คดีกวาดจับหน้ารามฯ ญาติทวงกองทุนยุติธรรม-ยื่นคำร้องประกันตัว 6 เดือนไม่คืบ

กรณีกวาดจับนักศึกษาและผู้พักอาศัยย่านรามคำแหงหลังรัฐบาลปูดข่าว 'คาร์บอม' เมื่อตุลาคม 59 - ล่าสุดญาติจำเลย 9 ราย ทวงถามคำร้องขอกู้เงินประกันตัวกับกองทุนยุติธรรม หลังยื่นไปนาน 6 เดือนไม่คืบหน้า ตรวจสอบพบเอกสารตกค้าง 1 ศาลไม่อนุมัติ 4 กำลังพิจารณา 1 และไม่มีเอกสาร 3

12 พ.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (11 พ.ค.60) เวลา 11.00 น. ทางญาติและครอบครัวของจำเลย 9 คน ในคดีที่เรียกกันว่ากวาดจับหน้าม.รามคำแหง หลังข่าว “คาร์บอม” เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว (2559) เดินทางไปติดตามความคืบหน้าการดำเนินการเอกสารคำร้องขอรับความช่วยเหลือกู้เงินประกันตัวจำนวน 1,000,000 บาทโดยประมาณ ที่สำนักงานกองทุนยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม อาคารซอฟแวร์ปาร์ค ชั้น 22 ถนนแจ้งวัฒนะ ต.คลองเกลือ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี โดยมี เศรษฐวุฒิ เพชรสง นักวิชาการยุติธรรมชำนาญการ ให้การต้อนรับ

โดยการเดินทางไปทวงถามความคืบหน้าของคำร้องขอกู้เงินประกันตัวครั้งนี้สืบเนื่องจากทางญาติและครอบครัวของจำเลยเคยยื่นคำร้องดังกล่าวไปทางสำนักงานกองทุนยุติธรรมจังหวัดปัตตานีและนราธิวาสเมื่อเดือน พ.ย. และ ธ.ค. 2559 ตามลำดับแล้ว แต่ยังไม่มีหนังสือแจ้งผลจากสำนักงานดังกล่าวตามที่เจ้าพนักงานเคยแจ้งเอาไว้ จึงมีความประสงค์จะยื่นใหม่ที่สำนักงานกรุงเทพฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เจ้าหน้าที่ได้อธิบายถึงขั้นตอนการขอรับบริการและขอความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรมจนเสร็จสิ้น จากนั้นทางครอบครัวของจำเลยได้สอบถามว่า พวกตนเคยส่งเอกสารเพื่อยื่นคำขอรับความช่วยเหลือไปแล้วเมื่อ 4-5 เดือนก่อน โดยได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ที่จังหวัดปัตตานีและนราธิวาสว่า ต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการรวม 84 วันทำการ อย่างไรก็ตามเรื่องดังกล่าวยังเงียบอยู่ ส่งผลให้มาเข้ายื่นคำร้องใหม่ที่กรุงเทพฯ โดยหวังว่าจะรวดเร็วและชัดเจนกว่าสำนักงานสาขาต่างจังหวัด

ด้านเศรษฐวุฒิ และเจ้าหน้าที่สำนักงานกองทุนยุติธรรมกรุงเทพฯ ได้ดำเนินการประสานและตรวจสอบความคืบหน้าคำร้องของทั้ง 9 จำเลย ปรากฎว่ามีคำร้องของจำเลยที่ 7 คือ อัมรัน มะยี อายุ 23 ปี มีภูมิลำเนาอยู่ อ.ยะรัง จ.ปัตตานี ตกค้างอยู่ที่สำนักงานกรุงเทพฯ ซึ่ง เศรษฐวุฒิ แจ้งว่า คำร้องดังกล่าวถึงที่สำนักงานกรุงเทพฯ เมื่อเดือน ม.ค.2560 แต่ไม่แน่ใจว่าผิดพลาดในการดำเนิการอย่างไรจึงมีคำร้องตกค้าง

เศรษฐวุฒิ กล่าวว่า ถือว่าเป็นความผิดของตนที่ทำให้เกิดเรื่องแบบนี้ จึงอยากขอโทษทางญาติและครอบครัวของ อัมรันที่ดำเนินการเอกสารล่าช้าไปหลายเดือน แต่ตนสัญญาว่าจะรีบดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในหนึ่งอาทิตย์หลังจากนี้ ส่วนที่เหลือศาลไม่อนุมัติ 4 กรณี กำลังพิจารณาคำขอฯ 1 กรณี และเอกสารยังไม่ถึงอีก 3 กรณี   

โดยสามารถสรุปรายละเอียดความคืบหน้าในส่วนที่เหลือ ดังนี้ จำเลยที่ 2 อับดุลบาซิร สือกะจิ จำเลยที่ 3 มูบารีห์ กะนา จำเลยที่ 4 อุสมาน กะเด็งหะยี และจำเลยที่ 9 นิเฮง ยีนิง ศาลไม่อนุมัติให้มีการปล่อยตัวชั่วคราว ขณะที่ จำเลยที่ 5 มีซี เจ๊ะหะ จำเลยที่ 6 ปฐมพร มิหิแอ และจำเลยที่ 8 วิรัติ หะมิ ขณะนี้นี้เอกสารคำร้องขอฯ ยังไม่ถึง ส่วนจำเลยที่ 1 ตามีซี โตะตาหยง ขณะนี้อยู่ในขั้นพิจารณาคำขอรับความช่วยเหลือ ผลสรุปยังไม่ออกมา

เศรษฐวุฒิ กล่าวให้กำลังใจเพิ่มเติมว่า อย่าเพิ่งท้อใจ เพราะการขอประกันตัวถือเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนทุกคน ฉะนั้น ตนขอเสนอให้ญาติของทั้ง 4 จำเลยที่ศาลไม่อนุมัติ ไปเขียนหนังสือรับรองความประพฤติของจำเลยขึ้นมาใหม่พร้อมหาผู้รับรองพฤติกรรมในสภาทนายความหรือจากหน่วยงานความมั่นคง

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ด้านญาติและครอบครัวจำเลยทั้ง 9 จำนวนรวม 30 คน เดินทางมาถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 7 พ.ค.2560 และวันที่ 8 พ.ค. เดินทางต่อไปที่ศาลอาญา ถนนรัชดา ตามกำหนดการนัดพร้อม ตรวจพยานหลักฐาน กรณีอัยการโจทก์ยื่นฟ้อง ตาลมีซี โต๊ะตาหยง และพวกรวม 9 คน ฐานความผิด “ร่วมกันอั้งยี่ ซ่องโจร มีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย” แต่ศาลมีคำสั่งเลื่อนนัดเป็นวันที่ 24 ก.ค. เหตุอัยการยื่นเอกสารหลักฐานกว่า 10 ฉบับ ทนายจำเลยจึ่งขอเลื่อนนัดเพื่อตรวจดูเอกสารให้ละเอียดเสียก่อน (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : เลื่อนนัดพยานหลักฐาน คดีกวาดจับหน้ารามฯ หลังข่าว 'คาร์บอม' เป็นปลาย ก.ค.นี้)

วันที่ 9 และ 11 พ.ค. ที่ผ่านมา กลุ่มญาติดังกล่าว เดินทางไปเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อเยี่ยมจำเลยทั้ง 9 ก่อนเดินทางไปที่สำนักงานกองทุนยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ 11 พ.ค. และเดินทางกลับในวันที่ 12 พ.ค.ที่ผ่านมา

ภาพกลุ่มญาติเข้าเยี่ยมจำเลย ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

สำหรับคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อต้นเดือน ต.ค.2559 มีการจับกุมนักศึกษาและชาวมุสลิมที่พักย่าน ม.รามฯ ไปกว่า 40 คน ตั้งแต่วันที่ 10 ต.ค. เป็นต้นมา ทั้งหมดมีภูมิลำเนาอยู่จังหวัดชายแดนภาคใต้  เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงอ้างเหตุสงสัยว่าคนเหล่านี้อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเตรียมการก่อวินาศกรรมคาร์บอมบ์ในช่วงที่จะมีการประชุมสุดยอดผู้นำกรอบความร่วมมือเอเชีย (ACD) ที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 9-10 ต.ค.2559 (อ่านต่อ) และพอดีว่าช่วงเวลานั้นตรงกับโอกาสครบรอบ 1 ปี การสลายการชุมนุมที่ตากใบด้วย แต่จากข่าวที่ปรากฎยังไม่พบของกลางเป็นวัตถุระเบิดตามคำฟ้อง มีเพียงกล่องลังที่ใส่น้ำบูดูเท่านั้นที่เจ้าหน้าที่ยึดได้จากห้องพัก ขณะนี้ผู้ถูกจับกุมถูกทยอยปล่อยจนเกือบหมด แต่ความจริงยังมีอีก 9 คนถูกจำคุกอยู่ที่เรือนจำพิเศษ กทม. และดำเนินคดีดังกล่าว

อนึ่ง กองทุนยุติธรรมถูกจัดตั้งขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2549 ปัจจุบันพระราชบัญญัติกองทุนยุติธรรม พ.ศ.2558 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2559 มีฐานะเป็นนิติบุคคล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนำหรับการใช้จ่าย เพื่อช่วยเหลือประชาชนในการดำเนินคดีการขอปล่อยตัวผู้ต้องหา หรือจำเลย ชั่วคราว การช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน และสนับสนุนโครงการการให้ความรู้ด้านกฎหมายให้กับประชาชน ส่วนขั้นตอนการพิจารณาของกองทุนยุติธรรมนั้น เริ่มจากญาติของผู้ต้องหาหรือจำเลยยื่นคำขอรับความช่วยเหลือ เจ้าหน้าแสวงหาข้อเท็จจริง เจ้าหน้าที่ทำรายงานความเห็น ผู้มีอำนาจพิจารณาคำขอฯ และแจ้งผลไปยังญาติของผู้ต้องหาหรือจำเลย โดยใช้ระยะเวลาดำเนินการในขั้นตอนนี้รวม 43 วัน หลังจากนั้นผู้มีอำนาจพิจารณาให้แสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมอีก 25 วัน จึงจะเรียกมาทำสัญญาดำเนินการให้ความช่วยเหลือ โดยรวมระยะเวลาในการดำเนินการทั้งสิน 68 วัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท