Skip to main content
sharethis

หาคำตอบให้ดอน ปรมัตถ์วินัย เพราะเหตุใดเหตุการณ์ที่กวางจูในปี 1980 และการมอบรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงถือเป็นเรื่องสำคัญ เผยประวัติศาสตร์ฉบับสังเขป เมื่อผู้นำรัฐประหาร และสั่งยิงนักศึกษา-ประชาชน ไม่พ้นผิด-ไม่ลอยนอล

ดูจะเป็นเรื่องที่แปลกพอสมควร เมื่อคนระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ อย่างดอน ปรมัตถ์วินัย ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต และตำแหน่งสำคัญต่างๆ ทางการทูตหลายตำแหน่ง ได้ออกมาตั้งคำถามถึงกรณีที่ มูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก (May 18 Memorial Foundation) ซึ่งได้มีการมอบรางวัลสิทธิมนุษยชนแห่งกวางจู (Gwangju Prize for Human Rights) ประจำปี 2017 ให้กับจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน นักศึกษานักกิจกรรม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้ซึ่งถูกจับกุมคุมขัง และถูกเพิกถอนสัญญาการปล่อยตัวชั่วคราว ในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และฝ่าฝืน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ การแชร์บทความพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร จากเว็บไซต์ BBC Thai ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว ทั้งนี้ไผ่ ถูกคุมขังตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2559 โดยที่คดีความยังไม่ได้ตัดสิน และไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว

โดยคำถามสำคัญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในสมัยการปกครองของรัฐบาลคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ถูกเผยแพร่ผ่านสื่อหลายสำนักเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2560 วันเดียวหลังจากที่ครอบครัว และทนายความของไผ่ ได้ยื่นขอประกันตัวเป็นครั้งที่ 9 เพื่อที่จะขอโอกาสให้ไผ่ ได้เดินทางไปรับรางวัลสิทธิมนุษยชนดังกล่าวด้วยตัวเอง แต่ศาลยังคงมีความเห็นไม่อนุญาตให้ประกัน เนื่องจากยังไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม

ดอน กล่าวถึงกรณีที่ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว และการได้รับรางวัลสิทธิมนุษยชนของไผ่ว่า คงต้องมีการตรวจสอบก่อนว่า องค์กรดังกล่าวเป็นองค์กรเกี่ยวกับอะไร และวัตถุประสงค์ของการมอบรางวัลคืออะไร และมีความเกี่ยวข้องอย่างไร กับไผ่ ดาวดิน ขณะเดียวกันก็ยังระบุด้วยว่าองค์กรที่มองรางวัลเป็นเครือข่ายเดียวกันกับกลุ่มของไผ่ ดาวดิน หรือไม่ เพราะเท่าที่เห็นจากข่าว ก็พอจะประเมินได้ว่าเป็นผู้ที่ทำกิจกรรมลักษณะคล้ายกัน

ที่มาของภาพ: แฟ้มภาพกระทรวงต่างประเทศ

จากคำให้สัมภาษณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ จึงเป็นเรื่องที่ชวนให้สงสัยอยู่ไม่น้อยว่าเกิดอะไรขึ้นที่เมืองกวางจู 37 ปีก่อน และเรื่องราวหลังจากนั้นส่งผลสืบเนื่องอย่างไร เพราะอะไรผู้ที่พอรู้ประวัติศาสตร์จึงเรียกเหตุการณ์ครั้งนั้นว่าเป็น เหตุการณ์สำคัญในการสร้างประชาธิปไตยของสาธารณรัฐเกาหลี ประชาไทชวนอ่านประวัติศาสตร์ฉบับสังเขป เพื่อความเข้าใจการลุกฮือต่อต้านเผด็จการในฤดูใบไม้ผลิเมื่อปี 1980 ซึ่งอาจมีลักษณะคล้ายคลึงกับเหตุการณ์ทางการเมืองในประเทศไทย อาจจะแตกต่างกันก็เพียงแค่ สาธารณรัฐเกาหลี สามารถนำคณะรัฐประหารมาลงโทษได้ แม้เวลาจะผ่านไปนานเกือบ 20 ปี ในขณะที่เรื่องเหล่านี้ไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย พร้อมทั้งหาคำตอบว่าการให้รางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชนกับไผ่ ดาวดิน แสดงออกถึงอะไร

00000

มูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก ก่อตั้งจากเลือด บาดแผล และความทรงจำที่จะไม่มีวันซ้ำรอยเดิม

พูดอย่างไม่เกินเลยไปนัก มูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก (May 18 Memorial Foundation) คือองค์กรที่เกิดมาจากจิตวิญญาณของการลุกฮือขึ้นต่อต้านกับระบอบเผด็จการอำนาจนิยมของผู้ชุมนุมประท้วงในเมืองกวางจู สาธารณรัฐเกาหลีเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 1980 (พ.ศ.2523) ซึ่งมีการกล่าวถึงกันว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นโศกนาฏกรรม และความน่าอับอายที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของสาธารณรัฐเกาหลี เพราะมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าวเกือบ 200 คน (จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการยืนยันตัวเลขที่ชัดเจน) และมีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 3,000 คน นั้นย่อมแสดงให้เห็นว่านี่คือ ประวัติศาสตร์บาดแผล และเจ็บปวดของชาวเกาหลีใต้ครั้งใหญ่ แต่ขณะเดียวกันมันก็เป็นจุดเริ่มต้นของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสร้างประชาธิปไตยของประเทศ และมูลนิธิ 18 พฤษภารำลึกเองก็เป็นหนึ่งในขบวนเคลื่อนไหวดังกล่าว และทำให้เรื่องราวความโหดร้ายของการล้อมปราบประชาชน การละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรง กลายเป็นเพียงแค่ความทรงจำ ที่มีค่าเพียงพอที่จะได้ตระหนักถึงเพื่อเป็นหลักยันให้กับอนาคตว่าเรื่องราวเหล่านี้จะไม่กลับมาเกิดขึ้นอีก

จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ ‘การประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยที่กวางจู’ (Gwangju Democratic Uprising) เป็นผลสืบเนื่องมาจากการรวมตัวกับของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในสมัยการปกครองของประธานาธิบดี ปาร์ก จุงฮี นายทหารที่ได้อำนาจการปกครองจากการทำรัฐประหาร และครองอำนาจเบ็ดเสร็จยาวนานถึง 18 ปี ซึ่งผู้คนในสมัยนั้นต่างเรียกภายปกครองภายใต้ปาร์ก จุงฮี ว่าระบอบยูชิน ซึ่งปฏิเสธสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และมีการวางรากฐานอำนาจที่มั่นคงไว้รัฐธรรมนูญยูชิน ค.ศ.1972  นอกจากนี้ยังไม่การอ้างสถานการณ์ทางการเมืองภายนอกประเทศเพื่อลดทอนเสรีภาพในด้านต่างๆ

ทั้งยังมีการใช้สภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อเอกภาพแห่งชาติ ปลดคิม ยองซัม สมาชิกสภานิติบัญญัติฝ่ายค้าน ทำให้นักศึกษาที่มหาวิทยาลัยพูซานเริ่มต้นลุกขึ้นเรียกร้อง ในวันที่ 16 ตุลาคม ค.ศ. 1979 ก่อนที่สถานการณ์อันเป็นผลจาการตอบโต้ของรัฐบาลจะทำเกิดการลึกฮือขึ้นในเมืองมาซาน แต่การลุกฮือของประชาชนและนักศึกษาของทั้งสองเมืองก็กินระยะเวลาได้ไม่นาน เนื่องจากรัฐบาลได้จับกุมผู้ต่อต้านทั้งหมด 1,563 คน

สิ่งที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ส่งผลสืบเนื่องมายังเหตุการณ์ที่กวางจูในในอีก 7-8 เดือนถัดมาคือ ความตายของปาร์ค จุงฮี จากการถูกลอบสังหารระหว่างทานอาหารค่ำในบริเวณทำเนียบประธานาธิบดี (Blue House) ในกรุงโซล อย่างไรก็ตามแม้ว่าการเสียชีวิตของประธานาธิบดีในระบอบเผด็จการจะค่อยๆ ทำให้ระบอบยูชินที่ยาวนานถึง 18 ปีล่มสลายลง แต่บรรดานายทหารที่ฝักใฝ่การเมืองซึ่งช่วยสร้างระบบยูชินก็ยังคงมีอานาจอยู่ต่อไปเพื่อรักษาระบอบ และรักษาอานาจของพวกเขาภายหลังจากความตายของปาร์ค จุงฮี

หลังจากการเสียชีวิตของปาร์ค จุงฮี นายกรัฐมนตรีในเวลานั้นคือ ชเว คยู ฮา ได้เข้ารับตำแหน่งรักษาการตำแหน่งประธานาธิบดี และได้ประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศ ในเวลานั้น นายพลชอง ซึง ฮวาผู้บัญชาการกองกาลังรักษาความมั่นคง (Defense Security Force )ได้ตั้งศูนย์สืบสวนร่วมเพื่อสืบสวนคดีการสังหารประธานาธิบดี โดยมีชอน ดู ฮวานเป็นผู้บัญชาการกองกาลังรักษาความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Force)

ต่อมาในวันที่ 12 ธ.ค. ค.ศ. 1979 ชอน ดู ฮวาน ได้ทำการรัฐประหาร ชเว คยู ฮา โดยคณะรัฐประหารได้ล้างอำนาจการบริหารในสมัยของ ชเว คยู ฮา พร้อมทั้งขยายอำนาจผ่านกฎอัยการศึก และถ่วงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญออกไปเรื่อยๆ ขณะเดียวกันก็เริ่มจัดตั้งปฏิบัติการเค (K-Operation ย่อมาจาก King-Operation) เพื่อเข้าควบคุมสื่อมวลชน เพื่อทำให้ประชาชนรู้สึกถึงความจำเป็นที่กองทัพจะต้องเข้ามาวบคุมอำนาจ

มีการส่งเจ้าหน้าที่ไปปรับทัศนคติกับหนังสือพิมพ์รายวันกว่า 94 ฉบับ ให้เสนอข่าวในทางเดียวกันว่ารัฐบาลของประธานาธิบดีชอน ดู ฮวาน และผู้นำกองทัพชุดใหม่จะเป็นความหวังเดียวที่จะจัดการกับความวุ่นวายไร้ระเบียบที่กาลังแผ่ซ่านทั้งประเทศ ขณะเดียวกันก็มีการฝึกพิเศษกับทหารรอบหัวเมืองใหญ่ เพื่อที่จะเตรียมพร้อมกับการจัดการการลุกฮือของประชาชน โดยมียุทธวิธีในการหลักคือสลายฝูงชนโดยการเข้าโจมตี และตีฝูงชนให้แตกกระจายเป็นกลุ่มย่อยๆ เพื่อไม่ให้สามารถรวมตัวกันได้อีก และมุ่งจับกุมตัวผู้นาการชุมนุม ทหารจะถูกฝึกให้เล็งที่ข้อต่อคอและศีรษะและตีไม่ยั้งทั้งชายและหญิง จากนั้นจะถูกถอดเสื้อผ้าแล้วลากหรือโยนขึ้นรถบรรทุกที่จอดรออยู่เพื่อพาตัวไปคุมขังยังเรือนจำทหารซึ่งมีการใช้อำนาจในการข่มเหงในขั้นต่อไป

และหลังจากการยึดอำนาจได้ไม่นานขบวนการนักศึกษาก็เริ่มเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยอีกครั้งก่อนจะนำไปสู่ความสูญเสียครั้งใหญ่ที่กระทำโดยน้ำมือของผู้ที่อยู่ร่วมชาติเดียวกัน

ภาพประชาสัมพันธ์กิจกรรม มองรางวัล 2017 Gwangju Prize for Human Rights จากว็บไซต์ The May 18 Memorial Foundation

เหตุการณ์กวางจู ประวัติศาสตร์ของการเอาผิด-รับโทษ

ในขณะที่การต่อต้านรัฐบาลของชอน ดู ฮวาน ก่อตัวขึ้นในหลายจังหวัด แต่มีเพียงเมืองเดียวที่นักศึกษา และประชาชนรวมตัวกันต่อต้านรัฐบาลเผด็จการทหารได้อย่างเข้มแข็ง ท่ามกลางความตึงเครียดในสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงเวลานั้น มีข่าวลือว่าขบวนการนักศึกษาจะลุกฮือขึ้นในเดือนพฤษภาคม รัฐบาลกลับเมินเฉยต่อข้อเสนอของฝ่ายประชาธิปไตยที่ต้องการให้มีการยกเลิกกฎอัยการศึก ทั้งยังได้ออกคำสั่งให้หน่วยปฏิบัติการสลายการชุมนุมเข้าประจำการตามเมืองใหญ่ ขณะที่ฝ่ายนักศึกษาเองก็เตรียมพร้อมที่จะจัดการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย

วันที่ 14 พฤษภาคม 1980 มีนักศึกษากว่า 70,000 คน ออกมาบนท้องถนและไปรวมตัวกันที่ จตุรัสควางฮวามุน ในวันต่อมานักศึกษาออกมาร่วมตัวกันอีก เพิ่มจำนวนเป็นแสนคน ในที่ในวันที่ 16 พฤษภาคม นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยชอนนัมและมหาวิทยาลัยโชซอน กับวิทยาลัยการศึกษาในกวางจูจัดการชุมนุมที่หน้าศาลาว่าการเมืองกวางจู ตามมาด้วยการเดินขบวนถือคบไฟอย่างสันติ

แต่ถัดมาในวันที่ 17 พฤษภาคม ชอน ดู ฮวาน ได้ขยายการประกาศใช้กฎอัยการศึก และส่งทหารกว่าแสนนายเข้าปิดล้อมเมืองกวางจูในวันที่ 18 พฤษภาคม และตั้งแต่ช่วงเช้าของวันนั้นการล้อมปราบ และการปะทะก็เริ่มต้นขึ้น จนกระทั้งทั้งสองฝ่ายเริ่มยิงต่อสู้กันในวันที่ 20 พฤษภาคม เนื่องจากสถานการณ์ที่เลวร้ายลงเรื่อยๆ แต่รัฐบาลกลับนิ่งเฉย ในขณะที่สื่อมวลชนก็ไม่นำเสนอข่าวสารที่ตรงไปตรงมาเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในเมืองกวางจู ในช่วงบ่ายของวันที่ 19 ผู้ชุมนุมจึงปรับเปลี่ยนยุทธวิธีจากการเป็นฝ่ายรับป้องกันตัวเอง มาเป็นฝ่ายโจมตี เนื่องจากถูกกระตุ้นโดยความโหดร้ายของทหารที่ปฏิบัติต่อประชาชน แต่เป็นฝ่ายทหารที่สามารถเข้ายึดเมืองกวางจูได้ในวันที่ 27 พฤษภาคม โดยการใช้เวลาเพียง 90 นาที เนื่องจาก จอห์น เอ. วิคแฮม จูเนียร์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กองบัญชาการร่วมสหรัฐ-เกาหลีใต้ ให้ความเห็นชอบต่อประธานาธิบดีชอน เคลื่อนกำลังทหารเกาหลีจำนวนมากจากเขตปลอดทหารตามแนวชายแดนเกาหลีเหนือ-ใต้ มาใช้ในปฏิบัติการยึดคืนเมืองกวางจู

เรื่องราวที่กวางจูจบลง ผู้นำการชุมนุมอย่าง คิม แทจุง ถูกนำตัวขึ้นพิจารณาคดี ถูกตัดสินว่าผิดจริงและพิพากษาให้ประหารชีวิต แต่ลดโทษลงเหลือจำคุกตลอดชีวิตหลังการกดดันของนานาชาติ ในจำนวนผู้ที่ถูกจับกุมที่กวางจู มี 427 คนถูกพิพากษาว่ากระทำผิด 7 คนถูกตัดสินประหาร 12 คนถูกจำคุกตลอดชีวิต ที่เหลือได้รับโทษจำแตกต่างกันออกไป

อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ที่กวางจูแม้จะจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของฝ่ายนักศึกษาประชาชน แต่มันกลับกลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เหมือนคบไฟที่ถูกจุดขึ้นและไม่มีวันมอดดับ

หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้นชอน ดู ฮวาน ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อไปอีกสองสมัย ค.ศ. 1980- 1988 ตามด้วยโรห์ แตวู อีกสองสมัย ค.ศ. 1988-1993 และในช่วงเวลาดังกล่าเหตุการณ์ที่กวางจูถูกจดจำเพียงสถานะของการก่อจลาจล อย่างไรก็ตามหลังจากที่มีรัฐบาลพลเรือนซึ่งนำโดยคิม ยองซัม ได้มีการประกาศนโยบายปฏิรูปการเมือง และการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน และมีการนำคดีรัฐประหาร การยึดอำนาจการปกครอง และการสังหารหมู่นักศึกษาประชาชนที่กวางจูขึ้นสู่ศาล

โดยชอน ดู ฮวาน และโรห์ แตวู ถูกศาลตัดสินในวันที่ 26 สิงหาคม 1996 ในข้อหาคอร์รัปชันและกบฏ โดยชอน ดู ฮวาน ถูกตัดสินประหารชีวิต ส่วนโรห์ แตวู  ถูกตัดสินจำคุก 22 ปี 6 เดือน แต่ทั้งหมดได้รับการอภัยโทษในปี 1997 โดยประธานาธิบดีคิม ยังซัม จากคำแนะนำของคิม แดจุง ประธานาธิบดีคนถัดมาเพื่อเป็นการแสดงออกซึ่งความปรองดอง และเหตุการณ์ในเดือนพฤษภาคม 1980 ก็ถูกจดจำใหม่ในสถานนะของ ‘การประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยที่กวางจู’

จากนั้นในปี 1998 จึงได้มีการก่อตั้งมูลนิธิ 18 พฤษภารำลึกขึ้น เพื่อเป็นการรำลึกถึงจิตวิญญานการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และเป็นการบอกเตือนคุณรุ่นใหม่ให้รู้ถึงความเลวร้ายของการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐบาลทหาร นอกจากนี้มูลนิธิดังกล่าวยังทำหน้าที่เชิงรุกในการเผยแพร่ประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย  มีการจัดทำแบบเรียนประวัติศาสตร์ มีหอจดหมายเหตุ และมีการจะหลักสูตรอบรมเพื่อนักวิชาการ นักวิจัยจากต่างประเทศ ทั้งยังมีการนำนักกิจกรรมทางสังคม และภาคประชาสังคมจากหลายประเทศมาเรียนรู้

ตลอดจนการมอบรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชนซึ่งได้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 และได้มอบรางวัลให้แก่บุคคลสำคัญของโลกที่มีบทบาทในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน อาทิ นางอองซาน ซูจี ประธานพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของพม่า ชานานา กัสเมา อดีตประธานาธิบดีของติมอร์ตะวันออก ซึ่งในปีนี้บุคคลที่ได้รับรางวัลดังกล่าวคือ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน ซึ่งเป็นผู้ที่มีอายุน้อยที่สุดตั้งแต่มีการประกาศมอบรางวัลมา

ไผ่ คือสัญลักษณ์ของคนรุ่นใหม่ในเอเชียที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย

พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย รวมทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายเอเชียตะวันออกของ The Asian Forum for Human Rights and Development (FORUM-ASIA) ได้ให้สัมภาษณ์กับประชาไทว่า ความสำคัญของรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชนที่จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน ได้รับนั้นเป็นรางวัลที่ตั้งขึ้นมาเพื่อรำลึกถึงการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยของชาวเมืองกวางจูในเดือนพฤษภาคม 1980 ซึ่งการต่อสู้นี้ แม้ว่าชาวเมืองจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ถูกสังหารนับพัน และถูกใส่ร้ายป้ายสีว่าเป็นคอมมิวนิสต์ต่อมาอีกหลายสิบปี แต่การต่อสู้ของชาวเมืองกวางจูกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ขบวนการแรงงาน ชาวนา นักศึกษา และคนเกาหลีใต้เรือนล้านออกมาต่อสู้บนท้องถนนในปี 1987 หลังจากรัฐบาลเผด็จการได้ทรมานและสังหาร พัค ยอง-ชุล ผู้นำนักศึกษาในเดือนมกราคม 1987 จนเกิดความโกรธแค้นในหมู่ประชาชน

“ในปีนี้ ไผ่ จตุภัทร บุญภัทรรักษา ได้รับเลือกให้ได้รับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน ไม่เกินเลยถ้าจะพูดว่าไผ่ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของคนรุ่นใหม่ในเอเชียที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตย เหมือนที่ขบวนการนักศึกษาในเกาหลีใต้ทั้งในอดีตและปัจจุบันมีบทบาทสำคัญในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย” พิมพ์สิริ กล่าว

 

เรียบเรียงจาก

The may 18 memorial foundation

http://eng.518.org/

10 วันที่กวางจู” เกิดอะไรที่เกาหลี เมื่อปี 2523

https://www.matichon.co.th/news/144818

ใหญ่แค่ไหนก็ต้องติดคุกได้

http://thaipublica.org/2014/07/never-let-the-big-ones-above-law/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net