Skip to main content
sharethis

สำรวจความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงในจังหวัดอุบลราชธานีหลังจีนสร้างเขื่อนควบคุมปริมาณน้ำโดยไม่สนใจเสียงของคนปลายน้ำ ชาวบ้านเผย ผลกระทบวงกว้าง ทั้งวิถีชีวิต การยังชีพ และการท่องเที่ยว หวั่นระเบิดแก่งหินเชียงของจะยิ่งกระทบหนัก

 

กลุ่มรักษ์เชียงของขึ้นป้ายต่อต้านการระเบิดแก่งหินในแม่น้ำโขง (ภาพจากมติชน)

เมื่อวันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา ประเทศจีนได้ส่งเรือสำรวจ 7 ลำ เข้าสู่แม่น้ำโขงในเขตประเทศไทยที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ฝูงเรือดังกล่าวได้รับมอบหมายให้เข้ามาสำรวจแม่น้ำโขงของไทยเพื่อออกแบบการระเบิดแก่ง-ปรับปรุงร่องน้ำให้เรือสินค้าขนาดใหญ่ของจีนสามารถเดินทางผ่านไปได้ถึงหลวงพระบางโครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแผนการเดินเรือของจีนในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภูมิภาคของกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ได้แก่ จีน พม่า ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม โดยโครงการดังกล่าวได้ผ่านมติเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีไทยเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2559

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัฐบาลของประเทศต่างๆ พยายามอ้างสิทธิเหนือแม่น้ำโขง และปรับเปลี่ยนธรรมชาติของแม่น้ำโขงตามอำเภอใจโดยไม่สนใจเสียงของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ในกรณีของประเทศไทย เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงได้มีการข่มขู่คุกคามประชาชนที่ลุกขึ้นต่อต้านโครงการดังกล่าวอีกด้วย โดยในวันที่ 26 เมษายน ทหารได้เรียกตัว นิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือ ‘ครูตี๋’ ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ เข้าพูดคุยร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหารจาก มทบ. 37 จังหวัดเชียงราย หลังกลุ่มของครูตี๋ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านโครงการดังกล่าว

เมื่อจีนเปลี่ยนแม่น้ำโขงเป็นแค่คลองส่งน้ำ

ก่อนจะถูกทางการเรียกตัว ครูตี๋ให้สัมภาษณ์กับ เดอะ อีสานเรคคอร์ด ว่าโครงการระเบิดแก่งหินในแม่น้ำโขงเป็นการทำลายระบบนิเวศน์ที่สำคัญของแม่น้ำโขง เพราะแก่งหินเป็นแหล่งพักพิงของพืชและสัตว์ ซึ่งเป็นแหล่งอาหารสำคัญของชาวบ้าน อีกทั้งแก่งหินยังทำหน้าที่เป็นเหมือนเขื่อนชะลอน้ำตามธรรมชาติ ไม่ให้กระแสน้ำไหลแรงจนเกินไป ทำให้พื้นที่เกษตรกรรมริมฝังโขงไม่เสียหาย

“เหมือนเป็นคลองส่งน้ำดีๆ นี่เอง ถ้าไม่มีเกาะแก่ง มันไม่ใช่แม่น้ำ มันเป็นคลองส่งน้ำ แล้วมันไม่มีอะไรที่ทำให้สัตว์น้ำอยู่”

นอกจากปัญหาเรื่องระบบนิเวศ ครูตี๋ยังมองว่าการที่รัฐบาลไทยปล่อยให้รัฐบาลจีนเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ในเขตแม่น้ำโขงของไทยก็ไม่ต่างจากการปล่อยให้จีนรุกล้ำอธิปไตยของไทย กลุ่มรักษ์เชียงของจึงต้องการให้รัฐบาลปัจจุบันชะลอโครงการดังกล่าว เหมือนที่รัฐบาลในอดีตเคยทำ

“ผมว่ารัฐไทยนี่แหละต้องทบทวน คำว่าอธิปไตย จีนก็ถือว่าประโยชน์ของเขา จีนก็ต้องรุกใช่ไหม ถ้าเราก็ถือว่านี่คืออธิปไตยของเรา ทำไมเราต้องเสียด้วย ถ้ารัฐบาลเราบอกว่าเราไม่ยอม จีนจะทำอะไรได้ ผ่านมาครั้งที่แล้ว ที่มันทำไม่ได้ สำรวจไม่ได้ ก็เพราะ ครม. ไม่อนุมัติไง แต่ตอนนี้มันอนุมัติแล้ว” ครูตี๋กล่าว

 

นิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือ “ครูตี๋” ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ (ภาพจาก เดอะ อีสานเรคคอร์ด)

การต่อสู้ระหว่างชาวบ้านกับรัฐเพื่อสิทธิเหนือแม่น้ำโขงไม่ใช่เรื่องใหม่ นับตั้งแต่ปี 2539 รัฐบาลจีนได้สร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงไปแล้ว 6 แห่ง และรัฐบาลลาวได้สร้างอีก 1 แห่ง เขื่อนดังกล่าวส่งผลให้ระบบนิเวศของแม่น้ำโขงเริ่มเปลี่ยนแปลงไป ระดับน้ำที่เคยเพิ่มและลดอย่างคาดการณ์ได้เริ่มมีความผันผวน พันธุ์ปลาที่เคยอุดมสมบูรณ์ทุกวันนี้มีจำนวนลดลง ปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนปลายน้ำเป็นจำนวนมาก แม้จะมีการตั้งกลุ่มของชาวบ้านเรียกร้องการเยียวยาจากภาครัฐ แต่ก็ไม่เคยส่งผลในทางปฏิบัติแต่อย่างใด ชาวบ้านจึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากปรับตัวไปกับการเปลี่ยนแปลงจากสิ่งที่พวกเขาไม่ได้สร้างและไม่เคยได้ใช้ประโยชน์

จังหวัดอุบลราชธานีเป็นหนึ่งในจังหวัดที่ได้รับผลกระทบของเขื่อนแม่น้ำโขงอย่างชัดเจนที่สุดในประเทศไทย อุบลราชธานีเป็นจังหวัดสุดท้ายที่แม่น้ำโขงไหลผ่านประเทศก่อนจะออกสู่ประเทศลาวที่อำเภอโขงเจียม นั่นหมายความว่า แม่น้ำโขงจะต้องผ่านเขื่อนถึง 7 เขื่อนทั้งในจีนและในลาว กว่าจะไหลมาถึงจังหวัดอุบลราชธานี เหตุที่ผลกระทบของแม่น้ำโขงในจังหวัดอุบลราชธานีมีความรุนแรงกว่าจังหวัดอื่นๆ เพราะนอกจากแม่น้ำโขงจะเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงชาวบ้านหลายหลังคาเรือนแล้ว แหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของจังหวัดเช่น แม่น้ำสองสี หาดสลึง หรือสามพันโบก ล้วนตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงทั้งสิ้น

ปลาหาย รายได้หด

เสียงของชาวบ้านในจังหวัดอุบลราชธานีเหล่านี้น่าจะเป็นตัวแทนของคนไทยอีกกว่า 3.1 ล้านคนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งโขงได้เป็นอย่างดี

นิภาพร อุระ ชาวบ้านตามุย อำเภอโขงเจียม และสมาชิกเครือข่ายชุมชนคนรักษ์น้ำโขงกล่าวว่า ในฐานะที่หลังบ้านของเธอติดกับแม่น้ำโขง เธอได้เฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำมาตั้งแต่จีนสร้างเขื่อนแห่งแรกในปี 2539 ในอดีตแม่น้ำโขงจะลดในช่วงเดือนธันวาคมถึงเมษายน ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว ชาวบ้านสามารถลงไปทำการเกษตรริมโขง ตามบริเวณสันดอนทรายที่โผล่พ้นน้ำขึ้นมา ชาวบ้านเคยสามารถปลูกพืช เช่น ข้าว ข้าวโพด หรือถั่วได้ในช่วงที่น้ำลด แต่เมื่อมีเขื่อน การขึ้นลงของกระแสน้ำก็เปลี่ยนไป บางครั้งน้ำลงแค่สองวัน บางครั้ง นานเกือบสองเดือน ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถวางแผนทำการเกษตรริมโขงได้อีกต่อไป

จำนวนและขนาดปลาที่จับได้ก็ลดลง ในอดีตปลาคังซึ่งถือเป็นปลาท้องถิ่นของแม่น้ำโขงมีน้ำหนักตัวถึง 1-3 กิโลกรัม และอาจหนักได้มากสุดถึง 5 กิโลกรัม ปัจจุบันปลาที่ชาวบ้านจับได้มีน้ำหนักไม่ถึงกิโล เพราะโดยปกติแล้ว ปลามักจะวางไข่ในช่วงหน้าแล้งที่น้ำนิ่ง แต่จีนมักจะปล่อยน้ำมาในช่วงเวลาดังกล่าวทำให้ปลาวางไข่ได้น้อยลง ซึ่งการระเบิดแก่งหินก็จะยิ่งทำให้กระแสน้ำไหลแรงมากยิ่งขึ้นไปอีก การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำให้ชาวบ้านบางส่วนตัดสินออกจากพื้นที่ไปทำงานในเมือง โดยนิภาพรกล่าวว่า มีชาวบ้านมากกว่าร้อยชีวิตจากประชาการทั้งหมด 600 คน ในบ้านตามุยที่ตัดสินใจเข้าไปทำงานในกรุงเทพมหานคร และส่งเงินกลับบ้านตามแต่โอกาสจะอำนวย

นิภาพรยังชี้ให้เห็นว่าบรรยากาศการเมืองภายใต้รัฐบาลทหารเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อการเคลื่อนไหวในประเด็นสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชน ในอดีตชุมชนบ้านตามุยเคยร่วมเรียกร้องฉโนดชุมชน ในสมัยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง การเรียกร้องของชุมชนดูจะส่งเสียงได้ดังกว่าสมัยรัฐบาลปัจจุบันอย่างเห็นได้ชัด

“เมื่อก่อนเราสามารถพูดได้ คุยได้ เราเคยเอารองรัฐมนตรีมาลงถึงพื้นที่ได้ ตอนรัฐประหาร เราต้องไปถึงกรุงเทพฯ ไปกันร้อยกว่าคน ตอนนั้นไปกับพีมูฟ แต่เขาให้เข้าไปคุยแค่สิบคน รับปากอย่างดีว่ารัฐบาลรับรู้ถึงปัญหาของชาวบ้าน เดี๋ยวจัดการให้ แล้วก็เงียบหาย” นิภาพรกล่าว

ไพรวัลย์ แก้วใส ชาวตำบลท่าล้ง วัย 46 ปี ก็เป็นอีกหนึ่งชีวิตที่ต้องพึ่งพิงแม่น้ำโขง เธอมีลูกทั้งหมด 4 คน ลูกคนโตสองคนเมื่อเรียบจบ ม.ต้น ก็ต้องเริ่มทำงานช่วยที่บ้านหาเงิน เมื่ออายุได้ 20 ปีก็เข้ากรุงเทพและส่งเงินกลับมาเดือนละ 4,000 บาท หรือบางเดือนก็ไม่ได้ส่ง อีกทั้งยังส่งหลานอีกสองคนกลับมาให้แม่เลี้ยงที่บ้าน ไพรวัลย์จึงต้องเลี้ยงดูลูก 2 คนและหลานอีก 2 คน ซึ่งเธอคาดว่าหากลูกคนที่ 3 ของเธอซึ่งกำลังเรียนอยู่ชั้น ม.1 เรียนจบ ม. 3 ก็คงต้องเข้ากรุงเทพฯ ไม่ต่างจากพี่ๆ ของเขา

นอกจากเงินที่ได้จากลูกๆ แล้ว ครอบครัวของเธอยังมีรายได้จากสามีที่เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านอีกเดือนละ 5,000 บาท และรายได้เล็กน้อยจากการสานกระติ๊บข้าวเหนียว ซึ่งไพรวัลย์ทำในเวลาว่างอีกเดือนละสองถึงสามพันบาท ซึ่งรายได้ทั้งหมดนี้ล้วนหมดไปกับค่าสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและการเลี้ยงดู ลูกๆ หลานๆ

ไพรวัลย์กล่าวว่า รายได้ที่หายไปมากที่สุดหลังการสร้างเขื่อนคือการประมง เมื่อก่อนออกเรือหนึ่งครั้งสามารถจับปลาได้มากกว่าสิบกิโล สร้างรายได้ครั้งละเจ็ดถึงแปดร้อยบาท ปัจจุบันได้แค่เที่ยวละไม่กี่กิโล หรือถ้าโชคไม่ดีก็ต้องออกเรือสี่ถึงห้ารอบกว่าจะได้ปลาซักตัว ทำให้ปัจจุบันชาวบ้านเลิกทำประมงกันเกือบหมด ปลาที่เคยจับกินเองได้ทุกวันนี้ต้องไปซื้อจากตลาด

“อย่าถามเลยว่ามีรายได้ไหม ไม่มีรายได้แล้ว ทำงานเลี้ยงส่งหลานอย่างเดียว ถ้าลูกไม่ส่งก็ไม่มีกิน” ไพรวัลย์กล่าว

 

งานสานกระติ๊บข้าวเหนียวเป็นอาชีพเสริมที่ไพรวัลย์ทำที่บ้านยามว่างจากการเลี้ยงลูกๆ หลานๆ

การท่องเที่ยวท้องถิ่นกระทบหนัก

ภาคการท่องเที่ยวของจังหวัดอุบลราชธานีก็ได้รับผลกระทบไม่แพ้กัน สถานที่ท่องเที่ยวริมฝั่งโขงของจังหวัดอุบลราชธานีส่วนใหญ่เป็นแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติที่ต้องอาศัยอิทธิพลของแม่น้ำโขง เช่น หาดสลึง ซึ่งเป็นหาดสันดอนทรายริมแม่น้ำโขงให้นักท่องเที่ยวเข้าไปพักผ่อนในช่วงเดือนธันวาคมถึงพฤษภาคมของทุกปี และยังเป็นจุดขึ้นเรือสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการจะชม “แกรนด์แคนย่อนเมืองสยาม สามพันโบกเมืองอุบล”

ปราสาท อุดมลาภ คนขับเรือท่องเที่ยววัย 60 ปีของหาดสลึง กล่าวว่า ตั้งแต่จีนสร้างเขื่อน หาดสลึงซึ่งเคยรองรับนักท่องเที่ยวได้นานกว่า 4 เดือนตลอดช่วงน้ำลลง กลับเหลือเพียงไม่กี่อาทิตย์ในช่วงปลายเดือนธันวาคม รายได้จึงลดลงจากเมื่อก่อนที่ได้เดือนละ 2-3 หมื่นบาท กลายเป็นไม่ถึงหมื่น สมัยก่อนมีเรือหางยาวเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว 19 ลำ วิ่งวันละ 2-3 เที่ยว คนขับได้เที่ยวละ 1,000 บาท ทุกวันนี้เหลือเรือ 17 ลำ วิ่งกันวันละเที่ยว บางวันก็ไม่ได้วิ่งเพราะไม่มีนักท่องเที่ยว ซึ่งหากมีการระเบิดแก่งหินเพิ่มอีก ปราสาทกังวลว่าจะทำให้น้ำท่วมสูงกว่าเก่า และทำให้ช่องทางทำมาหากินต้องลดลงไปอีก

 

ปราสาท อุดมลาภ

“เหมือนประเทศจีนเขาแกล้งการท่องเที่ยวไทย พอหน้าท่องเที่ยว น้ำก็ดันมาท่วม ที่นี่มันต้องมาเที่ยวหน้าแล้ง เมื่อก่อนคนมาเล่นเยอะ เหมือนพัทยาเลย แม่ค้าก็ขายของเต็มไปหมด มีจัดแข่งวอลเล่ย์บอลชายหาด เตะฟุตบอล ทุกวันนี้หายหมดแล้ว บางทีนักท่องเที่ยวขับรถมา พอเห็นว่าไม่มีหาดเขาก็กลับ”

ปราสาทเล่าว่านอกจากหาดสลึงแล้ว หาดหงส์ก็เป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่ต้องหายไปเพราะเขื่อนแม่น้ำโขง หาดหงส์เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่เคยได้ชื่อว่าเป็น ‘ทะเลทรายเมืองไทย’ เนื่องจากมีทิวทัศน์เป็นสันดอนทรายจำนวนมาก ในอดีต พื้นที่ดังกล่าวจะถูกแม่น้ำโขงท่วมสูงในช่วงน้ำหลากอยู่นานสามเดือน ทำให้พืชไม่สามารถเติบโตได้และกลายเป็นทะเลทรายในช่วงน้ำลง อย่างไรก็ตามในปีที่จีนปิดเขื่อน ระยะเวลาที่น้ำท่วมจะลดลงเหลือเพียงเดือนเดียว ทำให้บางปีทะเลทรายของหาดสลึงถูกปกคลุมได้ด้วยหญ้าและสูญเสียความสวยงามไปจดหมด

นี่เป็นเพียงผลกระทบหนึ่งของโครงการขนาดใหญ่ของจีนได้สร้างต่อแม่น้ำโขงโดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนปลายน้ำ แม้ตั้งแต่ปี 2545 จีนได้เริ่มส่งข้อมูลการบริหารจัดการแม่งน้ำโขง ให้กับคณะกรรมาธิการลุ่มแม่น้ำโขง (Mekong River Commission: MRC) ซึ่งไทยเป็นสมาชิกอยู่ด้วย แต่ข้อมูลดังกล่าวก็ไม่เคยมาถึงประชาชนในพื้นที่ เป็นเพียงแค่ข้อมูลประกอบการตัดสินใจของบรรดาผู้นำรัฐบาลเท่านั้น และถึงแม้ว่า MRC จะคัดค้านโครงการดังกล่าวของจีน ก็ไม่ได้รับประกันว่ารัฐบาลจีนจะยอมถอย เนื่องจากจีนไม่ได้อยู่ในคณะกรรมาธิการดังกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net