Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 

ยังจำได้ว่า ลาสเวกัส รีวิว เจอร์นัล  สื่อสิ่งพิมพ์ใหญ่สุด ของเมืองลาสเวกัส รายงานข่าวงานเมื่อหลายปีมาแล้ว งานอ้างงานวิจัยจากที่มา คือ นิวยอร์ค ไทมส์ เกี่ยวกับพฤติกรรมทางการเมืองของคนอเมริกัน ระบุว่า วัยหรืออายุ มีผลต่อความคิดและพฤติกรรมทางการเมืองของคนอเมริกัน

กล่าวคือ ในช่วงวัยที่เรียกว่า “วัยต้น” ช่วงวัยรุ่นจนถึงวัยกลางคน คนอเมริกัน ส่วนใหญ่มีความคิดและพฤติกรรมทางการเมืองเสรีนิยม แต่พอเลยวัยกลางคนไปแล้วความคิดและพฤติกรรมทางการเมืองของคนอเมริกันก็เปลี่ยนไปเป็นอนุรักษ์นิยม ความเปลี่ยนแปลงแบบสวิงดังกล่าว ปรากฏเด่นชัดในกรณีของคนที่มีครอบครัวหรือคนไม่โสด

หากนำงานวิจัยดังกล่าวมาใช้กับสถานการณ์การเมืองของอเมริกาในปัจจุบันก็น่าจะเทียบได้กับสมุฏฐานกรณีการได้เป็นประธานาธิบดีของโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งกลายเป็นที่สงสัยกันมากของสื่อและประชาชนทั่วโลกว่า ทำไมทรัมป์ที่เป็นอนุรักษ์นิยมหรือฝ่ายขวาจัดในอเมริกา  จึงได้รับการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา

ก็จะเห็นได้ว่า เบบี้บูมเมอร์ ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็น “ฮิปปี้” ได้กลายเป็นฐานคะแนนโหวตที่สำคัญของทรัมป์ นับเป็นเรื่องกลับตะละปัด เพราะรากเหง้าของความเป็นฮิปปี้ อยู่ที่ความรักในเสรีนิยมอย่างสุดซึ้ง พวกเขาเคยแหกคอกจากครอบครัวอเมริกันในรูปแบบจารีตเดิมๆ มาก่อน อย่างเช่น บางคนกลายเป็น “บุปผาชน”ไปเลยก็มี

เหตุไฉนคนเหล่านี้จึงได้มีความคิดเปลี่ยนไปมากเช่นนี้ บ้างก็ว่าเป็นเพราะพวกเขา มีหน้าที่การงานที่มั่นคงมากขึ้น หรือเป็นเพราะอิทธิพลจากกระแสเศรษฐกิจ มีหลายฝ่ายวิเคราะห์สาเหตุความเปลี่ยนแปลงทำนองนี้ อีกอย่างคือ ครอบครัวมีอิทธิพลต่อความคิดและพฤติกรรมทางการเมืองของคนกลุ่มนี้ค่อนข้างมาก กล่าวคือ เมื่อคนเหล่านี้มีครอบครัว มีลูกหลานว่านเครือ พวกเขาเห็นว่าครอบครัวของตนควรมาเป็นอันดับแรก เป็นเหตุให้คนส่วนหนึ่งในกลุ่มนี้หันไปสนใจในประเด็นศีลธรรมหรือแม้กระทั่งศาสนามากขึ้นจากเดิมที่พวกเขาไม่เคยแคร์เอาเลย

ประเด็นนี้วิเคราะห์กันว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เสรีชนในอเมริกาสวิงไปสู่อนุรักษ์นิยมชนกันมากขึ้นในช่วงบั้นปลายของชีวิต และเป็นสาเหตุให้เกิดประธานาธิบดีทรัมป์ขึ้นในปี 2016 ส่วนปัญหาปัจจุบันในอเมริกา เช่น ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาต่างด้าว ปัญหาการก่อการร้าย จนส่งผลให้เกิดความคิดชาตินิยมมากขึ้นนั้น เป็นอีกหนึ่งประเด็นเดียวกัน

ที่สำคัญไปกว่านี้และสัมพันธ์กับงานวิจัยข้างต้น ก็คือ ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นในอเมริกาที่เดียว หากเกิดขึ้นในยุโรป รากเหง้าของเสรีนิยมด้วย แม้นางเลอแปน จะไม่ได้รับเลือกตั้งให้เป็นผู้นำของฝรั่งเศสเท่านายมาครง แต่การสัประยุทธ์ทางการเมืองในดินแดนฝรั่งเศสครั้งนี้ก็แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่แสดงถึงความคึกคักเข้มแข็งของฝ่ายอนุรักษ์นิยมอย่างน่าสนใจยิ่ง

ยิ่งการถอนตัวออกจากสภาพยุโรป ที่แสดงถึงพลังอำนาจของฝ่ายอนุรักษ์นิยมในอังกฤษ ประเทศต้นแบบประชาธิปไตยแห่งนี้ที่นับเป็นตัวอย่างสำคัญเกี่ยวกับท่าทีอันเกี่ยวเนื่องกับกระแสโลกที่ผูกติดกับระบอบการปกครองแบบเสียงส่วนใหญ่หรือประชาธิปไตย

มิใช่อนุรักษ์นิยมในแบบอำนาจนิยมเช่นในบางประเทศ แต่เป็นความยินยอมพร้อมใจในแง่ของมติมหาชนหรือประชามติ เป็นความต้องการ หรือเจตนารมณ์ของคนส่วนใหญ่เจ้าของประเทศ

กระแสนุรักษ์นิยมตั้งแต่อเมริกายันยุโรปในตอนนี้ จึงเสมือนการหวนกลับของสายลมอนุรักษ์นิยมแบบเดียวกับช่วงหลังสมัยกลาง สมัยต้นกำเนิดประชาธิปไตย หลังจากโลกาภิวัตน์จ่อคิวครอบงำยุคสมัยอยู่ร่อมร่อ

เป็นการกลับไปสู่ความเป็นตัวของตัวของทั้งปัจเจกและสังคมในขณะที่อัตลักษณ์กำลังใกล้เลือนหาย เหมือนที่สังคมอเมริกันในสมัยนี้กำลังแสวงหา และทรัมป์เองจับจุดนี้ได้ และเป็นเหตุนำเขาไปสู่ความสำเร็จในการเลือกตั้งใหญ่ครั้งที่ผ่านมา

กระแสอนุรักษ์นิยมที่เกิดขึ้น จึงไม่ใช่สาเหตุจากผู้อพยพและผู้ก่อการร้ายเพียงอย่างเดียว แต่สังคมอเมริกันต้องการคงอัตลักษณ์ของพวกเขาเอาไว้ ในขณะที่อเมริกาเป็นหัวหอกของวัฒนธรรมเสรีนิยมมานานหลายทศวรรษ ดังนั้นปรากฏการณ์นี้จึงเป็นปรากฏการณ์ธรรมดา และในยุคทรัมป์ก็ไม่น่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงมากไปกว่ายุคคลินตันยุคจอร์จ ดับเบิลยู บุช หรือยุคโอบามา ยังไงก็ไม่พ้นรีพับลิกันกับเดโมแครต

เพราะความจริงแล้วไม่มีอะไรที่แตกต่างกันมากและแตกต่างอย่างจริงจังระหว่างสองพรรค ทรัมป์เองก็ขยับไม่ได้มาก หากปราศจากความร่วมมือของพรรคโมแครต และแล้วกำแพงกั้นพรมแดนเม็กซิโกกับอเมริกาก็อาจไม่ได้สร้างดังการการเสียงของทรัมป์ เมื่อคำนึงถึงผลได้ผลเสียทางด้านเศรษฐกิจแล้ว ถ้าสมาชิกคองเกรสใคร่ครวญดูแล้วระบบปลอดภัยชายแดนที่ทุ่มไปกับการใช้เจ้าหน้าที่ของกระทรวงความมั่นคงภายในแบบเดิมดีอยู่แล้ว ดีกว่าเอาเงินงบประมาณจำนวนมากไปโยนทิ้งเฉยๆ

สส. Dana Rohrabacher ในฐานะสมาชิกคองเกรส และกรรมาธิการนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ พรรครีพับลิกันก็ไม่แสดงว่า เขาเห็นด้วยกับเรื่องนี้ ทั้งที่ Rohrabacher เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการสนับสนุนนโยบายเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของทรัมป์มาตลอด รวมทั้งการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างอเมริกากับเวียดนามและประเทศอาเซียนต่างๆ เพราะก่อนหน้านี้ คองเกรสแมน Rohrabacher ลงทุนฝังคนของเขาไว้แทบทุกประเทศอาเซียน รวมถึงประเทศไทยในนามของ “แหล่งข้อมูล”ที่สำคัญของอเมริกา ดังที่เขามีที่ปรึกษา “อัล/อัลเบิร์ต ซานโตลี” อยู่ในฟิลิปปินส์ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา

มิหนำซ้ำความสัมพันธ์ระหว่าง Rohrabacher กับทรัมป์ยังเป็นเครื่องพิสูจน์ด้วยว่า  ทรัมป์หาใช่พวกบ้าระห่ำแต่อย่างใดไม่ หากเขาฟังคนที่มีข้อมูลเอเชียมากอย่าง Dana Rohrabacher ด้วยความสุขุมรอบคอบ รวมถึงการตัดสินใจกรณี “เกาหลีเหนือ”

เท่ากับพิสูจน์ว่ากระแสอนุรักษ์นิยมในอเมริกามิใช่เรื่องน่าเกลียดที่จะเอาไปเปรียบเทียบได้กับกระแส “อำนาจนิยม” เช่นบางประเทศ แต่เป็นกระแสของการหวนคืนความมีอัตลักษณ์ของผู้คนในประเทศนี้เท่านั้น.

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net