Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อเดือนก่อน รูปถ่ายการเปิดตัวสภาเพื่อเด็กหญิงของซาอุดิอารเบียถูกแชร์กันอย่างไวรัลบนโลกออนไลน์ เพราะความแปลกพิลึกอย่างหนึ่ง นั่นคือ ในภาพดังกล่าวไม่มีผู้หญิงหรือเด็กหญิงอยู่เลย เชื่อว่าคนไทยเป็นพันๆ หมื่นๆ รวมถึงคนที่เป็น LGBTI (คนรักเพศเดียวกัน รักสองเพศ ข้ามเพศ หรือมีเพศสรีระแตกต่าง) จำนวนมากคงจะได้ยิ้มขำกับภาพดังกล่าว เพราะคงไม่มีใครคิดว่าใน พ.ศ. นี้แล้ว จะยังคงมีการออกกฎหมายหรือกำหนดนโยบายโดยไร้ตัวแทนจากกลุ่มคนที่เป็นเป้าหมายหลงเหลืออยู่อีก

แต่รอยยิ้มนั้นคงจางไปในไม่นาน เพราะหากคิดเพียงเล็กน้อย ก็คงระลึกได้ว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศบนโลกนี้ ที่ “การมีตัวแทน” ทั้งในเชิงรูปแบบและสาระถูกกำจัดให้สูญพันธุ์ไปอย่างสิ้นเชิง

ถ้านั่นยังไม่พอ สิ่งที่ขำไม่ออกมากไปกว่านั้น คือ เมื่อวันที่ 30 เมษายนที่เพิ่งผ่านมา เหล่านักกิจกรรมเพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศจำนวนมากกลับยินดีปรีดา กับการที่นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ประธานคณะกรรมาธิการสังคม กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ประกาศว่า สนช. พร้อมที่จะพิจารณา “กฎหมายแต่งงานเพศเดียวกัน” [i]

การชี้ช่องดังกล่าวดูเหมือนจะเป็นโอกาสทองอย่างเหมาะเหม็ง เพราะวันนี้คือวันที่ 17 พฤษภาคม เป็นวันที่ชุมชนสิทธิความหลากหลายทางเพศทั่วโลกจะฉลองวันสากลเพื่อยุติความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน คนรักสองเพศ และคนข้ามเพศ (International Day Against Homophobia, Biphobia and Transphobia หรือ IDAHOT) ส่วนในประเทศไทย ก็จะมีการจัดงาน ณ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร เพื่อฉลองวันดังกล่าว โดยเต็มไปด้วยบุคคลสำคัญมากมาย [ii] ในส่วนของพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ[iii] ก็จะมีการยื่นรายชื่อที่ได้มีการรวบรวมผ่านทาง change.org เพื่อเรียกร้องกฎหมายดังกล่าวต่อกระทรวงยุติธรรมและสนช. [iv]

การนำเสนอคำร้อง จาก Change.org เพื่อยื่นข้อเรียกร้องให้มีกฎหมาย คู่ชีวิตกลุ่ม LGBTI โดยกลุ่ม LGBTI ต่อกระทรวงยุติธรรมการนำเสนอคำร้อง จาก Change.org เพื่อยื่นข้อเรียกร้องให้มีกฎหมาย คู่ชีวิตกลุ่ม LGBTI โดยกลุ่ม LGBTI ต่อกระทรวงยุติธรรมผู้ขับเคลื่อนกิจกรรมดังกล่าวน่าจะระวังเนื้อระวังตัวในการขอกฎหมายจากสนช. เพราะเมื่อดูจากผลงานที่ผ่านมาของสนช. แล้ว การหวังว่าแคมเปญรณรงค์ออนไลน์จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ต้องการนั้น เป็นอะไรอื่นไปไม่ได้นอกจากความไร้เดียงสาตาใสหรือความสิ้นหวังอย่างได้โล่

จริงอยู่ ทั้งผู้เรียกร้อง รวมถึงคนอื่นๆ ที่ไม่ได้ลงชื่อ อาจได้กฎหมายดังกล่าวจาก สนช. แต่อย่างดีก็จะได้แค่กฎหมายแบบคอหยักๆ สักแต่ว่ามี เช่นเดียวกับกฎหมายความเท่าเทียมระหว่างเพศที่อนุญาตให้เลือกปฏิบัติด้วยสาเหตุความมั่นคงของประเทศและศาสนา หรือในกรณีเลวร้ายยิ่งไปกว่านั้น ก็อาจจะได้กฎหมายที่ย้อนกลับมาทำร้ายตัวเอง เช่น กฎหมาย “อุ้มบุญ” ที่ห้ามการอุ้มบุญยกเว้นคู่ชายหญิงที่จดทะเบียนสมรสถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น  

ผลเช่นที่ว่านี้ยังไม่น่ากังวลใจเท่ากับวิธีการในการได้มาซึ่งกฎหมาย กฎหมายของ สนช.ทุกฉบับมีรอยแผลเป็นเดียวกัน คือ ถูกคลอดออกมาโดยไม่มีตัวแทนจากผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ร่างกฎหมายการรับรองเพศที่กำลังพิจารณากันอยู่ก็เป็นตัวอย่างล่าสุดที่แสดงให้เห็นว่ากระบวนการอันไร้ตัวแทนจะ “ออกอ่าวออกทะเล” ได้อย่างไร เนื่องจากกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของร่างกฎหมายดังกล่าว แทนที่จะให้ความสำคัญต่อความคิดเห็นของกะเทยและคนข้ามเพศซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง แต่กลับไปเน้นที่ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อชายหญิงไม่ข้ามเพศหากร่างดังกล่าวผ่านออกมาเป็นกฎหมาย กะเทยรายหนึ่งคอมเม้นต์ในเฟซบุ๊คว่า “ทำอย่างกับเพศของเราเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่ต้องศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก่อน”

ดังนั้นจึงควรตั้งคำถามว่า ผู้ที่ผลักดันการยื่นรายชื่อเห็นความย้อนแย้งในสิ่งที่ทำหรือไม่ เหตุใดจึงคิดว่าเสียงของตนจึงควรได้รับความสำคัญ หากคิดว่าเป็นเพราะมีจำนวนรายชื่อเกือบหกหมื่น ก็ต้องถามว่าทำไมอยู่ๆ เสียงเหล่านี้จึงควรเกิดมีความหมายขึ้นมา ในเมื่อเสียงจำนวนหลายล้านถูกโยนทิ้งไปเมื่อสามปีก่อน หรือหากคิดว่าเพราะสิทธิมนุษยชนของพวกเขาเป็นสิ่งที่ถูกพรากไปไม่ได้ ก็ต้องชวนให้คิดถึงคนอีกจำนวนมากที่สิทธิถูกพรากไปเพราะฤทธิ์เดชกฎหมายของสนช.

ในภาวะที่ประชาธิปไตยถูกล้มล้าง และสิทธิมนุษยชนถูกลบทิ้ง สิ่งที่พวกเขาร้องขอก็เป็นได้แค่การแบมือขอความสงเคราะห์เป็นกรณีพิเศษ แต่ในสภาพการเมืองปัจจุบันที่คนอื่นๆ ถูกปิดปาก เสียงเรียกร้องเซ็งแซ่ของพวกเขาก็ถูกกาละเทศะพอๆ กับการแหกปากใส่โทรศัพท์มือถือในโรงภาพยนตร์

ยังมีวิธีอื่นๆ เพื่อสร้างความเท่าเทียมด้านสิทธิแต่งงาน ที่ทำได้ภายใต้สภาวะไร้สภาเช่นปัจจุบัน โดยไม่จำเป็นต้องเอาเกียรติภูมิของตนไปแลกกับผลประโยชน์ระยะสั้น วิธีหนึ่งคือการฟ้องร้องต่อศาลเมื่อไปขอจดทะเบียนสมรสแล้วถูกปฏิเสธ ขบวนสิทธิความหลากหลายทางเพศเคยประสบความสำเร็จเช่นนี้มาแล้ว เมื่อนำคำฟ้องของกะเทยคนหนึ่งขึ้นฟ้องต่อศาลปกครองในกรณีที่ถูกกระทรวงกลาโหมปฏิบัติอย่างน่ารังเกียจในการเกณฑ์ทหาร คำตัดสินของศาลในปีพ.ศ. 2554 ว่ากระทรวงกลาโหมลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในกรณีดังกล่าว เป็นการเปิดประตูให้กับนักกิจกรรม LGBTI รุ่นใหม่ๆ ในปัจจุบัน

