Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

โลกโซเชียลลงแดง! เนติวิทย์เตรียมยึดสภานิสิตจุฬาฯ

เรื่องราวในแวดวงรั้วจามจุรีขณะนี้ ก็คงไม่มีเรื่องใดที่อาจร้อนแรงไปกว่าเรื่องที่นาย เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตชั้นปีที่ 1 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ได้รับการเลือกตั้งให้เป็นประธานสภานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2560 ด้วยคะแนนเสียงข้างมากในที่ประชุมสภานิสิตจุฬาฯอย่างท่วมท้นถึง 27 เสียง จาก 36 เสียงของสมาชิกสภานิสิตจุฬาฯ ปี 2560[1] ซึ่งได้สร้างแรงสะเทือนต่อสังคมอย่างเป็นวงกว้าง ตั้งแต่ระดับภายในแวดวงจุฬาฯเอง และแวดวงสังคมภายนอก จนแม้แต่นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ยังได้กล่าวถึงนายเนติวิทย์ในงานปาฐกถาพิเศษเรื่อง บทบาทมหาวิทยาลัยไทย ต่อไทยแลนด์ 4.0” ณ มหาวิทยาลัยมหิดล เขตศาลายา ว่า ผมนึกเสียดายและเป็นห่วง เพราะเสียชื่อสถาบัน เมื่อผมไปต่างประเทศ ถ้าเขาบอกว่าไม่อยากอยู่ประเทศของเขา เขาจะให้ไปอยู่ที่อื่น ดังนั้น จึงต้องเคารพกฎหมาย ขอให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติวิธี เสน่ห์ของเราต้องช่วยกันรักษา อย่าไปข้างหน้าแล้วทิ้งข้างหลัง สถานที่เที่ยวในประเทศไทยสร้างในสมัยก่อนทั้งนั้น ประวัติศาสตร์ที่ดีเป็นความภาคภูมิใจ ขอให้เก็บเอาไว้ อันไหนไม่ดีก็ขอให้อย่าทำอีก[2]

จากการที่นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงนายเนติวิทย์เช่นนั้น ส่งผลให้นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาลได้โพสต์แสดงความคิดเห็นแบบสาธารณะตอบโต้คำกล่าวของนายกรัฐมนตรี ในโปรไฟล์เฟสบุ๊คของตนว่า ใครคือความอับอายของชาติ เมื่อผ่านการศึกษา ผ่านการอบรมมาแล้ว ฝึกวินัยมาแล้ว น่าจะรู้จักเคารพกติกาของบ้านเมือง ถ้าอยากเล่นการเมืองก็มาตั้งพรรคการเมืองสิ แต่ตัวเองกลับเล่นนอกกติกา ทำรัฐประหาร ยึดอำนาจ เท่านั้นยังไม่พอ ยังลิดรอนสิทธิคนอื่นอย่างต่อเนื่อง สำหรับผมและคนรุ่นใหม่อีกหลายๆคน ท่านนายกรัฐมนตรีได้ทำลายชื่อเสียงของประเทศไทยมาเกือบจะ 3 ปีแล้ว[3]

เราจะเห็นได้ว่า การที่แม้แต่บุคคลระดับนายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงนายเนติวิทย์ ย่อมเป็นหลักฐานแสดงให้เห็นว่านายเนติวิทย์ได้รับความสนใจจากสังคมไทยอย่างมาก แต่กรณีที่พินิจและน่ากล่าวถึงก็คือ การได้รับความสนใจอย่างหนักหน่วงในโลกโซเชียลนั้น เช่น เพจข่าวต่างๆบางสำนัก ที่เขียนข่าวพาดหัวรุนแรง และมีการทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่นายเนติวิทย์อย่างต่อเนื่อง โดยแต่ละโพสต์มีการผู้แสดงความคิดเห็นในมุมมองต่างๆ โดยมักมีการแสดงความคิดเห็นแบบอาฆาตมาดร้าย จากการปลุกเร้าอารมณ์โดยการเสี้ยมของผู้เขียนข่าว จนทำให้ผู้เสพสื่อจากเพจข่าวนั้นๆเกิดอาการลงแดง แลดูคล้ายจะคลุ้มคลั่งกับการที่นายเนติวิทย์ได้รับเลือกเป็นประธานสภานิสิตจุฬาฯ ปี 2560 และแสดงออกประหนึ่งว่าเรื่องดังกล่าวกระทบต่อตนเองเสมือนว่าตนเองเป็นนิสิตจุฬาฯ เสียขนาดนั้น ซึ่งเราอาจสามารถวิเคราะห์ประเด็นที่ว่า ทำไมคนในโลกโซเชียลที่ได้รับการเสี้ยมโดยสำนักข่าวซึ่งสร้างความเสื่อมเสียแก่นายเนติวิทย์ ถึงสามารถเกิดอาการหงุดหงิด คลุ้มคลั่ง และลงแดงถึงขนาดนั้นได้ ผ่านแนวคิดทางจิตวิทยาสังคมในเรื่องของสังคมประกิต (socialization), เจตคติ (attitude), การคล้อยตามโดยอัตโนมัติ (mindless conformity), พฤติกรรมการไม่เป็นตนเอง (deindividuation), และความก้าวร้าว (aggression)


สื่อจอมเสี้ยมบางสื่อที่อาศัยหลักแนวคิดทางจิตวิทยาสังคม

เราจะสามารถพินิจกรณีที่มีสื่อบางสำนักได้เขียนข่าวเกี่ยวกับกรณีนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ที่ได้รับเลือกเป็นประธานสภานิสิตจุฬาฯ ปี 2560 ซึ่งมีการพาดหัวและการเขียนเนื้อหาที่ปลุกเร้าสังคมให้เกิดความเกลียดชังนายเนติวิทย์อย่างรุนแรง จนมีการแสดงความคลุ้มคลั่งเหมือนคน “ลงแดง” อยู่ตามช่องแสดงความคิดเห็นตามโพสต์ข่าวนั้นๆ ซึ่งอาจพิจารณาสื่อเหล่านั้นมีจุดประสงค์ปลุกเร้าอารมณ์คนอาศัยการเข้าใจวัฒนธรรมพื้นฐานของไทยที่มีสังคมประกิต (socialization) โดยสังคมประกิตนี้คือการที่บุคคลได้รับการกล่อมเกลาและเกิดการเรียนรู้ ที่จะรับความเชื่อและนำพฤติกรรมมาสู่ตน ตามบรรทัดฐานของสังคมนั้นๆ[4] ซึ่งสังคมไทยมีวัฒนธรรมอนุรักษ์นิยมเป็นกระแสหลัก และสังคมไทยโดยทั่วไปมักยอมรับความเห็นต่างของบุคคลอื่นได้ยาก ซึ่งหากมีผู้ไม่ปฏิบัติตามบรรทัดฐานสังคม ย่อมมีผู้คนในสังคมนั้นๆไม่พอใจต่อบุคคลนั้น และมีบทลงโทษ ซึ่งหากติดตามวีรกรรมต่างๆของนายเนติวิทย์ จะพบว่าเขาเป็นผู้ท้าทายความเชื่อ และกล้าตั้งคำถามกับบรรทัดฐานต่างๆของสังคมไทยหลายอย่าง ซึ่งขัดกับการที่คนไทยจำนวนมากถูกหลักสังคมประกิตให้อย่าตั้งคำถามกับประเพณีและวัฒนธรรม ถูกกล่อมเกลาให้มองว่าสิ่งต่างๆเป็นประเพณีที่ทำกันมานาน เป็นสิ่งดีงาม ไม่สมควรถูกแก้ไขหรือยกเลิก ทำให้เขาต้องเจอบทลงโทษมากมายจากคนใจแคบในสังคมไทย โดยในที่นี้เป็นการลงโทษลักษณะที่ไม่ใช่ทางการ เป็นในเชิงจารีต เช่น การแสดงความคิดเห็นด่าทอ และแสดงความความคิดเห็นเชิงเกลียดชัง เป็นต้น

โดยในส่วนของแนวคิดเจตคติ (attitude)[5] นั้น มีความหมายในเชิงความเชื่อ ความนึกคิด ที่นำพามาสู่พฤติกรรมต่อบุคคลหรือสิ่งของในลักษณะการประเมินค่า ซึ่งเป็นแนวโน้มของพฤติกรรมที่ดำรงอยู่ได้นาน โดยผู้เสพข่าวในเพจสื่อจอมเสี้ยมนั้นเนื่องจากถูกกล่อมเกลาและเกิดการเรียนรู้ทางสังคมมาก่อนหน้านั้นแล้ว ยิ่งเมื่อมีกาเรียนรู้พื้นฐานซึ่งทำให้เจตคติอนุรักษ์นิยมที่แรงกล้าเช่นนั้นแล้ว เมื่อเขามาพบข่าวของนายเนติวิทย์ เขาจึงไม่ลังเลที่จะแสดงพฤติกรรมที่หยาบคายและแลดูคลุ้มคลั่งออกมาในช่องแสดงความคิดเห็นของโพสต์ข่าว

เมื่อลองพินิจให้ลึกลงไปอีก เราจะพบว่าการที่เขามีความไม่พอใจนายเนติวิทย์ นอกจากจะเป็นเพราะถูกสังคมกล่อมเกลามาเช่นนั้น มีเจตคติที่ผ่านการกล่อมเกลามาอย่างเข้มข้น ก็เป็นเพราะแต่ละคนมักมีการคล้อยตามโดยอัตโนมัติ (mindless conformity)[6] จากวัฒนธรรมในสังคมไทยที่มักให้เชื่อฟัง ห้ามตั้งข้อสงสัย ให้ปฏิบัติตามประเพณีและสิ่งที่เขาทำต่อๆกันมา โดยให้เหตุผลว่าเขาทำต่อกันมานาน ถ้าสิ่งนั้นไม่ดี เขาก็คงไม่ทำ หรือให้ทำๆไป ชีวิตจะได้ราบรื่นและไม่ต้องคิดอะไรมาก ไม่ต้องปวดหัวในการใช้ความคิด เป็นต้น เมื่อมีผู้ที่ไม่คล้อยตามสิ่งที่พวกตนเชื่อหรือปฏิบัติ จนเมื่อพวกเขารู้สึกว่าคนๆนั้นยากเกินกว่าที่จะกล่อมเกลาให้มาคล้อยตามเหมือนพวกตนได้นั้น ก็จะถูกจัดให้อยู่นอกกกลุ่มตน มักไม่ได้รับความร่วมมือหรือการยอมรับใดๆ นอกจากนี้เราอาจจะเห็นได้ว่า การที่นายเนติวิทย์ไม่ได้รับการยอมรับจากคนกลุ่มนั้น เมื่อมีข่าวเสี้ยมๆเกิดขึ้น คนพวกนี้มักเกิดอคติและละทิ้งหลักวิจารณญาณของตนในทันที และพร้อมจะเชื่อตามข่าวที่ถูกปลุกระดมนั้นๆ

มีประเด็นที่น่าสนใจในที่นี้ก็คือ พฤติกรรมการไม่เป็นตนเอง (deindividuation)[7] ซึ่งจากการที่เขาอยู่ในเพจข่าวซึ่งมีคนที่เหมือนๆกันทางเจตคติจำนวนมหาศาล เขาจะมีความรู้ตัว(awareness) น้อยกว่าปกติ การใช้เหตุผลของเขาจะลดลง และจะไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมบางอย่างซึ่งในยามปกติตนคงไม่ทำ เช่น แสดงความคิดเห็นหยาบช้าหรือรุนแรงในโลกโซเชียล โดยมีสาเหตุเช่น เขารู้สึกว่าไม่มีใครจดจำตนเองได้ในโลกโซเชียล การที่อยู่ในกลุ่มซึ่งมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการเกลียดชังนายเนติวิทย์ และการที่จิตใจและอารมณ์ได้รับการกระตุ้นอย่างรุนแรง ซึ่งเพจข่าวจอมเสี้ยมก็ได้ยกเอาประเด็นต่างๆเช่น นายเนติวิทย์เป็นประธานสภานิสิตจุฬาฯได้อย่างไร ทั้งๆที่ไม่ใช่คนที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบอนุรักษ์นิยม(อย่างที่พวกเขาถูกกล่อมเกลาให้เชื่อ และต้องการให้คนอื่นเชื่อเช่นนั้น) โดยเพจข่าวจอมเสี้ยมได้เขียนข่าวโจมตีเนติวิทย์อย่างต่อเนื่อง ว่าเป็นคนที่แสดงความคิดเห็นขัดกับกระแสความเชื่อหลักของสังคมไทย เช่น การไม่ต้องการยืนตรงเคารพธงชาติ และการขอให้มีทางเลือกสำหรับนิสิตจุฬาฯใหม่ ซึ่งต้องการยืนโค้งคำนับแสดงความเคารพแทนการหมอบกราบพระบรมราชาอนุสาวรีย์สมเด็จพระปิยมหาราชและสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ในพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนเข้าเป็นนิสิตจุฬาฯ เป็นต้น

จากประเด็นทางจิตวิทยาสังคมที่ได้ยกมานั้น อาจนำไปสู่ความก้าวร้าว (aggression)[8] ซึ่งก็คือ การกระทำที่บุคคลต้องการทำร้ายผู้อื่นซึ่งต้องการหนีไปจากสภาพถูกทำร้ายนั้นๆ เป็นไปได้ทั้งการทำร้ายทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งความก้าวร้าวในประเด็นนี้อาจมาจากแนวคิดทางวัฒนธรรมไทยแบบอนุรักษ์นิยม เมื่อผู้คนเหล่านั้นพบว่านายเนติวิทย์กำลังมีอำนาจพอที่จะสั่นคลอนวัฒนธรรมที่ตนเองเชื่อว่าดีได้ เขาก็จะเริ่มมีการแสดงความก้าวร้าวตอบโต้ออกมา โดยการแสดงความคิดเห็นที่รุนแรงต่อข่าวเรื่องนายเนติวิทย์นั่นเอง และน่ากังวลว่า ความก้าวร้าวทางการแสดงความคิดเห็นนี้อาจจะพัฒนาไปสู่ความก้าวร้าวที่รุนแรงกว่าเดิมในอนาคตได้ ซึ่งเป็นความก้าวร้าวที่มาจาการปลุกระดมโดยสื่อจอมเสี้ยม


สรุปเหตุการณ์โลกโซเชียลลงแดง และสิ่งที่น่าฉุกคิดจากกรณีนี้

ในทัศนะของผู้เขียนบทความ เห็นว่าเหตุการณ์ที่สังคมไทย(โดยเฉพาะสังคมภายนอกรั้วจุฬาฯ มีความสนใจต่อการที่นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานสภานิสิตจุฬาฯ ปี 2560 นั้น ในโลกโซเชียลได้มีเพจข่าวบางเพจทำการเขียนข่าวสร้างความเสียหายแก่นายเนติวิทย์อย่างต่อเนื่อง โดยมีการพาดหัวอย่างรุนแรงสร้างความเร้าอารมณ์ผู้เสพสื่ออย่างต่อเนื่อง ทำให้นึกสงสัยถึงหลักจริยธรรมของสื่อสารมวลชน ว่าการที่เขียนข่าวพาดหัวปลุกปั่นให้สังคมเกลียดชังนิสิตชั้นปีที่หนึ่งนี้มีความสมควรหรือถูกต้องหรือไม่อย่างไร? สื่อบางสื่อมีจุดประสงค์อย่างไรจึงปลุกระดมคนเช่นนั้น? และทำให้นึกถึงกรณีตัวอย่างของการที่สื่อบางสื่อในอดีตได้ปลุกระดมเร้าอารมณ์มวลชนจนทำให้มวลชนเกิดพฤติกรรมก้าวร้าวอย่างรุนแรงจนถึงขั้นเกิดการสังหารหมู่นิสิตนักศึกษาและประชาชนในกรุงเทพมหานคร ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ซึ่งมาจากการปราบปรามของเจ้าหน้าที่รัฐ[9] และการใช้กำลังกลุ่มมวลชนแนวคิดฝ่ายขวา เช่น กลุ่มกระทิงแดง ,กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน ,และกลุ่มนวพล เป็นต้น ซึ่งในกรณีนี้มีการปลุกปั่นเร้าอารมณ์อย่างต่อเนื่องโดยสื่อไร้จริยธรรมในยุคนั้น อย่างเช่น หนังสือพิมพ์ดาวสยาม[10] จนทำให้เกิดเหตุการณ์สังหารหมู่ในเมืองหลวงของประเทศไทยดังกล่าว จากกรณีในอดีตที่กล่าวว่า ก็อาจสมควรที่จะสงสัยว่าสื่อบางสื่อในปัจจุบัน ที่มีการโจมตีนายเนติวิทย์อย่างต่อเนื่อง ในประเด็นการนำเสนอที่เขาไม่เห็นด้วยกับหลักจารีตของสังคมไทยนั้น มีจุดประสงค์ใดในการนำเสนอพาดหัวข่าวในกรณีที่ต้องการสร้างความแตกแยกในสังคมไทยเช่นนี้? และสังคมไทยที่กำลังลงแดงจากการถูกปลุกระดมโดยสื่อที่ไร้จริยธรรมเช่นนี้จะดำเนินต่อไปได้อย่างน่ากังวลเพียงใด?

 

เชิงอรรถ
[1] อ้างอิงเนื้อหาจาก http://www.matichon.co.th/news/549745
[2] อ้างอิงเนื้อหาจาก http://www.matichon.co.th/news/550928
[3] อ้างอิงเนื้อหาจาก http://www.matichon.co.th/news/551574
[4] อ้างอิงแนวคิดเรื่องสังคมประกิต (socialization) - หนังสือจิตวิทยาสังคม : ทฤษฎีและการประยุกต์ (2549) สิทธิโชค วรานุสันติกูล, หน้า 45-46
[5] อ้างอิงแนวคิดเรื่องเจตคติ (attitude) - หนังสือจิตวิทยาสังคม : ทฤษฎีและการประยุกต์ (2549) สิทธิโชค วรานุสันติกูล, หน้า 121
[6] อ้างอิงเนื้อหาและแนวคิดเรื่องการคล้อยตามโดยอัตโนมัติ (mindless conformity) - หนังสือจิตวิทยาสังคม : ทฤษฎีและการประยุกต์ (2549) สิทธิโชค วรานุสันติกูล, หน้า 201-202
[7] อ้างอิงเนื้อหาและแนวคิดเรื่องพฤติกรรมการไม่เป็นตนเอง (deindividuation) - หนังสือจิตวิทยาสังคม : ทฤษฎีและการประยุกต์ (2549) สิทธิโชค วรานุสันติกูล, หน้า 239-241
[8] อ้างอิงเนื้อหาและแนวคิดเรื่องความก้าวร้าว (aggression) - หนังสือจิตวิทยาสังคม : ทฤษฎีและการประยุกต์ (2549) สิทธิโชค วรานุสันติกูล, หน้า 317-318
[9] อ้างอิงเนื้อหาและแนวคิดจาก http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=กลุ่มกระทิงแดงและนวพล
[10] อ้างอิงเนื้อหาและแนวคิดจาก https://www.silpa-mag.com/this-day-in-history/article_3139

 

เกี่ยวกับผู้เขียน ธรณ์เทพ มณีเจริญ เป็นนิสิตชั้นปีที่ 1 ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net