สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: ทบทวนคดีชาวบ้านเก็บเห็ด

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

จากการที่ขบวนการศาลของไทยในระยะหลังจากการรัฐประหาร พ.ศ.2549 ได้ถูกวิจารณ์อย่างมากว่า มีการพิจารณาคดีแบบสองมาตรฐาน เพราะอธิบายกันว่า คณะตุลาการไทยสร้างศาลเลือกฝ่าย จนไม่สามารถที่จะให้ความยุติธรรมกับประชาชนอย่างเป็นกลางได้ เหตุผลหนึ่งก็เป็นเพราะการเกิดตุลาการภิวัฒน์ ที่เปิดทางให้ศาลเข้ามามีอำนาจทางการเมือง เป็นประเด็นสำคัญทำให้ศาลแสดงจุดยืนของการเลือกฝ่ายอนุรักษ์นิยม และสนับสนุนการรัฐประหาร แต่กระนั้น ก็เป็นที่สงสัยเช่นกันว่า กระบวนการตุลาการไทยอาจมีปัญหาความยุติธรรมมาตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร พ.ศ.2549 ซึ่งหมายถึงว่า กระบวนการพิจารณาความในศาลไทยมีปัญหาเสมอมา และบางทีคดีชาวบ้านเก็บเห็ดน่าจะสะท้อนเรื่องนี้ได้ดี

ความเป็นมาของคดีนี้ เกิดขึ้นในวันที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ.2553 นายอำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้นำคณะเจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่าร่วมกันออกตรวจสอบพื้นที่ป่าสงวนที่ถูกบุกรุกที่ดงระแนง ตำบลคลองขาม อำเภอยางตลาด พบว่า ป่าไม้ถูกทำลายมากมาย พบกลุ่มบุคคลประมาณ 3-4 คน  กำลังใช้มีดแผ้วถางไม้ขนาดเล็กและตัดโค่นไม้สักล้มลงเป็นจำนวนมาก เมื่อกลุ่มบุคคลนั้นมองเห็นเจ้าหน้าที่ จึงพากันวิ่งหลบหนีเข้าป่าไป จึงไม่สามารถจับคนร้ายได้ แต่เจ้าหน้าที่พบจักรยานยนต์เก่าคันหนึ่งจอดทิ้งไว้ เจ้าหน้าที่ป่าไม้จึงยึดรถแล้วนำไปมอบให้ตำรวจท้องที่ จากนั้น ตำรวจก็ตรวจสอบทะเบียน และเรียกตัวนายอุดม ศิริสอน สามีอายุ 47 ปี และ นางแดง ศิริสอน ภรรยา อายุ 44 ปี ซึ่งเป็นเจ้าของรถมาสอบสวน ขณะนั้น ทั้งสองคนก็ให้การแบบทันทีไม่มีทนายความ โดยแจ้งว่า ทั้งสองมีอาชีพเป็นชาวนา วันที่เกิดเหตุออกไปเก็บเห็ด และหาของป่า แต่รถจักรยานยนตร์ที่จอดไว้หายไป แต่เมื่อทราบว่า อยู่ที่ตำรวจ จึงจะมาขอคืน

ต่อมาวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ.2553 ทางการตำรวจเรียกนายอุดมและนางแดงมาแจ้งข้อหาว่า บุกรุกป่าและตัดไม้จำนวนมาก นายอุดมและนางแดงให้การปฏิเสธ แต่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ก็ตัดสินใจสรุปสำนวนส่งให้อัยการ อัยการก็พิจารณาสำนวนแล้วมีความเห็นเช่นเดียวกับทางฝ่ายตำรวจ จึงส่งฟ้องศาล

ในวันที่ 26 กันยายน พ.ศ.2554 ซึ่งเป็นวันนัดพร้อมที่ศาล นายอุดมและนางแดงตัดสินใจรับสารภาพความผิด ศาลชั้นต้นจึงพิจารณาคำฟ้องของโจทก์และคำขอท้ายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิด คือบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองและทำประโยชน์ในการทำไม้ในแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติ คิดเป็นเนื้อที่ 72 ไร่ และใช้อุปกรณ์เครื่องมือใดไม่ปรากฏชัดตัดและโค่นไม้สัก ไม้กระยาเลย ซึ่งเป็นไม้หวงห้ามจำนวน 700 ต้น และร่วมกันมีไม้สักกับไม้กระยาเลยอันยังไม่ได้แปรรูป จำนวน 1,148 ท่อน ดังนั้น ศาลจึงมีคำพิพากษา จำคุก 30 ปี แต่เนื่องจากจำเลยรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 15 ปี และริบของกลางทั้งหมด

ต่อมา จำเลยอุทธรณ์ วันที่ 25 เมษายน พ.ศ.2455 ศาลอุทธรณ์ภาค 4 แผนกคดีสิ่งแวดล้อม พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานร่วมกันบุกรุก แผ้วถาง ทำไม้ ยึดถือครอบครอง หรือ กระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ เป็นกรรมเดียวแต่ผิดต่อกฎหมายหลายบท  จึงตัดสินลงโทษให้จำคุก 30 ปี แต่ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง เท่ากับจำคุกคนละ 14 ปี 12 เดือน

ดังนั้น ทั้งสองได้ถูกส่งตัวเข้าเรือนจำจังหวัดกาฬสินธุ์ และติดคุกจนถึงวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ.2556 ศาลฎีกาได้อนุมัติการปล่อยตัวชั่วคราวในวงเงินประกันตัวจำนวน 500,000 บาท เท่ากับว่านายอุดม ถูกจำคุกไปแล้วเป็นเวลา 1 ปี 8 เดือน

วันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ.2560 ในขั้นศาลฎีกา คำตัดสินของศาลอธิบายว่า ที่จำเลยอ้างว่าไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง แต่จำเลยสารภาพต่อศาลเพราะหลงเชื่อบุคคลภายนอกว่า รับสารภาพแล้วศาลจะลงโทษแค่ปรับ แล้วจำเลยทั้งสองก็กลับบ้านได้ และเพราะมีอาการป่วยเนื่องอุบัติเหตุ แต่ศาลเห็นว่า เรื่องที่จำเลยกล่าวอ้างมานั้นขัดแย้งกันเองทั้งสิ้น จึงเป็นพิรุธรับฟังเป็นความจริงไม่ได้ การสารภาพในศาลชั้นต้นจึงเป็นไปโดยชอบ ศาลฎีกาพิจารณาเห็นว่า จำเลยทำความผิดในข้อหาบุกรุกป่า จึงพิพากษาลงโทษจำคุก 10 ปี แต่ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 5 ปี

กล่าวโดยรวมคดีนี้ ไม่ได้เป็นเรื่องการเมืองโดยตรง แต่เมื่อศาลชั้นต้นตัดสินลงโทษขั้นรุนแรงถึงจำคุก 15 ปี ทำให้เรื่องนี้กลายเป็นที่สนใจ สื่อมวลชนหลายฝ่ายก็สร้างข่าวให้เห็นความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยว่า สองตายายเก็บเห็ดถูกตัดสินลงโทษอย่างหนัก ขณะที่บุคคลในกลุ่มชนชั้นนำที่มีเรื่องราวบุกรุกสร้างบ้านในเขตป่า แต่ไม่ถูกพิจารณาลงโทษ

แต่นอกเหนือจากเรื่องสร้างกระแส คำพิพากษาของศาลก็มีข้อวิจารณ์หลายประการ เริ่มจากการตัดสินลงโทษทั้งหมด อ้างอิงจากการสารภาพของจำเลยตามคำฟ้องในศาลชั้นต้น แม้ว่าต่อมา จำเลยจะอธิบายว่า การสารภาพไม่ได้เป็นไปโดยความสมัครใจ แต่มาจากการเข้าใจผิด ศาลก็ไม่รับฟังถือเอาคำสารภาพนั้นเป็นข้อเท็จจริง ซึ่งกรณีนี้ ใบตองแห้งตั้งข้อสังเกตว่า “ถ้ามองจากสภาพชาวบ้านทั่วไป ถ้ามีคนบอกว่าสารภาพไปเถอะโทษแค่ปรับ หรือรอลงอาญา ชาวบ้านก็รับสารภาพนะครับ” ดังนั้น ในเรื่องนี้ ตามกระบวนการพิจารณาความ ศาลไม่ควรที่จะเอาคำสารภาพแต่เพียงอย่างเดียวมาเป็นข้อพิสูจน์ว่า จำเลยกระทำผิด เพราะในทางหลักการถ้าหากเป็นกรณีที่ผู้กระทำผิดตัวจริง จ้างใครมาสารภาพผิดแทน แล้วศาลพิจารณาตามนั้น ก็จะสูญเสียความยุติธรรม

ยิ่งกว่านั้น ถ้าจะพิจารณาในเชิงข้อเท็จจริงตามคำฟ้อง ไม่มีความเป็นไปได้เลยว่า จำเลยที่เป็นชาวบ้านชาย 1 คน และหญิง 1 คน ที่เป็นชาวบ้านธรรมดาสามัญอายุเกิน 40 ปี จะสามารถเป็นตัวการตัดไม้ 1,148 ต้น และทำลายป่า 72 ไร่ เพราะเป็นเรื่องเกินศักยภาพมนุษย์อย่างมาก การทำลายป่าขนาดนี้ หมายถึงว่า จำเลยต้องมีเงินทองมากพอที่จะเป็นเจ้าของเครื่องมือทันสมัย ในคำตัดสินของศาลอธิบายเรื่องนี้ว่า จำเลย "ใช้เครื่องมือใดไม่ปรากฏชัดตัดและโค่นไม้สัก" ซึ่งคำอธิบายแบบนี้มีข้อแย้งได้มากมาย ถ้าในอีกที่หนึ่งศาลอธิบายว่า จำเลยและพวกใช้ “มีดแผ้วถางขนาดเล็ก” ซึ่งไม่มีทางที่จะตัดไม้ได้ขนาดที่อ้าง

ยิ่งกว่านั้น ศาลก็ไม่ได้กล่าวถึงเหตุผลเลยว่า ชาวบ้าน 2 คนจะทำลายป่าและตัดไม้จำนวนขนาดนี้ไปทำไม ถ้าอ้างว่าตัดเอาไปขาย หมายความว่าชาวบ้าน 2 คน ต้องมีศักยภาพทางการตลาดอย่างมาก ในคำพิพากษาพยายามกล่าวเรื่องนี้ในลักษณะว่า “เชื่อได้ว่าบุคคลที่เป็นกลุ่มนายทุนมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องในการกระทำความผิดตามฟ้องโดยตรง ยังมิได้มีการขยายผลและติดตามจับกุมมาดำเนินคดีทั้งหมด” ซึ่งถ้าเป็นไปตามคำบรรยายนี้ ก็ไม่มีเหตุผลเลยที่จะมาลงโทษชาวบ้าน 2 คน ที่มาสมัครใจมอบตัวและ”รับสารภาพ” และที่มากกว่านั้น คือ การตัดสินคดีทั้งหมดไม่ได้ขึ้นกับประจักษ์พยานอะไรเลย ไม่มีการพิสูจน์ว่า มีใครเห็นจำเลยทั้งสองคนตัดไม้ทำลายป่าด้วยเครื่องมืออะไร มีแต่การอ้างว่า เห็นทั้งสองวิ่งหนี ความเชื่อว่าจำเลยมีความผิดอนุมานเอาเองจากการที่ทั้งสองคนเป็นเจ้าของจักรยานยนต์ในที่เกิดเหตุ

สรุปแล้ว การตัดสินลงโทษของศาล คือการจงใจให้ชาวบ้านสองคน ที่มีเพียงจักรยายยนต์เก่า แล้วไปเก็บเห็ดในป่า ต้องรับผิดชอบความผิดในการทำลายป่า 72 ไร่ และเป็นเจ้าของไม้ที่ถูกตัดทั้งหมด 1,148 ท่อน คำตัดสินเช่นนี้เอง จึงเป็นเหตุให้เกิดข้อวิจารณ์จำนวนมาก เพราะมันสร้างความสะเทือนใจที่ชาวบ้านสองคนไปเก็บเห็ดเพื่อประทังชีวิต แล้วถูกลงโทษขนาดนี้

ความจริงแล้ว การตัดสินคดีครั้งนี้ของศาลไทย ก็สะท้อนถึงปัญหาในระดับโครงสร้าง เพราะศาลไทยมีลักษณะรวบอำนาจ สู่คณะผู้พิพากษา ที่อาศัยคำตัดสินคดีชี้เป็นชี้ตายชีวิตของประชาชน คำตัดสินของศาลไม่ว่าจะถูกหรือผิดก็ไม่มีกระบวนการตรวจสอบ หรือต่อมาเมื่อมีหลักฐานถึงความผิดพลาดในการตัดสิน การแก้ไขผลการตัดสินก็เป็นไปได้ยาก เรื่องการปฏิรูปการศาลจึงกลายเป็นเรื่องใหญ่ ที่จะต้องพิจารณากันต่อไป

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน โลกวันนี้วันสุข ฉบับ 616 วันที่ 13 พฤษภาคม 2560

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท