สำเนียงผู้หญิง: บทวิจารณ์วารสาร สตรี เพศสถานะ และเพศวิถีฉบับปฐมฤกษ์

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ผมได้รับ วารสาร สตรี เพศสถานะ และเพศวิถีศึกษา ฉบับปฐมฤกษ์ [1] ซึ่งวารสารฉบับแรกนี้มีหัวข้อหลักคือ ผู้หญิงกับ[หอ]จดหมายเหตุ[ศึกษา]

โดยส่วนตัว ผลผลิตทางวิชาการของโครงการฯ นี้ส่งผลกับวิธีคิดและการตัดสินใจเรียนต่อของผมยังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พอสมควร  เมื่อครั้งสมัยเรียนปริญญาตรีปี 4 และ 5 ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (พ.ศ. 2544-2545) กิจกรรมทางวิชาการของสตรีศึกษาธรรมศาสตร์ (ผมขออนุญาตเรียกในชื่อที่คุ้นเคย) เป็นที่โด่งดังในแง่ของการเปิดพรมแดนความรู้ทางทฤษฏีเป็นอย่างยิ่ง  โดยเฉพาะแนวคิดโครงสร้างนิยม, หลังโครงสร้างนิยม และหลังอาณานิคมนิยม  บทความจำนวนมากทั้งที่เป็นภาษาอังกฤษ, บทความแปล และการถอดความจากการบรรยายได้ถูกรวบรวมอย่างเป็นระบบ  ช่วงเวลานั้นคือช่วงเริ่มต้นโครงการปริญญาโทสตรีศึกษาธรรมศาสตร์พอดี และความตื่นเต้นนั้นได้ส่งผ่านมาถึงเชียงใหม่เช่นกัน  ตอนนั้นโซเชียลมีเดียยังไม่แพร่หลายมากนัก การได้มาซึ่งเอกสารต่างๆ บ่อยครั้งทีเดียวที่ผมต้องนั่งรถไปกรุงเทพฯ เพื่อไปยืมและทำสำเนาจากห้องสมุดที่ธรรมศาสตร์[2]

อาจเป็นเพราะจริตและความชอบส่วนตัวที่ทำให้ผมสนใจแนวคิดที่สตรีศึกษาธรรมศาสตร์เป็นพิเศษ  อันที่จริงที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เองก็มีศูนย์สตรีศึกษาเช่นเดียวกัน ทั้งยังเปิดการศึกษาในระดับปริญญาโท ทว่า ที่เชียงใหม่ในห้วงขณะนั้น ให้ความสนใจเป็นพิเศษกับประเด็นว่าด้วยผู้หญิง, ปัญหาการพัฒนา และความเป็นชายขอบเป็นพิเศษ  ความแหลมคมของสตรีศึกษาเชียงใหม่ต่างออกไปจากความสนใจส่วนตัวของผมก็เท่านั้น [3]

เอาหล่ะ เข้าเรื่องกันดีกว่า

ในฐานะส่วนหนึ่งของผู้ที่ได้รับอิทธิทางความคิด ผมคิดว่าจุดเด่นสำคัญของสตรีศึกษาธรรมศาสตร์คือการบุกเบิกวิธีวิทยาในการศึกษาโลกของผู้หญิง ผ่านการเคลื่อนโฟกัสจากวัฒนธรรมในลักษณะที่เป็นก้อนๆ มาสู่การโลกในมุมมองของผู้หญิง พร้อมการย้อนกลับไปวิพากษ์มุมมองที่มีต่อวัฒนธรรมแบบเดิมว่าถูกปกคลุมและครอบครองด้วยความสัมพันธ์เชิงอำนาจและอุดมการณ์แบบชายเป็นใหญ่  การค้นหาความรู้ในลักษณะนี้ปรากฏขึ้นอย่างชัดเจนในวิทยานิพนธ์หลากหลายเล่มของสตรีศึกษาธรรมศาสตร์  งานเขียนทางวิชาการเหล่านี้มิใช่หยุดแค่การอ้างถึงการวลีที่ว่า “ฉันถูกทำให้เป็นผู้หญิง” เท่านั้น ทว่ายังเข้าไปสู่อาณาบริเวณของคำถามถึงตำแหน่งการเปล่งเสียงของผู้หญิงในฐานะผู้มีสถานะรอง (Subaltern) อีกด้วย 

ในแง่วิธีวิทยา ผมคิดว่านี่คือความยอกย้อนของการพิจารณาเสียงสำเนียงของผู้หญิงเป็นอย่างมาก  การเลื่อนโฟกัสไปยังตำแหน่งการเปล่งเสียงของผู้หญิง มิได้หมายความถึงการให้ผู้หญิงเป็นศูนย์กลางเพื่อวิพากษ์ความเป็นชายแต่เพียงอย่างเดียว ทว่า ยังเป็นการเผยให้เห็นถึงอุดมการณ์ชุดต่างๆ ที่เข้ามาจัดการและทำงานในโลกของผู้หญิง ทั้งชาตินิยม, ชาติพันธุ์นิยม, ท้องถิ่นนิยม, ชนชั้น หรือกระทั่งความเป็นชาย  ดังนั้น เสียงสำเนียงผู้หญิงที่เปล่งออกมาจึงมิได้เป็นอิสระโดยตัวเอง หากเป็นสำเนียงที่เปล่งออกมาเพื่อสร้างอัตบุคคลแห่งเสรีภาพผ่านการต่อสู้หยิบยืมทางอุดมการณ์ต่างๆ 

สำหรับ “ผม” เรื่องเล่าที่ใช้คำว่า “ดิฉัน” หรือ “ฉัน” จะสามารถแปลงสรรพนามบุรุษที่หนึ่งไปสู่สรรพนามสตรีที่หนึ่งได้ก็ต่อเมื่อ สุ้มสำเนียงนั้นๆ สามารถทำให้เรื่องเล่ามีพลังในการท้าทายอำนาจ  ตลอดจนการพลิกวิธีการเล่าเรื่องหรือหักเหเรื่องเล่าไปสู่แง่มุมที่เปิดโลกอีกใบให้กับผู้อ่านได้

บทความจำนวนมากในวารสารฉบับนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการกลิ่นอายและความพยายามวิธีวิทยาในการหาความรู้ตามที่กล่าวมาในข้างต้น  ในทัศนะส่วนตัว บทความที่นับว่าเป็นหัวใจหลักของวารสารซึ่งครอบคลุมทั้งวิธีวิทยา, วิธีการศึกษา และประเด็นหลักของวารสาร คือบทความของ ดร. สินิทธ์ สิทธิรักษ์ ในชื่อ ‘อ่าน’ เอกสารจดหมายเหตุผู้หญิง: อ่านสมุดบัญชีของ พรเพชร เหมือนศรี ช่างตัดเสื้อชาวอำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์

ข้อเขียนนี้จึงมุ่งที่จะพิจารณาบทความของสินิทธ์เป็นสำคัญ

 

เสียงของเธอในประวัติศาสตร์ของใคร?

เมื่อได้อ่านบทความของสินิทธ์จบลง ความรู้สึกของผมเกิดขึ้นอย่างหลากหลาย  ผมอดถึงถึงครอบครัวของพ่อไม่ได้  ใช่ อำเภอหนองบัวเป็นบ้านเกิดของของพ่อและบรรพบุรุษของเขา  คุณพรเพชรผ่านคำบอกเล่าของสินิทธ์น่าจะเป็นคนในรุ่นปู่และย่าของผม  พ่อของผมเกิดที่บ้านหนองบัวในปี พ.ศ. 2500 เขาได้รับรู้วีรกรรมและคำบอกเล่าเกี่ยวกับคุณพรเพชรมาโดยตลอด  เมื่อครั้งยังเด็ก พ่อก็เล่าเรื่องนักต่อสู้หญิงคนหนึ่งที่บ้านเกิดของพ่อให้ผมฟัง

อะไรคือความต่างระหว่างเรื่องเล่าทั้งสองสำนวนนี้?

เรื่องเล่าถึงหนองบัวจากรุ่นสู่รุ่น (จากปู่สู่พ่อและตัวผมเองตามลำดับ) ในสำนวนของครอบครัวผม เต็มไปด้วยความสำเร็จและความล้มเหลวของผู้ชายในฐานะผู้นำครอบครัว  หนองบัวในช่วงปลายปี พ.ศ. 2480 – 2510 โดยประมาณนั้น เต็มไปด้วยป่าและทุ่งนา  เนื่องจากทำเลที่อยู่ขนาบริมน้ำน่านทำให้ผู้คนที่นี่มีน้ำท่าใช้ตลอดปี ขณะเดียวกันก็เกิดความเสี่ยงสูงในฤดูน้ำหลาก  อันที่จริงคงต้องบอกว่าหลังจากปี พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา  น้ำท่วมได้กลายเป็นปัญหาใหญ่ต่อชุมชนเนื่องจากการการก่อสร้างถนนและทางรถไฟเชื่อมโยง  จ.นครสวรรค์ กับ จ.พิจิตรเข้าหากัน  จากคำบอกเล่าของพ่อทำให้ผมทราบว่าการคมนาคมอย่างเป็นทางการตอนนั้นเองได้ส่งผลให้รัฐเข้ามามีส่วนในการจัดการที่ดินทำกินของชาวบ้าน รวมไปถึงพื้นที่สาธารณะมากขึ้น

ชุมชนที่ตั้งอยู่ในบริเวณนี้จึงมักเดือดร้อนในเรื่องที่ดินทำกินมาโดยตลอด  ในเรื่องเล่าของพ่อและปู่ “ไอ้เสือ” หรือนักเลงชายในชื่อต่างๆ จึงปรากฏขึ้นประหนึ่งสัญลักษณ์ในการต่อต้านอำนาจรัฐ  ไอ้เสือจำนนวนหนึ่งก็ยากจนจริงและได้รับการช่วยเหลือจากสมาชิกในชุมชน  ขณะที่อีกจำนวนหนึ่งก็คือกลุ่มอิทธิพลที่ไม่ลงรอยกับเจ้าหน้าที่  แน่นอนว่าเรื่องเล่าของไอ้เสือจำนวนมากที่ผมได้ยินล้วนพัวพันกับเวทย์มนตร์  เครื่องราง  และของขลัง  ผู้ที่ได้รับการยอมรับในชุมชนมักจะเป็นนักเลงเก่าที่มีประสบการณ์อย่างโชกโชน  กระทั่งแก่ตัวมาก็บวชเป็นพระให้คนเคารพนับถือ

ปู่ของผมเกิดในครอบครัวใหญ่ที่ทำการค้าริมน้ำน่าน ทำให้ท่านมีฐานะพอที่จะไปเรียนต่อทางด้านการพาณิชย์และบัญชีที่เมืองบางกอก  การไปศึกษาต่อของปู่กลายเป็นเรื่องที่กล่าวถึงจากรุ่นสู่รุ่น  ปู่เป็นเรียนหนังสือเก่งทั้งยังสามารถสื่อสารในภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสได้เป็นอย่างดี  เมื่อจบการศึกษาปู่ไม่ได้กลับมาทำธุรกิจ  แต่กลับมาสอนหนังสือและกลายเป็นครูใหญ่ในโรงเรียนประถมแห่งหนึ่ง  ในสายตาของพ่อ ปู่เป็นคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตสูงและสร้างเกียรติให้แก่วงศ์ตระกูลเป็นอย่างมาก  พ่อพูดถึงย่าน้อยกว่าปู่ ทั้งที่ปู่อายุสั้นตายแต่ยังหนุ่ม  ย่าต่างหากที่เลี้ยงลูกทั้งห้าคนมาด้วยความยากลำบาก  ผมกลับไปบ้านเกิดของพ่อทีไร บรรดาญาติๆต่างพากันพูดหลายต่อหลายครั้งว่า หากปู่ผมยังอยู่ครอบครัวของพ่อคงไม่เป็นแบบนี้

คิดไปคิดมา เรื่องเล่าของหนองบัวผ่านปู่และพ่อนั้นมันช่างอุดมไปด้วยกลิ่นอายของลูกผู้ชายเสียนี่กระไร และเรื่องเล่าที่ใช้เวลาเป็นสัปดาห์ก็เล่าได้ไม่ซ้ำเรื่องนี้ก็หล่อหลอมตัวผมขึ้นมา  ความสำเร็จ ความล้มเหลว ตลอดจนศักดิ์ศรีหน้าตาของครอบครัวหรือชุมชนเองล้วนมาจากผู้ชาย

บทความของสินิทธ์ให้ภาพความเข้าใจใหม่แก่ผมในหลายประการ

ประการแรก วิธีการอ่านที่เธอเรียกว่า “อ่านอย่างมีรายละเอียดจากเบื้องล่าง” และ “การอ่านแบบผู้หญิง” ซึ่งดูจะเป็นวิธีวิทยาหลักของเธอนั้น ได้พาผมไปสู่รายละเอียดและสิ่งละอันพันละน้อยอย่างสมุดบัญชีในฐานะหลักฐานทางประวัติศาสตร์  รายละเอียดในนั้นล้วนแสดงให้เห็นถึง “การเขียนวัฒนธรรมความเป็นหญิง” โดยตัวผู้หญิงเอาไว้อย่างน่าสนใจ  ทั้งที่เธอยึดอาชีพช่างตัดเสื้อ ทว่าในสมุดบัญชีนั้นนอกจากจะมีสิ่งของจำพวกผ้าชนิดต่างๆ เข็ม และด้ายแล้ว ยังปะปนไปด้วย ไข่เป็ด, บุหรี่, ผัก, แชมพู, ข้าวสาร, รายละเอียดการยืมเงินและการคงค้างต่างๆ มากมาย  สินิทธ์เรียกบันทึกแบบนี้ว่าเศรษฐกิจแบบผู้หญิงจัดการ อันสะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของผู้หญิงกับคนอื่นๆ รอบข้าง  โดยเฉพาะการรายละเอียดต่างๆ ผ่านการจำแนกชื่อ และใช้สรรพนามนำหน้าที่บ่งบอกฐานะอาทิ น้า พี่ ครู เฮีย ลุง และช่าง (หรือเมียช่าง) ตลอดจนการไม่มีสรรพนามนำหน้า  สำหรับผม ระบบเศรษฐกิจเช่นนี้มีความพิเศษตรงที่การดำเนินไปร่วมกับการนับญาติและการลำดับสถานะ  ระบบเศรษฐกิจนี้จึงมีความสลับซับซ้อนต่างไปจากระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่  เนื่องจากยึดถือความสัมพันธ์ระหว่างคนพอๆ กับการได้กำไรหรือขาดทุน  ไม่แปลกเลยที่การจดบันทึกนี้จะมีลักษณะของความจุกจิกและเป็นดังที่ สินิทธ์บอกว่า “โอ้ย! จดได้ดีไม่มี ‘กระเด็น’เลย” (หน้า 140)

เรื่องเล่านี้ไม่เคยปรากฏขึ้นผ่านความทรงจำผมที่มีต่อหนองบัวมาก่อน

ประการที่สอง การศึกษาผ่านสมุดบัญชี สินิทธ์ยังแสดงให้เห็นถึงพื้นที่ของผู้หญิงในฐานะสิ่งที่ซ้อนทับกันของพื้นที่มากมายซึ่งมิได้มีแค่พื้นที่ส่วนตัวหรือสาธารณะ  จากสมุดบัญชีของพรเพชร สินิทธ์วิเคราะห์ให้เห็นว่ามีความเปลี่ยนแปลงของการแต่งกายซึ่งเชื่อมโยงกับนโยบายของรัฐ  นับตั้งแต่การประกาศห้ามสาวๆ ใส่เสื้อชั้นในตัวเดียว (ในความหมายของการให้ใส่เสื้อนอกทับอีกชั้น) การใส่กางเกง และเสื้อคอปกของผู้ชาย  รวมไปถึงแฟชั่นตามสมัยต่างๆ ที่ทำให้ร้านตัดเสื้อผ้าของเธอกลายเป็นพื้นที่บรรจบกันระหว่างโลกตะวันตกที่มิได้เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ แต่อยู่ในร้านตัดเสื้อบ้านนอก  และสินิทธ์เองก็บอกว่าสามารถอ่านร้านตัดเสื้อนี้ได้ในฐานะจุดตัดระหว่างเมืองและชนบท  รวมไปถึงการทำหน้าที่เป็นพื้นที่ในการสมาคมทางสังคมของเหล่าแม่บ้านหรือผู้หญิงที่เข้ามาบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ  

ประเด็นนี้เองที่จุดประกายให้ผมสนใจประวัติศาสตร์ของชุมชนหนองบัวผ่านสำนวนผู้หญิงในร้านตัดผ้าแห่งนี้  เรื่องราวมันอาจแตกต่างไปจากสำนวนแบบแมนๆ ที่ผมเคยรับรู้มาอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ตาม สำนวนการบอกเล่าของพรเพชรผ่านสินิทธ์ ดูจะจำกัดอยู่ในกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อและชนชั้นพ่อค้าแม่ขายและผู้มีการศึกษาเป็นสำคัญ  จุดนี้เมื่อเรามองย้อนไปพื้นเพของพรเพชรเองก็คงพอเดาได้ว่าน่าจะภูมิหลังทางครอบครัวที่ดีถึงขั้นส่งลูกสาวไปเรียนตัดเสื้อผ้าที่เมืองกรุงได้  ตลอดจนทักษะของการใช้ภาษาเขียนที่ละเอียดลออทั้งเนื้อความและการจำแนกแยกแยะ  ดังนั้นสิ่งที่สินิทธ์เรียกวิธีการการวิเคราะห์เช่นนี้ว่าการอ่าน (ประวัติศาสตร์) จากเบื้องล่างนั้น จึงมีเพดานทางชนชั้นเป็นข้อจำกัด  แม้ว่าจะสร้างแรงบันดาลใจในการศึกษาประวัติศาสตร์แบบใหม่ที่ต้องการสลัดหลุดออกจากการเขียนหรือคำบอกเล่าของผู้ชายก็ตามที

กล่าวเช่นนี้ ผมมิได้ต้องการค้นหาคำนิยามที่แท้จริงของประวัติศาสตร์จากเบื้องล่าง  หากต้องการบอกว่าการอ่านรายละเอียดในกิจกรรมของผู้หญิงแบบผู้หญิง เพื่อค้นหาเรื่องเล่าหรือประวัติศาสตร์จากเบื้องล่างนั้น ก็เป็นมายาภาพหรือหลุมพรางแบบหนึ่ง  เนื่องจากในโลกของผู้หญิงเองก็มีความแตกต่างทางชนชั้นและศักยภาพในการค้นหาวิธีการบอกเล่าเรื่องราวของตนเองต่างกันออกไป

ผมขออนุญาตเล่าเรื่องชีวิตย่าสักเล็กน้อย  หลังจากที่ปู่ของผมเสียชีวิต ย่าก็หอบลูกสามคนเล็กเข้าไปอยู่สลัมแถวหัวลำโพง เนื่องจากฐานะที่บ้านของย่ายากจนเป็นอย่างมาก  ครานั้นพ่อของผมเริ่มหางานได้ก็ต้องรับผิดชอบชีวิตและการศึกษาของน้องคนรอง  ย่าทิ้งที่นาที่น้ำท่วมตลอดไปอยู่หัวลำโพงเพื่อขายก๋วยเตี๋ยวริมทางเท้าในตอนเย็นจนถึงตีหนึ่งตีสอง  จากคนซึ่งอ่านและเขียนหนังสือได้เพียงเล็กน้อย และเคยมีชีวิตอยู่ในชนบท  ย่าต้องเริ่มเรียนรู้ทุกอย่างใหม่ ผมจำได้ว่าในบางช่วง หลานๆ อย่างผมกับน้องจะต้องเข้าไปช่วยงานย่าในกรุงเทพฯ  พวกเราได้กลายเป็นเด็กหัวลำโพงและอยู่อาศัยกันในสลัมช่วงหนึ่ง

ย่ามักถูกมองจากคนอื่นๆ ในชุมชนแถบหนองบัวและชุมแสงว่าเป็นผู้หญิงไม่ดี เนื่องจากย่าทำงานกลางคืนที่กรุงเทพฯ ดื่มเหล้าเก่ง  ทั้งยังได้ผัวใหม่กลับมาอีกด้วย  การต่อสู้ของย่าอาจเป็นส่วนหนึ่งของผู้หญิงอีกจำนวนมากที่บ่ายหน้าเข้าไปแสวงโชคในเมืองอย่างกล้าหาญและอาจเป็นทั้งความรับผิดชอบและความรู้สึกของผู้เป็นแม่  เรื่องราวเหล่านี้มีที่ทางอย่างไรในประวัติศาสตร์ที่ถูกเรียกว่าเบื้องล่าง

ปัญหาในแง่นี้มิได้สะท้อนปัญหาทางชนชั้นที่ซ่อนอยู่ในผู้หญิงเพียงอย่างเดียว  หากในกระบวนการเล่าเรื่องผู้หญิงผ่านคนกลุ่มหนึ่งย่อมมีกระบวนการรวมเข้าและกีดกันคนบางกลุ่มอยู่เสมอ  แม้ผมจะประทับใจกระบวนการค้นหาความรู้ของสินิทธ์เป็นอย่างยิ่ง แต่ผมอดคิดไม่ได้ว่าสิ่งที่ “ไม่ปรากฏ” ในสมุดบัญชีหรือจดหมายเหตุผู้หญิงตามที่สินิทธ์เรียกก็คือ เรื่องราวของผู้หญิงอีกชนชั้นหนึ่งอย่างย่าของผม  อันที่จริงคงต้องกล่าวว่า พวกเธอไม่ได้อยากเป็นเบื้องล่าง ทั้งยังปรารถนาที่จะขยับขึ้นไปสูดอากาศและความสะดวกสบายอย่างเบื้องบนบ้าง  แน่หล่ะ...สำหรับย่า  สถานภาพของคุณพรเพชรก็ถือว่าเป็นเบื้องบนแล้ว

ณ จุดนี้ ผมไม่ได้ไม่เคารพการต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ทำกินของคุณพรเพชรแต่อย่างไร  ในทางกลับกันผมชื่นชมและเคารพเธอก่อนที่จะอ่านบทความนี้เสียด้วยซ้ำ เรื่องเล่าของคุณพรเพชรคือหนึ่งในเรื่องที่พ่อเล่าให้ฟังด้วยความภูมิใจเมื่อผมยังเป็นเด็ก  เธอคือนักต่อสู้คนแรกๆ ที่ผมรู้จักเสียด้วยซ้ำ  แม้ว่าในเรื่องเล่าที่ผมได้รับฟังจะไม่ค่อยมีความหมายของนักต่อสู้หญิงสักเท่าไรนัก

คำถามของผมคือ เหตุใดการต่อสู้ของเธอจึงไม่อาจเป็นตัวแทนหรือมีลักษณะข้ามชนชั้นและนำพาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่กว่ากรณีของเธอต่างหาก  ดังนั้นสิ่งที่เราเรียกว่า “เบื้องล่าง” นั้น จึงมีลักษณะของความเหลื่อมซ้อนกันหลากหลายชั้น  พันธะกิจของการอ่านเอกสารหรือจดหมายเหตุจึงมิอาจหยุดลงที่การค้นหาเอกสารประเภทใหม่ๆ หรือสร้างวิธีการอ่านใหม่เพียงเท่านั้น  หากจำเป็นต้องนำตัวบทและวิธีการอ่านข้ามเงื่อนไขและข้อจำกัดโดยตัวมันเองไปสู่ตัวบทอื่นๆ ที่สามารถฝ่าข้ามข้อจำกัดนั้นไปได้
 

ปัญหาของตำแหน่งแห่งที่ในการเปล่งเสียง?

ข้อเสนอของผมว่าด้วยการอ่านข้ามตัวบทหรือการฝ่าข้ามข้อจำกัดของตัวบทนี้  ผู้อ่านบทความชิ้นนี้ของสินิทธ์และตัวของเธอเองอาจกังขาและแย้งขึ้นมาว่า บทความที่เธอเขียนขึ้นได้เสนอวิธีการเขียนแบบ “ ‘เทียบเคียง’(juxtapose) ระหว่างไดอารี่ต้นฉบับกับบทตีความเนื้อหาของผู้วิจัย เพื่อที่จะ ‘…ชวนให้ผู้อ่านระลึกถึงความซับซ้อนและความเป็นองค์ประธานของการสร้างขึ้นใหม่ทางประวัติศาสตร์และเปิดโอกาสให้ผู้อ่านได้สัมผัสกับบางแง่มุมของความรู้สึกทั้งในแนวชิดใกล้และแบบมีระยะห่างระหว่างประวัติศาสตร์และแหล่งข้อมูล” (หน้า 136)

การเขียนและเล่าเรื่องในลักษณะเช่นนี้เองต่างหากที่ทำให้ผมในฐานะผู้อ่านเกิดความสับสนในตำแหน่งแห่งที่ของการเปล่งเสียง  ในบทความ ผมพบว่าเสียงที่ถูกเปล่งออกมามีลักษณะของคล้ายคลึงกับการงานศิลปะประเภทที่นำชิ้นส่วนเล็กๆ มาปะติดปะต่อกัน (Collage)  พลังของงานประเภทนี้คือการทำให้สิ่งละอันพันละน้อยต่างๆ หลุดออกมาจากต้นกำเนิดและความหมายดั้งเดิมและก่อเกิดความหมายใหม่ที่มีพลังในงานสื่อ  เทคนิคนี้นับเป็นวิธีการเล่าเรื่องที่สำคัญประการหนึ่งของการเขียนวรรณกรรมและถือว่าเป็นการนิพนธ์เรื่องราวแนวทดลองที่ท้าทายการเล่าเรื่องในแนวขนบ

อย่างไรก็ตาม เสียงที่ปรากฏในบทความนี้ กลับมีลักษณะของการเทียบเคียง ซึ่งไม่ปะติดปะต่อกันสักเท่าไหร่นัก  นับตั้งแต่สำเนียงของพรเพชร สำเนียงของสินิทธ์ ตลอดจนสำเนียงของนักคิดทางวิชาการด้านสตรีศึกษาที่สินิทธ์หยิบยกขึ้น  เสียงสำนวนต่างๆ เหล่านี้มีลักษณะของการกลบกลืนกันและกัน  บ่อยครั้งทีเดียวที่ผู้อ่านเช่นผม รู้สึกสบสนในตำแหน่งแห่งที่ระหว่างสำเนียงของพรเพชรผ่านการตีความของสินิทธ์ กับเสียงการตีความของสินิทธ์เอง  ยามที่อ่านบทความผมอยากรู้จักกับโลกของพรเพชรมากขึ้น แต่ก็ถูกกั้นด้วยโลกของนักคิดต่างๆ ซึ่งกระโดดเข้ามาสนทนาจากโลกที่ต่างพื้นที่และเวลา  ขณะที่อ่านบทความ ผมจึงรู้สึกอย่างเนืองๆ ว่าเสียงของพรเพชรถูกกลบให้หายไปอยู่ตลอดเวลา

แน่นอน พิจารณาในเจตนาของผู้เขียน วิธีการเขียนเช่นนี้อาจแสดงให้เห็นถึงการเทียบเคียงหลากหลายระดับ โดยเฉพาะความเป็นหญิงและการอ่านแบบผู้หญิง ซึ่งล้วนมีลีลาและความต้องการเผยให้เห็นอัตวิสัย (Subjectivity) ของพวกเธอผ่านเรื่องเล่ามากมาย

ทว่า ในแง่ของการเขียนและวิธีวิทยาในการศึกษา ผมอดรู้สึกไม่ได้ว่าการเผยให้เห็นอัตวิสัยอย่างมากมายและปรากฏขึ้นในอย่างหลากหลายตำแหน่งแห่งที่ กลับเป็นสิ่งที่ทำลายพลังของอัตวิสัยเสียเอง  หรือในที่นี้คือการเคลื่อนโฟกัสไปสู่ผู้หญิงในฐานะผู้เล่าเรื่องแต่ศูนย์กลางในการเล่าเรื่องกลับกระจัดกระจายจนทำให้เรื่องเล่าไม่สามารถเปล่งพลังได้อย่างเต็มที่

การเขียนในลักษณะนี้มิได้ปรากฏขึ้นในบทความนี้เพียงอย่างเดียว ทว่ายังเกิดขึ้นกับบทความอีกหลายชิ้นในวารสารเล่มนี้  แน่นอน การใส่ใจกับรายละเอียดเล็กน้อยต่างๆ ที่สามารถเชื่อมโยงกันและเผยให้เห็นถึงประเด็นสำคัญที่มีนัยทางการเมืองวัฒนธรรม เหล่านี้นับเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งในการเขียนและการเล่าเรื่องด้านสตรีนิยม  ทว่า การลำดับตำแหน่งแห่งที่ของเสียงเล่าในบทความก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน

สิ่งที่ผมนึกถึงและคิดว่าจะทำให้เสียงของพรเพชรและการเล่าเรื่องของสินิทธ์มีพลังขึ้นก็คือ ตำแหน่งแห่งที่ซึ่งพรเพชรไม่อาจเอื้อนเอ่ยหรือโลกที่พรเพชรถูกทำให้กลายเป็นวัตถุ  ตำแหน่งแห่งที่ประเภทนี้เองจะทำให้ความเป็นอัตวิสัยของพรเพชรมีพลังในแง่มุมของบทสนทนาที่มีต่อความสัมพันธ์เชิงอำนาจ  รวมไปถึงตำแหน่งแห่งที่ของพรเพชรกับผู้หญิงสถานภาพอื่นๆ ในหนองบัวเพื่อเทียบเคียงเสียงของพวกเธอซึ่งทั้งอาจมีนัยของการเห็นพ้อง, การประชดประชัน และความแตกต่าง 

ทั้งหมดนี้ล้วนสามารถนำไปเทียบเคียงหรือ Juxtapose กับบันทึกสมุดบัญชีได้อย่างแน่นอน  ทั้งยังเป็นจดหมายเหตุที่ถูกจัดเก็บไว้ในรูปแบบอื่นๆ ที่ไม่ใช่เอกสาร  หากเป็นคำบอกเล่าทั้งจากผู้หญิงและผู้ชาย  รวมไปถึงวัสดุข้าวของอื่นๆ ที่อยู่รายรอบสมุดบัญชีเล่มนั้น

ส่งท้าย

เรื่องที่ผมเล่าไปทั้งหมดนี้ นักสตรีศึกษาและสินิทธ์เองอาจจะทราบดีอยู่แล้ว บทความชิ้นนี้เป็นเพียงข้อสะท้อนย้อนเตือนถึงการสร้างวิธีการเล่าเรื่องที่อาจบั่นทอนพลังของเรื่องเล่าด้วยตำแหน่งของการเปล่งเสียงจากแห่งที่ต่างๆ  ในข้อเขียนนี้ผมก็ได้แทรกตำแหน่งของการเปล่งเสียงจากจุดต่างๆ เช่นกัน  ซึ่งก็ไม่รู้ว่าได้สร้างความยุ่งยากมากขึ้นกว่าเดิมหรือไม่  ทว่า ผมเองเชื่อว่าการวิจารณ์สามารถสร้างขึ้นมาได้จากเรื่องเล่าที่หยิบยกขึ้นมาเทียบเคียงกัน

หวนนึกถึง ปีหนึ่งซึ่งผมได้มีโอกาสสอนวิชาบทอ่านทางสตรีศึกษาและเพศสถานะ ในมหาวิทยาลัยเล็กๆ แห่งหนึ่ง ณ จังหวัดเชียงราย  การได้มีโอกาสสอนวิชานี้ที่นั่นกลับทำให้ผมได้มีโอกาสเรียนรู้มากมาย แม้จะไม่ใช่นักสตรีศึกษา  ทว่า ผมก็พบกับความสำคัญของตำแหน่งแห่งที่ของการเปล่งเสียงสำนวนต่างๆ ของผู้หญิงเป็นอย่างมาก  ทั้งนี้ ผมมิได้หมายถึงการสนับสนุนให้เสียงผู้หญิงที่เปล่งออกมามีความหลากหลายมาขึ้นในเชิงจำนวน  หากเป็นการนำเสนอให้วิธีการเปล่งเสียงของผู้หญิงเป็นเสมือนแรงบันดาลใจต่อผู้มีสถานะรองในการคิดค้นวิธีการเปล่งเสียงเพื่อแสดงสิทธิของตนเองออกมา ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนในโลกหลังอาณานิคม, กลุ่มชาติพันธุ์, คนในโลกสมัยใหม่ ตลอดจนมนุษย์เพศชาย

การเคลื่อนผ่านโฟกัสจากผู้หญิงไปสู่การเชื่อมโยงกับประเด็นวาระและกลุ่มคนอื่นๆ จะกลายเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้สตรีศึกษายังคงมีชีวิตชีวาและเปี่ยมด้วยคุณูปการต่อไป

 

เชิงอรรถ

[1] ก่อนอื่น ผมต้องขอขอบพระคุณอาจารย์ชนิดา ชิตบัณฑิตย์ แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้ส่งวารสารสตรี, เพศสถาน และเพศวิถีศึกษา ฉบับปฐมกฤษ์ (มกราคม – ธันวาคม 2558) มาให้ผมสำหรับการอ่านและแสดงความคิดเห็น  อาจารย์ ชนิดาเป็นผู้กระตือรือร้นอย่างยิ่งในการทำงานด้านสตรีศึกษา โดยเฉพาะการพยายามทำให้โครงการศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สตรี, เพศสถานะ และเพศวิถีศึกษา ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีกิจกรรมทางวิชาการที่น่าตื่นเต้นมากมาย

[2]  ผมเพิ่งมาทราบภายหลังว่า ผู้มีส่วนอย่างสำตัญในการสร้างสรรค์บรรยากาศทางวิชาการในลักษณะดังกล่าว คือ ผศ.นพพร ประชากุล และอาจารย์สินิทธ์ สิทธิรักษ์ ผู้บุกเบิกหลักสูตรสตรีศึกษาที่ท่าพระจันทร์  ซึ่งผมไม่รู้จักท่านเป็นการส่วนตัวมาก่อน เพิ่งจะรู้จักผ่านการอ่านบทความก็คราวนี้

[3] เป็นที่น่าสนใจว่า วารสารเล่มนี้มิได้เป็นวารสารฉบับเดียวที่ดำเนินการด้านสตรีศึกษา หากยังมีวารสารจุดยืน วารสารสตรีนิยมไทยซึ่งดำเนินการโดยศูนย์สตรีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา  ปัจจุบันวารสารจุดยืนมีทั้งหมด 5 เล่ม

เกี่ยวกับผู้เขียน: ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ เป็นนักศึกษาปริญญาเอกสาขามานุษยวิทยาว่าด้วยสื่อและการทัศนา (Visual and Media Anthropology) มหาวิทยาลัยเสรีแห่งเบอร์ลิน (Free University of Berlin) ประเทศเยอรมนี และอาจารย์ประจำภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท