1 ปี เด่น คำแหล้ นักสู้สิทธิที่ดินหายตัว เครือข่ายหวังสานเจตจำนง ชี้ปัญหาขาด ก.ม.ต้านอุ้มหาย

รำลึก 1 ปีกว่า เด่น คำแหล้ นักต่อสู้สิทธิที่ดินจากทุ่งลุยลาย หายตัวไร้ร่องรอย ชี้อุ้มหายมีจริง 30 ปี 90 ราย โครงสร้างอำนาจรัฐจับมือนายทุน ซ้ำไร้กฎหมายคุ้มครอง ต้านการอุ้มหาย นักวิชาการอัดรัฐตัวการทำป่าเหี้ยน นโยบายย้อนแย้ง ไม่ต่อเนื่อง คนที่ซวยคือชาวบ้าน

12 พ.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อ 7-8 พ.ค. ที่ผ่านมา ที่วัดบ้านทุ่งลุยลาย ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน(คปอ.) Focus on the Global South และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม จัดงาน “เวทีรำลึกความทรงจำการหายตัว นายเด่น คำแหล้” รำลึกถึง เด่น คำแหล้ ประธานโฉนดชุมชนโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ เป็นแกนนำเรียกร้องการปฏิรูปที่ดินของชุมชน ซึ่งหายตัวไปเมื่อวันที่ 16 เม.ย. 2559 โดยชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ได้ร่วมกันออกค้นหาตัว ได้พบร่องรอยหลายอย่าง รวมถึงหัวกะโหลกมนุษย์ แต่ยังไม่สามารถฟันธงว่าอยู่หรือตาย อะไรทำให้หายตัวไป

อุ้มหายไม่ใช่คำคุย ยังไม่มีกฎหมายคุ้มครอง รัฐจับมือทุนทำชาวบ้านสูญเสีย

ผู้สื่อข่าว สรุปใจความสำคัญที่นำเสนอในเสวนาหลายเวทีของงานรำลึก เด่น คำแหล้ ประกอบด้วย

  • การอุ้มหายเกิดขึ้นจริง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 มีจำนวนถึง 90 คน

  • แม้ไทยลงนามในกฎหมายระหว่างประเทศเรื่องการต่อต้านการทรมานและบังคับสูญหาย แต่ไม่ได้มีผลกับการบังคับใช้กฎหมายภายในประเทศเพราะไม่มีกฎหมายภายในประเทศที่สอดคล้องกัน เมื่อไม่มีกฎหมายรองรับ รัฐจึงถือว่าไม่มีภาระหน้าที่และข้อบังคับที่จะใช้ในกรณีการบังคับสูญหาย เมื่อมีคนหาย ก็มีแต่ชาวบ้านที่เริ่มออกตามหา ด้วยเหตุนี้นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนจึงเสี่ยงต่อการถูกอุ้มหายกันถ้วนหน้า

  • เมื่อมีคดีบุคคลสูญหายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ก็ยิ่งจะดำเนินการสอบสวนหาข้อมูลได้ยากขึ้น เช่นกรณีการสูญหายของพอละจี รักจงเจริญ หรือบิลลี่ ที่หายตัวไปภายหลังถูกเจ้าหน้าที่รัฐควบคุมตัว แต่ไม่มีบันทึกว่าได้ปล่อยตัวไปที่ไหน มีความคลุมเครือในเชิงกระบวนการทีต้องสอบสวนต่อไป

  • การมีกฎหมาย มอบหมายภาระหน้าที่และแนวทางการดำเนินการเมื่อมีคนถูกอุ้มหาย ทำให้เจ้าหน้าที่ผู้ใช้กฎหมายมีเครื่องมือในการปฏิบัติหน้าที่เมื่อมีเหตุดังกล่าว ทั้งยังเป็นกลไกการตรวจสอบการทำให้บุคคลสูญหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ

  • แต่ก่อนสังคมยอมรับการซ้อมทรมาน บังคับให้สูญหาย เพราะเชื่อว่าเป็นหนึ่งในวิธีการเค้นหาความจริง ทุกวันนี้สังคมเปลี่ยนไป เริ่มมีเสียงเรียกร้องให้เกิดการตรวจสอบเมื่อเกิดการทรมานและการถูกบังคับสูญหาย แต่เจ้าหน้าที่รัฐยังเคยชินกับการซ้อมทรมานและบังคับสูญหายอยู่

  • กระทรวงยุติธรรมได้ยกร่างกฎหมายต่อต้านการซ้อมทรมานและการบังคับสูญหายให้กับ สนช. แต่ก็ถูกปัดตก ด้วยเหตุผลที่ว่ากำลังจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้กระทรวงยุติธรรมนำร่างกฎหมายไปสอบถามผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยไม่กำหนดเงื่อนไขเวลา

  • กรณีของเด่น มีความยากตรงที่ไม่ทราบพฤติการณ์ของการหายตัวไป สืบหายาก จะสันนิษฐานว่าตายแล้วได้ต่อเมื่อได้รับการยืนยันว่าหัวกะโหลกที่พบในป่าเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาเป็นของเด่น ส่วนสาเหตุการตายนั้นต้องสืบสวนกันต่อไปหลังจากนั้น

  • ส่วนหนึ่งของปัญหามาจากการทำให้ที่ดินกลายเป็นสินค้า การร่วมมือจากภาครัฐและทุนเอกชน ทำให้เกิดการไล่รื้อที่ดินของชาวบ้านและเป็นที่มาของระดับมาตรการขนาดเบาไปถึงหนัก การอุ้มหายก็เป็นหนึ่งในมาตรการเหล่านั้น

  • คำถามจึงมีว่า นักต่อสู้ฯ ต้องกลับมาคิดว่าจะสู้อย่างไรไม่ให้เกิดการสูญเสียแบบเด่นอีก

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า ในทุกเวทีเสวนาได้เรียกร้องให้ทางการกระตือรือร้นกับเรื่องการต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินของชาวบ้านมากขึ้น และขอให้กลุ่มชาวบ้านรวมตัวกันเป็นกลุ่มใหญ่ สร้างเครือข่ายใหญ่ เพื่อผลักดันให้สิทธิที่ดินของชุมชนเป็นวาระที่รัฐบาลต้องพิจารณา และเพื่อลดโอกาสการถูกอุ้มหายอย่างไร้เบาะแสเพราะติดต่อกันตลอด

อัดรัฐตัวการทำป่าเหี้ยน นโยบายย้อนแย้ง ไม่ต่อเนื่อง คนที่ซวยคือชาวบ้าน

จากซ้ายไปขวา เหมราช ลบหนองบัว บุญเลิศ วิเศษปรีชา นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ทวีศักดิ์ มณีวรรณ

การเสวนาหัวข้อ “เด่น คำแหล้ กับปัญหาที่ดินในสังคมไทย” โดย เหมราช ลบหนองบัว ดำเนินรายการ มี นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ทวีศักดิ์ มณีวรรณ จากสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) และ บุญเลิศ วิเศษปรีชา จากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นวิทยากร

ทวีศักดิ์ กล่าวว่า สื่อประเภทต่างๆ และนโยบายของรัฐ ทำให้คนไทยมักมองคนชนบทเป็นคนทำลายธรรมชาติ ทั้งที่ชาวบ้านในเขตป่าดูแลป่าไม้ เพราะต้องพึ่งน้ำพึ่งป่าในการดำรงชีวิต การทำลายป่าไม้จำนวนมาก แท้จริงมาจากโครงการสัมปทานป่าไม้ เห็นควรว่ารัฐต้องมีนโยบายสนับสนุนให้ชาวบ้านปกป้องป่าไม้ด้วยตนเอง แทนที่จะมาทวงป่าด้วยการไล่ชาวบ้านออกไป

นโยบายทวงคืนผืนป่าของรัฐบาล คสช. ที่มุ่งเพิ่มพื้นที่ป่าทั่วประเทศจากร้อยละ 31 เป็นร้อยละ 40 เท่ากับเป็นการเพิ่มพื้นที่ป่าถึง 26 ล้านไร่ นั่นหมายถึงจะมีชาวบ้านจำนวนมากที่ต้องออกมาจากที่อยู่เดิมในเขตป่า นอกจากนั้น นโยบายของรัฐบาลหลายชุดที่ผ่านมามีความย้อนแย้ง โดยยกตัวอย่างนโยบายสนับสนุนให้ปลูกยางของรัฐบาลชุดก่อนๆ แต่นโยบายชุดนี้มาไล่ตัดต้นยางเพราะหาว่าบุกรุกพื้นที่ป่า รวมถึงการทำลายป่าเพื่อจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษในรัฐบาล คสช. แต่กลับมาเพิ่มพื้นที่ป่าในบริเวณอื่นด้วยการขับไล่ชาวบ้าน ตนสังเกตว่าอัตราการถูกดำเนินคดีของชาวบ้านและแกนนำเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2557

บุญเลิศ กล่าวว่า ชาวบ้านมักตกเป็นจำเลยของสังคมเพราะความรุนแรงเชิงโครงสร้างของการเมืองและอำนาจทำให้เป็นแบบนั้น การลดลงของป่าไม้นั้นแท้จริงมาจากฝีมือของรัฐด้วย ไม่ว่าจะเป็นการตัดถนน การสร้างเขื่อน หรือแม้แต่นโยบายส่งเสริมพืชเศรษฐกิจ ทำให้เกษตรกรถางป่าขยายพื้นที่เพาะปลูก ตอนนี้บรรยากาศการเมืองเปลี่ยนไป แม้อุทยานแห่งชาติจะยังพอรองรับการอยู่อาศัยของชาวบ้านอยู่บ้าง แต่ไม่มีพื้นที่ทางการเมืองให้ชาวบ้านกับรัฐบาลได้พูดคุยกัน

นิรันดร์ กล่าวว่า สิทธิที่ดินนั้นถือเป็นทุนชีวิตของคนไทยทุกคน มีชัย ฤชุพันธ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันบอกไว้ว่า สิทธิชุมชนไม่หายไปจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ก็ต้องมารอพิสูจน์กัน

ภาคประชาสังคมต้องรวมตัวกันต่อสู้กับอำนาจรัฐเพื่อสิทธิของชุมชน สานต่อเจตนารมณ์ของเด่น ไม่เช่นนั้นเท่ากับเด่นได้ตายเปล่า “พ่อเด่นตายไป ทุกวันนี้เรายังพูดถึง แต่ถ้าไม่สู้ต่อไป มาระลึกอย่างเดียว เขาเรียกตายเปล่า

ภาพในงาน

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท