Skip to main content
sharethis

8 พ.ค. 60 เมื่อวันที่ 29 เม.ย. กลุ่มศิลปิน Guerrilla Boys (กอริล่าบอยส์) ได้จัดงานเปิดแสดงนิทรรศการภายใต้ชื่อ 'History Class' เป็นการรวบรวมผลงานซึ่งได้รับอิทธิพลและสร้างสรรค์ขึ้นในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อทางประวัติศาสตร์อันไม่ใกล้ไม่ไกลของสังคมไทย ทั้งในแง่ความขัดแย้งทางสังคม – การเมือง ไปจนถึงแวดวงศิลปะซึ่งสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น ภายในงานมีทั้งส่วนนิทรรศการและการแสดงดนตรีจากกลุ่มศิลปิน ได้แก่ Liberate P, Radical Rats, Skydonkey และ Pupan The Autobahn โดยนิทรรศการจะมีถึงวันที่ 13 พ.ค. นี้ ที่ Cartel Artspace ซอยนราธิวาส 22 (สาธุประดิษฐ์ 15)

นิทรรศการนี้จัดแสดงในห้องขนาดประมาณ 4x6 เมตร มีแผ่นกระดาษให้เขียนข้อความอะไรก็ได้ มีหน้ากาก 6 อันให้ผู้ชมนิทรรศการเลือกสวม และให้ถือแผ่นกระดาษนั้นถ่ายรูปโพลารอยด์กับฉากหลังซึ่งเป็นรูปวาดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พร้อมกันนั้นยังมีหมุดคณะราษฎรจำลองพร้อมข้อความที่ติดไว้ว่า ‘ห้ามขโมย’ ด้านบนเพดานติดสติ๊กเกอร์หมุดอันใหม่ “ประชาชนสุขสันต์หน้าใส” และนาฬิกาเดินถอยหลังแขวนอยู่ที่ผนัง ซึ่งทั้งสามอย่างอยู่ในระนาบเดียวกันทั้งหมด

ประชาไทมีโอกาสชมนิทรรศการและนั่งคุยกับกลุ่มกอริล่าบอยส์ถึงความเป็นมา แนวคิด และแนวทางเฉพาะตัวในผลงานของพวกเขาที่กล้าทำอะไร ‘ทุบหัว’ คนดู แสดงออกในสิ่งที่ศิลปินทั่วไปอาจไม่กล้าทำ

 

คลิปนาฬิกาบนผนังที่เดินถอยหลัง (จาก IG: Guerrillaboys)

คลิปการแสดงดนตรีของศิลปิน

Guerrilla Boys (กอริล่าบอยส์) คืออะไร?

กอริล่าบอยส์คือกลุ่มศิลปิน Anonymous (นิรนาม) มีสมาชิกอยู่จำนวนหนึ่ง ทั้งที่นิวยอร์กและที่ไทย ไม่ได้ระบุว่ามีกี่คน สัญชาติไหนบ้าง ซึ่งจะมีคาแรกเตอร์ของมันอยู่ แต่เราไม่ได้สร้างนิยาม คิดว่าคนที่ได้เห็นผลงานมาสักพัก หรือเพิ่งเห็นอันนี้แล้วย้อนกลับไปดูผลงานเก่า ก็น่าจะนึกภาพคาแรกเตอร์ของมันได้ แต่เราว่าชื่อมันชัดอยู่ มันมีความเป็นกองโจร เพราะอย่างงานนิทรรศการศิลปะปกติวันเปิดจะต้องมีศิลปินมาเดินแนะนำงานเพื่อให้คนเข้าใจงาน เพื่อขายงาน แต่งานกอริล่าบอยส์ไม่มี เราจะเห็นว่ามีหน้ากากอยู่ 6 อัน ซึ่งกอริล่าบอยส์ทุกคนถอดหน้ากากทิ้งไว้ตรงนั้น ไม่มีตัวตนเข้ามาในงาน

ภาพหน้ากากที่ให้ผู้ชมนิทรรศการสามารถสวมเพื่อถ่ายรูปได้

ภาพจำลองของหมุนคณะราษฎรที่หายไป

ผลงานชุดนี้เริ่มต้นจากไหน?

เริ่มจากงานที่กวางจู (อ่านข่าวก่อนหน้านี้) งานนี้เป็นงานที่จัดขึ้น ณ พิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งกวางจู ประเทศเกาหลีใต้ ในนิทรรศการชื่อ ‘The Truth_To Turn It Over’ เนื่องในโอกาสรำลึก 36 ปี เหตุการณ์ปราบปรามประชาชนโดยเผด็จการทหาร เป็นผลสะเทือนต่อมาให้เกาหลีใต้มีประชาธิปไตย โดยพิพิธภัณฑ์ได้คัดเลือกผลงานจากศิลปินทั่วโลกที่เกี่ยวข้องกับประชาธิปไตยไปแสดง ซึ่งของไทยได้คัดเลือกผลงานของอาจารย์สุธี คุณาวิชยานนท์ ไปแสดง อันเป็นงานที่ผลิตขึ้นมาเพื่อสนับสนุนการชุมนุมของกลุ่ม ‘คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ (กปปส.)

ซึ่งเรารู้สึกว่ามันมีปัญหามาก เพราะการประท้วงที่สุธีไปสนับสนุนมันคือการประท้วงที่ต่อต้านประชาธิปไตย มันไม่ถูกต้อง ก็มีการไปแสดงออก ตอนนั้นสมาชิกของกอริล่าบอยส์ไปที่โซลพอดี

เป็นปฏิบัติการที่ค่อนข้างฉับพลันมาก หาของแถวนั้น เซทแถวนั้น แล้วก็ถ่ายเลย โพลารอยด์ที่เราถ่ายแล้วก็แอบเอาไปแปะที่มิวเซียมกวางจู แปะด้วยหมากฝรั่ง ข้างๆ งานของอาจารย์สุธี

โดยเราต้องการส่งสารถึงภัณฑารักษ์ของมิวเซียมว่าคุณมีกระบวนการอย่างไรในการเลือกงานชิ้นนี้มาแสดงในนิทรรศการนี้ ทั้งที่คอนเซปต์และเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของงานเขา กับคอนเซปต์ของคุณมันไม่ไปด้วยกันเลย เพราะนิทรรศการนี้มันเกี่ยวกับประชาธิไตย สิทธิมนุษยชน สันติภาพ ซึ่งสำหรับเรามันไม่ใช่อะไรที่ไปกันได้กับกปปส.

หลังจากนั้นก็มีกลุ่มศิลปินที่เมืองไทยที่ไม่เห็นด้วยเหมือนกอริล่าบอยเขียนจดหมายท้วงเรื่องนี้ ซึ่งเขาไม่ได้ทำตามเรานะ เขาก็ทำของเขาเหมือนกัน แต่เหมือนงานมันไปด้วยกัน ทางพิพิธภัณฑ์ก็เลยเอาจดหมายค้านอันนี้แปะคู่กับงานของอาจารย์สุธี

คือจริงๆ แล้วงานของกอริล่าบอยเป็น illegal (ผิดกฎหมาย) ทุกชิ้น ยกเว้นชิ้นนี้ ซึ่งชิ้นนี้ไม่ illegal แต่อาจจะผิดในด้านอื่นแทน (หัวเราะ)

สติ๊กเกอร์หมุดอันใหม่ “ประชาชนสุขสันต์หน้าใส” บนเพดาน (ภาพจาก Guerrilla Boys)

หลังจากงานที่กวางจูแล้วกลายมาเป็นงานชุดนี้ต่อได้อย่างไร?

ก่อนประชามติทุกสื่อเงียบมาก เราก็อึดอัด จนไม่พูดถึงมาในรัฐธรรมนูญมีอะไรบ้าง จนไม่ได้ให้ความรู้กับประชาชน เราก็ออกไปประท้วงแล้วถ่ายรูป แล้วเราก็ลงอีกวันตอน 8 โมงเช้า ตอนเคารพธงชาติ

คนในวงการศิลปะมันเจ็บแค้นมากกว่าคนอื่นในแง่ที่ตัวเองโดนกระทำมากกว่า เรามี creativity (ความสร้างสรรค์) ที่พุ่งสูงแต่แสดงออกไม่ได้ เราไม่มีเสรีภาพในการพูดหรือทำอะไรสักอย่าง จะตรวจสอบภาครัฐก็ไม่มีใครกล้า

งานที่กวางจู ทำให้เกิดปฏิกิริยาฉับพลันมาก และส่งแรงปฏิกิริยาต่อให้เราสร้างงานต่อไปจากตรงนั้น พอสะสมงานได้ประมาณหนึ่ง เรามีคอนเซปต์ มีสเปซ ก็เลยมาจัดแสดง

การประท้วงมันต้องเกิดจากคนหลายคนไม่ใช่แค่ศิลปินคนเดียว แต่เราเป็นแค่จุดเริ่มต้นให้มันกระจายออกไป เราเปิดเสรีภาพให้กับทุกคนภายในแกลเลอรีคุณสามารถพูดได้หมด จะภายใต้หน้ากากหรือไม่มีหน้ากากก็ได้ แต่เราขอถ่ายแค่โพลารอยด์ไว้ เพื่อแปะให้ทุกคนรู้ว่าคุณพูดอะไรบ้าง แล้วก็ขอเก็บกระดาษไว้เป็นการอ้างอิง เพื่อให้คนมาดูงานต่อไปเห็น ซึ่งเราก็จะเอากระดาษมาแปะทั่วห้อง และในวันแสดงทุกคนสามารถเป็นกอริล่าบอยส์ได้

งานประท้วงอย่างนี้เราก็ได้จาก ไอ้ เว่ยเว่ย (Ài Wèiwèi) ได้จากแบงก์ซี่ (Banksy) ซึ่งเป็นคนทำอะไรที่ทุบหัวมาก แต่เรารู้สึกว่าทุกอย่างไม่ประสบความสำเร็จเพราะคนดูไม่มีส่วนร่วม คนดูไม่ใช่คนประท้วงด้วย

แต่อย่างงานนี้คนดูจะมาประท้วงไม่เห็นด้วยกับเราอีกทีก็ได้ คือเราเปิดเสรีภาพให้คนดูมาแสดงออกในสิ่งที่คุณไม่เห็นด้วยก็ได้ 

คอนเซปต์ของผลงานชุดนี้?

คอนเซปต์ถามว่ากว้างไหมก็กว้าง อย่างตัวกระดาษที่ให้คนเขียนเขาจะเขียนอะไรก็ได้

เพราะในสังคมปัจจุบันบ้านเราคุณจะพูดอะไรก็ลำบาก ในนี้คุณจะพูดอะไรก็ได้ แล้วเราจะให้คนมาถือป้ายที่ตัวเองเขียนแล้วถ่ายโพลารอยด์แปะไว้ทั้งหมด 112 รูป ก็คือทุกสิ่งที่คุณพูดจะถูกบันทึกไว้หมดโดยไม่เลือก

ถามว่างานกอริล่าบอยส์เป็นงานประท้วงไหม จะเรียกอย่างนั้นก็ได้ อย่างภาพต้นแบบที่เราไปถ่ายอนุสาวรีย์ประชาธิไตยทั้งที่เป็นโพลารอยด์และที่ขยายมา เราถ่ายในคืนก่อนเช้าประชามติ มันก็มีความหมายที่ค่อนข้างจะชัดอยู่

คือมันไม่ได้ทำแบบนุ่มลึก มันตีหัวชาวบ้าน คนที่มองจากข้างนอกเห็นป้ายว่าเข้าไปได้แค่ 5 คน ซึ่งมาจากเขาห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ซึ่งเราก็ทำตามกฎของเขา เราก็ให้ต่อคิวกันไป หรือแซวหยิกบ้างว่าอย่าขโมยนะ ภาพอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่อยู่ในแกลเลอรีเราก็ตั้งใจให้เขามาใส่หน้ากากแล้วเซลฟี่กันอยู่แล้ว และสิ่งที่ซ่อนมากไปกว่านั้นที่เราไม่บอก คือเราอยากให้เวลาเขาโพสต์ลงเขาแท็กอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พอเสิร์จเอนจิ้นมันรวนมันจะขึ้นตรงนี้อัตโนมัติว่าตรงนี้เป็นอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทางรัฐเขาก็จะแบบ พวกลิงพวกนี้อยู่อะไรกันเยอะแยะที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ภาพโพลารอยด์ของผู้ชมนิทรรศการ

กลุ่มเป้าหมาย?

เราไม่มีปัญหาเรื่องนั้น

เมื่อกอริล่าบอยส์เป็นงานที่สื่อสารแบบ ‘ทุบหัว’ คนดู คุณคิดอย่างไรกับงานเชิงสัญลักษณ์ หรืองานที่เข้าใจยาก ต้องอาศัยการคิดและตีความ?

ทุบหัวคือเราพูดอะไรตรงๆ ง่ายๆ แต่เป็นการตรงใน contemporary art (ศิลปะร่วมสมัย) ไม่ใช่ตรงแบบวาดดอกบัวก็เหมือนเป๊ะๆ เลย งานเราเป็นสไตล์ที่ไม่ควรจะเปิดเผยตัวเอง อย่างงานอีกสไตล์ที่ถ้าไม่อ่านสเตทเมนท์ก็จะไม่รู้เลยว่าเขากำลังพูดอะไร เราคิดว่ามันคือการเซ็นเซอร์ตัวเองแบบหนึ่ง ซึ่งถ้าเราทำงานของเราเองเราก็คงต้องทำแบบนั้น ถ้าเราทำงานส่วนตัวเราจะทำซอฟท์ๆ กว่านี้ ใช้สัญลักษณ์ มีการตีความ ในเรื่องของเรา ซึ่งเราก็สนใจการเมืองเป็นพิเศษ

ถ้างั้นพูดได้มั้ยว่าคุณไม่ได้เซ็นเซอร์ตัวงาน แต่เซ็นเซอร์ตัวศิลปินแทน?

ก็อาจจะได้ กอริล่าบอยส์ไม่เซ็นเซอร์ตัวงานแต่ก็ต้องเซ็นเซอร์ตัวศิลปิน แต่เราก็ไม่ได้เซ็นเซอร์ขนาดนั้น เพราะเราก็ปล่อยให้ทุกคนเป็นกอริล่าบอยส์ได้ เราเซ็นเซอร์เพราะสังคมเราเป็นแบบนั้น ต้องยอมรับ

มองคนที่ต่อต้านอย่างไร?

เราชอบนะ คนที่มาเห็นก็จะรู้สึกว่าต่อต้านก็สามารถพูดได้ คือศิลปะที่ห่วยในสายตาของเขา เขาจะจำได้แม่นเป็นพิเศษนะ ไอ้พวกบ้านี่แม่งทำอะไรป่าเถื่อนมาก

เป้าหมายต่อไป?

ยังไม่มี ก็โพสต์เฟซบุ๊ก พยายามเก็บภาพให้ได้มากที่สุด ว่ามีใครทำอะไรบ้าง เป้าหมายในงานนี้ของเราก็คือให้สื่อเขียนให้ถึงมากที่สุด แล้วให้งานเราได้ไปต่างประเทศ ให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า outside attack ให้ประเทศอื่นมากดดันประเทศเราต่อ

คิดเห็นอย่างไรกับ พ.ร.บ.ควบคุมสื่อ?

ปกติถ้าเป็นเผด็จการเขาจะบล็อกสื่อ แล้วก็บล็อกขยายต่อไปวรรณกรรม หนัง และศิลปะจะเป็นอย่างสุดท้ายเพราะเขาไม่เข้าใจ แต่เราก็ทำให้มันโต้งมาก เราก็อาจจะโดนก็ได้ แต่อีกแง่หนึ่งถ้าเขาเล่นกับงานเรามันก็จะเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ได้ ถ้าคุณมาบล็อก ไอ้ เว่ยเว่ยก็สามารถไปพูดต่อในต่างประเทศได้ว่าเขาเคยถูกทำอะไรบ้าง ถ้าเขามาบล็อกงานเราแล้วงานเราสามารถไปต่อได้ มันก็โอเค 

ข้อความที่ผู้ชมเขียนลงบนกระดาษ (ภาพจาก Guerrilla Boys)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net