เปิดเรื่องราวผู้อพยพชาวเมียนมาร์ บางคนเข้ามากรีดยางในไทย 29 ปี แต่กลับบ้านไปยังไร้อนาคต

สเตรทไทม์รายงานถึงเรื่องที่ผู้อพยพจากเมียนมาร์ต้องเผชิญความยากลำบาก หลังกลับบ้านตัวเองไม่ว่าจะเป็นการกลับไปอยู่ภายใต้ระบบที่เคร่งครัดบีบคั้นแบบราชการของเมียนมาร์ และประสบปัญหาว่างงาน

16 พ.ค. 2560 สเตรทไทม์นำเสนอเรื่องราวของ จ่อตู่ (Kyaw Htoo) ผู้ที่หนีความยากจนจากเมียนมาร์ไปทำงานกรีดยางที่ไทยเมื่อปี 2531 ปีเดียวกับที่รัฐบาลทหารปราบปรามผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยพม่า ในตอนนั้นเขาอายุเพียง 12 ปี เขาเคยหวังว่าจะได้พักพิงในไทยชั่วคราวเพื่อเดินทางต่อไปยังประเทศตะวันตกแต่ความฝันนั้นก็ไม่เคยเป็นจริง

เขาเดินทางกลับบ้านเกิดในเมืองตันบูชายัดประเทศเมียนมาร์ หลังจากที่เมียนมาร์มีรัฐบาลพลเรือน ตอนนั้นเขามีอายุได้ 41 ปีแล้ว แต่เมื่อเขากลับไปแล้วกลับไม่มีงานทำ เขาได้รับเงินค่าตั้งรกรากใหม่เทียบเป็นเงินไทยแล้วไม่กี่หมื่นบาท ทำให้เขาต้องกลับไปทำงานกรีดยางอีกครั้ง หวังว่าจะได้เงินมากพอจะก่อร่างสร้างตัวมีกิจการตัวเองได้

กรณีของชอว์ทู เป็นเพียงหนึ่งในชะตากรรมของผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาร์ บางคนต้องขอความช่วยเหลือจากญาติ ขณะที่บางคนก็บอกว่าระบบราชการที่เคร่งครัดและการหางานไม่ได้ จะรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากพรรคเอ็นแอลดี

สำหรับไทยตอนนี้ได้ให้ที่พักพิงแก่ชาวเมียนมาร์ราว 100,000 คน ที่หนีการปราบปรามของรัฐบาลเผด็จการทหารประเทศตัวเอง หรือหนีสงครามการสู้รบระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธเข้ามาตั้งแต่ราว 30 ปีที่แล้ว มีค่ายผู้ลี้ภัยเหล่านี้ตามแถบจังหวัดทางภาคเหนือและภาคตะวันตก ค่ายผู้ลี้ภัยเหล่านี้ได้รับเงินช่วยเหลือจากนานาชาติ แต่จำนวนงบประมาณช่วงเหลือเหล่านี้ก็ลดลงเมื่อมีเหตุฉุกเฉินด้านมนุษยธรรมเกิดขึ้นในประเทศอย่างซีเรียหรือซูดาน ส่วนไทยเองก็หวังว่าจะสามารถปิดค่ายผู้ลี้ภัยเหล่านี้ได้

จากการสัมภาษณ์อดีตผู้ลี้ภัยหลายคนที่ถูกขับให้กลับประเทศโดยสเตรทไทม์ เปิดเผยให้เห็นสภาพชีวิตใหม่ของพวกเขา จากเดิมที่มีชีวิตอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยที่พวกเขาเข้าถึงการศึกษาและสาธารณสุขได้ แต่เมื่อกลับไปที่ประเทศตัวเองก็พบความยากลำบากมากกว่าที่คิดไว้ทั้งเรื่องการหางาน รวมถึงเด็กบางคนที่เกิดและเติบโตในค่ายผู้ลี้ภัยมาตลอดก็มีปัญหาเรื่องการปรับตัวหลังต้องย้ายไปอยู่ในเมียนมาร์ 

หนึ่งในผู้ลี้ภัยจากค่ายนูโปบอกว่ามีอะไรหลายอย่างเปลี่ยนไปเยอะมากในย่างกุ้ง แต่การจะเปลี่ยนแปลงจากรัฐบาลพรรคเอ็นแอลดีนั้นคงต้องใช้เวลายาวนานมาก แน่นอนว่าเรื่องนี้ส่วนหนึ่งมาจากการที่กองทัพเมียนมาร์ยังคงมีอำนาจควบคุมในหลายๆ ด้าน ทั้งฝ่ายกลาโหม ฝ่ายกิจการภายใน และกิจการชายแดน รวมถึงมีที่นั่งส่วนหนึ่งในสภา แต่ความผิดอีกจำนวนหนึ่งก็มาจากพรรคเอ็นแอลดีเองด้วยที่ทำการปกปิดข้อมูลและมีกระบวนการตัดสินใจอยู่ในกำมือของคนไม่กี่คน ระบบราชการที่เชื่องช้ายังทำให้ผู้อพยพบางคนถึงขั้นต้องรอ 4 เดือน ถึงจะได้รับใบขับขี่ใหม่ แม้ว่าก่อนหน้านี้เขาได้พยายามถามเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องว่าจะสามารถออกใบขับขี่ใหม่ให้เขาได้หรือไม่ และคำตอบที่ได้รับคือ “อย่ากังวล ฉันจะทำให้คุณ”

อย่างไรก็ตามยังคงมีผู้อพยพบางคนที่ชีวิตกลับไปแล้วเป็นไปอย่างราบรื่น มีบางคนกำลังจะเริ่มเปิดร้านไอศกรีม บ้างก็ต่อรองราคาที่อยู่ของตัวเองได้ มีลูกได้งานทำชั่วคราวเกี่ยวกับการก่อสร้าง มีคนหนึ่งคือขิ่นซานยี (Khin San Yee) เป็นนักกิจกรรมของเอ็นแอลดีอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยนุโพเพื่อหลบหนีจากการถูกปราบปราม เธอมองโลกในแง่ดีเกี่ยวกับชีวิตที่ได้กลับไปอยู่ในเมียนมาร์และแสดงท่าทีสนับสนุนรัฐบาลพรรคเอ็นแอลดี

ศูนย์ปฏิบัติการเพื่อผู้พลัดถิ่น (OCDP) เปิดเผยว่ามีชาวเมียนมาร์ต้องการจะกลับระเทศในรอบต่อไปอีกราว 200 ราย โดยที่ยังไม่มีกำหนดวันชัดเจน แต่ถ้าหากว่าพวกเขาเห็นว่าเมียนมาร์ไม่ปลอดภัยพวกเขาก็พร้อมจะอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยต่อไป

นอกจากนี้ยังมีความกังวลเรื่องที่ว่าลูกหลานในค่ายผู้ลี้ภัยของพวกเขาจะเกิดการติดขัดด้านการศึกษาหรือไม่จากที่ในค่ายมีการให้การศึกษาแก่เด็ก กลุ่มองค์กร Save The Children ที่เป็นเอ็นจีโอให้การศึกษาเด็กกำลังพยายามโน้วน้าวให้ทางการจัดการชดเชยให้กับนักเรียนช่วงใกล้จบปีการศึกษา

การที่ผู้ลี้ภัยเหล่านี้ถูกปรับลดงบประมาณยังส่งผลให้เกิดความยากลำบากต่างๆ ของคนที่ยังอยู่ในค่าย บางคนพยายามขอความช่วยเหลือจากญาติที่เดินทางไปยังปลายทางประเทศที่สามแล้ว บ้างก็ออกจากค่ายพยายามไปหางานทำแต่ก็ถูกจับกุมตัว ทำให้แม้แต่คนในค่ายผู้ลี้ภัยเองก็ต้องสู้ทนอยู่อย่างลำบาก รวมถึงมีโอกาสได้รับการเรียนรู้ฝึกฝนทักษะน้อยลงด้วยขณะอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย

สเตรทไทม์ระบุอีกว่าถึงแม้ว่าโอกาสที่พวกเขาจะได้ไปยังประเทศที่สามจะลดลงแต่ทางการสหรัฐฯ ก็รับผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาร์มากกว่า 80,000 คนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งถือว่ามากกว่าประเทศอื่นๆ อย่างออสเตรเลีย, แคนาดา, ญี่ปุ่น และฟินแลนด์

 

เรียบเรียงจาก

Settling down hard for refugees returning to Myanmar, Straits Times, 13-05-2017

http://www.straitstimes.com/asia/se-asia/settling-down-hard-for-refugees-returning-to-myanmar

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท