายรายการก็ไม่มีเรือดำน้ำจีนติดกลุ่มเรือคุณภาพดี

หลังจากนั้น วันที่ 3 พ.ค. 2560 รายการ ข่าวลึก ปมลับ จากผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า การจัดซื้อเรือดำน้ำเป็นความตั้งใจของรัฐบาล คสช. ที่จะจัดซื้อเรือดำน้ำให้กองทัพเรืออยู่แล้ว เพราะหลังรัฐบาลชุดนี้ไปโอกาสที่จะอนุมัติจัดซื้อเรือดำน้ำนั้นแทบจะไม่มี ที่ผ่านมากองทัพพยายามเสนอหลายครั้งแต่รัฐบาลพลเรือนไม่กล้าอนุมัติเพราะแรงต้านจากสังคมสูงทั้งเรื่องความเหมาะสมของภูมิประเทศหรือแนวโน้มการเกิดสงครามที่แทบจะไม่มี

ดังนั้น ยุคนี้จึงต้องทำให้สำเร็จ ทุกคนรับรู้กันดีว่าต้องเกิดขึ้น แต่วิธีการของคสช.และรัฐบาลทำให้เรื่องนี้ใหญ่กว่าเดิมหลายเท่า ตั้งแต่การอนุมัติเงียบๆ แบบลักหลับ สังคมเลยตั้งข้อสังเกตถึงเจตนาในการกระทำแบบนี้ในภาวะเศรษฐกิจในประเทศย่ำแย่ ทำให้คนส่วนหนึ่งเข้าใจว่า เป็นการใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลนี้เป็นการทำเพื่อตอบสนองความต้องการของตนเองกับจีน ไม่ใช่ตอบสนองความต้องการของประชาชน ทำให้งานนี้รัฐบาล คสช. เสียเครดิตไปมาก เพราะเลือกใช้เงินในลักษณะนี้ในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ

“ทำแบบนี้ก็เหมือนเป็นการสะท้อนว่า แท้จริงแล้วเรื่องของตัวเองมาก่อนเรื่องของประชาชน ประชาชนกำลังจะตาย แต่กลับไปให้ความสำคัญเรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์ซึ่งเป็นเรื่องของกองทัพ” นพรัฐ พรวนสุข ผู้ดำเนินรายการกล่าว

ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ และวรศักดิ์ มหัทธโนบล สองผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ให้สัมภาษณ์กับประชาไทว่า ดีลเรือดำน้ำยังมีคำถามในเชิงปฏิบัติการที่ยังไม่มีคำตอบจากสเปคเรือดำน้ำ และความสัมพันธ์ที่ดูจะเอนเอียงไปทางจีนมากขึ้นนั้นมาจากความจำเป็นชั่วคราวเพราะรัฐบาลทหารไม่ได้รับการรับรองจากชาติตะวันตก รวมถึงเป็นหนึ่งชาติในสมรภูมิแย่งชิงอิทธิพลของมหาอำนาจ การคบหาจีนจึงต้องเป็นไปอย่างระมัดระวังเนื่องจากจีนมักเมินเฉยต่อกติการะหว่างประเทศซึ่งอาจทำให้ไทยเสียเปรียบจีนในอนาคต (อ่านต่อ ที่นี่)

 

ที่มา: NOW 26: ล่าความจริง: เจาะลึกเอกสารเรือดำน้ำ เมื่อประชาชนถูกมัดมือชก ,ผู้จัดการออนไลน์: ข่าวลึก ปมลับ : เรือดำน้ำมีกลิ่นตุ เรือแป๊ะล่มแน่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net