สตง. ยันจัดซื้อเรือดำน้ำจีนไม่มีความผิดปกติ ไร้ความเสี่ยงต่อความเสียหายในอนาคต

ผู้ว่าฯ สตง. แถลงยัน การจัดซื้อเรือดำน้ำจีนมูลค่าโครงการ 36,000 ล้าน ไม่มีความผิดปกติ และถือว่าทำตามขั้นตอนของระเบียบวิธีการขอจัดสรรงบประมาณ รวมถึงไม่มีความเสี่ยงต่อความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

แฟ้มภาพ

23 พ.ค. 2560 การตรวจสอบกระบวนการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือ ล่าสุดวานนี้ (22 พ.ค.60) สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่า พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน พร้อมคณะผู้บริหาร สตง. แถลงข่าวการตรวจสอบการจัดซื้อเรือดำน้ำ หยวนคลาส S26T จากประเทศจีน ของกองทัพเรือ มูลค่าโครงการ 36,000 ล้านบาท ซึ่งผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.)  18 เม.ย. 2560  นั้น ผู้ว่าฯสตง.ยืนยันว่า ไม่มีความผิดปกติ และถือว่าทำตามขั้นตอนของระเบียบวิธีการขอจัดสรรงบประมาณ ที่ผ่านการพิจารณาของกรรมาธิการฯ ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.), การเสนอโครงการที่ผ่านความเห็นจากที่ประชุม ครม. , ขั้นตอนที่เป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลัง ที่ระเบียบของ สตง. ระบุไว้ รวมถึงไม่มีความเสี่ยงต่อความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

พิศิษฐ์ กล่าวด้วยว่า 1. การตรวจสอบข้อมูล ผ่านเอกสารและหลักฐานของกองทัพเรือที่เสนอของบประมาณ ประจำปี 2560 พบว่ามีการระบุชัดเจนว่าจะมีการจัดซื้อเรือ ในหมวดของการพัฒนากองทัพ  ซึ่งประเด็นของการจัดซื้อเรือดำน้ำที่มีผลผูกพันงบประมาณ ไปจนถึง ปี 2566 มูลค่ารวม 36,000 ล้านบาทนั้น กำหนดถึงประเด็นการแบ่งจ่ายงบประมาณ เป็น 3 ระยะ คือ ระยะแรก ผูกพันงบประมาณ ปี 2560 จำนวน 700 ล้านบา และในปีต่อไปจะผูกพันไม่เกิน 200 ล้านบาท  และผูกพันต่อไปจนครบวงเงินโครงการที่ 36,000 ล้านบาท ดังนั้นจึงไม่มีความผิดปกติต่อประเด็นการเสนอของบประมาณ และกรณีดังกล่าวถือว่าผ่านการตรวจสอบโดยตัวแทนของประชาชนแล้ว
 
ผู้ว่าฯสตง. กล่าวถึงประเด็นต่อมาว่า ประเด็น 2  กรณีการเสนอโครงการจัดซื้อ พบว่าได้เสนอผ่านสำนักงบประมาณ และได้รับการบัญญัติไว้ในส่วนของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2560 ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว, ประเด็น 3 กรณีที่ถูกมองว่าการจัดซื้อโครงการดังกล่าวเป็นในรูปแบบสนธิสัญญาระหว่างประเทศ และเข้าข่ายต้องพิจารณาในที่ประชุม สนช. ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 178 กำหนด , ประเด็น 4 กรณีการลงนามสัญญาที่เป็นผลผูกพันระหว่างรัฐบาลจีน ผ่านบริษัทเอกชนต่อเรือ กับรัฐบาลไทย ผ่านกองทัพเรือนั้น จากการตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้อง ไม่เข้าข่ายเป็นสนธิสัญญา และไม่ใช่กรณีของการจัดซื้อแบบรัฐต่อรัฐ เพราะเป็นเพียงสัญญาเชิงพาณิชย์ปกติเท่านั้น ทั้งนี้ตามเอกสารที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็น ยืนยันชัดเจนว่าไม่เข้าข่ายมาตรา 178 ทั้งนี้ประเด็นจัดซื้อเรือดำน้ำ ถูกจัดอยู่ในหมวดยุทธภัณฑ์ หรือยุทธโธปกรณ์ จึงถูกยกเว้นเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในขั้นตอนการจัดซื้อที่ต้องใช้ระเบียบทางพัสดุ เพราะประเด็นทางความมั่นคงจำเป็นต้องคำนึงถึงลักษณะและคุณสมบัติเฉพาะความจำเป็นบางประการ ขณะเดียวกันที่ผ่านมาได้ประกาศเชิญชวนให้ประเทศที่สนใจเข้าร่วม และมี 6 ประเทศที่สนใจ แต่สิ่งที่ที่ต้องพิจารณาสำคัญ คือ คุณภาพ ประโยชน์ใช้สอย ที่สัมพันกับงบประมาณของประเทศ
 
พิศิษฐ์ กล่าวด้วยว่า ประเด็น 5  กรณีที่มีข่าวว่ามีคนกลางเป็นผู้เจรจาโครงการดังกล่าว จากการตรวจสอบไม่พบคนกลาง ทั้งจากกองทัพเรือ และคนกลางที่เป็นคนขอรัฐบาลประเทศจีน ดังนั้นจึงไม่มีความผิดปกติ ส่วนกรณีที่ถูกตั้งข้อสงสัยว่าการลงนามตามที่เป็นข่าวในประเทศจีนเป็นเพียงบริษัทเอกชน ไม่ใช่รัฐบาลจีน แต่ข้อเท็จจริงแล้ว บริษัทเอกชนดังกล่าว คือ วิสาหกิจที่รัฐบาลจีนดูแลดังนั้น ถือว่าต้องอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐบาลจีนและหน่วยงานตรวจสอบ เช่น สตง. ประเทศจีนด้วย  อย่างไรก็ตามปัจจุบันประเทศจีนถือเป็นประเทศที่มีศักยภาพด้านเทคโนโลยีต่อการพัฒนาอุปกรณ์ที่มีความทันสมัย
 
"จากที่สตง. ตรวจสอบและพิเคราะห์แล้วเห็นว่าครม.ได้พิจารณาอย่างรอบคอบ และละเอียด มีพบข้อเสียหาย รวมถึงความเสี่ยงต่อความเสียหายที่จะเกิดในอนาคต ตามที่ตั้งประเด็นเกี่ยวกับโครงการจัดซื้อเรือเหาะที่ใช้ในภารกิจภาคใต้ ดังนั้นทางหน่วยงานสามารถดำเนินการได้ ซึ่งประเด็นตรวจสอบนี้ ไม่ใช่การฟอกขาวให้กับรัฐบาลหรือหน่วยงานใด เพราะสตง. จะไม่นำเกียรติประวัติ หรือเกียรติประวัติไปติดคุกแทนใคร" พิศิษฐ์ กล่าว พร้อมระบุด้วยว่า หลังจากนี้ สตง. จะตรวจสอบรายละเอียดของโครงการดังกล่าวในขั้นตอนที่เหลือ รวมกับประสานงานร่วมกับ สตง.ประเทศจีนเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบ ซึ่งขณะนี้ยืนยันได้ว่ากระบวนการดังกล่าวไม่มีความผิด ตามระเบียบวินัยการเงินการคลัง ดังนั้นเมื่อปัจจุบันไม่มีความผิดปกติ หรือความผิด แม้จะมีกฎหมายว่าด้วยระเบียบวินัยการเงินการคลังบังคับใช้ในอนาคตก็จะถือว่าไม่มีความผิดอยู่ดี อย่างไรก็ตามตนเข้าใจว่า โครงการดังกล่าวนั้นจะทำตามขั้นตอนทางสัญญาได้ก่อนที่จะมีร่างกฎหมายว่าด้วยระเบียบวินัยการเงินการคลัง ที่ต้องออกจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบักำหนดแน่นอน
 
"ข้อกังวล เอาเรือออกนอกอ่าวไทยไปสู่อีกฝั่งทะเลได้อย่างไร มีแผนปฎิบัติอยู่ แต่พูดไม่ได้ จะสร้างความหวาดระแวงให้เพื่อนบ้าน ซึ่งได้มีการพิจารณาในชั้นกรรมมาธิการแล้ว สตง.มีหน้าที่ตรวจสอบรักษาเงินแผ่นดินได้ตรวจแบบจ้องจับผิด ก็ยังตรวจไม่พบข้อเสียหาย เห็นว่าเป็นไปตาม การพิจารณาของ ครม.และกองทัพ มีการจ่ายเงินงวดแรกไปแล้ว เราจะตรวจสอบต่อไปจนงวดสุดท้ายเพื่อให้เป็นไปตามสัญญา ทุกอย่างเป็นไปตามกรอบแผนงานอย่างละเอียด ถ้าในปี2566 เรือดำน้ำและท่าเรือจอดเรือดำน้ำยังไม่สำเร็จจะเป็นปัญหาใหญ่มากกับกองทัพ” ผู้ว่าฯสตง.กล่าว

 

ที่มา : เนชั่นทีวี แนวหน้า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท