Skip to main content
sharethis

ชาวบ้านนาหนองบง ขึ้นศาลเป็นโจทก์ฟ้องกลับบริษัททุ่งคำฯ หลังศาลพิพากษายกฟ้องคดี เหมืองฟ้องหมิ่นประมาท กรณีชาวบ้านทำป้ายติดในหมู่บ้านว่า หมู่บ้านนี้ไม่เอาเหมือง" - ปิดเหมืองฟื้นฟู" ด้านขบวนการอีสานใหม่ออกแถลงการณ์ครบรอบ 3 วัน “วันขนแร่เถื่อน”

ภาพจาก นักข่าวพลเมือง Thai PBS

15 พ.ค. 2560 นักข่าวพลเมือง Thai PBS รายงานว่า เวลา 09.00 น. ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย เดินทางไปที่ศาลจังหวัดเลย ในคดีตัวแทนชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ 6 คน ฟ้องกลับต่อบริษัท ทุ่งคำ จำกัด จากคดีที่บริษัทฯ ได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายชาวบ้าน 50 ล้านบาท กรณีการทำป้าย "หมู่บ้านนี้ไม่เอาเหมือง" ที่ซุ้มประตูทางเข้าหมู่บ้าน และป้าย "ปิดเหมืองฟื้นฟู" ริมถนนสาธารณะในหมู่บ้าน .

ต่อมาเวลา 11.00 น. ศาลนัดไกล่เกลี่ยโจทก์และจำเลย และเปิดให้จำเลยยื่นคำให้การ แต่ในวันนี้จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลเลื่อนสั่งสืบพยานฝ่ายโจทก์ โดยให้ฝ่ายโจทก์ทำบันทึกคำให้การมา และนัดสืบเฉพาะแค่โจทก์ 6 คน ในวันที่ 20 มิ.ย. 2560

ส.รัตนมณี พลกล้า ผู้ประสานงานมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ทนายความของโจทก์ระบุว่า การที่ทางฝ่ายจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ หมายความว่าจำเลยไม่มีสิทธิที่จะมาโต้แย้งในภายหลัง

คดีดังกล่าว สืบเนื่องจากเหตุการณ์เมื่อปี 2558 ชาวบ้านได้ร่วมกันทำซุ้มประตูหมู่บ้านและได้เขียนข้อความดังกล่าวติดโดยรอบหมู่บ้าน ถือเป็นกิจกรรมรณรงค์ร่วมกันของคนในชุมชน แต่ถูกทางบริษัท ทุ่งคำ จำกัดกล่าวหาว่า การกระทำของจำเลย 6 คน ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน จงใจละเมิดต่อบริษัทฯ ทำให้ได้รับความเสียหาย จึงเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเป็นเงินจำนวน 50 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5 ต่อปี จากเงินต้น และให้รื้อถอนป้ายดังกล่าว

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2559 ศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้อง โดยมีคำวินิจฉัยว่า การกระทำของชาวบ้านดังกล่าวไม่มีการปิดล้อมเหมือง และไม่ได้ขัดขวางการดำเนินงานของโจทก์ แต่กลับเป็นเพียงข้อเรียกร้องการแก้ปัญหา จึงเป็นการแสดงความเห็นและเสนอไปยังหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ที่มีอำนาจแก้ใจปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน นับได้ว่าเป็นการกระทำโดยชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม อันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำได้ เป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริต จึงไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและไม่เป็นการละเมิดโจทก์ อย่างไรก็ตามบริษัทได้ยื่นอุทธรณ์ เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2559

ต่อมาเมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2560 ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำพิพากษาระบุว่า การกระทำของจำเลยทั้ง 6 คนไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน ให้โจทก์ชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้ง 6 คน โดยกำหนดค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้รวม 300,000 บาท

ตัวแทนชาวบ้านรายหนึ่งกล่าวว่า ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ฟ้องกลับบริษัทน เพราะที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้ฟ้องร้องคดีทั้งแพ่งและอาญาต่อชาวบ้านหลายสิบคดี ซึ่งส่วนใหญ่ฟ้องเสมือนกลั่นแกล้งหรือแกล้งฟ้องให้ชาวบ้านเสียเวลา เสียค่าใช้จ่าย เสียขวัญกำลังใจและเสียความรู้สึก การที่ชาวบ้านฟ้องกลับย่อมมีความหมายที่สำคัญในสิทธิโดยสุจริตใจของชาวบ้านในการปกป้องและรักษาบ้านเจ้าของ

ขณะเดียวกัน ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจขบวนการอีสานใหม่ ได้ออกแถลงการณ์ ครบรอบ 3 ปีวันขนแร่เถื่อน 15 พฤษภาคม โดยขอประนามการกระทำของผู้อยู่เบื้องหลังและรู้เห็นเหตุการณ์ดังกล่าว โดยมีรายละเอียดดังนี้

แถลงการณ์ขบวนการอีสานใหม่
ครบรอบ 3 ปีวันขนแร่เถื่อน 15 พฤษภาคม

กลางดึกวันที่ 15 พฤษภาคม เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ณ บ้านนาหนองบง ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ประเทศไทย ได้เกิดเหตุการณ์โหดร้ายป่าเถื่อนโดยกลุ่มชายฉกรรจ์ใส่หมวกอีโม่งพร้อมอาวุธครบมือ จำนวนสองร้อยกว่าคน บุกจู่โจมจับชาวบ้านมัดมือมัดเท้า ทุบตีทำร้ายชาวบ้านที่พยายามต่อสู้เพียงเพื่อต้องการขนสินแร่ ที่อยู่ในเหมืองทองคำซึ่งดำเนินการโดยบริษัททุ่งคำ จำกัด โดยที่ชาวบ้านไม่ได้รับการปกป้องดูแลจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องแต่อย่างใด มิหนำซ้ำยังถูกกระทำจากบุคคลซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐเสียเอง นับเป็นเหตุการณ์ที่น่าอัปยศของสังคมที่อ้างตนว่าเป็นคนดีและมีประชาธิปไตยยิ่งนัก

ในนามขบวนการอีสานใหม่ขอประนามการกระทำของผู้อยู่เบื้องหลังและรู้เห็นเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ทุกคน และประกาศถึงเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ว่าจะเป็นทหาร ตำรวจ และรัฐบาลที่มาจากการปล้นชิงอธิปไตยของประชาชนว่า เราจะยืนหยัดต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่พี่น้องสามัญชนที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสจากการกระทำอันป่าเถื่อนของทั้งเจ้าหน้าที่รัฐหรือบริษัทนายทุนต่างๆ และไม่ยอมให้ใครมาปล้นชิงทรัพยากรธรรมชาติของประชาชน โดยเอื้อประโยชน์เข้าตัวเองและพวกพ้อง แต่ทิ้งความทุกข์มหาศาลให้พี่น้องประชาชนเป็นคนรับเป็นอันขาด

ด้วยหัวใจอันเคารพ เชื่อมั่นในหลักการสิทธิมนุษยชน และวิถีประชาธิปไตย

ขบวนการอีสานใหม่
15 พฤษภาคม 2560

สำหรับเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2557 ในเวลา 22.00 น.ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ แจ้งว่า มีกลุ่มชายฉกรรจ์คลุมผ้าปกปิดใบหน้านับร้อยคน พร้อมอาวุธคือท่อไม้ บุกเข้าชาร์จชาวบ้านซึ่งเป็นยามอาสาเฝ้าบริเวณป้อมยามหมู่บ้าน หรือ ‘กำแพงใจ’ ทั้ง 3 จุด ซึ่งเป็นจุดที่ใช้ดูแลกำแพงที่สำหรับขวางรถบรรทุกที่จะผ่านหมู่บ้านเพื่อ เข้าเหมืองแร่ทองคำ

กลุ่มชายฉกรรจ์ดังกล่าวเข้ารือกำแพงและมีการยิงปืนขึ้นฟ้าเป็นระยะ พร้อมทั้งจับตัวนายสุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ และนายสมัย ภักมี ซึ่งเป็นแกนนำชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดไว้ด้วย

ต่อมาเมื่อเวลา 01.30 น.(16 พ.ค 2557.) นางวิรอน รุจิไชยวัฒน์ อายุ 43 ปี แกนนำชาวบ้าน เล่าว่า ขณะนี้ยังมีการตะลุมบอนกันอยู่ระหว่างชาวบ้านกับกลุ่มชายฉกรรจ์ดังกล่าว ซึ่งจุดที่เธออยู่มีกลุ่มชายฉกรรจ์ดังกล่าวประมาณ 50 คน โดยมีการใช้ไม้และยิงปืนขู่ และจับชาวบ้านไปด้วย  พร้อมทั้งมีการนำรถบรรทุกขนแร่ออกไปแล้ว 3-4 คัน

นางวิรอน กล่าวด้วยว่า ได้แจ้งตำรวจและนายอำเภอ ตั้งแต่เกิดเหตุเวลา 22.00 น. ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีเจ้าหน้าที่เข้ามาดูแลในพื้นที่เกิดเหตุเลย

ต่อมาเวลา 02.00 น. ของวันที่ 16 พ.ค. 2557 มีรายงานว่า ภายในชุมชนมีเสียงปืนดังเป็นระยะ มีชาวบ้านได้รับบาดเจ็บสาหัส 1 ราย ได้นำส่งโรงพยาบาลไม่ได้เนื่องจากถูกชายฉกรรจ์ปิดล้อม ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามเข้าพื้นที่ แต่ถูกกลุ่มชายฉกรรจ์อีกกลุ่มขวางไว้

เวลา 3.45 น. มีรายงานว่า ชาวบ้านที่ถูกจับกุมไว้บางส่วนถูกปล่อยตัวแล้ว โดยชาวบ้านได้สำรวจพบว่ามีอีกเกือบ 10 คนที่ยังไม่พบตัว รวมทั้งนายสุรพันธ์ รุจิไชยวัฒน์ แกนนำกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด้วย

ชาวบ้านที่ถูกปล่อยตัวออกมาเล่าให้ฟังว่า ขณะถูกจับตัวไว้นั้น ได้มีการมัดมือมัดเท้าและใช้ปืนขู่ ส่วนคนที่หายไปนั้นชาวบ้านเล่าให้ฟังว่า ได้มีการเคลื่อนย้ายคนเหล่านั้นออกไป แต่ไม่ทราบจุดหมายปลายทางว่าจะนำตัวไปไว้ที่ใด ขณะที่รถพ่วงยังคงขนแร่อยู่ ขนออกไปแล้วประมาณ 10 คัน โดยชายที่เข้ามาไม่ต่ำกว่า 300 คน กระจายตัวอยู่ตามจุดตรวจและตามป่า

เวลา 4.30 น. ชาวบ้านได้รับการปล่อยตัว ชายฉกรรจ์สลายตัวออกจากพื้นที่หลังรถบรรทุกแร่คันสุดท้ายออกจาก บจก.ทุ่งคำ ชาวบ้านสำรวจพื้นที่พบปลอกกระสุน 9 มม. อย่างน้อย 3 ปลอก

สรุปยอดคนเจ็บไปโรงพยาบาลอย่างน้อย 7 คน และมีชาวบ้านบาดเจ็บเล็กน้อยไม่ได้ไป โรงพยาบาลอย่างต่ำ 20 คน ทั้งนี้มีชาวบ้านบางคนถูกเตะตาบวม ถูกไม้ตีทั้งตัว บางคนหัวแตก พร้อมระบุด้วยว่ามียายคนหนึ่งถูกกดหน้าบนพื้นแล้วเหยียบ 

ในระหว่างเกิดเหตุ ชาวบ้านโทรแจ้งตำรวจเพื่อขอความช่วยเหลือจาก สภ.อ.วังสะพุง แต่มีตำรวจเดินทางเข้าพื้นที่เพียง 2 นายและอ้างว่าไม่สามารถกระทำการใดได้เนื่องจากมีชายฉกรรจ์ปิดล้อมพื้นที่จำนวนมาก

ทั้งนี้ในพื้นที่ดังกล่าวข้อพิพาทระหว่างกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่กับบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานทำเหมืองแร่ทองคำดังกล่าว โดยชาวบ้านได้สร้างกำแพงขึ้นมาขวางทางรถบรรทุกหลังจากที่ชาวบ้าน 6 หมู่บ้านใน ต.เขาหลวง ทำประชาคมหมู่บ้านเมื่อวันที่ 6 ก.ย.56 และได้มี ‘ระเบียบชุมชนว่าด้วยการใช้ถนนชุมชนและการควบคุมน้ำหนักบรรทุก’ ซึ่งมีข้อห้ามที่ตกลงกันว่า ห้ามรถบรรทุกหนักเกิน 15 ตัน และการขนสารเคมีอันตรายเข้ามาในชุมชน เพื่อป้องกันสุขภาพและความปลอดภัยของคนในชุมชน และหลังจากออกระเบียบชุมชนดังกล่าวชาวบ้านจึงร่วมกันสร้างแนวกำแพงเพื่อ ป้องกันไม่ให้รถบรรทุกผ่านทางสาธารณะบริเวณสี่แยกที่ตัดกับทางเข้าเหมือง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net