หรืออีกวิธีหนึ่ง คือ การสร้างสมัชชาประชาชนเพื่อร่างกฎหมายสมรสที่ไม่จำกัดเพศสำหรับคนทุกคนไม่แค่เฉพาะ LGBTI แต่แน่นอนว่า แนวทางเหล่านี้ต้องใช้การทำงานและความอุตสาหะ ไม่เร็วและง่ายเหมือนกับการทำสัญญาขายวิญญาณให้กับมือที่ถืออำนาจ

สิ่งที่ย้อนแย้งอีกเรื่องหนึ่งคือ การที่วัน IDAHOT เป็นวันรำลึกถึงการที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ถอดการรักเพศเดียวกันออกจากบัญชีจำแนกโรคสากล ดังนั้น จึงควรเป็นวันของการปลดแอกและแสดงการไม่สยบยอมต่อองค์กรกำหนดนโยบายต่างๆ ที่ไร้ความรับผิดต่อผู้ใด แต่ในทางตรงกันข้าม LGBTI ไทยกลับใช้วันนี้ในการแสดงความศิโรราบต่อองค์กรที่ไม่ได้เป็นผู้แทนของใครเลย

ด้วยเหตุผลต่างๆ เหล่านี้ การยื่นรายชื่อต่อตัวแทนรัฐบาลทหารในงาน จึงไม่ต่างจากการปลิดวิญญาณของ IDAHOT ยิ่งอยู่ในพิธีเปิดงานอย่างเป็นทางการ ก็ยิ่งเป็นคราบเปื้อนที่เห็นบาดตาอยู่ตรงใจกลางของธงสีรุ้ง นี่เป็นเรื่องที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง เพราะงาน IDAHOT ในปีนี้ให้ความสำคัญกับประเด็นที่ถูกมองข้ามมานานคือเรื่องครอบครัวหลากหลาย

ในฐานะผู้สังเกตการณ์และมีส่วนร่วมในขบวน LGBTI ในประเทศนี้มาสิบห้าปี ผู้เขียนเห็นจุดสูงสุดของขบวน เมื่อขบวนมีความกล้าหาญที่จะโต้กลับนโยบาย การปฏิบัติ หรือจุดยืนของรัฐบาลที่เลือกปฎิบัติต่อ LGBTI ตัวอย่างเช่น การแต่งชุดดำไปประท้วงหน้าทำเนียบรัฐบาลในปี พ.ศ. 2554 ทำให้รัฐบาลไทยต้องหันมาลงคะแนนเสียงสนับสนุนสิทธิความหลากหลายทางเพศในเวทีสหประชาชาติตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ดังนั้นจึงเป็นเรื่องน่าเศร้าใจที่เห็นขบวนตกต่ำลงมาถึงจุดนี้ เพราะไม่เพียงแค่ไม่ท้าทายหรือดำรงความเป็นอิสระจากองค์กรที่ไม่ชอบธรรม แต่กลับลดทอนศักดิ์ศรีของตนและหมอบราบให้กับหน่วยงานที่ไม่มีใครเลือกเข้ามา โดยมือหนึ่งดูเหมือนจะ “ให้” สิทธิ แต่อีกมือหนึ่งก็กระชากสิทธิทิ้งไป นี่เป็นขบวนที่ผู้เขียนไม่รู้สึกเชื่อมโยงด้วยและไม่สามารถมีส่วนร่วมด้วยอีกต่อไป

ยิ่งไปกว่านี้ งาน IDAHOT ครั้งนี้ ยังได้รับความสนับสนุนจากองค์การระหว่างประเทศที่ปรารถนาดีและสถานทูตของมิตรประเทศจำนวนมาก แต่ในการทำงานด้านการพัฒนา ความปรารถนาดีกับมิตรภาพนั้นหาเพียงพอไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประเทศที่ยังวนเวียนอยู่กับความขัดแย้งภายในอย่างประเทศไทย

แม้ว่าเพื่อนจากภายนอกเหล่านี้จะช่วยสนับสนุนในการพิทักษ์สิทธิอื่นๆ แต่ก็ทำอย่างระมัดระวัง ไม่เหมือนกับสิทธิความหลากหลายทางเพศที่ได้รับการสนับสนุนอย่างโฉ่งฉ่าง นี่อาจไม่ใช่ปัญหาด้วยตัวของมันเอง แน่นอนว่า สิทธิความหลากหลายทางเพศเป็นประเด็นปลอดภัย เพราะผู้มีอำนาจไม่เห็นว่าเป็นภัยคุกคาม ในทางตรงกันข้าม ธงสีรุ้งยังเหมาะกับการใช้เช็ดคราบเปื้อนบนรองเท้าบู๊ทเป็นอย่างดี

แต่แรงสนับสนุนจากต่างชาติอย่างไม่ใช้วิจารณญาณต่อการจัดงานที่มีกิจกรรมไม่เป็นประชาธิปไตยเช่นนี้เป็นหัวใจ ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า ส่งเสริมสิทธิความหลากหลายทางเพศ โดยทำลายความสำคัญของประชาธิปไตย

คงยังไม่สายเกินไปที่จะลองวิเคราะห์แนวทางปฎิบัตินี้ใหม่ด้วยกฎพื้นฐานของการพัฒนา นั่นคือ หลักการ “Do No Harm”  ผู้เขียนแน่ใจว่า สิ่งสุดท้ายที่มิตรของขบวนสิทธิความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยอยากให้เกิดขึ้น คือ การทำลายโอกาสที่ขบวนนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของกรอบสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยที่มีประชาธิปไตยเต็มใบในอนาคต

ในสถานการณ์เช่นปัจจุบัน คงมีความสง่างามมากกว่า ถ้า LGBTI ไทยจะรับเอาวันสำคัญระดับสากลอีกวันหนึ่งที่จะเวียนมาถึงในวันพรุ่งนี้ คือวันที่ 18 พฤษภาคม ซึ่งรำลึกถึงเหตุการณ์ลุกฮือของประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในเมืองกวางจู ประเทศเกาหลีใต้ และให้บทเรียนอันมีค่าต่อสังคมที่ไร้ความจำ ผู้เขียนหวังว่า เมื่อวันนั้นมาถึง ธงสีรุ้งที่ไร้รอยด่างจะโบกไสวในประเทศไทยอยู่ข้างเดียวกับผู้ถูกกดขี่ มิใช่ฝ่ายอำนาจที่กดขี่

 

เชิงอรรถ

[ii] ดูรายละเอียดของงานได้ที่ https://www.facebook.com/events/1134688903344519/

[iii] กำหนดการตามสูจิบัตร

 

[iv] https://www.change.org/p/ขอพ-ร-บ-คู่ชีวิตเพื่อบุคคลหลากหลายทางเพศ-rainbowfamily

เนื่องจากในงานไม่มีตัวแทนจากสนช. จึงเป็นการยื่นรายชื่อต่อตัวแทนกระทรวงยุติธรรม แต่ 1) แคมเปญลงชื่อ change.org เพื่อเรียกร้องกฎหมายดังกล่าวระบุอย่างชัดเจนว่าเป้าหมายหลักคือ สนช. (ดูภาพด้านล่าง)  2) ไม่ว่าจะยื่นต่อหน่วยงานรัฐใดก็ตาม สุดท้ายอำนาจในการพิจารณาออกกฎหมายก็อยู่ในมือของ สนช.

 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ไพศาล ลิขิตปรีชากุล เป็นนักเขียนอิสระและอดีตนักกิจกรรมสิทธิความหลากหลายทางเพศ ได้รับศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต ด้านกฎหมายระหว่างประเทศและสิทธิมนุษยชน จาก UN-Mandated University for Peace ประเทศคอสตาริก้า และด้านรัฐศาสตร์จาก Ateneo de Manila University ประเทศฟิลิปปินส์ ความคิดเห็นในบทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนเท่านั้น และมิได้สะท้อนมุมมองขององค์กรใดๆ ที่ผู้เขียนอาจเกี่ยวข้องด้วย 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net