Skip to main content
sharethis

เรื่องราวของ 'เด่น คำแหล้' นักต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินทำกิน จาก รับจ้างชกมวย สู่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย กับการต่อสู้รอบใหม่ ภายใต้ชีวิตเกษตรกร พร้อใเสวนา จาก 'บิลลี่ พ่อเด่น' ถึง 'ชัยภูมิ' กับร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมาน และบังคับให้สูญหาย รวมไปถึงถอดปัญหาที่ดินในสังคมไทย

เส้นทางการต่อสู้ของ เด่น คำแหล้  อาจกล่าวได้ว่า ช่วงชีวิตอยู่ท่ามกลางสถานการณ์การต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมทางสังคม  นับตั้งแต่การเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) กระทั่งกลับคืนสู่เมืองในฐานะเกษตรกร และเริ่มเรียกร้องสิทธิที่ดินทำกิน จากการถูกปลูกสร้างสวนป่ายูคาฯ ของหน่วยงานภาครัฐ จนวาระสุดท้ายที่หายตัวไป ในช่วงเมษาของปีที่แล้ว

เพื่อเป็นการรำลึกถึงประวัติศาสตร์และความทรงจำ เกี่ยวกับกับชีวิตและการต่อสู้ของ เด่น  คำแหล้  ในการนี้ คณะทำงานองค์กร เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และ  Focus on the global south ร่วมจัดเวทีรำลึกความทรงจำการหายตัว 1 ปี และประวัติชีวิตและเส้นทางการต่อสู้ของ “สหายดาวอีปุ่ม” เด่น คำแหล้  ณ วัดทุ่งลุยลาย ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ระหว่างวันที่ 7– 8 พ.ค. 2560

ผู้เข้าร่วมเวทีรำลึก ทั้ง 2 วัน ประกอบไปด้วยอดีตสหายที่ร่วมรบในเขตงานภูซาง  นักวิชาการ  นักศึกษา นักกิจกรรมเพื่อสังคม นักสื่อสารมวลชน รวมทั้งเครือข่ายภาคประชาชนที่ขับเคลื่อนการต่อสู้ด้านสิทธิที่ดินทำกิน เช่น  เครือข่ายสลัม 4 ภาค สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) และคณะกรรมการประสานงานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน  (กป.อพช.อีสาน ) นอกจากนี้ยังมีองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน  อาทิ ยุติธรรมและสันติ (ยส.) สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และชาวบ้านทั่วไปเข้าร่วมงาน จำนวนกว่า 200 คน

ชีวิตและการต่อสู้ของ เด่น คำแหล้

เด่น คำแหล้ เกิดวันที่ 7 ส.ค. 2494  บ้านท่าสี ต.หนองแสง  อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี (ปัจจุบัน อ.หนองแสง จ.อุดรธานี) ต่อมาในปี พ.ศ.2509 ครอบครัวได้อพยพมาที่บ้านวังหินซา ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู

แม่ฤทธิ์ คำแหล้ น้องสาวของพ่อเด่น เล่าถึงชีวิตของพี่ชาย ให้ฟังว่า  จำนวนพี่น้อง 4 คน นายเด่น เป็นผู้ชายคนเดียว วัยเด็กของชีวิตค่อนข้างลำบาก เมื่อเข้าสู่โรงเรียนก็มีเวลาไม่เต็มที่ ต้องลาออกมาหารับจ้างทำงานช่วยทางบ้าน หลังจากจบชั้น  ป.4 ด้วยความที่เป็นคนรักการอ่านเขียน  จึงเข้าบวชเป็นเณรเพื่อเรียนหนังสือ ได้ 1 พรรษา ต้องสึกออกมาทำงานรับจ้างดำนา หาเลี้ยงครอบครัว นอกจากนี้ด้วยความที่เป็นผู้มีฝีมือในการชกมวยมาก ยังได้ตระเวนหาขึ้นชกมวยได้ครั้งละ 5 บาท ส่วนใหญ่จะชกชนะทุกครั้ง จึงพอหาเงินมาเป็นรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง

น้องสาวพ่อเด่น บอกอีกว่า ขณะที่รับจ้างชกมวยอยู่นั้น ในปี พ.ศ.2514 พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) เข้ามาเคลื่อนไหวในพื้นที่ ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา ด้วยความสนใจก็ได้เข้าร่วมกิจกรรมกับ พคท. ช่วงกลางคืนจะออกไปศึกษาเกี่ยวกับทางการเมือง  ส่วนช่วงกลางวันจะสอนมวยให้กับสหายในพรรค ขณะเดียวกันนายเด่นเริ่มเป็นที่เพ่งเล็งของฝ่ายรัฐ  นับแต่ปี พ.ศ.2516 เป็นต้นมา ทั้งแม่ฤทธิ์ และพ่อเด่น จึงตัดสินใจเข้าป่าร่วมกับพรรค  พคท. โดยเคลื่อนไหวในพื้นที่เขตงานภูซาง  ซึ่งเป็นฐานที่มั่นเชื่อมจังหวัดเลย หนองบัวลำภู  หนองคาย และอุดรธานี

ต่อมารัฐออกนโยบาย 66/23 ให้ พคท. ยอมวางอาวุธและออกจากป่า แต่สหายดาวอีปุ่ม มีจุดยืนแน่นอน ไม่ยอมมามอบตัว และไม่ยอมมอบบัตรประชาชนให้เจ้าหน้าที่ จากนั้นได้มารับจ้างแบกข้าวโพด  หลังจากแต่งงานกับแม่สุภาพได้เริ่มต้นชีวิตเกษตรกรอีกครั้ง ที่บ้านทุ่งลุยลาย อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ

แม่ฤทธิ์ เพิ่มเติมด้วยว่า จากชีวิตสหายมาครองคู่อยู่กับนางสุภาพ  เพราะด้วยความผูกพันในพื้นที่กับผู้คน และความรักป่า รักประชาชน พี่ชายจึงได้ช่วยกันทำมาหากินอยู่กับแม่ภาพ และร่วมกับพี่น้องชาวบ้าน ชุมชนโคกยาว นอกจากนี้ยังบอกด้วยว่า หากตัวตายก็ขอตายอยู่ในพื้นที่ทุ่งลุยลาย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในวาระสุดท้าย ชีวิตกลับมาหายไปอย่างน่าอนาถ  แต่อย่างไรก็ตามถือว่าเป็นการตายอย่างเสือที่มีเกียรติยิ่ง

“ผู้ที่เอาพ่อเด่นไปฆ่า ถามว่าบุคคล หรือกลุ่มใดที่กระทำแบบนี้ เคยทำ เคยสร้างความดีเพื่อประโยชน์สุขของสังคมหรือไม่ แต่พี่ชายของตนที่มีจุดยืนที่ต่อสู้เพื่อประชาชน กลับมาตายอย่างทีไม่น่าเกิดขึ้น ทั้งนี้แม้ดวงวิญญาณจะไปอยู่แห่งใด ก็ขอให้เป็นดังเช่นเมล็ดพืชที่เจริญงอกงามไปทุกที่” น้องสาวพ่อเด่น  กล่าวทิ้งท้าย

การได้รับชื่อจัดตั้งว่า สหายดาว อีปุ่ม ที่มาคือ อีปุ่มเป็นสัตว์เรียกว่า ฮวก หรือลูกอ๊อด(กบภูเขา) ลักษณะเด่นคืออีปุ่มจะอาศัยตามแหล่งน้ำบนภูเขา พื้นที่ที่อีปุ่มเข้ามาอยู่แสดงว่ามีความอุดมสมบูรณ์และมีความสะอาด เมื่อมารวมกับคำว่าดาว  จึงเป็นที่มาของสหาย ดาวอีปุ่ม ที่พร่างพรายแสงสกาวด้วยความอุดมสมบูรณ์

นอกจากนี้นายสมบัติ ไชยรส หรือสหายชน สหายร่วมรบเขตงานภูซาง บอกว่า ในเขตภูซางเป็นฐานที่มั่นจรยุทธ์ เป็นเขตงานของ พคท.ที่เป็นกรรมการกลางพรรค  และหากไม่มีพรรค พคท.ก็จะไม่มีสหายดาวอีปุ่ม กล่าวคือ ในปี 2518 สหายดาวถูกพรรคส่งไปเรียนการเมืองและการทหารที่ลาวและเวียดนาม กลับมาก็ปฏิบัติงานยังเขตงานเดิม  ในเขตงานภูซางจะมีกองทหาร  3 กอง คือ 31 32 และ 33 ซึ่งสหายดาวเป็นฝ่ายทหารสังกัดกองทหารหลักที่ 33

สหายชน  เพิ่มเติมอีกว่า  ปี 2520 การนำของพรรคในเขตภูซางได้ส่งสหายดาว พร้อมกับกองกำลัง ที่ 33 มาบุกเบิกเคลื่อนไหวในเขต 196  แถบอำเภอคอนสาร เกษตรสมบูรณ์ ภูเขียว  หนองบัวแดง และบ้านเขว้า (โดยตั้งชื่อเขต 196 เพื่อเป็นการให้เกียรติกับนักศึกษาที่เข้ามาทำการเคลื่อนไหวชาวนาในพื้นที่ดังกล่าว ) ซึ่งพรรคส่งสหายดาว เข้ามาบุกเบิก เพื่อขยายเขตงาน และขยายความคิดทางมวลชน ที่เป็นโยบายของพรรคให้มีการเชื่อมโยงกันทั้งประเทศ แต่หลังจากที่สหายต่างทยอยออกจากป่า สหายดาวอีปุ่ม ไม่ได้ออกมามอบตัว ต่อมาได้ข่าวภายหลังว่าหันมาใช้ชีวิตเกษตรกรอยู่ที่ทุ่งลุยลาย และช่วงปี 2525 ได้แต่งงานกับนางสุภาพ ยึดอาชีพเกษตรกรมาอย่างปกติสุขได้เพียง 3 ปี จากนั้นทราบว่าที่ดินทำกินมีปัญหากับรัฐ  ต้องต่อสู่เรียกร้องสิทธิมาโดยตลอด กระทั่งได้รับข่าวมาอีกว่า สหายได้หายตัวไปในป่าที่เขาคุ้นเคยมานาน

การต่อสู้รอบใหม่ ภายใต้ชีวิตเกษตรกร

ทางด้านนางสุภาพ คำแหล้  ภรรยาคู่ทุกข์ยาก เล่าถึงเส้นทางการต่อสู้เพื่อที่ดินทำกินของสามี ให้ฟังว่า หลังจากตาเด่น ออกจากป่า ก็มาแต่งงานกันเมื่อปี 2525 พากันทำอยู่ทำกินในพื้นที่เดิมที่ได้รับสืบทอดมาจากพ่อ  ทำกินกันมาได้เพียง 3 ปี ความเดือดร้อนก็เกิดขึ้น ปี 2528 รัฐเข้ามาดำเนินโครงการ “หมู่บ้านรักษ์ป่า ประชารักษ์สัตว์” ขับไล่ชาวบ้านโคกยาวอพยพออกจากที่ทำกิน และอ้างว่าจะจัดสรรที่ดินรองรับ จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็นำยูคาลิปตัส เข้ามาปลูก  ส่วนพื้นที่รองรับเป็นที่ดินที่มีเจ้าของถือครองทำประโยชน์อยู่แล้ว ทำให้เข้าไปทำกินได้ และเข้าที่เดิมก็ไม่ได้ เพราะมีกำลังทหารพราน และเจ้าหน้าที่ป่าไม้ควบคุมอยู่  แต่ได้เรียกร้องความเป็นธรรมเพื่อขอเข้าทำกินในที่ดินเดิมมาตลอด ซึ่งมีตาเด่นเป็นแกนนำ และได้ชุมนุมกันที่หน้าที่ว่าการอำเภอคอนสาร จนมีการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการถือครองที่ดินป่าไม้ระดับอำเภอ เพื่อตรวจสอบการถือครอง

ภรรยานายเด่น เล่าถึงกระบวนการต่อสู้ของสามี อีกว่า หลังการแก้ไขปัญหาไม่มีข้อยุติ ยังไม่สามารถเข้าทำกินในพื้นที่ได้  ชาวบ้านที่มีปัญหาที่ดินทำกินในอำเภอคอนสาร จึงได้เข้าร่วมเคลื่อนไหวกับเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) ในช่วงปี 2548 โดยมีข้อเสนอให้ “ยกเลิกสวนป่า” แล้วนำที่ดินมาจัดสรรให้กับผู้เดือดร้อน  และร่วมกันผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบายการจัดการที่ดินโดยชุมชนในรูปแบบ “โฉนดชุมชน” ในช่วงรัฐบาลอภิสิทธิ์ กระทั่งรัฐบาลได้ออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ.2553

“แล้วเมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2554 เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ตำรวจ และฝ่ายปกครอง สนธิกำลังกันบุกเข้าควบคุมตัวชาวบ้าน และแจ้งข้อหาบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม ดำเนินคดีชาวบ้าน 10 คน โดยนายเด่น เป็นจำเลยที่ 1 นางสุภาพ จำเลยที่ 4

ล่าสุด (9 พ.ค.2560) ศาลจังหวัดภูเขียวนัดฟังคำพิพากษาและนัดฟังคำสั่งของศาลฎีกา กรณีที่นายเด่น ไม่ได้มาศาล โดยศาลมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 1เป็นบุคคลที่ไม่มีบุคคลรู้แน่ว่า ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่เท่านั้น ข้อเท็จจริงยังรับฟังไม่ได้ว่าถึงแก่ความตาย  เมื่อศาลฎีกามีคำสั่งดังกล่าว ศาลจังหวัดภูเขียวจึงได้มีคำสั่งให้ออกหมายจับจำเลยที่ 1 อีกทั้งมีคำสั่งให้เลื่อนการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ออกไปเป็นวันที่ 15 มิ.ย.2560”

นางสุภาพ บอกอีกว่า พอมาถึงรัฐบาลยิ่งลักษณ์  ได้ติดตามให้รัฐดำเนินการแก้ไขมาโดยตลอด  แต่หลังเกิดการรัฐประหาร ได้เพียง 3 เดือน  เจ้าหน้าที่ทหาร ป่าไม้ ได้เข้ามาปิดประกาศ คำสั่ง คสช.ที่ 64/2557 ให้ชุมชนออกจากพื้นที่ ยังไม่ถึงเดือนก็ถูกปิดป้ายทวงคืนผืนป่าอีก  ต่อมาวันที่ 6 ก.พ.2558 เจ้าหน้าที่ทหาร  ป่าไม้ กว่า 100 คน เข้ามาปิดคำสั่งรื้อชุมชนออกไปอีก ทุกครั้งตาเด่นจะเป็นแกนนำ เดินทางไปร้องเรียนเพื่อให้ภาครัฐแก้ไข

“จนวันที่ 16 เม.ย.2559 ตาเด่นได้หายตัวไปหลังจากเข้าป่าไปหาเก็บหน่อไม้  จากการติดตามค้นหา ยังไม่พบเบาะแสการหายตัว แน่นอนว่าเป็นการถูกอุ้มหาย ไม่รู้ว่าใครอุ้ม และล่าสุดเมื่อวันที่ 23 – 24 มี.ค.2560 ได้พบกางเกง รองเท้า และสิ่งของใช้ที่ยืนยันว่าเป็นของตาเด่น  ในวันที่ 25 มี.ค.พิสูจน์หลักฐานตำรวจลงตรวจสอบพื้นที่ ได้พบหัวกะโหลกมนุษย์เพิ่มเติม ซึ่งวัตถุพยานที่พบ รอผลตรวจสอบพิสูจน์แจ้งมา” นางสุภาพ กล่าวถึงชีวิตการต่อสู้ของสามี

จาก 'บิลลี่ พ่อเด่น' ถึง 'ชัยภูมิ' กับร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมาน และบังคับให้สูญหาย

ช่วงบ่าย เวทีเสวนา “จากบิลลี่ พ่อเด่น ถึงชัยภูมิ กับร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมาน และบังคับให้สูญหาย” โดยคุณมึนอ รักจงเจริญ  ภรรยาบิลลี่-พอละจี รักจงเจริญ แกนนำกะเหรี่ยงแก่งกระจานที่หายตัวไปได้มาร่วมงานเสวนาด้วย

มึนอ รักจงเจริญ บอกว่า บิลลี่ เป็นเพียงประชาชนธรรมดาคนหนึ่ง  เป็นชาวกะเหรี่ยงโป่งลึก-บางกลอย ต.แม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี  หลังจากเรียนจบ ม.6 ได้มารู้จักกันและมีลูกด้วยกัน 5 คน

มึนอ บอกอีกว่า การหายตัวไปของบิลลี่ เป็นกรณีการต่อสู้เรื่องสิทธิที่ดินเหมือนกับพ่อเด่น โดยเมื่อปี 2554 ชาวบ้านบางกลอย ได้รับความเดือดร้อน จากการถูกเผาบ้าน เผายุ้งฉาง บิลลี่เป็นแกนนำได้พยายามทำทุกวิถีทางในการช่วยเหลือ รวมทั้งได้พาชาวบ้านรวมตัวกันไปฟ้องศาลปกครอง  ซึ่งบิลลี่ เป็นพยานปากเอกของคดี แต่กลับหายตัวไปอย่างลึกลับในวันที่ 17 เม.ย. 57 ถูกหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จับควบคุมตัวตรงทางเข้าบางกลอย กรณีมีน้ำผึ้งป่า  หลังจากบิลลี่ไปพบพนักงานสอบสวน ก็หายตัวไปนับจากนั้น แม้จะไปแจ้งความไว้ที่สถานีตำรวจภูธรแก่งกระจาน และออกค้นหาตามสถานที่ต่าง ๆ ที่บิลลี่เคยไป ถึงขณะนี้ก็ยังไม่พบตัว

“จากวันนั้น ถึงทุกวันนี้ วันที่สามีสูญหายตัวไปอย่างลึกลับ มึนอบอกว่าตัวเองกลายเป็นคนที่ไม่ค่อยไว้ใจใคร  แม้เวลาเดินทางไปไหนก็เกิดความหวาดระแวงไปเสียหมด  และจากที่ได้รู้ว่าได้ข่าวพ่อเด่น ก็ได้หายตัวไป ทำให้มีความรู้สึกว่า ทำไมคนดีดีในโลกนี้ ที่ทำเพื่อประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม กลับไม่มีที่อยู่ หรือมีที่อยู่เพียงนิดเดียว และเป็นกรณีเดียวกันที่เกิดขึ้นเหมือนกัน” ภรรยาบิลลี่-พอละจี กล่าว

ทางด้านณัฐาศิริ  เบิร์กแมน ทนายความมูลนิธิผสานวัฒนธรรม บอกว่า ทางมูลนิธิฯ ได้ทำประเด็นในการติดตามการบังคับให้สูญหาย และให้ความช่วยเหลือประชาชน การบังคับให้สูญหาย การต่อต้านการทรมาน มานับแต่ปี  2525 และจากสถิติที่มีการรวบรวมจากการร้องเรียนโดยคณะทำงานว่าด้วยการบังคับบุคคลให้สูญหายหรือการสูญหายโดยไม่สมัครใจ ระหว่างปี 2523 ถึง 2557 ในประเทศไทย พบว่ามีการถูกบังคับให้สูญหายไปแล้วกว่า 90 คน รวมทั้งกรณีบิลลี่  พ่อเด่น  และทนายสมชาย กระทั่งถึงวันนี้ก็ยังไม่มีกฎหมายบังคับการสูญหาย ทำให้ประสบต่อความยากลำบากในการ เข้าไปแจ้งความ เพราะจะไม่ได้รับความอำนวยความสะดวกจากเจ้าหน้าที่มากนัก

ณัฐาศิริ  บอกด้วยว่า แม้ที่ผ่านจะมีความพยายามร่วมกันผลักดันร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมาน และบังคับให้สูญหาย  ซึ่งจะเป็นความหวังเดียวของครอบครัวผู้ถูกบังคับสูญหาย ให้สามารถมีช่องทางในการเข้าถึงความยุติธรรมได้ แต่ สนช.กลับยังไม่ให้ผ่านกฎหมายดังกล่าว

“อย่างไรก็ตาม มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้จัดให้มีการฝึกอบรมต่อกรณีที่หากมีการสูญหายจะต้องปฏิบัติอย่างไร เพราะแน่นอนว่าคนที่สูญหาย เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้ให้ความร่วมมือในการติดตามค้นหาอย่างแน่นอน จึงต้องเป็นหน้าที่ของชาวบ้านด้วยกันเองในการช่วยกันค้นหาหา โดยจะมีแต่ละขั้นตอนที่ต้องปฏิบัติ เช่น การลงบันทึกไว้ว่าคนหายวันไหน เมื่อไร ที่ใด จากนั้นชาวบ้านจะร่วมปฏิบัติกาค้นหาร่วมกันเอง เพื่อเป็นเบาะแสให้เจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในการติดตาม สืบสวนสอบสวน เป็นการต่อไป” ทนายความมูลนิธิผสานวัฒนธรรม บอกทิ้งท้าย

นายสมนึก ตุ้มสุภาพ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนานักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวถึงกระบวนการกฎหมาย กรณีบิลลี่และนายเด่น ว่า จากกรณี ดังกล่าวได้สะท้อนอะไรบ้าง มีความต่างที่คล้ายกันหรือไม่ ประเด็นแรกคือ การหายตัวของนายเด่น ไม่มีเงื่อนไขให้กฎหมายดำเนินการ  เช่น กระบวนการหายเป็นอย่างไร  แต่ทั้งนี้หากย้อนมองไปในอดีต อาจเป็นเรื่องปกติ แต่ด้วยภาวการณ์ของสังคมในยุคนี้ที่เปลี่ยนไป ทำให้ประเด็นการบังคับให้สูญหายมีการกล่าวถึงเรื่อยไป แต่ในความเป็นจริงนั้น เพื่อเป็นการจุดประเด็นที่น่าสนใจต่อสังคมคือ ชาวบ้านต้องเริ่มตรวจสอบค้นหากันเอง

สมนึก กล่าวด้วยว่า ทุกวันนี้หากไม่มีกฎหมายการบังคับให้สูญหาย เชื่อว่าจะมีการสูญหายมากขึ้น เนื่องจากสภาพสังคมเปลี่ยนไป โดยเฉพาะกรณีที่ดินทำกิน อย่างกรณีของบิลลี่ หรือนายเด่น ฉะนั้นจะทำอย่างไรให้มีกระบวนการบังคับให้สูญหายเป็นกฎหมาย เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบให้ได้ข้อเท็จจริงว่า ไม่ใช่ให้ชาวบ้านทำการค้นหาเพียงฝ่ายเดียว

“ที่สำคัญอีกอย่างคือ สื่อ ต้องให้ความสำคัญในการนำเสนอข้อมูลอีกมุมที่สังคมไม่ได้รับรู้ ให้มีการรับรู้ร่วมกัน เพื่อให้มีการกระตุ้นในการตรวจสอบ และเพื่อเป็นแนวทางหนึ่งในการที่จะให้กฎหมายมีความตื่นตัวในการยอมรับกรณีการบังคับสูญหายมากขึ้น เพราะทั้งหมดทั้งมวลนี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะความสำคัญของคนหาย เมื่อไม่มีกฎหมายการบังคับสูญหายยอมรับ เจ้าหน้าที่จะอ้างว่าไม่สามารถดำเนินการได้เพราะไม่มีอำนาจ” สมนึก กล่าวทิ้งท้าย

เสวนา 'เด่น คำแหล้ กับปัญหาที่ดินในสังคมไทย'

สำหรับกิจกรรมในวันที่ 8 พ.ค.มีการทำบุญตักบาตรช่วงเช้า และการเสวนา “เด่น คำแหล้ กับปัญหาที่ดินในสังคมไทย” โดย นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายทวีศักดิ์ มณีวรรณ สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ และนายบุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  ให้ข้อคิดกับปัญหาที่ดินในสังคมไทย ดังนี้ การจัดการทรัพยากร และการประกาศเขตป่า หน่วยงานภาครัฐรวมศูนย์ไว้เพียงฝ่ายเดียว โดยขาดการมีส่วนร่วมของชุมชน ทำให้เจ้าหน้าที่ผูกขาดอำนาจการจัดการป่าอย่างเบ็ดเสร็จ เมื่อรัฐมีนโยบาย หรือแผนปฏิบัติงานโดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ถือครองประโยชน์ในพื้นที่ป่ามาก่อน จะส่งผลกระทบต่อชาวบ้านในการถูกให้อพยพออกจากพื้นที่ นอกจากนี้ชาวบ้านจะตกเป็นผู้ทำผิดกฎหมาย และถูกดำเนินคดีข้อหาผู้บุกรุกป่า

“รัฐต้องมีนโยบายกระจายการถือครองที่ดิน และเปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้อย่างยั่งยืน เพื่อเป็นแนวทางให้คนกับป่า หรือชุมชนกับป่า สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุลและยั่งยืน โดยปราศจากการทวงคืนผืนป่า ไล่คนออกจากพื้นที่ ” นพ.นิรันดร์ กล่าว

ส่วนนายทวีศักดิ์ มณีวรรณ สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ  มองปัญหาที่ดินในสังคมไทย ว่า จากบทเรียนในการบริหารจัดการทรัพยากรของรัฐ พบว่า ประสบความล้มเหลวและสร้างความขัดแย้งมาจนถึงปัจจุบัน  หากวิเคราะห์ปัญหาที่ดิน จะพบว่าเพราะกรอบความคิดและแนวปฏิบัติของรัฐมุ่งผูกขาดอำนาจการจัดการทรัพยากรป่าไม้ไว้ที่หน่วยงานรัฐเพียงส่วนเดียว  รวมทั้งทัศนะในการมองปัญหาว่าการลดลงของพื้นที่ป่าไม้ในประเทศเกิดจากการบุกรุกของชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านกลายเป็นผู้ไม่มีความชอบธรรมที่จะอยู่กับป่า หรือไม่มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากร

ทวีศักดิ์  มองถึงปัญหาที่ดินทำกิน เพิ่มเติมอีกว่า  ภายหลังจากรัฐบาลมีนโยบายทวงคืนผืนป่า ตามแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ฯ  โดยนำกระบวนการพิสูจน์สิทธิ์ตามมติ ค.ร.ม.30 มิถุนายน 2541 มาใช้ แสดงให้เห็นว่ารัฐพยายามผูกขาดการบริหารจัดการทั้งหมด ตัวอย่างเช่น ภาคประชาชนพยายามผลักดันให้ภาครัฐเร่งดำเนินการนำพื้นที่จัดทำโฉนดชุมชน เพื่อจัดเป็นที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยแบบแปลงรวม  รัฐจะปฏิเสธ บ่ายเบี่ยง  และจะดำเนินด้วยตนเอง  เช่น การจัดการที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชน รัฐก็เปลี่ยนมาใช้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) เป็นต้น

จากนั้นเป็นการอ่านบทกวีรำลึกถึง  "ดาว อีปุ่ม" ฝันของ เด่น คำแหล้ โดย ปรีดา ข้าวบ่อ บรรณาธิการนิตยสารทางอีศาน และพิธีบายศรี สู่ขวัญ พร้อมทั้งประกาศเจตนารมย์ร่วมกัน

ผืนดินเพียงน้อยนิดที่เป็นที่ทำกิน เป็นที่พักอาศัย ความอบอุ่นที่มากด้วยคุณค่า ความปกติสุขที่เคยดำรง ความสดใสในชีวิตที่เรียบง่ายของชาวบ้านธรรมดา เริ่มลดน้อยถอยลง หลังจากผืนดินที่เป็นชีวิต ถูกแย่งชิง

ภายใต้บรรยากาศที่สุ่มเสี่ยง ไร้หลักประกันของชุมชนโคกยาว ความพยายามผลักดันชาวบ้านออกจากที่ดินทำกินด้วยสารพัดวิธี มีมาตลอดระยะเวลา

กระทั่งวันที่ 16 เม.ย.2559 หลังจากเข้าไปหาของป่าตามวิถีปกติ นับจากวันนั้น ไม่มีผู้ใดพบเห็น  แม้แต่เงาก็ไม่ปรากฏ เหลือเพียงการรำลึกถึงความทรงจำที่พ่อเด่นเป็นแกนนำต่อสู้เพื่อให้ผืนดินมีความยั่งยืน ปราศจากการถูกไล่รื้อ เพื่อให้ลูกลูกหลานมีที่ทำกิน มีที่อยู่อาศัย จากรุ่นสู่รุ่น สืบไป

เป็นการควรยิ่งต่อการรำลึกถึงความทรงจำบนเส้นทางประวัติศาสตร์ชีวิตและการต่อสู้ ที่ทรงคุณค่ายิ่ง

......เด่น คำแหล้ "อยู่อย่างยิ่งใหญ่ ตายอย่างมีเกียรติ"......

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net